วันอังคาร, ตุลาคม 29, 2567

การเมืองในระบอบสองใบอนุญาต: ข้อวิเคราะห์วิจารณ์ขั้นต้น จาก อ.เกษียร


Kasian Tejapira
October 25, 2024
·
การเมืองในระบอบสองใบอนุญาต: ข้อวิเคราะห์วิจารณ์ขั้นต้น
%%%%
น่าสนใจว่ามองในแง่ประวัติศาสตร์
-ใบอนุญาตใบที่สองหรือของชนชั้นนำมาก่อน
-ใบอนุญาตใบแรกจากประชาชนเพิ่งเริ่มหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
-จากนั้นก็มีการเพิกถอนใบอนุญาตประชาชนยาวนาน เพิ่งจะกลับมาลงหลักปักฐานอย่างยั่งยืนหน่อยหลัง ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖, พฤษภา ๒๕๓๕ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐
-จากนั้นก็ถูกเพิกถอนไปอีกในรัฐประหาร ๒๕๔๙ & ๒๕๕๗
-การกลับมาดำรงอยู่ของสองใบอนุญาตพร้อมกันเป็นความจำเป็นของยุคสมัย โลกปัจจุบันและสังคมการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
-ขณะที่ใบอนุญาตประชาชนเปิดเผยชอบด้วยกฎหมาย ใบอนุญาตชนชั้นนำดำรงอยู่ได้ก็แต่แบบ informal, ลักปิดลักเปิด, พันลึก, เร้นลึก แม้ในบางแง่อาจมีอิทธิพลเหนือกว่าก็ตาม
-การดำรงอยู่ของใบอนุญาตคู่ส่งผลกระทบต่อกัน มันกดดันใบอนุญาตชนชั้นนำให้เร้นลึกทางกฎหมาย-การเมืองทางการ แต่ขณะเดียวกันมันก็เซาะกร่อนบ่อนเบียนใบอนุญาตประชาชนให้มีผลจริงทางปฏิบัติจำกัดและถูกลัดวงจร ตัดตอน คลอนแคลนอยู่เสมอ
สรุป: การเมืองในระบอบสองใบอนุญาต จึงเป็นการเมืองที่ลับ ๆ ล่อ ๆ ลักปิดลักเปิด ไม่มั่นคง ไม่เอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะคาดเดายาก คาดการณ์ไม่ค่อยได้ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะริเร่ิมโครงการใหญ่ในการปฏิรูปการเมืองหรือเศรษฐกิจสังคมได้ ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก
เนื่องจากการเมืองในระบอบสองใบอนุญาตกล่าวให้ถึงที่สุดไม่ได้ไขปมปัญหา ๒ ชั้นของการเมืองสมัยใหม่ลงไป กล่าวคือ
๑) อำนาจอธิปไตยกล่าวให้ถึงที่สุดสถิตอยู่ที่ใด? กับใคร? (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งอำนาจในการออกใบอนุญาตท้ายที่สุดอยู่กับใคร?)
๒) อะไรคือการแทนตนประชาชนในระบอบนี้? การแทนตนดังกล่าวสัมพันธ์กับประชาชนและสัมพันธ์กับองค์อธิปัตย์อย่างไรกันแน่? (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต กับ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้อำนาจ เป็นเช่นใด?)
ตราบที่ไม่แก้สองปัญหานี้ให้ลุล่วงไป การเมืองในระบอบสองใบอนุญาตย่อมไม่มั่นคงเพราะมีปัญหาความชอบธรรมยืดเยื้อเรื้อรังอยู่เสมอ