วันอาทิตย์, กันยายน 01, 2567

ภาคประชาสังคมได้ร่วมกันจัดงาน "ใบหน้าของเหยื่อ: เส้นทางอันยาวไกลสู่ความยุติธรรม" พร้อมยื่น 7 ข้อเรียกร้องถึง 'แพทองธาร' ติดตามหาความจริง ทวงความเป็นธรรมให้ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย



ยื่น 7 ข้อเรียกร้องถึง 'แพทองธาร' ติดตามหาความจริง ทวงความเป็นธรรมให้ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย

31 สิงหาคม 2567
ประชาไท
ภาพประกอบ: อันนา หล่อวัฒนตระกูล

"คืนความยุติธรรมและการเปิดเผยความจริงจึงจะเป็นการเยียวยาที่ดีที่สุดให้แก่ครอบครัว (ผู้ถูกบังคับสูญหาย)"

เนื่องในวันที่ 30 ส.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันรำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย ภาคประชาสังคมได้ร่วมกันจัดงาน "ใบหน้าของเหยื่อ: เส้นทางอันยาวไกลสู่ความยุติธรรม" พร้อมส่งข้อเสนอ 7 ข้อถึงรัฐบาล 'แพทองธาร' ให้ความสำคัญกับการตามหาความจริง และทวงความยุติธรรมให้เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ

31 ส.ค. 2567 ทีมสื่อ มูลนิธิ Protection International (PI) รายงานวันนี้ (30 ส.ค.) ว่า ที่ห้องประชุมสำนักงานกลางคริสเตียน ราชเทวี ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายร่วมกับมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ องค์กร PI และมูลนิธิ Forum Asia จัดงานแถลงข่าวเนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล ภายใต้ชื่อ "Faces of the Victims: A Long Way to Justice" หรือ ใบหน้าของเหยื่อ: เส้นทางที่ยาวไกลสู่ความยุติธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทวงถามความยุติธรรม และยื่นข้อเรียกร้องต่อการแก้ไขปัญหาการบังคับสูญหายของรัฐ แม้ว่าจะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย) รวมระยะเวลา 1 ปีกว่า

บรรยากาศกิจกรรมวันนี้มี อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร, เอง ซุย เม็ง (Shui Meng) ภรรยาของสมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาสังคมลาวที่ถูกบังคับสูญหายในปี 2555 พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง พอละจี 'บิลลี่' รักจงเจริญ และ สีละ จะแฮ ญาติของเหยื่อจากการบังคับสูญหายชาติพันธ์ลาหู่ เข้าร่วมในการแถลงและเสวนา


บรรยากาศงานเสวนา "ใบหน้าของเหยื่อ: เส้นทางที่ยาวไกลสู่ความยุติธรรม"

'พิณนภา' เสนอ พ.ร.บ.อุ้มหาย ไม่ควรถูกจำกัดด้วยระยะเวลา

พิณนภา กล่าวว่า แม้จะผ่านมาปีกว่าหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการบังคับสูญหาย แต่พอละจี ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม เธอเคยเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง และได้สอบถามว่าคดีของพอละจี สามารถใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการบังคับสูญหายฯ มาสืบสวนหาผู้กระทำผิดคดีนี้ได้หรือไม่ แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาจากเจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าวคือไม่ได้ และหากจะให้คดีของพอละจี เข้าสู่การสอบสวนของ พ.ร.บ.ป้องกันการบังคับสูญหายฯ จะต้องมีหลักฐานใหม่มาใช้พิสูจน์

"ที่ผ่านมาครอบครัวก็ได้ดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว ไม่รู้จะหาหลักฐานใหม่อะไรมาให้เจ้าหน้าที่อีก ทั้งที่ในความเป็นจริงบิลลี่ ยังเป็นบุคคลสูญหาย และคดียังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์อยู่เลย คดีของบิลลี่ ยังไม่สิ้นสุด พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงควรที่จะทำหน้าที่ให้กับครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่มีเงื่อนไขของเวลาเข้ามาเป็นข้อจำกัดให้ครอบครัวเข้าถึงความยุติธรรม" พิณนภา กล่าว
 
กก.ป้องกันอุ้มหาย ต้องทำงานเชิงรุก ให้ความเป็นธรรมต่อครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างเป็นรูปธรรม

สีละ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการบังคับบุคคลสูญหาย ได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยหนึ่งในหน้าที่คือการตรวจข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งรับและติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นคณะกรรมการชุดนี้ลงพื้นที่หรือสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย หรือติดตามแก้ไขปัญหาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตนอยากให้คณะกรรมการชุดนี้ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

สีละ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมามีพี่น้องชาติพันธ์ลาหู่ถูกอุ้มหายและถูกซ้อมทรมานเป็นจำนวนมาก และที่ตนเรียกร้องความเป็นธรรมมาโดยตลอดคือ กรณีของพี่น้องชาติพันธ์ลาหู่ไม่ต่ำกว่า 20 คนที่ถูกทำให้สูญหาย และมากว่า 50 คนที่ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี จะฟะ จะแฮ หลานชายของตนที่มีอายุเพียงแค่ 14 ปี

"ผมเรียกร้องเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมเคยทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่ง กสม.ได้มีหนังสือส่งต่อไปที่รัฐสภา และรัฐสภาได้มีหนังสือไปถึงกระทรวงกลาโหม กองทัพบก ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาเหยื่อ แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม ผมมีความหวังว่า หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ พี่น้องชาติพันธ์ลาหู่ที่ถูกบังคับให้สูญหายจะได้รับความเป็นธรรม แต่ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำความจริงให้ปรากฎด้วย" ญาติของเหยื่อจากการบังคับสูญหายชาติพันธ์ุลาหู่ กล่าว
ภรรยาสมบัด สมพอน ไม่มีคำว่ายอมแพ้ เรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้ถูกบังคับสูญหายแม้ผ่านมา 10 ปีแล้ว

เอง ซุย เม็ง กล่าวว่า ผ่านมาแล้วกว่า 10 ปีที่สมบัด ถูกบังคับให้สูญหายที่หน้าป้อมตำรวจที่เวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว โดยไม่มีข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสมบัดอีกเลย ความหวังที่จะได้พบเขาอีกครั้งยิ่งห่างไกลออกไป และความกลัวที่จะไม่มีวันได้รู้ความจริงและความยุติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขามีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะภรรยาของสมบัด และเหยื่อ เธอจะไม่ยอมแพ้ต่อความสิ้นหวัง ไม่ว่าสถานการณ์จะดูสิ้นหวังเพียงใด เธอจะต้องรู้ความจริงจนถึงลมหายใจสุดท้าย เธอเป็นหนี้ความยุติธรรมให้กับคุณสมบัด และต่อเหยื่ออื่นๆ ของการบังคับให้สูญหาย อาชญากรรมและความอยุติธรรมเช่นนี้ต้องยุติลง

"ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฉันไม่ได้มองตัวเองเพียงว่าเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายเท่านั้น ใช่ ฉันเป็นเหยื่อและยังคงเผชิญกับความสูญเสีย และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมบัด แต่ฉันได้เรียนรู้ว่าการทนทุกข์อย่างเงียบๆ ไม่ใช่ทางเลือก ฉันต้องบอกเล่าเรื่องราวของสมบัดให้โลกได้รับรู้ และต้องพูดออกมาต่ออาชญากรรมและความอยุติธรรมของการบังคับให้สูญหาย การรักษาความเงียบจะไม่ช่วยหยุดการบังคับให้สูญหาย แต่มันจะทำให้ผู้กระทำผิดกล้าทำอาชญากรรมเหล่านี้ต่อไป" ภรรยาสมบัด กล่าว



การตามหาความจริง คือการเยียวยาที่ดีที่สุด

อังคณา กล่าวว่า คดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ตอนนี้ผ่านมากว่า 20 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้า เพราะว่ารัฐไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในการเปิดเผยความจริง และนำคนผิดมาลงโทษ แม้ว่าปัจจุบันจะมี พระราชบัญญัติป้องกันการอุ้มหายแล้ว รวมถึงการให้สัตยาบันอนุสัญญา แต่ยังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการตามหาทนายสมชาย กรรมการตาม พ.ร.บ. ที่ตั้งขึ้น ไม่ได้มีการรับฟังครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่กฎหมายระบุให้สืบสวนจนทราบที่อยู่ และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด

อังคณา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ขณะจัดงานรำลึก 20 ปี การบังคับสูญหายสมชาย นีละไพจิตร มีบุคคลอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอดแนม ตามถ่ายภาพครอบครัว และยังไม่นับรวมการด้อยค่าและคุกคามทางออนไลน์อื่นๆ

"สมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายในรัฐบาลทักษิณ ปีนี้ลูกสาวทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยทักษิณเองก็ยังมีบทบาททางการเมือง ก็อยากทราบว่าลูกสาวทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรี จะคืนความเป็นธรรมให้ครอบครัวคนถูกอุ้มหายอย่างไร อย่างน้อยบอกความจริงและนำคนผิดมาลงโทษก็ยังดี แพทองธารรักพ่อแค่ไหน ลูกๆ คนหายก็รักพ่อไม่ต่างกัน ดังนั้น คืนความยุติธรรมและการเปิดเผยความจริงจึงจะเป็นการเยียวยาที่ดีที่สุดให้แก่ครอบครัว" อังคณา กล่าว

เรียกร้องไทยไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยมองตานญาด กลับประเทศเวียดนาม


อังคณา นีละไพจิตร

เรียกร้องไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง

ในงานกล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไทยจับกุมผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดจากเวียดนาม อีควิน เบดั๊บ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับการกดขี่และการประหัตประหารมาอย่างยาวนาน แม้ว่าตัวของเบดั๊บ ได้สถานะผู้ลี้ภัยจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) เปิดเผยว่า อีควิน เบดั๊บ เป็นผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาด จากประเทศเวียดนาม และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดเพื่อความยุติธรรม (Montagnards Stand for Justice - MSFJ) เพื่อฝึกอบรมกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดในเวียดนามเกี่ยวกับกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ กลไกภาคประชาสังคม และวิธีการรวบรวมและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการประหัตประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยสาเหตุทางศาสนาต่อสหประชาชาติและนานาชาติ

โดยเบดั๊บ ลี้ภัยมายังประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 เบดั๊บถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจับกุม โดยอ้างว่ามีคำขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนและศาลในประเทศเวียดนามมีคำพิพากษาลงโทษเบดั๊บ ฐานก่อการร้ายจากเหตุจลาจลเมื่อปี 2566 ในจังหวัดดั๊กลัก ซึ่งเบดั๊บ ให้การว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุดังกล่าว และอ้างว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของเขาเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวมองตานญาด เป็นการกระทำโดยสงบ และไม่ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ วันที่ 2 ก.ย. 2567 จะมีการสืบพยานคดีของเบดั๊บ ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้อง 807 ตั้งแต่เวลา 9.00-16.30 น.

"เราไม่สามารถจินตนาการถึงผลกระทบที่รุนแรงที่เขาและครอบครัวต้องเผชิญหากถูกส่งกลับไปยังเวียดนาม"

"องค์สิทธิมนุษยชนขอให้รัฐบาลไทยไม่ส่งตัวอีควิน เบดั๊บกลับ เนื่องจากจะเป็นการขัดแย้งอย่างชัดเจนต่อพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหายของประเทศไทย"

ขณะที่ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International เผยว่า ข้อมูลของคณะทำงานว่าด้วยการบังคับหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (WGEID) ระบุว่า ประเทศไทยมีกรณีการบังคับสูญหายที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้หลายกรณี

WGEID ระบุช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีบันทึกกรณีการบังคับสูญหายในประเทศไทย ประมาณ 80-90 กรณี สะท้อนถึงกรณีที่ได้รับการรายงานและยอมรับโดยสหประชาชาติ เพื่อทำการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้อาจไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด เนื่องจากบางกรณีอาจไม่ได้รับการรายงาน หรือถูกจัดประเภทต่างออกไป

ปรานม กล่าวว่า ในวันที่เรารำลึกถึงเหยื่อของการบังคับสูญหายสากล ข้ออ้างเรื่องงบประมาณหรือการขาดแคลนบุคลากรไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ความเงียบและการเพิกเฉยไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป รัฐมีหน้าที่ไม่เพียงแต่ต้องผ่านกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ถูกบังคับสูญหาย แต่ยังต้องทำให้กฎหมายเหล่านี้มีผลบังคับใช้อย่างแท้จริง เพื่อคืนศักดิ์ศรีและความยุติธรรมให้กับเหยื่อและครอบครัวของพวกเขา เราจะไม่หยุดเรียกร้องจนกว่าความจริงจะถูกเปิดเผย และผู้ถูกบังคับสูญหายจะกลับคืนสู่อ้อมอกของครอบครัว พร้อมกับการปรากฏของความยุติธรรมที่แท้จริง

ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีการเปิดคลิปวีดีโอความรู้สึกของแวรอกีเย๊าะ บาเน็ง น้องสาวของแวอับดุลวาเหม บาเน็ง ผู้ถูกบังคับให้สูญหายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่หายตัวไปแวอับดุลวาเหม เป็นเพียงเยาวชนจากโรงเรียนสอนศาสนาธรรมวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนชื่อดังของจังหวัดยะลา แวอับดุลวาเหม ถูกทำให้สูญหายในวันที่ 17 ต.ค. 2548 จากสุสานมัสยิดแห่งหนึ่งที่จังหวัดปัตตานี ในช่วงที่รัฐบาลในยุคนั้นมีนโยบายการปราบปรามความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตลอดการหายตัวไปครอบครัวความยุติธรรมให้กับลูกชายมาโดยตลอด แม้จะโดนข่มขู่คุกคามในการเรียกร้องความยุติธรรมในการตามหาตัวของแวอับดุลวาเหม แม้จะผ่านมานานแล้วถึง 18 ปีแต่ครอบครัวก็ไม่ละความพยายามในการตามหาความจริงและความยุติธรรม

ยื่น 7 ข้อเรียกร้องให้นายกคนใหม่เปิดเผยความจริงคืนความเป็นธรรมและชดใช้เยียวยาครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย

ต่อมา ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายได้ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการยื่นข้อเรียกร้องผ่านการส่งจดหมายฉบับใหญ่ เพื่อติดตามความยุติธรรมให้กับผู้สูญหายและครอบครัวให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีการติดแสตมป์หน้าซองเป็นรูปของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมทั้งร่วมกันอ่านข้อเรียกร้องโดยรายละเอียดดังนี้
 
ในท่ามกลางความยินดีกับการที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ทำให้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ สหประชาชาติมีผลบังคับใช้




ในโอกาสวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล 2567 เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทย เปิดเผยความจริง และคืนความเป็นธรรมให้ผู้สูญหายทุกคน เราเน้นย้ำความกังวลและห่วงใยในการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหาย การยุติการงดเว้นโทษ และคืนความยุติธรรมครอบครัว ดังนี้

1. เราเน้นย้ำสิทธิที่จะทราบความจริง เนื่องจากการบังคับบุคคลสูญหาย เป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง รัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

2. รัฐบาลต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีผลบังคับใช้ ต้องมีความจริงใจในการตามหาตัวผู้สูญหาย และคืนพวกเขาสู่ครอบครัว ในการ การค้นหาตัวผู้สูญหายต้องเป็นไปตามหลักการชี้แนะในการค้นหาผู้สูญหาย ของคณะกรรมการสหประชาชาติ คือการหาตัวบุคคล ไม่ใช่การหาศพ หรือเพราะการค้นหาตัวบุคคล จะทำให้เราทราบเรื่องราวของผู้ถูกบังคับสูญหาย และรู้ตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง

3. เราขอเน้นย้ำสิ่งที่รัฐไม่อาจละเลยได้ คือ การรับประกันความปลอดภัยของครอบครัว ในกระบวนการร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม เพราะเมื่อการบังคับสูญหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล และมีอำนาจในหน้าที่การงาน การคุกคามต่อครอบครัวจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ รัฐต้องประเมินความเสี่ยง และออกแบบการดูแลความปลอดภัยร่วมกับครอบครัว และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการยุติการคุ้มครองอีกต่อไป

4. รัฐบาลต้องให้ครอบครัวมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยในกระบวนการหาตัวผู้สูญหาย เพื่อความโปร่งใส และยุติธรรม การตัดสิทธิของครอบครัวในการมีส่วนร่วมทำให้การค้นหาตัวผู้สูญหายไม่รอบด้าน อีกทั้งยังอาจมีการปกปิดความจริงที่เกิดขึ้น

5. ข้อเรียกร้องต่อมาตรา 13 (พ.ร.บ.อุ้มหาย) : เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้มาตรา 13 อย่างเข้มงวด ป้องกันการส่งกลับ (non-refoulement) ซึ่งระบุว่าห้ามมิให้มีการส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกทรมาน

6. ที่สำคัญที่สุด คือ การขจัดทัศนคติเชิงลบต่อครอบครัว การสร้างภาพให้ผู้สูญหายเป็นคนไม่ดีทำให้ครอบครัวต้องเผชิญกับการตีตราจากสังคม ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กให้มีชีวิตอย่างหวาดกลัว และไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย

7. เราขอเน้นย้ำว่า เราจะไม่หยุดส่งเสียงจนกว่าความจริง และความยุติธรรมจะปรากฏ และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัว

ในโอกาสวันรำลึกเหยื่อการบังคับสูญหายสากล เราขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจในโอกาสที่ประเทศไทยมี พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และอนุสัญญาการบังคับสูญหาย สหประชาชาติมีผลบังคับใช้ เรายืนยันการให้ความร่วมมือกับรัฐในการค้นหาความจริงและความยุติธรรม เราอยากบอกกับรัฐว่าในฐานะครอบครัวซึ่งส่วนมากคือผู้หญิงและเด็ก เราถูกทำให้อยู่กับความหวาดกลัว ถูกทำให้สูญเสียอัตตลักษณ์ ถูกตีตรา และเพศยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของเรา เจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่รู้ว่า ในแต่ละปี แม่ ๆหลายคนตายจากไปโดยไม่ทราบความจริงว่าลูก ๆ ของพวกเธอหายไปไหน ในฐานะครอบครัว เราขอบคุณมิตรภาพและกำลังใจจากผู้คนร่วมสังคม เราเชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของผู้หญิง จะสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจมีผู้ใดพรากไปได้ และเราอยากบอกกับรัฐว่าแม้จะล้มเหลว สิ้นหวัง หวาดกลัว และเจ็บปวด แต่ผู้หญิงในฐานะครอบครัวก็ไม่เคยสูญสิ้นความหวัง เรายังคงความเชื่อมั่นว่ากฎหมายจะคืนความเป็นธรรมให้ผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคน และสักวันความจริงจะปรากฏ และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัวซึ่งเป็นที่รักของพวกเขา

ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย

30 สิงหาคม 2567


ผู้สื่อข่าวรายงานช่วงท้ายงาน ครอบครัวของผู้สูญหายได้ร่วมกันอ่านบทกวีเพื่อรำลึกถึงคนในครอบครัวที่ถูกบังคับให้สูญหายนอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนยังได้นำดอกไม้ที่แสดงถึงการต่อสู้ไปวางไว้หน้ารูปของผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคน



บรรยากาศการวางดอกไม้รำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหาย

(https://prachatai.com/journal/2024/08/110535)