วันพุธ, พฤษภาคม 08, 2567

ภายใต้ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง นับถือพุทธในที่แจ้ง นับถือผีในที่ลับ


Matichon Weekly - มติชนสุดสัปดาห์
11 hours ago ·

การถือกำเนิดขึ้นของสิ่งที่ผู้เขียนนิยามว่า "ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง" ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทำให้ด้านที่เคยต้องแอบซ่อนไว้ปรับตัวครั้งใหญ่ ผนวกรวมเข้ากับระบบตลาดทุนนิยมกลายเป็นปรากฏการณ์ความเชื่อไสยศาสตร์ปาฏิหาริย์รูปแบบใหม่ที่เชื่อมร้อยทุกอย่างเข้าด้วยกัน
.
ผลลัพธ์คือ การเติบโตของธุรกิจพระเครื่องของขลัง พุทธพาณิชย์หลากหลายรูปแบบ การอุปถัมภ์พระเกจิสายปฏิบัติ คนทรงเจ้า การนับถือบูชากษัตริย์ในอดีต เทพเจ้าในศาสนาอื่นที่ถูกดึงเข้ามาอย่างผสมปนเป และการสร้างเทพเจ้าใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย
.
วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์ : เขตธรณีสงฆ์สมัยใหม่ ภายใต้ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง
.....



วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์ : เขตธรณีสงฆ์สมัยใหม่ ภายใต้ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง (1)

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 พฤษภาคม 2567
ชาตรี ประกิตนนทการ
1 พฤษภาคม พ.ศ.2567

หนังสือ “เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม” (แปลจากต้นฉบับชื่อ Capitalism Magic Thailand : Modernity with Enchantment) เขียนโดย Peter Jackson (แปลโดย วิราวรรณ นฤปิติ) เป็นหนังสืออีกเล่มที่ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจถึงความเชื่อมโยงที่น่าทึ่งระหว่าง พัฒนาการความคิดความเชื่อของพุทธศาสนาไทย ไสยศาสตร์ปาฏิหาริย์ ความเป็นสมัยใหม่ พุทธพาณิชย์ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ และบทบาทของรัฐ

ซึ่งในความเข้าใจของคนทั่วไป สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน และหลายอย่างควรจะต้องขัดแย้งกันด้วยซ้ำ แต่หนังสือได้ชี้ให้เห็นอย่างน่าเชื่อถือว่าสิ่งเหล่านี้ต่างเกื้อหนุนและเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน

ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า ในทัศนะแบบดั้งเดิมมักคาดการณ์ว่า เมื่อสังคมใดก็ตามก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ เมื่อรัฐกลายเป็นรัฐโลกียวิสัย (secular state) ความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลสมัยใหม่จะก้าวเข้าแทนที่ความเชื่อทางศาสนาแบบจารีตและจะทำให้มิติทางไสยศาสตร์ปาฏิหาริย์ลดน้อยจนสูญหายไปในที่สุด

แต่ในโลกความเป็นจริงกลับมิได้เป็นเช่นนั้น ความเป็นสมัยใหม่สามารถอยู่ร่วมกันได้กับสิ่งที่ถูกนิยามว่าเป็นเรื่องงมงายอย่างไม่ขัดแย้ง หลายกรณีหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน


รูปเคารพหลากศาสนาและความเชื่อพร้อมบทสวดคาถาเพื่อสร้างความมั่งคั่ง ภายในพื้นที่วัดหัวลำโพง

กรณีสังคมไทยปรากฏการณ์นี้ยิ่งชัดเจน ผู้เขียนชวนเราย้อนไปทำความเข้าใจทวิลักษณะของสังคมไทยที่ “นับถือพุทธในที่แจ้ง นับถือผีในที่ลับ” ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่แบบไทยๆ ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ที่ทำให้ด้านหนึ่งต้องปกปิดและอธิบายมิติทางไสยศาสตร์ ปาฏิหาริย์ ความขลังเหนือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งงมงาย แต่ในอีกด้านซึ่งเป็นส่วนลึกของจิตวิญญาณกลับโหยหาสิ่งเหล่านี้ แม้จะต้องแอบซ่อนไว้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมในปลายทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา สังคมไทยก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยมเต็มตัวนำมาซึ่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ที่มาพร้อมกับการขยายตัวของ “พุทธศาสนาประชานิยม”

และที่สำคัญที่สุดคือ การถือกำเนิดขึ้นของสิ่งที่ผู้เขียนนิยามว่า “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง” ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทำให้ด้านที่เคยต้องแอบซ่อนไว้ปรับตัวครั้งใหญ่ ผนวกรวมเข้ากับระบบตลาดทุนนิยมกลายเป็นปรากฏการณ์ความเชื่อไสยศาสตร์ปาฏิหาริย์รูปแบบใหม่ที่เชื่อมร้อยทุกอย่างเข้าด้วยกัน

ผลลัพธ์คือ การเติบโตของธุรกิจพระเครื่องของขลัง พุทธพาณิชย์หลากหลายรูปแบบ การอุปถัมภ์พระเกจิสายปฏิบัติ คนทรงเจ้า การนับถือบูชากษัตริย์ในอดีต เทพเจ้าในศาสนาอื่นที่ถูกดึงเข้ามาอย่างผสมปนเป และการสร้างเทพเจ้าใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย

ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ยังได้ทำให้ศาสนาที่แต่เดิมมักพึ่งพารัฐเป็นด้านหลัก ได้เกิดการปรับเปลี่ยนมาสู่การพึ่งพิงระบบตลาดทุนนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นองค์ประกอบหลักของศาสนาพุทธไทยในปัจจุบัน

แม้รัฐจะยังคงมีบทบาทสูง ทั้งในเรื่องการควบคุมศาสนาผ่านกฎหมาย การนิยามว่าพุทธแท้คืออะไร ไปจนถึงการควบคุมคณะสงฆ์ผ่านระบบเกียรติยศ แต่ภาครัฐก็เริ่มถูกท้าทายมากขึ้นจากศาสนาที่โอบรับระบบทุนนิยมเข้ามาเป็นทางออกใหม่ภายใต้การก่อตัวขึ้นอย่างมั่นคงของ “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง”

ทั้งหมดส่งผลให้ไสยศาสตร์ปาฏิหาริย์ที่เคยถูกจัดวางให้อยู่ในพื้นที่ชายขอบของสังคมไทย แต่โลกปัจจุบันสิ่งนี้ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมทางศาสนาและความเชื่อกระแสหลักและเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้จะมีงานศึกษาในลักษณะนี้มาบ้างในอดีตหลายชิ้น แต่หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นที่สามารถอธิบายได้น่าสนใจ มีกรอบคิดทฤษฎีที่แข็งแรง พร้อมกรณีศึกษามากมายที่สอดรับกับข้อเสนอ ซึ่งทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ทางศาสนาและความเชื่อร่วมสมัยได้ชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระแสจตุคามรามเทพในอดีต, ไอ้ไข่, ครูกายแก้ว, เทพทันใจ, ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5, เจ้าแม่กวนอิม การบูชาพระเกจิอาจารย์ที่มีนามมงคลเกี่ยวกับความร่ำรวย เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง มั่น คง สุข สด ชื่น หรือแม้แต่กระแสนับถือ อ.น้องไนซ์ ฯลฯ

สิ่งที่น่าคิดต่อก็คือ แม้เนื้อหาในหนังสือจะพูดถึงความเชื่อและศาสนา แต่พื้นที่หลักในการศึกษาไม่ได้เจาะลงไปสำรวจวิเคราะห์ในตัวพื้นที่วัดวาอารามแต่อย่างใด ผู้เขียนเน้นศึกษาผ่านพื้นที่ตลาดขายพระเครื่อง ห้างสรรพสินค้า พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นอกวัด และในพื้นที่สื่อประเภทต่างๆ ซึ่งทำให้เมื่ออ่านจบ ผมเกิดความสนใจอยากรู้ต่อมาว่า ปรากฏการณ์ที่หนังสือเล่มนี้อธิบายมาได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ในพื้นที่ใจกลางทางศาสนาโดยตรง

นั่นก็คือ พื้นที่ภายในวัด

เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้ศึกษาในประเด็นนี้ ผมเลยอยากทดลองใช้คำอธิบายที่หนังสือได้วางเอาไว้ย้อนกลับเข้าไปมองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่วัดสมัยใหม่ให้แทน ซึ่งจากการศึกษาทำให้พบข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจที่เข้ามาช่วยอธิบายกระแสการออกแบบก่อสร้างวัดสมัยใหม่ในสังคมไทยได้พอสมควร

กล่าวอย่างรวบรัด ผมอยากเสนอว่า นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับการเริ่มก่อตัวขึ้นของ “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง” ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาลที่น่าสนใจมากในการออกแบบภายในพื้นที่วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ส่วนที่เรียกว่า “เขตธรณีสงฆ์”

สำหรับผู้ที่ไม่ทราบ โดยปกติแล้วเราสามารถแบ่งพื้นที่วัดออกเป็น 3 เขตหลัก คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตธรณีสงฆ์

เขตพุทธาวาส คือ สถานที่อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า (พุทธะ+อาวาส) เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์สูงสุด มักประกอบไปด้วย พระอุโบสถ สถูปเจดีย์ วิหาร โดยส่วนใหญ่พื้นที่นี้จะมีกำแพงแก้วโอบล้อมเพื่อกำหนดแสดงความเป็นพื้นที่เขตพุทธาวาส

เขตสังฆาวาส คือ ที่อยู่ของพระสงฆ์ (สังฆะ+อาวาส) หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ พื้นที่ของหมู่กุฏิทั้งหลาย โดยพื้นที่นี้มักมีกำแพงล้อมแยกตัวออกมาอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับพระสงฆ์เท่านั้น

เขตธรณีสงฆ์ คือ พื้นที่นอกเหนือจากเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ไม่ได้มีวัตถุประสงค์การใช้งานแน่ชัด ส่วนใหญ่ในอดีต เขตธรณีสงฆ์คือพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับใช้สอยสาธารณะ เช่น เป็นพื้นที่สำหรับฆราวาสนั่งเล่นพักผ่อน ตลาดนัด หรือบางวัดอาจใช้พื้นที่นี้จัดสรรเป็นป่าช้าและเมรุเผาศพ

พื้นที่ส่วนนี้ไม่มีขอบเขตและรูปร่างหน้าตาที่ชัดเจน

เขตธรณีสงฆ์ในอดีตแม้จะเป็นพื้นที่ใช้สอยสาธารณะสำหรับประชาชนและอาจจะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ (หลายวัดพื้นที่เขตธรณีสงฆ์ใหญ่มากกว่าพื้นที่เขตพุทธาวาสและสังฆาวาสรวมกันเสียอีก) แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจอะไรมากนัก การออกแบบและก่อสร้างในพื้นที่นี้เป็นไปอย่างเรียบง่ายและชั่วครั้งคราว

แต่ในโลกสมัยใหม่ เขตธรณีสงฆ์ของวัดหลายแห่งได้กลายมาเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการปฏิบัติบูชาทางศาสนาในโลกสมัยใหม่ ความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ส่วนนี้มักถูกอธิบายว่าเป็นพื้นที่ “พุทธพาณิชย์” เต็มไปด้วยรูปเคารพนอกศาสนาพุทธ เครื่องรางของขลัง ลัทธิพิธีทางไสยศาสตร์ปาฏิหาริย์นานาชนิด ตู้หยอดทำบุญ ฯลฯ

วัดหลายแห่งในปัจจุบันเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้าวัดไม่ได้สนใจจะไปกราบไหว้พระภายในพระอุโบสถหรือสักการบูชาสถูปเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสอีกต่อไป


เป้าหมายหลักของพวกเขาคือการไปสักการะขอพร ทำบุญ ประกอบลัทธิพิธีทางศาสนารูปแบบใหม่ภายในเขตธรณีสงฆ์ที่เป็นพื้นที่พุทธพาณิชย์มากกว่า

แม้หลายคนยังเดินเข้าไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเขตพุทธาวาส แต่นั่นก็เป็นเพียงผลพลอยได้ตามมาหลังจากการประกอบศาสนพิธีในเขตธรณีสงฆ์แล้วเท่านั้น

สิ่งก่อสร้างและรูปเคารพภายในเขตธรณีสงฆ์ของวัดประเภทนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัด เป็นภาพจำหลัก และกลายเป็นเป้าหมายในการเดินทางมาเข้าวัด

ไม่ว่าจะเป็น พระพิฆเนศ, เทพทันใจ, พญานาค, ท้าวเวสสุวรรณ, ราหู ฯลฯ
ส่วนเขตพุทธาวาสที่ประกอบไปด้วยพระอุโบสถและสถูปเจดีย์ถูกลดบทบาทเหลือเพียงองค์ประกอบมาตรฐานที่จำเป็นต้องมีแต่มิได้สำคัญอะไรนักอีกต่อไป

ปรากฏการณ์นี้มีให้เราเห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน แม้ในด้านหนึ่งเราจะพบเห็นคำวิจารณ์เชิงลบเกิดขึ้นบ่อยครั้งต่อวัดประเภทนี้ แต่ก็ดูเสมือนว่าจะไม่ได้ทำให้วัดประเภทนี้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

ลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับการขยายตัวของ “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง” ซึ่งหนังสือ “เทวา มนตรา คาถา เกจิ” ได้อธิบายเอาไว้อย่างพอเหมาะพอดี

และเพื่อให้เรามองเห็นประเด็นนี้ชัดเจนขึ้น ผมเลยอยากเรียกการเกิดขึ้นของวัดในลักษณะเช่นนี้ในสังคมไทยสมัยใหม่ อย่างลำลองๆ ไปก่อนว่า “วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์”

https://www.matichonweekly.com/column/article_765100