วันพุธ, กรกฎาคม 24, 2567

ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่คืนวัน นักโทษทางการเมืองยังเฝ้าฝันถึงอิสรภาพ ชวนอ่าน #บันทึกเยี่ยม มาย-บุ๊ค-ธี ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567



บันทึกเยี่ยม มาย-บุ๊ค-ธี: ยังเฝ้ารอในทุกวัน ให้อิสรภาพบังเกิดขึ้น

23/07/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ค. 2567 ทนายความเดินทางไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้าเยี่ยม “มาย” ชัยพร , “บุ๊ค” ธนายุทธ และ “ธี” ถิรนัย 3 ผู้ต้องขังคดีครอบครองวัตถุระเบิดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2564 สำหรับมายและธี หลังจากที่รอคอยมานานด้วยความหวังจะได้รับอิสรภาพ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ทำให้พวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงกลางเดือน ส.ค. 2567

“มันเป็นจุดชี้ชะตาของเราเลยว่าจะอยู่ต่อหรือได้กลับบ้าน มันวัดกันรอบนี้นี่แหละ ไม่ว่าผลจะออกมายังไงก็ต้องรับมันให้ได้” มายกล่าวในตอนหนึ่ง ส่วนธีเปิดใจว่า “ผมรู้สึกแอบมีความหวังอยู่ คิดว่าถ้าได้กลับบ้านก็ดี”

ส่วนบุ๊ค ศิลปินฮิปฮอป ที่ขณะนี้อยู่แดน 4 ก็พูดถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้เจอผู้ต้องขังที่หลากหลายมากขึ้น สิ่งเหล่านั้นจะเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลงานเพลงของเขา บุ๊คสัญญากับตัวเองเสมอว่า หากได้รับอิสรภาพก็จะทำเพลงเพื่อเรียกร้องสิทธิให้ผู้ต้องขังต่อไป

.
“มาย” ชัยพร: ใกล้ได้ออก แต่ยังเป็นหูเป็นตา ช่วยร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ ให้คนข้างใน



วันที่ 11 ก.ค. 2567 มายเดินมาพบทนายด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เล่าว่า ช่วงนี้เป็นหวัด มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดหัวบ้าง ยังมีผื่นแพ้อยู่บ้าง แต่ลดลงจากแต่ก่อน ยาที่ได้จากหมอหมดไปแล้ว ดีที่เพื่อนข้างในให้มาติดตัวไว้

กับนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 16 ก.ค. มายกล่าวด้วยความรู้สึกตื่นเต้นว่า นอนไม่ค่อยหลับ เพราะอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันนัดแล้ว “ผมมองนาฬิกาตลอด มันเป็นจุดชี้ชะตาของเราเลยว่าจะอยู่ต่อหรือได้กลับบ้าน มันวัดกันรอบนี้นี่แหละ ไม่ว่าผลจะออกมายังไงก็ต้องรับมันให้ได้”

มายพูดต่อว่า ก่อนหน้านี้เขาได้เขียนเรื่องร้องเรียนเรือนจำเรื่องข้าวไม่สุก เป็นข้าวสารที่ชุ่มน้ำเฉย ๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นในมื้อเย็นของวันหนึ่งในสัปดาห์ที่แล้ว วันนั้นเขาไม่ได้กินข้าวโรงเลี้ยง “ผมรู้เรื่องเพราะมีหลายคนมาบอก ผมก็เลยเข้าไปดูแล้วไปหยิบมากิน มันดิบจริง ๆ คืออาหารไม่ดี อาหารแย่มันก็ยังพอกินไปได้ แต่ข้าวไม่สุกนี่มันกินไม่ได้ มันไม่ใช่ของที่ควรเอามาให้มนุษย์กิน”

เมื่อมายไปร้องเรียน ฝ่ายที่รับเรื่องก็ไปคุยกับฝ่ายสูทกรรมซึ่งมีหน้าที่ทำอาหาร “เขาก็ขอโทษมา แล้วบอกว่า ถ้าเกิดปัญหาอีกให้หน้าแดนถ่ายรูปแล้วแจ้งไปที่เขาได้เลย เขาจะทำมาให้ใหม่ทันที เพื่อน ๆ เขาก็แฮปปี้กัน มาขอบคุณผม”

มายพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ว่า เงินค่าใช้จ่ายที่กองทุนราษฎรประสงค์ส่งมาให้ก็เพียงพออยู่ โดยไม่รู้สึกว่าขาดเหลืออะไร ใช้เท่าที่มี “ตอนนื้ชื่อผมยังอยู่กองงานส่วนกลาง ทำงานไปเรื่อย ไปเล่นดนตรีบ้าง ไปออกกำลังกายบ้าง วันเสาร์อาทิตย์ก็เตะฟุตบอลกับเพื่อน ๆ ข้างในนี้ผมคุยได้กับทุกคน”

ก่อนสะท้อนว่า “ผมว่าผมคิดถูกแล้วที่อยู่แดน 6 ต่อ อย่างน้อยมันก็ได้ขัดหูขัดตาเจ้าหน้าที่ มันจะมีผู้ช่วยผู้คุมบางคนยังติดนิสัยใช้อำนาจแบบตอนระบบเก่า แต่พอเขาเห็นว่ามีนักกิจกรรมอยู่ เขาก็จะเกร็ง ๆ ยังไงผมก็ยังเป็นหูเป็นตาให้คนข้างใน และช่วยสื่อสารออกไปข้างนอกได้”

มายเล่าอีกว่า เขาส่งจดหมายหากฤษณะ ผู้ต้องขังคดีสหพันธรัฐไทที่อยู่เรือนจำกลางอยุธยา เป็นเดือน ๆแล้ว แต่ยังไม่มีการตอบกลับมาเลย ไม่รู้จดหมายไปถึงหรือไม่

มายให้ความเห็นต่อเรื่องนิรโทษกรรมด้วยว่า ถ้าไม่นิรโทษคดี 112 ด้วย จะกลายเป็นปัญหาต่อไป เป็นชนวนที่จะทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดไปในอนาคต เพราะไม่เริ่มแก้ปัญหาให้ตรงจุดแล้วกลบ ๆ มันไว้

“ผมไม่ได้มีไอเดียว่าจะเอาแบบไหน ผมรู้แค่ว่าถ้าไม่คุยกันเรื่องนี้ให้ชัด ปัญหามันจะใหญ่ขึ้น และจะมีปัญหาอื่นที่มาพัวพันขึ้นเรื่อย ๆ จนมันนำไปสู่ความรุนแรง”

ส่วนเรื่อง สว. มายมองว่า สังคมต้องตรวจสอบอยู่เสมอ แม้ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย “ผมคิดว่า ไม่ใช่ดูแค่ว่าอดีตเขาทำอะไรมาบ้าง แต่ต้องดูปัจจุบันของเขาด้วย เพราะถ้าได้เป็น สว. แล้วทำไม่ดี มันก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม มองแค่เขาเป็นคนดีแล้วจะทำดีตลอดไปไม่ได้หรอก บางครั้งเขาอาจทำดีเพราะอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก คนดีก็ไม่ใช่จะดีตลอดไป สมควรตรวจสอบไปตลอด เพื่อให้เรามองโลกได้ตามความเป็นจริง”

ก่อนจากกันมายอยากสื่อสารเรื่องสินค้าที่ขายในร้านค้ากลางอย่าง น้ำตาล ตอนนี้ข้างในขาดแคลนมาก แถมยังราคาแพง จากที่เขาสังเกตเมื่อก่อนมีขายเป็นถุง ๆ ละ 1 กก. ราคา 27-28 บาท แต่ทุกวันนี้มีแค่แบบขวดพลาสติกขวดเล็ก ๆ ราคา 28 บาทเหมือนกัน แต่ได้ประมาณ 200 กรัม “เท่ากับเราจ่ายเงินเท่าเดิม ได้ของน้อยลง 4-5 เท่า คนข้างในเขาอยากร้องเรียนกัน เพราะเขาลำบาก ผู้ต้องขังจำนวนมากไม่ได้มีเงินเยอะ เป็นปัญหาใหญ่กระทบทั้งเรือนจำเลย”

สำหรับคดีของมาย ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปีนั้นหนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ เป็นจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

จนถึงปัจจุบัน (23 ก.ค. 2567) มายถูกขังมาแล้วเป็นระยะเวลา 525 วัน หรือกว่า 1 ปี 5 เดือน ทำให้มาย รวมถึงธีที่เป็นจำเลยในคดีเดียวกันจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงกลางเดือน ส.ค. 2567 ที่จะถึงนี้

.
“ธี” ถิรนัย: ถูกยึดนกกระเรียนกว่า 1,000 ตัวที่พับไว้ รู้สึกเหมือนถูกเอาอิสรภาพไปอีกครั้ง



วันที่ 12 ก.ค. 2567 ธีเล่าให้ทนายฟังว่า ตื่นเต้นที่จะได้ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันที่ 16 ก.ค. เขานอนคิดทั้งคืน “ผมรู้สึกแอบมีความหวังอยู่ คิดว่าถ้าได้กลับบ้านก็ดี ไม่ได้ก็สู้เรื่องนิรโทษกรรมกันต่อ ผมพับนกไว้กว่า 1,000 ตัวแล้ว เขียนที่ปีกไว้ทั้ง 2 ข้าง ข้างหนึ่งเขียนว่า Freedom อีกข้างเขียนว่า นิรโทษกรรม แต่โดนยึดไปหมดเลยวันที่เขาเข้ามาตรวจยาเสพติดและของผิดกฎหมาย”

ธีขยายความว่า วันที่เจ้าหน้าที่มาตรวจยาเสพติด ผู้ต้องขังถูกย้ายไปอยู่แดน 2 พอกลับมาสิ่งของยังเป็นระเบียบเหมือนเดิม มีแค่นกที่หายไป “ผมไม่เข้าใจเลยว่า นกกระดาษมันผิดกฎหมายตรงไหน ผมเสียดาย เพราะกว่าจะทำได้แต่ละตัวมันใช้เวลา ผมรู้สึกแย่ เพราะเราสู้เรื่องนิรโทษกรรมมา นี่คือสิ่งที่ผมพอจะทำได้ในนี้ มันมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับผม พอมันโดนยึดไปผมรู้สึกเหมือนถูกเอาอิสรภาพไปอีกครั้ง”

ธีถูกดำเนินคดีในคดีเดียวกับมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นจำคุก 3 ปี และลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เช่นเดียวกับมาย

จนถึงปัจจุบัน (23 ก.ค. 2567) ธีถูกขังมาแล้วเป็นระยะเวลา 525 วัน หรือกว่า 1 ปี 5 เดือน ทำให้ธีจะได้รับการปล่อยตัวพร้อมกับมายในช่วงกลางเดือน ส.ค. 2567 ที่จะถึงนี้

.
“บุ๊ค” ธนายุทธ: ถ้าออกไป จะไปทำเพลงเพื่อสิทธิของผู้ต้องขังต่อไป
 


วันที่ 12 ก.ค. 2567 บุ๊คอัพเดทเรื่องสุขภาพว่า ยังแข็งแรงดี ออกกำลังกายกับเพื่อน ๆ บ้าง อย่างเช่น ซิทอัพ ยกเวท รวมทั้งเล่นดนตรีทุกวัน “ผมมาอยู่แดน 4 ได้ประมาณ 3 อาทิตย์แล้ว โอเคดีเลย เราได้อยู่กับเพื่อน ๆ ความเป็นอยู่ดีขึ้นมากจากตอนที่อยู่แดน 6 เวลามีปัญหาภายในภายนอกก็สามารถคุยกับเพื่อนได้ แต่ละคนก็มีปัญหาชีวิตแตกต่างกันไป แต่ก็จะช่วยรับฟังกัน ประคับประคองกันไปให้ตลอดรอดฝั่ง”

สิ่งที่บุ๊คยังคงกังวลมีแค่เรื่องครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายกับเรื่องสุขภาพของย่า ตอนนี้ทางบ้านก็มีรายได้จากพ่อเท่านั้น กับเงินที่เขาได้ค่าลิขสิทธิ์เพลงจากยูทูบเป็นจำนวนแค่หลักพันต่อเดือน

เรื่องแต่งเพลง บุ๊คยังคงทำอยู่ตลอด ยิ่งตอนนี้ได้ไอเดียดี ๆ หลายอย่าง จากผู้ต้องขังที่หลากหลายขึ้น เพราะแดน 4 มีคนโดนคดีหลากหลายกว่า “ผมได้คุยกับคนที่ทำ call center เราก็ได้รู้เหตุผลที่เขาเลือกจะทำ หรือบางคนโดนหลอกให้ไปทำ พอหนีออกมาได้ก็โดนเจ้านายให้คนมาแจ้งความจับ พอเราได้ฟังก็รู้สึกเข้าใจเขามากขึ้น แล้วก็สัมผัสความเป็นมนุษย์ในตัวเองได้มากขึ้นด้วย เรายังคงสัญญากับตัวเองว่า ถ้าเราออกไป เราจะไปทำเพลงเพื่อสิทธิของผู้ต้องขังต่อไป”

บุ๊คยังเล่าถึงบรรยากาศการซ้อมดนตรีว่า ห้องซ้อมจะเป็นห้องเปิด มีคนมารอดูเป็นร้อย มีคนมาขอให้แร็ป “ผมก็แร็ปถึงความเหลื่อมล้ำ เนื้อหามันน่าจะ impact กับพวกเขา หลายคนก็บอกว่า ถ้าออกไปจะไปเปิดฟัง บางคนก็เริ่มจำเนื้อเพลงของผมได้แล้ว เรื่องนี้ทำให้รู้สึกว่า ความสุขมันเกิดได้ทุกที่แม้แต่ในเรือนจำ”

บุ๊คบอกความต้องการทิ้งท้ายว่าอยากได้เนื้อเพลง On my own กับ Every day ของ P9D “ผมชอบมาก ๆ อยากให้ปรินท์แล้วส่งจดหมายเข้ามาให้หน่อย”

จนถึงปัจจุบัน (23 ก.ค. 2567) บุ๊คถูกคุมขังมาแล้ว 306 วัน โดยคดีของเขาเพิ่งสิ้นสุดไป และบุ๊คต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

.

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม

บันทึกเยี่ยมชีวิตหลังกำแพง “ยงยุทธ”- “ธี” – สานต่อนิรโทษกรรมที่เฝ้าฝัน เพื่อนักโทษการเมืองทุกคน

https://tlhr2014.com/archives/68738