แถลงการณ์: 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย หลังได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ
11/10/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลในระบบสหประชาชาติที่มีความรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นบนโลก คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ มีหน้าที่ตรวจสอบและจัดทำข้อเสนอแนะต่อกรณีดังกล่าว และสนับสนุนการปฏิบัติตามพันธกรณีอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชนของรัฐ ประเทศที่ได้รับเลือกจำต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอันสูงสุดเพื่อที่จะสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (UNGA Res. 60/251)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอันสืบเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงคดีตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ใช้กลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ต่อประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในวาระปี 2568-2570 ดังต่อไปนี้
.
1) ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และคืนอิสรภาพให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน รัฐไทยได้มีการดำเนินคดีกับประชาชนไม่น้อยกว่า 1,960 คน ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนกว่า 280 คน ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงคดีมาตรา 112 และการคุมขังบุคคลมากกว่า 40 คน ในเรือนจำจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นการกระทำที่ขัดและแย้งกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child หรือ CRC) ซึ่งข้อ 19 และ 21 ICCPR และ ข้อ 13 และ 15 CRC รับประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของทุกคน รวมถึงเด็กและเยาวชน
กลไกพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติเคยได้เรียกร้องให้รัฐไทยยุติการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบแล้วหลายครั้ง ในเดือนมีนาคม 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วย (1) สถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (2) สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม (3) สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความคิด และ (4) ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีและปล่อยผู้ต้องขังอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
ไม่เพียงเท่านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งเป็นกลไกตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ ICCPR เคยเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดใช้กฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือในการปราบปรามความเห็นต่างทางการเมือง (UN Doc. CCPR/C/THA/CO/2 ย่อหน้าที่ 36)
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ นิยามความหมายของ “การควบคุมตัวโดยพลการ” (arbitrary detention) ไว้ 5 รูปแบบ ซึ่งรูปแบบที่ 2 (Cateogry II) อธิบายว่าการควบคุมตัวบุคคลที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ข้อ 19 ของ ICCPR เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ ขัดกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ มีความเห็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 จำนวน 10 ความเห็น ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นตรงกันทุกครั้งว่าการควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ ขัดกับมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากล
การยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและการนิรโทษกรรมประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น รวมถึงประชาชนที่ถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 และการปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง สอดคล้องกับความเห็นของกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ซึ่งรัฐไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ว่าจะสนับสนุนและนำคำแนะนำของกลไกดังกล่าวไปปฏิบัติตามภายในประเทศ
.
2) แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษชนระหว่างประเทศ
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐไทยได้ดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่น้อยกว่า 274 คน ใน 307 คดี รวมถึงเด็กและเยาวชนไม่น้อยกว่า 20 คน ใน 24 คดี และมีผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำภายใต้ข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 27 คน
กลไกพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติมีความเห็นเป็นฉันทามติ ว่ามาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ขัดและแย้งกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากกฎหมาย (1) มีความคลุมเครือ (vague) ขอบเขตของความผิดไม่ชัดเจน ขัดกับหลัก principle of legality (2) โทษ 3-15 ปี ขัดกับหลักความจำเป็น (necessity) และหลักแห่งความได้สัดส่วน (proportionality) และ (3) มาตรา 112 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยมิชอบ เนื่องจากรัฐไม่สามารถพิสูจน์จุดประสงค์อันชอบธรรมภายใต้ข้อ 19(3)(a) และ (b) ICCPR ได้ตั้งแต่ปี 2554 ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) มีหนังสือ (communications) ถึงรัฐไทยเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 มากกว่า 20 ฉบับ ซึ่ง 11 ฉบับได้ถูกส่งถึงรัฐไทยในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ตั้งแต่ปี 2555 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) มีความเห็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 จำนวน 10 ความเห็น ซึ่งทุกความเห็นกล่าวตรงกันว่ามาตรา 112 ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้รัฐไทยแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลในปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) มีข้อเสนอแนะต่อรัฐไทยให้ทบทวนแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับข้อ 19 ICCPR คณะกรรมการฯ เน้นย้ำว่า โทษจำคุกบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกขัดกับข้อ 19 ICCPR (UN Doc. CCPR/C/THA/CO/2 ย่อหน้าที่ 38)ล่าสุด เดือนมีนาคม 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Special Rapporteurs) เรียกร้องให้รัฐไทย “ยกเลิก” (repeal) มาตรา 112 โดยอธิบายว่าการวิพากษ์วิจารณ์ (criticisms) และการเสนอให้ปฏิรูป (reforms) สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ต้องคุ้มครองและสนับสนุนในสังคมประชาธิปไตย
การรับฟัง ให้ความร่วมมือ และนำข้อเสนอแนะจากกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลไปปฏิบัติตาม จึงต้องเป็นหนึ่งในภารกิจที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ของรัฐบาลไทย ที่กำลังจะเข้าไปเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในเดือนมกราคม 2568
.
3) ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและออกกฎหมายนิรโทษกรรมเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ตั้งแต่ปี 2535 จึงมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามหลักการภายใต้ CRC รวมถึงการรับประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของเด็กและเยาวชน และการนำหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก (best interests of the child) มาบังคับใช้ต่อการปฏิบัติกับเด็กในทุกรณี
อย่างไรก็ตาม การออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปี 2563 นำมาสู่ปรากฏการณ์ใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวคือ การนำกฎหมายอาญามาดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวางและเป็นระบบ รวมถึงการใช้มาตรา 112 ซึ่งมีโทษสูง มีการใช้กำลังจับกุมเด็ก ใช้เคเบิ้ลไทร์ (cable ties) ระหว่างการจับกุม ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา รวมถึงกระสุนยางในการสลายการชุมนุมที่มีเด็กและเยาวชนอยู่ในที่ชุมนุม เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหาตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นศาล
ตั้งแต่ปี 2563 รัฐได้ดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนจำนวนอย่างน้อย 286 คน ใน 218 คดี ซึ่งเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน ใน 24 คดี ถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 เป็นการกระทำที่ขัดกับพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างรุนแรง
การยุติการดำเนินคดีและออกกฎหมายนิรโทษกรรมเด็กและเยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจึงเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกสำหรับรัฐไทย ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในปี 2568
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันว่า 3 ข้อเรียกร้องข้างต้น เป็นข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานสำหรับประเทศประชาธิปไตย ที่ต้องการแสดงความจริงใจในการปฏิบัติภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนต่อสังคมโลก อีกทั้งข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ซึ่งเป็นกลไกที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในช่วงก่อนเลือกตั้ง ว่าจะสนับสนุน ให้ความร่วมมือ และนำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติตาม
ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
https://www.facebook.com/lawyercenter2014