วันอาทิตย์, พฤษภาคม 12, 2567

#วันนี้ในอดีต 11 พฤษภาคม 2443-2567 124 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

https://www.facebook.com/watch/?v=831518895667711&t=0

Textbook Foundation - มูลนิธิโครงการตำราฯ
17 hours ago ·

ช่วงเช้าวันนี้ (11 พ.ค. 2567) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นำโดย ศ.(พิเศษ) ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานมูลนิธิฯ และคณะ ได้ร่วมกิจกรรมและวางพานพุ่ม ในโอกาส “วันปรีดี พนมยงค์” ประจำปี 2567 ณ ลานปรีดีฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.....

สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute
19 hours ago·

#วันนี้ในอดีต
11 พฤษภาคม 2443-2567
124 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
.
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ในครอบครัวเกษตรกรชาวพระนครศรีอยุธยา แม้จะเกิดในครอบครัวชาวนา แต่ได้รับการส่งเสริมให้มีการศึกษา จนสามารถสอบไล่เนติบัณฑิตขณะอายุเพียง 19 ปี ด้วยความสามารถที่โดดเด่น ทำให้ในเวลาต่อมา ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อด้านกฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต ในปี 2469
.
พื้นฐานความคิดการเปลี่ยนแปลงสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรสยามให้เกิดความเสมอภาคของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี มีที่มาจากการเกิดและเติบโตในครอบครัวชาวนาช่วงวัยเยาว์ ส่งผลให้ท่านมองเห็นความอยุติธรรมทางสังคมที่เจริญก้าวหน้าจากพื้นฐานการศึกษาในต่างแดนนี้ได้จุดประกายความคิดของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี ที่ต้องการจะเห็นสยามในขณะนั้นมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ ท่านจึงก้าวเข้ามาเป็นผู้นำทางความคิดของนักเรียนไทยหัวก้าวหน้ากลุ่มเล็กๆ ที่ต่อมาได้กลายมาเป็นคณะราษฎร และศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เป็นผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน
.
และเริ่มก่อการอภิวัฒน์เมื่อเดินทางกลับสู่สยามหลังจบการศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก่อการอภิวัฒน์สยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำ และมันสมองสำคัญของคณะราษฎรได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นนำพาสยามเข้าสู่ระบอบการปกครองตามแนวคิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา กระทั่งใน พ.ศ. 2476 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีได้รับมอบหมายให้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลืองที่มีหลักการเกี่ยวกับการปฏิรูปการจัดสรรที่ดิน และสวัสดิการแก่ราษฎรทั้งหลายส่งผลให้ถูกกล่าวหาว่ามีลักษณะกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์พร้อมทั้งต้องออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก
.
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีมีความมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะนำพาสยามไปสู่ความเป็นเอกราช ทันสมัย และเป็นธรรมแก่ราษฎรตามหลัก 6 ประการจึงมีทั้งการผลักดันให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อปฏิเสธความชอบธรรมของการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นว่าเป็นโมฆะพร้อมทั้งแสดงจุดยืนสันติภาพของไทยจนส่งผลให้หลังสงครามยุติลงประเทศไทยไม่ต้องดำรงสถานะเป็นผู้แพ้สงคราม เมื่อสงครามยุติลงจึงผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักการเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ฉบับแรกๆ ของสยาม
.
ชีวิตในช่วงปลายเส้นทางการเมืองของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีต้องพบเจอกับความผันผวนเนื่องมาจากการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบในการรัฐประหาร 2490 และก่อขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์เพื่อเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยสมบูรณ์เมื่อประสบกับมรสุมดังกล่าวทำให้ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีจำต้องลี้ภัยทางการเมืองนับตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ไปยังจีนและปารีสตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบงามบนโต๊ะทำงาน ณ บ้านอองโตนี ชานเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส
.
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่ :
- ชีวประวัติย่อ ปรีดี พนมยงค์
https://pridi.or.th/th/about/pridi/biography
- ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (พ.ศ. 2477-2495)”, ใน ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน. (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556)