ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10 hours ago
·
เส้นทางการต่อสู้คดี 112 ของ “โตโต้” สส.-อดีตนักกิจกรรม WeVo ยืนยันไม่เกี่ยวข้องตั้งป้ายวิจารณ์วัคซีนหาซีนให้วังที่กาฬสินธุ์ ก่อนศาลพิพากษา
.
.
พรุ่งนี้ (11 ต.ค. 2567) “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล และอดีตนักกิจกรรมกลุ่ม WeVo มีนัดฟังคำพิพากษาของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) กรณีที่ถูกพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ฟ้องว่า ร่วมกับพวกติดตั้งป้ายวิจารณ์การผูกขาดวัคซีน และโพสต์ภาพป้ายในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2564
.
ปิยรัฐถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรก รวมถึงเป็นคดีแรกที่ศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งหากศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดตามฟ้อง และลงโทษจำคุก ทั้งไม่ให้ประกันในวันนั้น ปิยรัฐก็จะพ้นสภาพ สส. ในทันที
.
คดีนี้เริ่มสืบพยานตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 อัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบรวม 21 ปาก ใช้เวลาสืบ 6 นัด แต่ฝ่ายจำเลยไม่มีพยานเข้าเบิกความเลยแม้แต่ปากเดียว เนื่องจากศาลมีคำสั่งให้งดสืบพยานจําเลย หลังปิยรัฐขอเลื่อนสืบพยาน 6 ครั้ง จากเหตุติดภารกิจประชุมสภาฯ ไม่สามารถมาศาลได้ 4 ครั้ง และจากเหตุจำเป็นของทนายจำเลยอีกรวม 2 ครั้ง
.
ในการขอเลื่อนสืบพยานจำเลยครั้งที่ 7 เนื่องจากปิยรัฐติดภารกิจดูงานที่โปแลนด์ของกรรมาธิการความมั่นคงฯ แต่ศาลกลับเห็นว่าปิยรัฐเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนอีก และให้งดสืบพยานจําเลย แม้ต่อมา ปิยรัฐได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยยืนยันหลักฟังความสองฝ่าย ซึ่งควรให้โอกาสจําเลยได้นําพยานหลักฐานเข้าสืบต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ อันเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาประวิงคดี แต่ศาลก็ยกคำร้อง
.
พยานโจทก์ไม่ทราบใครติดตั้งป้าย-โพสต์ภาพป้าย แต่เชื่อว่าปิยรัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งโยงไลฟ์สดของธนาธร ก่อนรับกับทนายจำเลยว่า ไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าปิยรัฐเกี่ยวข้อง
.
โจทก์นำพยาน 21 ปาก เข้าเบิกความต่อศาล ซึ่งประกอบด้วย ประชาชนที่เห็นป้ายข้อความและที่อยู่ใกล้เคียงจุดติดตั้งป้าย, ตำรวจฝ่ายสืบสวนและปราบปราม สภ.ยางตลาด, พนักงานสอบสวน, ตำรวจ ปอท., สันติบาล, กอ.รมน., ปลัดอำเภอ, อาจารย์ภาษาไทย, อดีตข้าราชการประจำหอสมุดแห่งชาติ, ทนายความ รวมถึงแม่ของปิยรัฐ โดยสรุปประเด็นได้ว่า จากการสืบสวนตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ติดตั้งป้ายข้อความที่เกาะกลางถนน แต่รถที่บรรทุกป้ายมาติดตั้งลักษณะเหมือนรถที่ปิยรัฐใช้ ทั้งพบว่าเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่โพสต์ภาพป้าย มีความเชื่อมโยงกับปิยรัฐ จึงเชื่อว่าปิยรัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง
.
สำหรับความเห็นต่อข้อความบนป้ายนั้น พยานโจทก์มีความเห็นแตกต่างกัน ในส่วนประชาชนเห็นว่า เป็นเพียงข้อความไม่เหมาะสม ขณะพยานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีลักษณะหมิ่นประมาทกษัตริย์
.
โจทก์ยังได้นำพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ซึ่งสอบสวนในคดี 112 กรณีธนาธรไลฟ์สด “วัคซีนพระราชทาน: ใครได้ใครเสีย?" มาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ด้วย โดยพยานระบุว่า ข้อความในป้ายมาจากไลฟ์สดของธนาธร แต่ไม่ทราบว่าคนนำป้ายมาติดเกี่ยวข้องกับธนาธรอย่างไร
.
ฝ่ายจำเลยซึ่งมีข้อต่อสู้ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดทำ ติดตั้ง และโพสต์ภาพป้าย อีกทั้งข้อความในป้ายไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แต่ไม่สามารถนำพยานเข้าเบิกความได้ อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ตามประเด็นดังกล่าวไว้ โดยพยานโจทก์รับว่า ไม่ได้ยึดรถที่อ้างว่าใช้ในวันเกิดเหตุไปตรวจสอบ ทั้งไม่ได้ตรวจสอบว่า มีรถลักษณะเดียวกันคันอื่นอีกหรือไม่ และรถคันดังกล่าวโดยปกติก็มีคนอื่นนำไปใช้ ไม่ใช่จำเลยเพียงคนเดียว
.
นอกจากนี้ พยานโจทก์ยังรับว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่โพสต์ภาพป้าย และใครเป็นผู้โพสต์ เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลทางอิเลคทรอนิกส์ อีกทั้งบัญชีดังกล่าวมีการโพสต์ขณะปิยรัฐถูกคุมขัง
.
เกี่ยวกับข้อความบนป้าย พยานก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องการจัดหาวัคซีน ไม่ทราบว่ามีการผูกขาดวัคซีนหรือไม่ หรือข้อความดังกล่าวเป็นการวิจารณ์รัฐบาลหรือไม่ อีกทั้งในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้พิมพ์คำให้การที่เป็นความเห็นต่อข้อความไว้ก่อนแล้ว
.
ข้อสังเกตต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
.
องค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ในช่วงการสืบพยานตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 - มี.ค. 2567 ประกอบด้วยผู้พิพากษา 2 คน คือ วีระพงษ์ กล่อมมิตร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี และผู้พิพากษาองค์คณะ ซึ่งมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาไปหลายคน
.
กระทั่งนัดสืบพยานจำเลยตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 ปรากฏองค์คณะผู้พิพากษาเพิ่มเป็น 3 คน แม้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังคงเป็น วีระพงษ์ กล่อมมิตร เช่นเดิม แต่มีเจตน์ รอดอ่อน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และสราวุธ ยงใจยุทธ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาคดีด้วย โดยปรากฏในคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 ว่า อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ได้มีคําสั่งลงวันที่ 13 มี.ค. 2567 มอบหมายให้ สราวุธ ยงใจยุทธ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 เข้าร่วมนั่งพิจารณาคดีนี้
.
นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ซึ่งเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีโดยตลอดมีข้อสังเกตว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะต้องปรึกษาผู้บริหารศาลทุกครั้งในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ซึ่งนอกจากการไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยในนัดสุดท้ายแล้ว ศาลยังเคยไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยเลื่อนการถามค้านพยานโจทก์ จากเหตุที่เอกสารประกอบการถามค้านที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกจากสยามไบโอไซเอนซ์และสถาบันวัคซีนแห่งชาติยังได้มาไม่ครบ โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้กล่าวหลังขอไปปรึกษาผู้บริหารศาลว่า ผู้บริหารศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อสังเกตต่อความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจมีคำสั่งทางคดีของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ตลอดจนถึงคำพิพากษาที่จะมีขึ้นด้วยว่า เป็นไปตามหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 188 ได้รับรองไว้หรือไม่
.
.
อ่านคำเบิกความพยานโจทก์บนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/70469
ดูฐานข้อมูลคดี: https://database.tlhr2014.com/public/case/1738/lawsuit/519/
https://www.facebook.com/photo?fbid=948265200477284&set=a.656922399611567