วันศุกร์, พฤษภาคม 10, 2567

ไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี โรงงานในเครือปูนซีเมนต์ไทยที่มาบตาพุด ควรมีระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ไม่ให้อุบัติเหตุเกิดได้

เหตุไฟไหม้ถังเก็บสารเคมีของบริษัท มาบตาพุดแท๊งค์เทอร์มินอล เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาที่ผ่านมา ทางบริษัทปูนซีเมนต์ไทยซึ่งเป็นเจ้าของแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เพียงว่า “ได้เกิดกลุ่มควัน บริเวณถังจัดเก็บสารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+”

ทั้งยังรายงานด้วยว่า “ได้เร่งระดมทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์ ในทันทีที่เกิดเหตุ ตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน” ในย่อหน้าต่อมาจึงยอมรับว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน ๔ ราย” และ “ต่อมาได้รับแจ้งว่ามีพนักงานเสียชีวิต ๑ ราย”

แต่รายงานข่าวจากสื่อกลับทราบว่า เหตุการณ์ที่เกิดมีทั้งระเบิดอย่างรุนแรงและไฟไหม้ ที่ถัง TK181 บรรจุสาร pyrolysis gasoline ขนาด ๙,๐๐๐ ลบ.ม.ต้องใช้เวลาดับเพลิงมากกว่า ๖ ชั่วโมง และประชาชนละแวกนั้นต้อง “อพยพหนีตาย และมลพิษทางอากาศไปมากกว่า ๓ กม.”

นี่ไม่ใช่ อุบัติเหตุ หรือเหตุที่เกิดได้โดยไม่รู้เบาะแสมาก่อน แต่เป็นเหตุที่เกิดจากผลของของการขาดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ “ระบบความปลอดภัยของคลังเก็บสารเคมีอันตราย” ณ ที่นั้นล้มเหลวหรือไม่มีอยู่ใช่ไหม

ส.ส.เบญจา แสงจันทร์ @BenchaMFP ตั้งข้อสังเกตุว่านี่ “ไม่ใช่ครั้งแรกและก็จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย” เพราะ “ยังมีโรงงานอุตสาหกรรม มีสารเคมี วัตถุอันตรายที่ระเบิดได้ ติดไฟง่าย” ในพื้นที่อีอีซีและรายรอบอยู่อีกมาก ภาครัฐต้องมีมาตรการควบคุมที่ได้ผล

“แต่ ปชช.ในพื้นที่แทบไม่รู้เลยว่าใน รง.มีสารเคมี วัตถุอันตราย อะไรบ้างและต้องมีวิธีการป้องกันตนเองอย่างไรเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน” อีกทั้งเหตุร้ายที่เกิดจาก โรงงาน MTT ของ SCC นี้เป็นครั้งที่สองแล้ว เมื่อปลายเดือนตุลา ๖๔ ก็เคยมี

ครั้งนั้น “เกิดไฟไหม้ถังเก็บสารแนฟทาอย่างรุนแรง มีคนตาย ๓ คน บาดเจ็บ ๒ คน” และที่ตลกร้ายเข้าไปใหญ่ บริษัทมาบตาพุดแทงค์เทอร์มินอลนี้ “เพิ่งรับรางวัลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (๒๕๖๖) จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”

เป็นรางวัล “ธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยยอดเยี่ยม (ธงขาว-ดาวเขียว)” ซึ่งควรรวมถึงระบบความปลอดภัย ของคลังเก็บสารเคมีอันตราย ในเมื่อสาร pyrolysis gasoline ตัวก่อเหตุ “เป็นของเหลวไวไฟ แต่จะติดไฟได้ด้วยตัวเองต้องมีอุณหภูมิสูงถึง ๕๓๗.๗๗ องศา

จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่ความร้อนในบรรยากาศทำให้เกิดไฟลุกได้เอง แต่ไอระเหยที่ออกมาจากถังมีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศ จึงอาจลอยตกลงมาใกล้พื้นดิน และสารนี้มีจุดวาบไฟที่ -๑๖ ถึง -๖ องศา” นี่ละที่ระบบป้องกันภัยควรครอบถึง

(https://www.prachachat.net/local-economy/news-1560496 และ https://twitter.com/benchamfp/status/1788504537898291695?s=52cU_QcQ)