วันอาทิตย์, มิถุนายน 09, 2567

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แถลงแนวทางต่อสู้คดียุบพรรค ‘ก้าวไกล’ ๙ ข้อ เด่นสุด กกต.มั่ว ไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธี ปี ๖๖ ข้อ ๗

แถลงแล้ววันนี้ แนวทางสู้คดียุบพรรคของ ก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โซโล่เองกว่า ๓๐ นาฑี ด้วย ๙ ข้อต่อสู้ โดยแบ่งเป็น ๓ หมวด ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ เขตอำนาจและกระบวนการ ข้อเท็จจริงที่ต้องมี และอัตราโทษเหมาะไหม

ในหมวดแรก ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลบอกชัด ข้อ ๑.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้ (ชี้ให้ดูมาตรา ๒๑๐) และข้อ ๒.กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันนี้พิธาเอาไปลงลึกต่อไป เช่นเดียวกับข้อ สาม

ซึ่งอยู่ในหมวดข้อเท็จจริง ที่ว่า คำวินิจฉัยเมื่อ ๓๑ มกรา ๖๗ ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ และ ๔.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ ๕.การกระทำตามคำวินิจฉัยของคดีเมื่อ ๓๑ มกรา ไม่ได้เป็นมติของพรรค (ไม่ใช่เรื่องนิติบุคคล)

สุดท้ายเป็นหมวดเกี่ยวกับสัดส่วนของโทษ ข้อ ๖.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีทางอื่นแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย (นี่เป็นอีกข้อที่เขาลงลึกเนื้อหา) ต่อไปเป็นข้อ ๗-๙ ได้แก่

๗.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหาร ๘.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด ๙.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุด กก.บห.ในช่วงระยะเวลาที่ถูกกล่าวหา ข้อ ๙ นี่พิธาขยายความว่า

จริงๆ แล้วมีอยู่เรื่องเดียวที่เกี่ยวกับ กก.บห.คือการบรรจุเป็นนโยบายของพรรค เรื่องการกระทำต่างๆ ที่ถูกผู้ร้องกล่าวหาไม่ได้เป็นการกระทำของนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการประกันตัวผู้ต้องหา หรือสมาชิกของพรรคเป็นผู้ต้องหาคดี ๑๑๒

โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ นักการเมืองคนอื่นก็ทำกัน เขาย้ำว่าโทษนั้นมีไว้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ถ้าหากใช้มากล้นเกินก็จะเป็นการทำลายประชาธิปไตยเสียเอง

ส่วน การยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ถูกร้องไม่มีโอกาสได้รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงหลักฐานพยาน ในเมื่อ กกต.ใช้มาตรา ๙๒ ยื่นคำร้อง แต่จะให้ถูกต้อง ต้องประกอบมาตรา ๙๓ ด้วย

ความแตกต่างคือ หลักเกณฑ์และวิธีการของ กกต.ตาม ม.๙๓ ได้เปลี่ยนไปเมื่อเดือนกุมภาปี ๖๖ ในครั้งก่อนตอนอนาคตใหม่กับไทยรักษาชาติไม่มีหลักเกณฑ์นี้ ศาล รธน.ใช้วิธีอนุโลมตามวิธีพิจารณาความอาญา ปี ๖๐

แต่ในระเบียบ กกต.ปี ๖๖ นี้เขียนชัดเจน ในข้อ ๗ ต้องให้ผู้ถูกร้องมีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ  และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ก่อนมีการเสนอรายงานข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา

กกต.จะเหมาเอาคำวินิจฉัยศาล รธน.ครั้งก่อนมาเป็นมาตรฐานล้วนๆ ไม่ได้ คดีต่างกันลิบลับ คดีก่อนโทษเพียงตักเตือนไม่ให้กระทำ แต่คดีนี้เท่ากับกล่าวหาว่าได้กระทำแล้วโทษแรงกว่ามาก ฉะนั้นต้องมีการพิสูจน์คดีใหม่หมด ด้วยมาตรฐานที่สูงกว่าเดิม

จะมักง่าย สุกเอาเผากินด้วยหลักเกณฑ์ ความยุติธรรมตามธง อีกแล้วหรือ

(https://www.youtube.com/watch?v=gaCjAUK63uw)