วันจันทร์, ตุลาคม 21, 2567

ใครฟ้องก็ได้ เรื่องราวของ กัลยา : นอกจากกัลยาแล้ว ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสยังมีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีก 1 คน คือ #อุดม คนงานโรงงานจากปราจีนบุรีวัย 36 ปี ต้องโทษจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 รวม 4 ปี โดยถูกคุมขังระหว่างฎีกาเช่นกันมานานกว่า 1 ปีเศษ ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2566 ทั้งสองคดีมีประชาชนรายเดียวกันเป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหา


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
20 hours ago
·
ยังจำได้ดีถึงครั้งแรกที่เจอหน้ากัน
วันนั้นเป็นวันที่ 7 ของการถูกพรากอิสรภาพ
#กัลยา ดูซูบโทรมเพราะไม่ยอมทานข้าวเลยตลอด 1 สัปดาห์แรกนั้น เกือบ 3 ชั่วโมงที่คุยกันผ่านซี่ลูกกรงเธอเอาแต่ร้องไห้ น้ำตาไหลไม่หยุด เหมือนว่าใจจะขาดตรงนั้นให้ได้
.
ทั้งยังจำได้ดีถึง ‘เสียงกรีดร้อง’ ของแม่กัลยาในปลายสายเมื่อตอนที่เราโทรไปเล่าเรื่องชีวิตของกัลยาในเรือนจำให้ครอบครัวฟังว่าเธอเผชิญความยากลำบากเพียงใด ต้องนอนพื้นแข็ง มีแมลงสาบ มีหนูวิ่งเพ่นพล่าน ต้องกินน้ำจากก็อก ต้องห่มผ้าขี้งาผืนบางข่มลมหนาว ต้องคอยแต่ถามย้ำกับตัวเองว่าทำอะไรผิดนักหนาถึงต้องมาตกอยู่ที่แบบนี้
.
วันนี้ (20 ต.ค. 2567) นับว่าครบ 1 ปีแล้วที่ผู้หญิงชื่อสมมติว่า “กัลยา” อายุ 29 ปี ต้องถูกจองจำ สูญสิ้นอิสรภาพ ณ สถานที่คุมขัง ‘ใต้’ สุดของประเทศ ต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม อาหาร และผู้คนที่ไม่คุ้นเคย ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส
.
1 ปีที่ชีวิตผ่านพ้น
มีมากกว่าอิสรภาพที่สูญหายไป
ความทุกข์เกิดขึ้นซ้ำซ้อน
เหมือนว่าอยู่ใน ‘คุกที่ซ้อนคุก’
.
.
#คุกที่พรากอิสรภาพ
.
การถูกคุมขังที่เนิ่นนานโดยไม่เคยได้สิทธิประกันตัว ทำให้สุดท้ายกัลยาต้องจำใจ ‘ลาออก’ จากการเป็นพนักงานข้าราชการ งานในฝันที่เธอทุ่มเทและตั้งใจอ่านหนังสือแรมปีเพื่อเข้าสอบคัดเลือก หวังให้ชีวิตมั่นคงและมีเกียรติอย่างที่เคยสัญญาไว้กับพ่อแม่
.
ช่วงแรกเธอยังพอมีหวังว่าจะได้สิทธิประกันตัวจากศาล แต่ก็ต้องผิดหวังครั้งแล้วครั้ง แม้ว่าที่ผ่านมาเธอจะเดินทางไกลมาตามนัดหมายคดีของศาลทุกครั้งไม่เคยบ่ายเบี่ยง จากกรุงเทพ - นราธิวาส ไปกลับหลายครั้งหลายหน
.
การยื่นประกันตัวครั้งหนึ่งทนายความเคยยื่นหลักทรัพย์เพิ่มสูงถึง ‘1 ล้านบาท’ พร้อมทั้งระบุเงื่อนไขและเหตุผลความจำเป็นที่กัลยาควรได้รับสิทธิประกันตัวให้ศาลพิจารณาอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยลิ่มเลือดอุดตัน การเสนอความยินยอมติดกำไล EM หรือคดียังไม่ถึงที่สุด โดยยังเหลือชั้นฎีกา ซึ่งศาลอาจพิพากษาต่างออกไปก็เป็นได้
.
พักหลังกัลยามักจะใช้วิธี ‘ดูดวง’ กับเพื่อนผู้ต้องขังในเรือนจำเพื่อผ่อนคลายความกังวลและเพื่อหาสารพัดแนวทางเพียงหวังให้ ‘คำภาวนา’ ได้กลายเป็นจริง คำถามสำคัญมักเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า “เมื่อไหร่จะได้ออกไปจากที่นี่” จากนั้นก็ตามมาด้วย “จะต้องทำอย่างไรบ้าง”
.
สิ่งที่ถูกเข้าใจว่าเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ได้ถูกงมหาแล้วทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทั้งโลกความเป็นจริงและโลกของความเชื่อ
.
.
#คุกที่กีดกันจากโลกภายนอก
.
โทรทัศน์ จดหมายไปรษณีย์ และทนายความ เป็นเพียงไม่กี่ช่องทางที่เหลือที่ทำให้คนอย่างกัลยายังพอรับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอกได้ แต่ทุกอย่างก็ยังมีเงื่อนไข ใช่ว่าจะได้ฟังได้รู้ได้เห็นตามใจอยาก
.
โทรทัศน์ถูกบังคับให้ดูอยู่แค่ไม่กี่ช่อง ส่วนใหญ่เป็นการฉายม้วนเทปซีดีเก่า
.
จะรับจดหมายได้เฉพาะจากผู้ส่งที่มีรายชื่อเป็นญาติผู้ลงทะเบียนเข้าเยี่ยม 10 คนเท่านั้น
.
ทนายความเข้าเยี่ยมได้อย่างไม่เป็นส่วนตัว มีเจ้าหน้าที่เฝ้าสอดส่องอยู่ตลอด
.
รอยต่อโลกภายนอกและโลกหลังกำแพงกว้างขึ้นและกว้างขึ้นอีกด้วยอุปสรรคที่ว่าเหล่านี้ น่าแปลกใจที่ ‘ผู้ต้องขังชาย’ ในเรือนจำเดียวกันกลับสามารถรับจดหมายได้จาก ‘ทุกคน’ แม้จะไม่ใช่ 10 รายชื่อผู้ลงทะเบียนเข้าเยี่ยมได้ นี่เป็นการเลือกปฏิบัติที่ตั้งต้นจากข้อสันนิษฐานใดก็ไม่อาจทราบใด แต่ที่รู้แน่คือทำให้กัลยาไม่สามารถรับจดหมายจากประชาชนทั่วไป หรือจากกลุ่มองค์กรที่ทำแคมเปญเขียนจดหมายถึงผู้ต้องขัง และคนอื่นใดก็ตามที่ปรารถนาจะส่งต่อความหวังดีและความห่วงใยให้กับเธอผู้นี้
.
.
#คุกที่สร้างความเจ็บปวดให้เนื้อตัวร่างกาย
.
พื้นปูนที่แข็งและเย็น ผ้าห่มที่หนาไม่ถึงหนึ่งเซนติเมตร ยิ่งทำให้ผลข้างเคียงจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันบริเวณข้อเข่ากำเริบไปใหญ่ การนอนกับพื้นแข็ง อากาศที่หนาวเย็นตอนกลางคืน ทำให้ขาและเท้าของกัลยาค่อย ๆ บวมเต่งขึ้น บางครั้งก็มีอาการชานานเป็นสิบ ๆ นาที และแต่ละครั้งมันจะนานขึ้นเรื่อย ๆ
.
ผลข้างเคียงเหล่านี้ทำให้ทุกเดือนกัลยาจะถูกพาตัวออกไปตรวจกับแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐใกล้เรือนจำเพื่อติดตามอาการ แต่ทุกครั้งค่อนข้างไม่มีอะไรคืบหน้า ส่วนใหญ่ได้รับเพียงยารักษาตามอาการไม่กี่ตัว บางครั้งได้รับเพียงการตรวจเบื้องต้นจากแพทย์เท่านั้น หลังกลับมาก็ต้องถูกกักตัวในห้องขังไม่ให้ออกไปไหนเลยนานแรมสัปดาห์
.
อีกหนึ่งความทรมานที่ยังไม่มีทางออก นั่นคือ ‘การจัดฟัน’ ในช่องปาก กัลยาจัดฟันแบบโลหะ เวลาฉีกยิ้มจะเห็นเฉดสีของยางที่รัดอยู่ในแต่ละซี่ของฟัน
.
ใครที่เคยจัดฟันจะรู้ดีว่าในทุก ๆ เดือนจะต้องเข้าไปพบหมอฟันเพื่อปรับเครื่องมือ เปลี่ยนยางมัด และเส้นลวด หากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไปโดยไม่ได้พบหมอฟันนอกจากจะทำให้ยางจัดฟันเสื่อมสภาพ เป็นที่สะสมของเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์แล้ว ยังอาจส่งผลการเรียงตัวของฟันให้ผิดเพี้ยนไป ไม่เป็นไปตามแผนการรักษา
.
แต่เชื่อหรือไม่ว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กัลยาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบทันตแพทย์เพื่อปรับเครื่องมือจัดฟันเลย ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุด นั่นคือ ช่วงขากรรไกรฟันล่างเคลื่อนไปจน ‘เบี้ยว’ ผิดรูป
.
.
#คุกที่ไกลบ้าน
.
ไกลบ้าน ไกลครอบครัว, กรุงเทพฯ - นราธิวาส ไม่ได้แค่ ‘ไกล’ ด้วยระยะทางข้ามภูมิภาคกว่าพันกิโลเมตรเท่านั้น แต่เอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ วัฒนธรรม อาหารการกิน วิถีชีวิต และศาสนา ยิ่งตอกย้ำทำให้ความรู้สึก ‘ไกล’ ยิ่งมีมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่โชคดีที่มิตรภาพจากเพื่อนผู้ต้องขังทุกคน พอช่วยให้กัลยายังพอรู้สึกอบอุ่นใจได้บ้าง
.
เรือนจำที่ตั้งอยู่ไกลบ้าน ทำให้ครอบครัว คนรัก และเพื่อน หาโอกาสเดินทางมาพบหน้ากัลยาได้น้อยครั้งมาก มาแต่ละทีก็ต้องยอมจ่ายแลกกับการได้พบหน้ากัน
ไกลบ้านในฝัน, ก่อนหน้านี้กัลยาซื้อที่ดินแปลงหนึ่งไว้ที่จังหวัดพะเยา จังหวัดบ้านเกิดของแม่เธอเอง โดยกัลยาวางแผนตั้งใจว่าจะสร้างบ้านในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากัน ผ่านไปเกือบปีที่ดินผืนนี้ยังคงว่างเปล่า ความฝันถูกพับไว้กะทันหัน และยังไม่รู้จะกลับไปเริ่มได้อีกเมื่อใด
.
.
คุกที่พรากไปมากกว่าอิสรภาพ จึงเหมือนการต้องอยู่ในคุกที่ซ้อนคุก ไม่มีใครรู้ว่าความทุกข์ทนของเธอในสถานที่คุมขังแห่งนี้จะดำเนินไปอีกนานเพียงใด จนกว่าจะครบโทษตามคำพิพากษาจำคุก 6 ปีเลยหรือไม่
.
โดยปัจจุบันคดีมาตรา 112 ของกัลยา ยังถือว่าไม่สิ้นสุด โดยอยู่ระหว่างการรอคอยวันพิพากษาในชั้นฎีกา คดีนี้เธอถูกประชาชนรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอำเภอสุไหงโก-ลก ไปแจ้งความกล่าวหาว่าได้คอมเมนต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กแนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี, โพสต์ข้อความและภาพถ่ายจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563 ประกอบการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564
.
นอกจากกัลยาแล้ว ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสยังมีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีก 1 คน คือ #อุดม คนงานโรงงานจากปราจีนบุรีวัย 36 ปี ต้องโทษจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 รวม 4 ปี โดยถูกคุมขังระหว่างฎีกาเช่นกันมานานกว่า 1 ปีเศษ ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2566 ทั้งสองคดีมีประชาชนรายเดียวกันเป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหา
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/70661