วันจันทร์, มิถุนายน 24, 2567

เมื่อเศรษฐกิจโตช้า ประชากรลด จำเป็นแค่ไหน ที่ต้องสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบที่ล้นเกิน


JustPow
a day ago·

กำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบที่ล้นเกิน
.
การวางแผนว่าจะต้องมีโรงไฟฟ้าเท่าไร เพื่อผลิตไฟเท่าไร นั้นมาจากการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าและการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าที่บรรจุอยู่ในแผน PDP
.
แผน PDP ที่ผ่านมาพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินกว่าความต้องการจริงมาก โดยภาครัฐมักจะให้เหตุผลว่าเพราะโรงไฟฟ้าใช้เวลาก่อสร้างนาน หากดำเนินการช้าจะไม่ทันต่อความต้องการ ก่อนหน้านี้การสำรองไฟฟ้าจะคำนวณจากค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี แล้วสำรองเกินไว้อีก 15% เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เมื่อนำกำลังการผลิตในฟ้าในระบบทั้งหมดมาเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) จะพบว่าที่ผ่านมากำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ 15%
.
ล่าสุด ในเดือนเมษายน 2567 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบ 50,724.10 เมกะวัตต์ ขณะที่การใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2567 เกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 36,792.1 เมกะวัตต์ จะเห็นได้ว่า
เรามีไฟฟ้าสำรองสูงถึง 13,932 เมกะวัตต์ หรือ 37.87% และสูงกว่าหลักการการสำรองไฟฟ้าไว้ที่ 15% ถึง 22.87%
.
ยังไม่นับว่า เรายังมีต้นทุนที่เราต้องจ่ายแม้โรงไฟฟ้าจะเดินเครื่องไม่เต็มกำลังก็ตาม เพราะเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของรัฐกับผู้ผลิตเอกชน กำหนดให้รัฐต้องจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าอยู่ดี ไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ หรือที่เรียกว่า ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ซึ่งก็คือ ค่าออกแบบ จัดจ้าง จัดซื้อ ก่อสร้าง ทดสอบ เดินเครื่อง บำรุงรักษา รวมไปถึงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายคงที่อื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งโรงไฟฟ้าที่พร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าทันที
.
เมื่อการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศนั้น ต่ำกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบอย่างมาก เท่ากับว่าโรงไฟฟ้าหลายๆ โรงที่เรามี ก็ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า เพราะเราใช้ไฟไม่ถึง ทำให้ต้นทุนค่าไฟของเราแพงเกินความจำเป็น การมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ค่าไฟขึ้นในทันที แต่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานกำกับดูแลที่จะเรียกเก็บเลย หรือค่อยทยอยเรียกเก็บทีหลัง เรียกได้ว่าไม่จ่ายวันนี้ ก็ต้องจ่ายในอนาคตอยู่ดี เพราะถูกล็อกไว้ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
.
ตามร่างแผน PDP2024 วางแผนไว้ว่าในปี 2573 ซึ่งเป็นช่วงกลางแผน ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 65,926 เมกะวัตต์ ในขณะที่การใช้ไฟสูงสุดอยู่ที่ 42,235 เมกะวัตต์ เท่ากับว่ามีการสำรองไฟไว้ล้นเกินอยู่ 23,691 เมกะวัตต์ ในขณะที่ปลายแผนในร่างแผน PDP2024 วางแผนไว้ว่าในปี 2580 ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 112,391 เมกะวัตต์ ในขณะที่การใช้ไฟสูงสุดอยู่ที่ 54,546 เมกะวัตต์ จะเห็นได้ว่ามีการสำรองสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 2 เท่า ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด
.
การสำรองไฟไว้ล้นเกินทำให้ต้องมีโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งต้นทุนทั้งหมดนั้นจะส่งผ่านมายังบิลค่าไฟของทุกคนที่จะต้องแพงขึ้นในอนาคต
.
ร่วมโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอไปยังภาครัฐ ได้ที่ https://forms.gle/TSbYPrVWLQyRmG3L6
.
ดาวน์โหลด “13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024” ได้ที่ https://justpow.co/project-ebook-pdp/
.
#แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า #แผนPDP #ค่าไฟ #ค่าไฟแพง #justpow #กระทรวงพลังงาน #สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ
.....
JustPow
15 hours ago ·

การคาดการณ์การเติบโตของ GDP
.
ตัวเลขที่นำมาใช้วางแผนการสร้างโรงไฟฟ้าในแผน PDP มาจากการคำนวณของคณะอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและจัดทำแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นการคิดล่วงหน้า 15-20 ปี โดยอาศัยสมมติฐานต่างๆ
.
ปัจจัยที่ถูกนำมาอ้างอิงเป็นหลักคือประมาณการตัวเลข GDP (อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เนื่องจากวางอยู่บนแนวคิดว่า ยิ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากก็ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การคาดการณ์จำนวนประชากร โครงการลงทุนและนโยบายของรัฐ
.
ตัวอย่างเช่น ในแผน PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่จัดทำค่าพยากรณ์ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2555 มีสมมติฐานใช้ประมาณการตัวเลข GDP ปี 2554-2573 จาก สศช. ณ วันที่ 29 พ.ย. 2554 คาดการณ์ว่าปี 2554-2561 มีประมาณการตัวเลข GDP ดังนี้ 1.5, 5.0, 5.1, 5.7, 6.0, 5.1, 4.7, และ 4.1 หรือในการจัดทำแผน PDP2018 ใช้ ประมาณการตัวเลข GDP ของ สศช.ที่คาดการณ์ว่าปี 2561-2580 จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี
.
แต่น่าสังเกตว่าตัวเลข GDP ที่เกิดขึ้นจริงมักต่างจากตัวเลขประมาณการที่ถูกนำมาใช้ในแผนค่อนข้างมากเช่น ใน PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 คาดว่าประมาณการตัวเลข GDP ปี 2558-2564 ของไทยจะเป็น 6, 5.1, 4.7, 4.1, 4.2, 4.3 และ 4.2 ตามลำดับ หรือใน PDP2018 ที่ใช้ตัวเลขประมาณการเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2560 คาดว่าประมาณการตัวเลข GDP ของไทย ปี 2561-2564 จะเป็น 3.8, 4.0, 3.9 และ 3.8 ตามลำดับ แต่ปรากฏว่า GDP ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างปี 2558-2564 คือ 3.13, 3.43, 4.17, 4.22, 2.11, -6.05 และ 1.56 ตามลำดับ โดยที่เกิดสถานการณ์โควิดระบาดในช่วงปี 2563-2564
.
ทั้งนี้ การพยากรณ์ของรัฐอยู่บนสมมติฐานว่า เศรษฐกิจจะเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยไม่สะดุดเลย แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นในอดีตมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะในความเป็นจริง มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย เช่น ภัยธรรมชาติหรือโรคระบาด เช่น โควิด-19 ในปี 2563-2564 ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการบริโภคไฟฟ้า การประมาณการที่ใช้ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินจริง โดยไม่นำปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้มาพิจารณาร่วมด้วยจะนำไปสู่การวางแผนให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศสูงเกินจริงตามไปด้วย
.
ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่คาดการณ์เศรษฐกิจยังมีอีกหลายหน่วยงาน นอกจาก สศช. ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือองค์กรอิสระอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่การจัดทำแผน PDP เลือกใช้ประมาณการตัวเลข GDP จาก สศช. ตลอดมา
.
ในร่างแผน PDP2024 ที่จัดทำในปี 2567 และใช้ข้อมูลการประมาณการเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 ของ สศช. คาดการณ์การเติบโตของ GDP 2565 และ 2566 ไว้อยู่ที่ 4.0 และ 3.7 ขณะที่ GDP ที่เป็นจริงในปี 2565 และ 2566 คือ 2.6 และ 1.9 ส่วนการคาดการณ์ปี 2567-2569 ประมาณการตัวเลข GDP ที่นำมาใช้คำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 3.4, 3.3 และ 3.3 สูงกว่าการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2567 และ 2568 ไว้ที่ 2.6 และ 3.0 การที่ร่างแผน PDP2024 ใช้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่สูงเกินจริงเพื่อเอาไว้รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจนั้น ยิ่งทำให้ต้องสำรองไฟเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกด้วย
.
ร่วมโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอไปยังภาครัฐ ได้ที่ https://forms.gle/TSbYPrVWLQyRmG3L6
.
ดาวน์โหลด “13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024” ได้ที่ https://justpow.co/project-ebook-pdp/
.
#แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า #แผนPDP #ค่าไฟ #ค่าไฟแพง #justpow #กระทรวงพลังงาน #สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ