iLawFX #นิรโทษกรรมประชาชน @iLawFX
พิเชษฐ์ปิด #ประชุมสภา ขณะที่ยังพิจารณารายงาน กมธ. #นิรโทษกรรม ไม่เสร็จสิ้น
ระหว่างที่ฝ่านค้าน-รัฐบาลยังหารือไม่เสร็จสิ้นว่าจะให้สมาชิก กมธ. อภิปรายชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่
ประธานสภาก็สั่งปิดประชุมทำให้ไม่มีการลงมติรับรองรายงาน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://ilaw.or.th/articles/46078
.....
ยืดเวลาออกไปอีก! พิเชษฐ์ รองประธานสภา ชิงปิดประชุมนัดรับรองรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม
17/10/2024
iLaw
17 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณารับรองรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรม) แต่การประชุมครั้งนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมระหว่างที่มีการถกเถียงกันว่าสมควรให้กรรมาธิการชี้แจงต่อหรือไม่
เป็นเวลาแปดเดือนกว่านับแต่สภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้งกมธ.นิรโทษกรรม เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ตามข้อเสนอของขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาแนวทางในการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่คดีทางการเมืองเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม
กมธ. ชุดนี้เดิมกำหนดระยะเวลาในการทำงานไว้ 60 วัน ครบกำหนดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 แต่ก็ “ขยายเวลา” ถึงสองครั้ง ครั้งละ 60 วัน ภายหลังจากที่ขยายเวลาออกไปรวมสี่เดือน กมธ.นิรโทษกรรม ก็ศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรมได้จัดทำรายงานฉบับนี้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ได้บรรจุวาระสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 29 สิงหาคม 2567 จากนั้นก็ “ค้าง” ในวาระการประชุมอยู่ร่วมเดือนกว่าจึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและถูก “ยืด” ออกไปอีก
ผลการพิจารณาศึกษาช่วงเวลาในการนิรโทษกรรมสรุปได้ว่า ให้มีขอบเขตอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ถึงปัจจุบัน โดยที่ “ปัจจุบัน” หมายถึง วันที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร สำหรับฐานความผิดที่จะได้รับนิรโทษกรรมนั้นสามารถเป็นแบ่งกรอบในการพิจารณาว่า ฐานความผิดใดที่มีผลสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยแบ่งฐานคดีความผิดสองเป็นสองประเภท คือ คดีหลักและคดีรอง กับคดีที่มีความอ่อนไหว โดยคดีทางการเมืองตั้งแต่ความผิดในฐานการก่อการร้าย ยุยงปลุกปั่น ทำร้ายเจ้าพนักงาน ไปจนถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทถูกจัดอยู่ในคดีหลักและคดีรอง ในขณะที่ความผิดฐานประทุษร้ายพระราชินีหรือรัชทายาท (มาตรา 110) – หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112) ถูกจัดอยู่ในคดีที่มีความอ่อนไหว
อ่านสรุปเนื้อหารายงาน กมธ.นิรโทษกรรม ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/42106
ชูศักดิ์ยันแค่รายงาน ไม่ใช่การยกร่างฯ ไม่รวม 112
การประชุมสภาเพื่อพิจารณารับรองรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรม เริ่มต้นโดยการสรุปรายงานโดย รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.นิรโทษกรรม ชี้แจงว่าตามที่สภาผู้แทนราษฎรดีมีมติตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำพ.ร.บ.นิรโทษกรรม บัดนี้ กมธ.วิสามัญได้พิจารณาเรื่องตามที่สภามอบหมายเสร็จแล้ว
โดยได้พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจากรอบด้าน โดยศึกษาจากสรุปประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎร ข้อมูลจากเอกสารวิชาการ รายงานผลการศึกษา ข้อมูลสถิติคดี การรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม และข้อเรียกร้องหรือข้อคัดค้านจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม
กมธ. นิรโทษกรรมนัดประชุมทั้งสิ้น 19 ครั้ง จัดทำเอกสารทั้งหมดสามเล่ม คือ รายงานของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ภาคผนวก ก ซึ่งเป็นรายงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยมีนิกร จำนงเป็นประธานอนุกรรมาธิการ และภาคผนวก ข ซึ่งเป็นรายงานเพื่อศึกษาและประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพ.ร.บ.โดยมี รศ.ยุทธพร อิสรชัย เป็นประธานอนุกรรมาธิการ
ชูศักดิ์อธิบายเบื้องต้นว่า
- การนิรโทษกรรมโดยหลักการแล้วไม่ใช่การยกเลิกความผิด เพียงแต่ให้งดเว้นการรับผิด เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข การตรากฎหมายนิรโทษกรรมจึงเป็นการพาประเทศเดินไปข้างหน้า ในอดีตประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งสิ้น 23 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.19 ฉบับและพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สี่ฉบับ
- รายงานนี้คือผลศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การพิจารณาหรือยกเลิกหรือยกร่างกฎหมาย เป็นเพียงข้อเสนอแนะแนวทางหากจะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นลำดับต่อไป ว่าควรจะรวมหรือไม่ควรจะรวมการกระทำใดบ้าง หากเป็นความเห็นที่อาจหาข้อยุติไม่ได้และบานปลายสู่ความขัดแย้งในอนาคต กมธ.เสนอความเห็นในทุกมิติไว้เพื่อให้สภาแห่งนี้ได้ศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงรอบด้าน
- แม้รายงานจะเป็นเรื่องการศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรม แต่กมธ.ก็ได้ศึกษาแนวทางอื่นๆ ในการยุติความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นในสังคม เช่น แนวทางการตราพ.ร.บ.ล้างมลทิน แนวทางการขอพระราชทานอภัยโทษ แนวทางการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างอื่น เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดีหรือชะลอการฟ้องคดีที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ
- ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม กมธ. ศึกษาแล้วเห็นว่าควรเอาเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 มาเป็นหลักในการกำหนดขอบเขตช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม
- การกระทำที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมมุ่งเน้นที่การกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง โดยแยกแยะคดีหลักในความผิดฐานเป็นกบฎ ความผิดคดีรองเช่นความผิดต่อเจ้าพนักงาน และได้แยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง โดยได้แยกออกมาพิจารณาเฉพาะ เพื่อศึกษาทุกมิติทั้งผู้ที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย รวมถึงการแสวงหาแนวทางอื่นเช่นการนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข
- การเสนอรูปแบบการนิรโทษกรรมทั้งที่เป็นแบบอัตโนมัติและแบบที่มีคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัย และรูปแบบผสมผสาน การที่ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยเนื่องจากหากจะนิรโทษกรรมตั้งแต่ 2548 ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว และมีคดีความเกิดขึ้นมากมายทั้งที่เป็นคดีหลักและคดีรอง การมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาจะทำให้การพิจารณานั้นถูกต้องเป็นธรรมอย่างแท้จริง
- กำหนดขอบเขตการนิรโทษกรรมว่ารวมถึงการกระทำใดบ้างและควรมีการทำบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ. และได้เสนอแนะแนวทางการตรา พ.ร.บ. ว่าอาจทำเป็นหลายฉบับเพราะเหตุการณ์หรือพฤติกรรมมีความแตกต่างกัน
- กมธ. มีข้อสังเกตไว้หลายประการเช่น การอำนวยความยุติธรรมตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรมในะระยะเปลี่ยนผ่าน” ข้อสังเกตที่เกิดจากการศึกษาของคณะกรรมการอิสระหลายชุดรวมทั้งความเห็นของ กมธ. ที่เห็นว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 (ความผิดฐานประทุษร้ายพระราชินีหรือรัชทายาท) และมาตรา 112 (ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและนำไปสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตามข้อสังเกตของกมธ. ไม่ได้บังคับผูกมัดคณะรัฐมนตรีว่าจะต้องทำตามที่เสนอ
เชตะวัน เตือประโคน สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดปทุมธานี พรรคประชาชน อภิปรายสนับสนุนรายงานของกมธ. ว่า ตนเห็นด้วยกับข้อความของโคทม อารียาที่ว่า “ไม่มีความผิดใด ยกโทษให้ไม่ได้” เชตะวันเสริมว่าถ้าจะมีความผิดใดที่ไม่ควรยกโทษให้สิ่งนั้นคืออาชญากรรมโดยรัฐและการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่รัฐผู้สั่งการให้ปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตและยังไม่ได้รับการลงโทษ ไม่ได้เยียวยาผู้สูญเสีย ไม่มีแม้แต่การเอ่ยปากขอโทษจากใจจริง ไม่ควรได้รับการยกโทษ ถึงแม้ว่าตนจะสนับสนุนการนิรโทษกรรม แต่การสืบเสาะหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ก็จำเป็นต้องทำ
วีรนันท์ ฮวดศรี สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดขอนแก่น พรรคประชาชน อภิปรายว่าความผิดอื่นในฐานคดีความมั่นคง เช่น การก่อการร้าย การทำร้ายร่างกาย ทำให้เสียทรัพย์ ถูกรวมอยู่ในความผิดฐานคดีหลักและฐานคดีรอง มีเพียงแต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 ที่ถูกจัดให้เป็นฐานคดีอ่อนไหว ตนเห็นว่าสามารถรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าเป็นฐานคดีหลักได้ เมื่อถูกแยกออกมาแบบนี้ก็นำมาสู่ความคลุมเครือ คดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จึงเสี่ยงที่จะถูกกันออกจากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้
ตนเห็นด้วยกับการกำหนดขอบเขตให้คดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมต้องมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แต่อาจจะคับแคบเกินไปหรือไม่ วีรนันท์ยกตัวอย่างกรณีดคี 112 ของชัยชนะ (นามสมมุติ) ชาวลำพูน ถูกแจ้งความในมาตรา 112 ที่จังหวัดนราธิวาส แม้จะพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเขาเป็นผู้ป่วยจิตเภท แต่ชัยชนะและครอบครัวต้องเดินทางไปที่ศาลนราธิวาส ซึ่งมีระยะทางราว 1,800 กิโลเมตร หรือคดีของฤาชา (นามสมมุติ) ผู้ป่วยจิตเภทที่โพสต์เฟซบุ๊ก หรือในกรณีของสองพี่น้องที่กล่าวหากันเองเนื่องจากยืนอยู่คนละฝั่งทางการเมือง คำถามคือเราจะสามารถพิสูจน์แรงจูงใจทางการเมืองของพวกเขาได้อย่างไร พวกเขาจะถูกนำออกจากการนิรโทษกรรมหรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้
“พวกเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกับพวกเรา ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายหรือปีศาจร้ายตนใดเลยครับ นี่เรากำลังจะชี้หน้าแล้วบอกว่าพวกเขาเหล่านั้น ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรมเหมือนกับผู้อื่นที่อยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมืองหรอครับ” วีรนันท์กล่าวทิ้งท้าย
นพดล ปัทมะ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าถ้าเราจะนิรโทษกรรมมันต้องบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ในชาติ ต้องนำไปสู่เอกภาพและความมั่นคงทางการเมืองเพื่อที่จะสามารถเรียกร้องความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศ เสถียรภาพทางการเมืองนั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในขณะที่ “บางเรื่อง” ยังไม่ได้มีฉันทามติของสังคมว่าความผิดบางความผิดนั้นสมควรที่จะนิรโทษกรรมหรือไม่ ตนเห็นด้วยกับประธาน กมธ.ว่าการนิรโทษกรรมจะต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งทางในการเมืองรอบใหม่
นพดล อภิปรายสรุปประเด็นว่าการนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ ในขณะนี้สังคมมีความเห็นที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ยังมีเวลาให้แสวงหาฉันทามติในประเด็นนี้ต่อไปได้อีก ตนยึดมั่นใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงไม่อาจสนับสนุนการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ได้
สนอง เทพอักษรณรงค์ สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนการนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้าไปได้ แต่ต้องไม่รวมคดีตามมาตรา 110 และมาตรา 112 สนองอภิปรายว่ากฎหมายมีมาก่อนแล้วแล้วมากระทำความผิดในภายหลังสังคมจะอยู่อย่างไร พรรคภูมิใจไทยรวมถึงหัวหน้าพรรคยืนยันว่าเรายอมยกโทษให้ในทุกกรณี ยกเว้นกรณีที่จะยกเลิกมาตรา 112 ทำอย่างไรก็ยอมรับไม่ได้ เพราะประเทศชาติอยู่ได้ก็เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์
ผศ.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง หนึ่งในกมธ.นิรโทษกรรม อภิปรายว่าสังคมจะสามารถยุติความขัดแย้งได้ต้องมีความยุติธรรมเกิดขึ้นก่อน ในแง่หนึ่งความยุติธรรมคือการใช้อำนาจ การลงโทษตามกำหมาย แต่ในอีกแง่หนึ่งความยุติธรรมคือการใช้เมตตา สังคมไทยใน 20 ปีที่ผ่านมาใช้กฎหมายและการลงทัณฑ์มาโดยตลอด และมันก็ไม่ได้นำไปสู่จุดที่เป็นความสงบและสามัคคี
เฉพาะในเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 มีความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก การอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายในนานาประเทศ การอ้างถึงนานาประเทศนี้ตีขลุมเพราะในหลายประเทศกฎหมายที่มีอยู่กับการบังคับใช้จริงไม่เหมือนกัน บางประเทศมีแต่ไม่เคยใช้อย่างกว้างขวางและรุนแรงเหมือนประเทศไทย
ผศ.เข็มทองยืนยัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ไม่สามารถทำได้ แต่ยังแก้ไขได้โดยกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ การนิรโทษกรรมในครั้งนี้เบากว่าการแก้ไขมาตรา 112 การนิรโทษกรรมกฎหมายยังอยู่ ความผิดในฐานนี้ยังอยู่ ยังสามารถูกลงโทษได้อีก
หากเรายกเว้นสองมาตรานี้ หลายคนอาจยืนยันว่าอาจนำไปสู่ความสันติสุขแต่ในคนอีกฝั่งหนึ่งก็จะมองว่าการไม่นิรโทษกรรมต่างหากที่เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกมองอย่างเคลือบแคลงสงสัย ถ้าเกิดความผิดอื่นในระบบกฎหมายได้รับการนิรโทษกรรม แต่มาตรา 110 และมาตรา 112 ถูกยกเว้นไว้จะทำให้สายตาของสังคมและนานาประเทศอาจจ้องมองไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งนี้จะไม่เป็นผลดีกับใคร สิ่งที่ควรทำคือทำให้มาตรา 110 และมาตรา 112 เป็นกฎหมายจริงๆ ไม่ใช่เครื่องมือในทางการเมือง คือการใช้กฎหมายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ลงโทษคนกระทำความผิดได้ และต้องยกโทษผู้ที่เคยทำความผิดได้เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ
ในระหว่างที่มีการหารือระหว่างวิปฝ่ายค้านและ สส. ฝ่ายรัฐบาลว่าสมควรให้กมธ.นิรโทษกรรมได้อภิปรายชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นหรือไม่ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ซึ่งประธานในที่ประชุม กล่าวว่า “มันชัดเจนแล้ว ข้อมูลพอสมควรแล้ว งั้นวันนี้ไม่จบหรอกครับ ขอปิดประชุมครับ” และสั่งปิดการประชุมในเวลา 16.48 น. โดยที่ยังไม่ได้ลงมติรับรองรายงาน การพิจารณารับรองรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม อาจเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 24 ตุลาคม 2567 แทน
.....
พรรคประชาชนแถลงด่วน
Streamed live 9 hours ago
พรรคประชาชนแถลงด่วนกรณีประธานสภาฯ ชิงปิดประชุม หลังอภิปรายรายงาน กมธ.ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
https://www.youtube.com/live/S8NmjkdNZPg
#นิรโทษกรรมรวม112 #ประชุมสภา #พรรคเพื่อไทย pic.twitter.com/02j5HzNEmR
— แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม (UFTD) (@ThammasatUFTD) October 17, 2024