วันศุกร์, สิงหาคม 23, 2567

รายงานของกลุ่มธนาคารโลก ระบุว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุดในโลก โลกร้อนและเขื่อนบนแม่น้ำโขง เป็นเหตุให้น้ำท่วมภาคเหนือของไทยหนักกว่าทุกปีหรือไม่

ที่มา บีบีซีไทย

สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.เชียงราย รายงานว่าจากฝนตกหนักสะสมต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม มีประชาชนได้รับผลกระทบ 5,579 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ 12,828 ไร่ แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ โดยบางพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายพยายามระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณ อ.เชียงของ แต่เป็นไปได้ช้าเนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีมากเช่นกัน


เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ซึ่งอยู่ที่ จ.เชียงราย ในช่วงเวลานี้ บอกกับบีบีซีไทยว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าเขื่อนของจีนในแม่น้ำโขงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือหรือไม่ เนื่องจากไม่มีข้อมูลการระบายน้ำของแต่ละเขื่อนที่เปิดเผยสู่สาธารณะให้ตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ระบุในประกาศฉบับล่าสุดว่า ในฐานะผู้แทนของประเทศไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จะคอยติดตามสถานการณ์และแจ้งต่อคณะกรรมาธิการฯ ได้ทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเทศสมาชิก MRC จะได้พิจารณาการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน เพื่อหลีกเลี่ยงอุทกภัยจากปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งในหลายจังหวัดของประเทศไทย


นายฉลอง เก่งกาญจน์ ชาวบ้านหมู่ 9 ต.บ้านร่องมะขามป้อม ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย กับระดับน้ำที่ท่วมถึงคอ

ผอ.ฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ มองว่า เหตุอุทกภัยในเชียงรายขณะนี้เกิดจากฝนที่ตกต่อเนื่องในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนสูงมาก นอกจากนี้การก่อสร้าง การถมทางน้ำ และการสร้างถนนเส้นใหม่ ก็ทำให้แนวระบายน้ำเดิมทำงานยากขึ้น

ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 – 18 ส.ค. ปริมาณฝนในภาคเหนือมีปริมาณมากกว่าค่าปกติถึง 8% แต่ยังน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าปกติที่ 10%

ทั้งนี้ ปริมาณฝนของภาคเหนือในช่วงเดือน ส.ค. มีแนวโน้มสูงกว่าปีที่แล้วเนื่องจากจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 24 ส.ค. โดยในตอนนี้วัดได้ 144.1 มิลลิเมตร ขณะที่ปีที่แล้ววัดปริมาณได้ 157.7 มิลลิเมตร

“ความกังวลของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในจังหวัดเชียงรายตอนนี้ คือ โดยเฉพาะใน อ.เวียงแก่น และ เชียงของ คือในตอนนี้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งจะนำไปสู่การก่อสร้างเขื่อนปากแบงซึ่งจะกั้นน้ำโขงที่อยู่ในลาว ซึ่งอ้างว่าหากสร้างจะช่วยกักเก็บน้ำได้ 335-340 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และทางกรมทรัพยากรน้ำมาปักเสาวัดระดับน้ำตามริมแม่น้ำโขงในหลายสถานี แต่ตอนนี้บริเวณแก่งผาไดซึ่งเป็นพรมแดนไทยที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน เสาวัดระดับน้ำได้จมมิดไปแล้ว แม้ยังไม่มีเขื่อน” เธอบอก



ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า สาเหตุหลัก ๆ ของอุทกภัยครั้งนี้เกิดจากภาคเหนือตอนบนมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากในบางแห่ง ขณะที่ภาคอีสานมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบนได้เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย

แต่จากรายงานของกลุ่มธนาคารโลกซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2021 ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุทกภัยในไทยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งพบว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุดในโลก โดยแต่ละปีน้ำท่วมได้สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับประเทศเฉลี่ยปีละ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 98,800 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นเกือบ 100% ของมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติในประเทศ

“การศึกษาชี้ให้เห็นว่าอุบัติการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฝนตกหนักบ่อยครั้งมากขึ้น อันก่อให้เกิดน้ำล้นตลิ่งผิดปกติเข้าท่วมบ้านเรือนในเขตเมือง และเกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภูเขา”

และดูเหมือนว่าความถี่ของเหตุการณ์ฝนตกหนัก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรใน 1 วัน) มีแนวโน้มจะเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนด้วย โดยในรายงานอ้างข้อมูลจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ที่คาดการณ์ว่าจะมีพายุไต้ฝุ่นเพิ่มขึ้นในประเทศไทยระหว่างปี 2013-2043 ขณะที่พายุมรสุมจะค่อนข้างคงที่ในช่วงเวลาเดียวกัน

ด้านกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของไทย ได้จัดทำข้อมูลการคาดการณ์แนวโน้มการเกิดน้ำท่วมในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปัจจุบัน - 2035) โดยวิเคราะห์จากแบบจำลองภูมิอากาศ 2 กรณี คือกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง และกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง โดยพบว่ามี 10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงในช่วง 10 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน ดังนี้

10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรง กรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง

ตาก
หนองคาย
บีงกาฬ
น่าน
แม่ฮ่องสอน
พะเยา
แพร่
ตราด
เชียงใหม่
นครพนม

10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรง กรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง

ตาก
เพชรบุรี
มุกดาหาร
นครพนม
อุทัยธานี
ประจวบคีรีขันธ์
ตราด
ราชบุรี
เชียงใหม่
กาญจนบุรี

กรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง หมายถึง สถานการณ์สมมติที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปี 2100 ใกล้เคียงกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส ในช่วงปี 2081-2100

ส่วนกรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง หมายถึง สถานการณ์สมมติที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปี 2100 เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 4.4 องศาเซลเซียส ในช่วงปี 2081-2100

ทั้งนี้ ประชาคมโลกยังห่างไกลเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ต้องการ



จากข้อมูลของกลุ่มธนาคารโลก ยังบอกด้วยว่า ไทยมีระบบแม่น้ำสองสายที่สำคัญต่อประเทศ คือ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง รวมถึงลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งทอดยาวอยู่ทางทิศตะวันออก แต่สายน้ำทั้งสองแห่งกลับได้รับผลกระทบอย่างมากจากการพัฒนาเมืองของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือการตัดไม้ทำลายป่า

“อย่างไรก็ตามมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าปริมาณน้ำฝนสูงสุดอาจเพิ่มขึ้น 5-10% ภายในปี 2036-2065 และการไหลของน้ำในแม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบจากการทำงานของเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ” รายงานของกลุ่มธนาคารโลก ระบุเขื่อนป้องกันตลิ่งเลียบแม่น้ำโขง บริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

“เขื่อนป้องกันตลิ่งที่สร้างขึ้นเกือบตลอดแนวลำน้ำโขงของไทยก็ทำให้การซับน้ำบริเวณตลิ่งหายไปด้วย” เพียรพร กล่าว “เมื่อก่อนประชาชนก็จะรู้ว่าน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งและเข้าท่วมบริเวณนี้ ก็จะไม่สร้างบ้านบริเวณนั้น แต่พอทำแนวคอนกรีตเป็นเขื่อนป้องกันตลิ่ง คนก็เข้าไปสร้างบ้าน หรือพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ความเสียหายมันเยอะขึ้นเมื่อน้ำล้นตลิ่งเข้ามาท่วม”

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่กังวลว่าอาจทำให้ไทยฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมมากขึ้น คือ ลานีญา (La Niña) ซึ่งเป็นสภาวะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และทุกภาคมีอุณหภูมิต่ำลงกว่าปกติ

นายสมควร ต้นจาน ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าปรากฏการณ์ลานีญายังมีกำลังอ่อนมากในขณะนี้ จึงไม่ได้ส่งผลกระทบกับไทยในช่วงนี้มากนัก และฝนที่ตกในช่วงนี้ก็เกิดจากอิทธิพลของมรสุมปกติมากกว่าเกิดจากลานีญา แต่คาดว่าลานีญาจะมีกำลังแรงมากขึ้นในช่วงปลายปี

“แต่ภาคกลางต้องระวังน้ำหลากจากทางภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งกำลังมาในช่วงสามเดือนนี้ (ส.ค.-ต.ค.)” นายสมควร บอกกับบีบีซีไทยเมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

ที่มา บีบีซีไทย
ส่วนหนึ่งของบทความ
โลกร้อนและเขื่อนบนแม่น้ำโขง เป็นเหตุให้น้ำท่วมภาคเหนือของไทยหนักกว่าทุกปีหรือไม่
https://bbc.in/4fO5Lw1
.....