วันพฤหัสบดี, เมษายน 04, 2567

ฝ่ายค้านวิจารณ์รัฐบาลเศรษฐา “เซาะกร่อนบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรรม”



ฝ่ายค้านวิจารณ์รัฐบาลเศรษฐา “เซาะกร่อนบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรรม”

3 เมษายน 2024
บีบีซีไทย

หนึ่งในประเด็นที่ สส. ฝ่ายค้านหยิบยกมาอภิปรายโจมตีรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน คือการสร้างระบบยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน ตั้งแต่คุกทิพย์ ปลอกคอทิพย์ เลี้ยงหลานทิพย์ สำนึกทิพย์ ไปจนถึงได้คืบจะเอาศอก พร้อมวิจารณ์ว่านี่เป็นผลงานชิ้นเดียวของรัฐบาลที่ทำได้เร็วที่สุด และเป็นคำตอบว่ารัฐบาลนี้เพื่อใคร

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ 2560 จะเกิดขึ้น 2 วัน (3-4 เม.ย.) ภายใต้เวลาราว 30 ชม.

แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตั้งธีมอภิปรายไว้ว่า “รัฐบาลเพื่อใคร หัวใจไม่ใช่ประชาชน” ท่ามกลางการปรามาสจากรัฐบาลว่าเป็นเพียงการสร้างวาทกรรมการเมือง และสร้างคอนเทนต์ก่อนปิดสมัยประชุมสภาเท่านั้น

ญัตติของฝ่ายค้านอ้างถึงการบริหารราชการแผ่นดินเป็นเวลากว่า 6 เดือนของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ไม่ดำเนินการหรือปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยใช้คำว่า “ไม่จริงใจ ไม่ตั้งใจ เพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบายของตนที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภา” พร้อมบรรยายสารพัดพฤติการณ์ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นปัญหา

“หากปล่อยปละละเลยให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ไร้เป้าหมาย ไร้จริยธรรม และไร้วุฒิภาวะ ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมตามที่พี่น้องประชาชนคาดหวังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา” นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. และผู้นำฝ่ายค้านในสภา อ่านคำแถลงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปฯ ช่วงเช้าวันนี้ (3 เม.ย.)

ชัยธวัชวิจารณ์ รบ. สร้าง “ประชาธิปไตยแบบไหลย้อนกลับ”

จากนั้นนายชัยธวัชกล่าวอภิปรายโดยระบุว่า หลังการเลือกตั้งประชาชนคาดหวังว่าจะได้ผู้นำประเทศคนใหม่ที่ต่างไปจากผู้นำหลังการรัฐประหาร แต่เวลาผ่านไปกลับพบว่า “เราได้นายกรัฐมนตรีที่ไร้วุฒิภาวะ หลายครั้งท่านก็สับสนว่าท่านเป็นใคร มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง ขาดภาวะผู้นำในการสร้างความเชื่อมั่นและความชัดเจนในทิศทางของรัฐบาล”

จากนั้นหัวหน้าพรรค ก.ก. ได้พูดถึง ความคาดหวัง และ ความผิดหวังของประชาชน รวม 6 ประการ สรุปได้ ดังนี้
  • วิธีคิดในการจัดตั้ง ครม.: จัดสรรตามโควตา สมบัติผลัดกันชม แทนที่จะสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในการเข้ามาบริหารกระทรวงต่าง ๆ
  • การดำเนินนโยบาย: สับสน คิดไปทำไป นโยบายเรือธงขาดยุทธศาสตร์และแนวทางที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ตรงเป้าหมาย แทนที่ประชาชนจะได้เห็นการบริหารราชการแผ่นดินที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก เสมอภาคเท่าเทียม เป็นธรรม กลับเห็นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์ต่อทุนใหญ่
  • การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น: ตอนเริ่มจัดตั้งรัฐบาลแถลงด้วยความมั่นใจว่าจะผลักดันให้เกิดการจัดทำประชามติเพื่อให้มีการจัดทำธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว ผ่านไป 7 เดือนยังคงวนไปวนมา มิหนำซ้ำมีการวิเคราะห์กันว่าแม้จัดทำรัฐธรรมนูญทันรัฐบาลนี้ ก็อาจได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะยังคงไม่ไว้วางใจประชาชนเหมือนเดิม
  • การฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง: กระบวนการนิติสงครามยังดำเนินต่อไปไม่ต่างจากหลังการรัฐประหาร สถานการณ์การปราบปรามประชาชนที่มีความเห็นต่างในนามกฎหมายยังไม่เปลี่ยนแปลง สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเริ่มมีสัญญาณว่าจะถูกคุกคามแทรกแซง
  • การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม: เกิดวิกฤตศรัทธาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในวงการตำรวจและในระบบราชการยังเต็มไปด้วย “ระบบตั๋ว” “ระบบส่วย” จนประชาชนไม่สามารถไว้วางใจในกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ความเสมอภาคเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย และความเสมอภาคเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรมถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลาย
“ท่านไม่ต้องพูดว่าถ้าไม่ชอบกันก็ต่างคนต่างอยู่ เพราะพี่น้องประชาชนต้องการอยู่ในระบบเดียวกัน ต้องการอยู่ในประเทศเดียวกัน หนึ่งระบบที่พวกเราได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเสมอภาคกัน ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมายฉบับเดียวกัน” นายชัยธวัชกล่าว
  • ระบบการเมืองที่นำพาชาติและประชาชนเดินไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ดีกว่า: สิ่งที่เราได้กลับกลายเป็น “ประชาธิปไตยแบบไหลย้อนกลับ” ที่ผู้นำทางการเมืองและผู้มีอิทธิพลทางการเมืองลุแก่อำนาจ ได้คืบจะเอาศอก พยายามผูกขาดอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้อยู่ในมือของชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม “แทนที่เราจะเห็นการยกระดับทางการเมืองเดินไปข้างหน้าเพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่ เรากลับเจอกับการเมืองที่พยายามทำลายสิ่งใหม่เพื่อรักษาสิ่งเก่า”
ภายหลังการอภิปรายของผู้นำฝ่ายค้านในสภาเสร็จสิ้นลง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงทันที โดยระบุตอนหนึ่งว่า เริ่มต้นมาก็พูดแรงพอสมควร สิ้นหวัง ล้มเหลว ไม่โปร่งใส ไม่ปฏิรูป ถอยหลัง วกวกวน ปิดบัง ทำลาย แต่ก็มีอีกด้าน มีหวัง สำเร็จ สิทธิ พัฒนาแทนที่จะเป็นปฏิรูป

“ผมเชื่อว่าหลาย ๆ อย่างที่รัฐบาลทำพยายามทำให้บวก มีอนาคต มีแสงสว่างที่ประชาชนจะได้เห็น แต่ไม่เป็นไรถ้าท่านยังมีข้อกังขา ก็บอกมา เชื่อว่า รมต. ทุกคนพร้อมชี้แจงจากการที่เราทำงานมา 6 เดือน มีการอนุมัติงบ เรามั่นใจว่าทำงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส พร้อมให้ความกระจ่างต่อสมาชิกที่ยังไม่เข้าใจ” นายเศรษฐากล่าว

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลเพิ่งมาทำงานมา 7 เดือน ถ้ามีข้อเสนอแนะก็ยินดีรับฟัง ถ้าเป็นข้อกล่าวหาหรือกล่าวโทษ ก็ขอพยานหลักฐานมา


จุรินทร์อยากเห็นนายกฯ “บินเหมือนเหยี่ยวมากว่าแมลงวัน” มีผลงานเดียว “คุกทิพย์”

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เริ่มอภิปรายด้วยการวิจารณ์รัฐบาลที่พยายามจะสร้างกระแสว่าจะอภิปรายไปทำไม ยังไม่ได้ใช้งบสักบาท ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการ “ตีหน้าซื่อกลางแดดชัด ๆ” แม้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่บังคับใช้ แต่รัฐบาลก็สามารถใช้งบปี 2567 ไปพลางก่อนได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ ถ้าไปดูตัวเลขจะเห็นชัดเจนว่าตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566-31 มี.ค. 2567 สำนักงบประมาณจัดสรรงบให้รัฐบาลแล้ว 1.837 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลใช้งบไปแล้ว 1.524 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 83% ของงบที่สำนักงบจัดสรรให้ หรือคิดเป็น 44% ของงบปี 2567 ทั้งหมด

“ที่บอกว่าไม่ได้ใช่งบสักบาท นี่แลบลิ้นปลิ้นตาหลอกประชาชนชัด ๆ” นายจุรินทร์กล่าว

ถึงแม้ใช้งบปี 2567 ไปแล้ว แต่นายจุรินทร์เห็นว่า รัฐบาล “สอบตก” เพราะมัวแต่ใช้การตลาดนำการบริหาร เอาแต่สร้างภาพ แต่หลังภาพทุกวงการลงมติเกือบเป็นเอกฉันท์ว่าไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน วัน ๆ มีแต่อีเวนต์ เช้า-สาย-เที่ยง-ค่ำ ก็ยังอีเวนต์ จนกระทั่งคนไทยสำลักอีเวนต์ ทั้งนี้ในรอบ 6 เดือน นายกฯ บินไปบินมา อ้างว่า 14 ประเทศกับ 1 เขตเศรษฐกิจ เป็นนายกฯ 180 วัน อยู่เมืองนอก 52 วัน

“มีคนถามว่าบินไปทำการตลาดหรือการตลก ที่บอกว่าทำการตลกเพราะอยู่เมืองไทยประกาศลั่นโลกว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤต แต่ไปถึงเมืองนอก ไปเที่ยวเชิญเขามาลงทุนมาในประเทศ มหาเศรษฐีที่ไหนที่จะป่วยเอาเงินมาลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจวิกฤต ถ้าเขาจะมาเพราะไม่เชื่อนายกฯ แต่เชื่อมั่นในความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่สั่งสมมายาวนาน”

“นายกฯ พยายามแสดงบทบาทเศรษฐกิจในฐานะเซลส์แมน โพสต์เซลส์ได้หรือยัง ปิดการขายได้หรือยัง หรือมีแต่สัญญาจะซื้อจะขายกับดอกไม้สายลม” เขาตั้งคำถาม

นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า คนไทยอยากได้ของจริงมากกว่าการตลาด และ “คนไทยอยากเห็นนายกฯ บินเหมือนเหยี่ยวมากว่าแมลงวัน วัน ๆ ไม่ได้ทำอะไร นอกจากได้สร้างภาพบินไม่รู้จักเหน็ดเเหนื่อย แต่เหยี่ยวบินทีไรไม่พลาดเป้า เพราะเหยี่ยวไม่ทำการตลาด”

ในสายตาของนายจุรินทร์ รัฐบาลชุดนี้จึงมีปัญหาในทุกมิติ และตราบที่รัฐบาลนี้ยังก้าวไม่พ้น “คนชอบอวดบารมี” รัฐบาลนี้จะมีปัญหาทางการเมืองตลอดไป และขอความกรุณาคนในรัฐบาลอย่าไปโทษคนอื่นว่าทำไมก้าวไม่พ้นบุคคลคนนี้เสียที ที่ก้าวไม่พ้นเพราะนายกฯ ถึงขั้นลงทุนนั่งรถประจำตำแหน่งไป “สโลว์ซบถึงบ้านพัก” แถมออกมาให้สัมภาษณ์แถลงด้วยว่ายินดีให้ รมต. ไปเยี่ยมคารวะ

ในช่วงที่นายจุรินทร์อภิปราย ได้เปิดภาพนายเศรษฐานั่งอยู่ในรถยนต์ประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่นายกฯ เดินทางเข้าไปเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ทำให้ สส.เพื่อไทยลุกขึ้นประท้วง

ส่วนปัญหาอื่น ๆ ที่นายจุรินทร์หยิบมาพูดถึง ได้แก่ การมี “นายกฯ หลายคน” โดยเขามองว่าเป็นปัญหาใหญ่ทางการเมือง สะท้อนความไม่เชื่อมั่นและด้อยค่านายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้คนเข้าใจว่านายกฯ ไม่ได้มีคนเดียว ไม่ได้มีนายกฯ นิด ยังมีนายกฯ ใหญ่ และนายกฯ เล็ก เกิดอำนาจซ้อนอำนาจ ทำให้รัฐบาลนี้กลายเป็น “รัฐบาลหุ่น”

เช่นเดียวกับปัญหารัฐบาลที่เต็มไปด้วย รมต. ที่ไร้ประสิทธิภาพ มีทั้ง รมต. ที่โลกลืม-ผิดฝาผิดตัว-ต่างตอบแทน-ทำการเฉพาะกิจ-โลกเซ็ง ซึ่งนายจุรินทร์ได้ยกตัวอย่าง “รมต. โลกเซ็ง” คือ รมว.คลัง ที่ “จ้องจะแยกเขี้ยวใส่ผู้ว่าแบงก์ชาติ แต่งานในหน้าที่ไม่ทำ” ทำให้การจัดเก็บรายได้ 4 เดือน ต่ำกว่าเป้า และกองทุนวินาศภัยติดลบไป 5 หมื่นล้านบาท จึงฝากนายกฯ ว่าปรับ ครม. เที่ยวนี้ ช่วยดูแล รมต. ที่โลกเซ็งด้วย



แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดที่นายจุรินทร์เห็นว่ารัฐบาลต้องแก้ เพราะสร้างความเสื่อมที่สุด และเซาะกร่อนบ่อนทำลายคือการสร้างยุติธรรม 2 มาตรฐาน เป็นผลงานชิ้นเดียวของรัฐบาลที่ทำได้เร็วที่สุด สำเร็จเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากที่สุด และเป็นคำตอบว่ารัฐบาลนี้เพื่อใคร นั่นคือการสร้างนักโทษพันธุ์ใหม่ที่แม้แต่เทวดาต้องยอมให้ใช้ชื่อ ตั้งแต่คุกทิพย์ ปลอกคอทิพย์ เลี้ยงหลานทิพย์ สำนึกทิพย์ ไปจนถึงได้คืบจะเอาศอก

“ในฐานะคนไทยเข้าใจเรื่องบุญคุณต้องทดแทน แต่ต้องไปตอบแทนกันเองส่วนตัว ไม่ใช่เอาบ้านเมืองไปตอบแทน คนหนึ่งได้อำนาจ อีกคนได้อภิสิทธิ์จากการใช้อำนาจ มันอาจรู้สึกยุติธรรมสำหรับคน 2 คน แต่มันไม่ยุติธรรมต่อประเทศและไม่ยุติธรรมต่อนิติธรรมของประเทศที่สั่งสมกันมาช้านาน นายกฯ พยายามบอกว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย หันไปทำการเกษตร เอาหูไปนาเอาตาไปไร่... นายกฯ ตั้งจะอยู่ 4 ปี ถ้าอยู่เพื่อทำความดีไม่มีใครว่า แต่ถ้าอยู่เพื่อทำความชั่วร้ายให้แผ่นดิน ปีเดียวก็ไม่ควรอยู่” นายจุรินทร์กล่าว

เขายังฝากคำถามถึงนายกฯ 3 ข้อ
  • นายกฯ มีนโยบายจะปล่อยให้เกิดการนำคุกทิพย์โมเดล ทำลายหลักนิติธรรมยับเยินมาใช้ซ้ำ 2 อีกหรือไม่
  • ระเบียบใหม่ที่กระทรวงยุติธรรมกำลังจะเข็นออกมา เรื่อง การกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิถูกคุมขังนอกเรือนจำ หรือแปลง่าย ๆ ไปติดคุกที่บ้านได้ จะรวมคดีทุจริต และคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ด้วยหรือไม่ เพราะเท่ากับ “กำลังส่งเสริมกระบวนการทุจริตมุมกลับ หลักนิติธรรมจะเผชิญวิกฤตอีกครั้ง เพราะเกิดจากนักโทษเทวดาตัวใหม่”
  • รัฐบาลนี้จะนิรโทษกรรมคดีทุจริต และคดี 157 ด้วยหรือไม่
เขายืนยันว่า สิ่งที่ถามทั้งหมดนี้เพราะต้องการส่งสัญญาณเตือนนายกฯ อย่าคิดได้คืบเอาศอก เพราะในอดีตมีคนพังเพราะไม่รู้จักพอมาแล้ว ขณะนี้มีผู้ยื่นร้องต่อองค์กรต่าง ๆ เฉพาะกรณีนักโทษเทวดารวมแล้ว 24 คำร้อง สิ่งที่นายกฯ กับพวกได้ทำกับหลักนิติธรรมประเทศไว้ จะเป็นระเบิดเวลาที่ตั้งไว้ระเบิดใส่ตัวเองในอนาคต ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายในประเทศบันดาลให้ทุกท่านดวงตาเห็นธรรมโดยทั่วกัน

จุลพันธ์ยืนยัน ประเทศไทยมี นายกฯ คนเดียว

ภายหลังการอภิปรายของนายจุรินทร์ 2 รมต. ได้ใช้สิทธิชี้แจงทันควัน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวย้ำแบบเดิมแบบที่เคยขี้แจงไปหลายครั้งว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 เป็นกฎหมายที่ออกตั้งแต่ยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งภายใต้กฎหมายนี้ นายกฯ ไม่มีอำนาจอะไรเลย เพราะกฎหมายเขียนการบริหารโทษไว้ทุกขั้นตอน

เช่นเดียวกับกฎกระทรวงยุติธรรมที่ออกมาในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนายจุรินทร์ก็นั่งอยู่ใน ครม. ขณะนั้น และไม่ได้คัดค้านอะไร

รมว.ยุติธรรมกล่าวต่อไปว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนรัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้อนุญาตให้อดีตนายกฯ ทักษิณไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14

“วันนี้ท่านทำให้สังคมสับสนว่าคนไปคุมที่ รพ. ไม่ได้อยู่ที่เรือนจำ ในเมื่อกฎหมายบัญญัติไว้ และทุกคนใน 1 ปี ประมาณ 5 หมื่นคน เวลาออกไปอยู่ที่เรือนจำ เราก็หักเป็นโทษจำคุกเท่ากัน ไม่ใช่ไปรักษาตัวแล้วต้องมาติดคุกเพิ่ม ท่านอาจจะชอบหรือไม่ชอบกฎหมาย แต่ผมว่าไม่ใช่กฎหมาย แต่ท่านอาจมีความรู้สึก ถ้าการกระทำนั้นเป็นฝ่ายท่าน ท่านจะคิดอีกแบบไหม” รมว.ยุติธรรมกล่าว


รมว.ยุติธรรมดูข้อมูล เพื่อเตรียมชี้แจงตอบคำถามฝ่ายค้าน

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงปมใช้งบไปปี 2566 ไปพลางก่อน โดยบอกว่าเป็นการพูดที่ถูกครึ่งหนึ่ง เพราะงบที่ใช้ไปเป็นการจ่ายเงินเดือน รายจ่ายประจำ ลงทุนบ้าง เช่น การผูกพันที่มีมาก่อนหน้า ไม่มีการลงทุนใหม่ ไม่มีโครงการที่รัฐบาลจะสามารถอนุมัติโปรเจกต์ใดๆ ที่

รมช.คลัง ยังแสดงความความเป็นห่วงการใช้คำแรงในการอภิปราย โดยบอกว่า “เศรษฐีที่ไหนจะโง่มาลงทุน” ซึ่งขอยืนยันว่าสิ่งที่นายกฯ ดำเนินไปได้สัญญาณในทางบวกจากเอกชน นานาชาติ แต่การลงทุนเงินแสนล้าน ไม่มีใครตัดสินใจได้ในวันเดียว ต้องมีกระบวนการติดตาม เจรจา พูดคุยกันต่อเนื่อง “เราจะได้เห็นสึนามิการลงทุนในประเทศไทยเกิดขึ้นใน 1-2 ปีแน่นอน สร้างงาน สร้างเงิน สร้างอาชีพ และถ่ายทอดเทคโนโลยี”

ส่วนเรื่องสายบังคับบัญชา นอกจากนายกฯ แล้ว ยังมีการสั่งงานโดยท่านใดอีกไหม นายจุลพันธ์ขอพูดแทน ครม. ได้ว่า “สิ่งนี้เป็นจินตนาการของท่านเอง ไม่ได้มีข้อเท็จจริงใด ๆ ประเทศไทยมีนายกฯ คนเดียวคือ ท่านเศรษฐา ทวีสิน เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด การทำงานขึ้นตรงกับนายกฯ ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามกลไกตามกฎหมายทุกประการ”

ศิริกัญญา ตั้งฉายาเศรษฐา "นายกฯ พาร์ทไทม์" ดิจิทัลวอลเล็ต เริ่ม "ออกทะเล"

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรค ก.ก. อภิปรายการบริหารราชการเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า แก้ปัญหาเศรษฐกิจในแบบ "ปัญหาเฉพาะหน้ารอได้ ส่วนปัญหาระยะไกลไม่เห็นทางออก" ที่เป็นเช่นนี้ พร้อมยกตัวอย่างการแถลงผลงานรัฐบาลตั้งแต่ 2 เดือน 3 เดือน รวมถึง 6 เดือน ที่นายกฯ บอกว่าจะแถลงในวันที่ 16 มี.ค. แต่ไม่แถลง พบว่ามีการผลิตซ้ำผลงานเมื่อ 3 เดือนก่อนและนำมาเป็นผลงานของ 6 เดือน ไม่มีอะไรใหม่ “กลับกลายเป็นว่าผลงานที่เพิ่มขึ้นมามีน้อยมากเหลือเกิน เรื่องการขยายโอกาสตัดทิ้ง บางเรื่องก็ยังคงอยู่ถึงแม้ว่าจะหมดอายุมาตรการไปแล้ว ซอฟต์พาวเวอร์โดนตัดทิ้ง แลนบริดจ์โดนตัดทิ้งไปแล้ว ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น"

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลตั้งข้อสังเกตว่าที่เป็นเช่นนี้ “เป็นเพราะว่าท่านนายกฯ เป็นนายกฯ แบบพาร์ทไทม์ หรือเปล่า ส่วนหนึ่งของเวลาเอาไปใช้เป็นเซลส์แมนของประเทศไทย เลยทำให้ไม่มีใครมาบริหารราชการแผ่นดินแบบฟูลไทม์ ผลงานรอบ 6 เดือน ถึงมีสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาน้อยมากเหลือเกิน และสิ่งที่เราเฝ้ารอ คือ เรื่องการกระตุ้นฟื้นฟูพยุงเศรษฐกิจให้มันดีขึ้น เรากลับไม่เห็นเลย"

น.ส.ศิริกัญญา ยังอภิปรายถึงโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ตด้วยว่า มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดมาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาโครงการนี้สร้างความสับสนมาโดยตลอด รัฐบาลยิ่งแถลง ก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะแหล่งที่มาของเงิน ตอนก่อนเลือกตั้ง เคยบอกว่าจะใช้งบประมาณปี 2567 แต่พอมาเป็นรัฐบาลก็พบว่างบปี 2567 ไม่พอ เลยเปลี่ยนจะไปกู้ออมสิน แต่กฤษฎีกาห้ามไว้ บอกว่ากู้ไม่ได้เพราะผิด พ.ร.บ.ออมสิน ในเรื่องของวัตถุประสงค์ ต่อมา มีแนวคิดจะใช้งบผูกพันสองปี คือ ปี 2567-2568 ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ออกมาบอกว่า ผิด พ.ร.บ. เงินตรา ต่อมา เปลี่ยนรอบที่ 3 นายกฯ แถลงเอง บอกว่าจะใช้งบประมาณและ พ.ร.บ.เงินกู้ แต่ดูในงบปี 2567 แล้วก็ปรากฏว่าไม่มีงบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เลยมีการเปลี่ยนรอบที่ 4 บอกว่า ไม่เอาแล้ว งบปี 2567 เราจะกู้ 100% แต่โดนสกัดตัดขาโดย ป.ป.ช. ว่าผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยล่าสุด รัฐบาลบอกว่าจะใช้งบกลางปี 2567 แบ่งงบประมาณปี 2568 และ กู้ ธกส.

"รอบนี้จึงมีความน่าตื่นเต้นน่าสนใจว่ามันจะเป็นรอบที่ 5 และเราจะลุ้นว่ามีรอบที่ 6 หรือไม่" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า ยังมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนคนที่จะเข้าโครงการ รวมทั้งระยะเวลาที่จะเริ่มโครงการ ซึ่ง ณ วันนี้ เลื่อนไปไตรมาส 4 ปี 2567

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของก้าวไกล ยังคาดการณ์เกี่ยวกับที่มาแหล่งเงินล่าสุดที่รัฐบาลระบุว่า จะมาจากงบกลางของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 แบ่งงบประมาณของปี 2568 มาส่วนหนึ่ง และการกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ด้วยว่า แต่ละแหล่งอาจเผชิญปัญหาการใช้งบประมาณ เพราะแต่ละแหล่งเงินมีกฎหมายที่ควบคุมอยู่

"เป็นความพยายามที่เลือดเข้าตาแล้ว จากเดิมที่เคยพายเรือในอ่างเริ่มที่ศูนย์ใหม่ไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้กลับออกทะเลไปไกลแล้ว" น.ส.ศิริกัญญา ระบุ

“การต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแสดงว่า ไม่มีความพร้อมใด ๆ เลย ตั้งแต่เริ่มต้น ท่านเลยต้องขายผ้าเอาหน้ารอดไปวัน ๆ แก้ไปทีละวัน ๆ แบบนี้ แล้วท่านก็ขยันแถลงมาก สัปดาห์ก่อนหน้าแถลงไปถึง 2 ครั้งโดยยังไม่มีรายละเอียดอะไรชัดเจน และเริ่มมีการสัญญาว่าโครงการจะเริ่มตอนนั้นตอนนี้ แต่สุดท้ายแล้วเป็นไปไม่ได้ตามนั้น ก็เกิดความเสียหาย เพราะว่าโมเมนตัมทางเศรษฐกิจหรือพายุหมุนที่ท่านหวังว่ามันจะเกิดขึ้น มันก็จะไม่เกิดเอา เพราะต้องได้รับสิ่งที่เรียกว่าความเชื่อมั่นของประชาชนของผู้ที่ออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่ถ้ามันเปลี่ยนเยอะ มีโอกาสที่เงินจะหาย มันก็อาจจะไม่ทำให้คนเชื่อมั่นก็เป็นได้"



นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ลุกขึ้นชี้แจง โดยยอมรับว่า มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการจริงในหลายมิติ รวมทั้งจำนวนประชาชนผู้เข้าโครงการ แต่การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลอยากเปลี่ยน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อเสนอแนะของหน่วยงาน

นายจุลพันธ์ปฏิเสธว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงถึง 5 ครั้ง อย่างที่ฝ่านค้านอ้าง เพราะแต่ละครั้งที่ปรากฏออกมาทางสื่อสารมวลชน ไม่ได้ออกมาจาก คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนเรื่องของแหล่งเงินทุน รัฐบาลต้องมีการสำรวจแหล่งทุนทุกทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่สุดท้ายอำนาจในการเดินหน้าอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ

"อยากให้ลดเรื่องของการคาดเดา คาดการณ์ลง แต่ผมยังพูดวันนี้ไม่ได้ เพราะ กลไกทางกฎหมาย จำเป็นต้องมีการให้ความเห็นชอบ จากทางคณะกรรมการ รออีกไม่นาน ไม่อยากให้มีการคาดเดากันต่าง ๆ นานา ผิดมาก็จะหน้าแตกกันอีก" รมช.คลังกล่าว และขอให้รอการแถลงรายละเอียดในวันที่ 10 เม.ย. พร้อมให้คำมั่นว่า โครงการดังกล่าวจะขับเคลื่อนได้ในช่วงปลายปี 2567

เศรษฐา แจงบินนอกได้เม็ดเงินลงทุนกว่า 5 แสนล้าน ขอฝ่ายค้านอย่าเป็น “แมลงหวี่”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวชี้แจงการอภิปรายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่กล่าวหาเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯ โดยระบุว่า เรื่องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทุกครั้งที่บินออกไปต่างประเทศเป็นไปเพื่อเปิดโอกาสในการลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมั่นใจว่าผลก็จะตามมา

"ไม่มีหรอกครับที่นายกฯ จะบินไปเหมือนกับแมลงวัน ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากเห็นว่าฝ่ายค้านเป็นแมลงหวี่ ซึ่งคอยแต่จ้องเล่นแต่การเมือง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลเองก็พยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ ขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน"



นายเศรษฐา กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่บอกว่า ยังไม่เห็นเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในตลาดจริง ๆ "ถ้าเกิดท่านทำงานจริง ๆ ท่านก็รู้" เพราะการลงทุน 5 แสนล้าน หรือเป็นแสนล้านล้าน เชื่อว่าในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ได้มาสานต่อรัฐบาลที่แล้ว เช่น JWS ก็มีการลงทุนแล้ว ส่วนกูเกิล และไมโครซอฟต์ จะลงทุนเป็นแสนล้าน ก็ต้องใช้เวลาบ้าง แต่สัญญาณที่เห็นมาเป็นบวก ๆ พร้อมยืนยันว่าตัวเลขการลงทุนกว่า 558,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ยื่นแผนเข้ามาแล้ว เป็นตัวเลขจริง ไม่ใช่ตัวเลขที่จับต้องไม่ได้

"ขอให้ท่านอดใจ อีกสองปีข้างหน้า จะมีการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยอย่างมหาศาล ผมใช้คำว่าสึนามิแห่งการลงทุน" นายเศรษฐากล่าว

นายกฯ ยังตอบกลับการอภิปรายของฝ่ายค้านที่บอกว่าตนเป็น "รมว.คลัง ที่โลกเซ็ง" ว่าไม่เป็นความจริง และมั่นใจว่าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่แก้จนให้กับประชาชน

"ขอฝากไว้นิดนึงว่า ท่านอย่าเป็นฝ่ายค้านที่ทำให้โลกงงแล้วกัน อีกวันหนึ่งก็จะเป็นฝ่ายค้าน อีกวันก็มีข่าวว่าจะขอเข้าร่วมรัฐบาล กลัวพี่น้องประชาชนจะงงมากกว่า" นายเศรษฐา กล่าว

ก้าวไกลชี้ ยุคเศรษฐา เป็น "ยุคที่ตกต่ำที่สุด" ของตำรวจ

ด้าน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) หรือทนายแจม เปิดอภิปรายด้วยการวิจารณ์ว่า สำนักตำรวจแห่งชาติในยุคของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งควบตำแหน่ง รมว.การคลัง และเป็นประธาน ก.ตร. และ ก.ตช. ควบคุมดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตรง "ถือว่าเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ประชาชนเห็นได้ชัดเจนที่สุด"

ยุคตกต่ำที่ศศินันท์ กล่าวถึง เกี่ยวข้องกับเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับสูง โดยเริ่มอภิปรายถึงการเด้งนายตำรวจระดับสูงยศ "นายพล" 2 คน พร้อมกับตั้งคำถามว่า นายกฯ เศรษฐาในฐานะผู้ที่คุมตำรวจนั้น กระทำการได้ "ถูกต้อง ทำดี เหมาะสม ทำถึง ช้าไปหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงมวยล้มต้มคนดูว่า นายกฯ ในฐานะ ประธาน ก.ตร. ทำหน้าที่ อย่างเต็มที่แล้ว แต่ทั้งที่จริง อาจเป็นแค่การกวาดปัญหา ใต้พรม และสุดท้ายเรื่องก็จะเงียบไปในหลาย ๆ ครั้ง"

สส.หญิงจากก้าวไกล กล่าวต่อไปว่า สมรภูมิการแย่งชิงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 เมื่อพลตำรวจเอก "จ" ขณะที่เป็นรอง ผบ.ตร. ถูกบุกตรวจบ้าน นี่เป็นครั้งแรกที่เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ของประชาชน ซึ่งทุกคนรู้ดีว่านี่คือเกมการเมืองภายในของ ตร. เพราะหลังจากนั้นสองวัน มีการตั้ง พล.อ.อ. "ต" ขึ้น เป็น ผบ.ตร.


ทว่าการแต่งตั้งนี้ ในบรรดาแคนดิเดตชิงตำแหน่ง 4 คน ปรากฏว่า 2 จาก 4 คนนั้น "ฟาสต์แทรกต์" ทั้งคู่ แต่ปรากฏว่า "มง" ไปลงที่แคนดิเดตที่มีอาวุโสลำดับสุดท้าย จึงอยากซักถามไปยังนายเศรษฐาว่า การแต่งตั้งในครั้งดังกล่าว ซึ่งมีการเสนอผู้อาวุโสน้อยที่สุดให้เป็น ผบ.ตร. นายตำรวจคนนี้ มีความรู้ความสามารถเหนือกว่าคนอื่น ๆ อย่างไร และเป็นไปตามเจตนารมณ์การปฏิรูปตำรวจปี 2565 ของ พ.ร.บ.ตำรวจ ซึ่งระบุให้การแต่งตั้งเป็นไปตามระบบคุณธรรมหรือไม่

"พลตำรวจเอก 'ต' ใช้เวลาเพียงแค่ 7 ปี จากยศพันตำรวจเอกขึ้นมาเป็น ผบ.ตร.ได้ มีการยกเว้นหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ก่อนหน้านี้มากมาย ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงตำรวจทั่วไป 7 ปี ไม่มีโอกาสติดยศนายพลด้วยซ้ำ" ศศินันท์ กล่าว



นอกจากนั้นในวันที่มีการประชุมแต่งตั้งใน ก.ตร. ทุกสำนักข่าวลงเหมือนกันหมดว่าจริง ๆ ในวันนั้นในห้องประชุม มีความลังเลอยู่ว่าจะตั้งหรือไม่ สุดท้ายตอนก่อนจะจบบอกว่า จะเลื่อนไปก่อนและตั้งรักษาการไปก่อน สุดท้ายกลับมีการตั้ง ผบ.ตร. เกิดขึ้นหลังมีโทรศัพท์เข้ามาในที่ประชุม

"มีโทรศัพท์ลึกลับ ปลายสายบอกว่า ทำให้จบวันนี้ หลังจากนั้น ก็มีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนที่ 14 ขึ้น มา เรื่องนี้ท่านจะตอบสังคมอย่างไร ว่าวันนั้นมันเกิดอะไรขึ้น สายโทรศัพท์ลึกลับนั้นเป็นใคร ประชาชนจะได้เลิกสงสัย”

ศศินันท์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเกิดสงครามแย่งชิงอำนาจใน ตร. ของ "เบอร์หนึ่ง และเบอร์สอง" เป็นเรื่องที่โยงกับความรับผิดชอบของนายกฯ อย่างปฏิเสธ ไม่ได้

ขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง แคนดิเดตอีกรายที่เป็นคู่ชิงตำแหน่งก็มีประวัติไม่ธรรมดา เพราะมีเส้นทางที่ "ฟาสต์แทร็ค" เช่นกัน ทั้งยังมีความสนิทสนมกับทั้ง "บ้านป่ารอยต่อ" และ "บ้านจันทร์ส่องหล้า" เพราะเมื่อไม่นานมานี้มีภาพไปคุกเข่าต่อหน้าคุณหญิงท่านหนึ่ง และยังไม่รวมถึงการไปพบกับผู้ที่อยู่ระหว่างการพักโทษที่ จ.เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเตะตัดขากันก่อนแต่งตั้ง ผบ.ตร. หรือคดีกำนันนกที่อาจสาวไปถึงหัวเรือใหญ่จนต้องมีการตัดตอนโอนย้ายคดี และนำไปสู่การยิงตัวตายของตำรวจท่านหนึ่ง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พลตำรวจเอก "ต" เรื่องนี้ วิธีสกปรกเหล่านี้ คือ ศึกช้างชนช้าง มีหรือหญ้าแพรกจะไม่ปลกหลาน มีหรือตร ทั่วไปจะไม่เดือดร้อน

"พลตำรวจเอก 'จ' ได้ใช้วิธีการทดสอบอำนาจของตัวเอง โดยใช้อำนาจเรียกตำรวจมารายงานตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาขา สอง คือที่สโมสรตำรวจ... เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ปฏฺิเสธไม่ได้เลยว่า การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ของนายกฯ ในครั้งนั้น นำไปสู่ความวุ่นวายแบบนี้ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ท่านในฐานะนายกฯ จะรับผิดชอบอย่างไร"



ศศินันท์ ยังกล่าวถึงปัญหาอื่น ๆ ของตำรวจ อาทิ การวิ่งเต้นใช้เงินซื้อตำแหน่ง ซึ่งครั้งหนึ่งนายเศรษฐา ยังเคยพูดในที่ประชุมของพรรคเพื่อไทยว่า "มีผู้ผิดหวังมากกว่าผู้สมหวังที่ขอตำแหน่งไป" ในการแต่งตั้งตำแหน่งผู้กำกับ และขอให้มีการตรวจสอบว่า เหตุใดนายกฯ ถึงทราบก่อนได้ว่า ตำรวจคนไหนสมหวังหรือไม่สมหวัง ทั้งที่การแต่งตั้งที่ยังไม่เสร็จสิ้น

"เรื่องตั๋วตำรวจเป็นสิ่งที่ประชาชนรู้และเข้าใจกันหมดแล้วว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง... แต่วันนี้สิ่งเหล่านี้กลับหลุดออกมาจากปากของนายกฯ ผู้ซึ่งควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ มีอำนาจหน้าที่มากกว่านี้ทั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว สิ่งนี้ทำให้ประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่า สรุปแล้ว ตั๋วช้าง ตั๋วเพื่อไทย หรือตัวใบไหน ใหญ่กว่ากันแน่"

ส่วนเงินซื้อตำแหน่ง ศศินันท์กล่าว ตำรวจท้องที่รู้เรื่องนี้ดี ซึ่งจากการสอบถามหลาย ๆ คนทำให้ทราบว่า ตำแหน่งรองผู้กำกับจะขึ้น ผู้กำกับ ต้องเตรียมไว้ 10 ล้าน แต่ถ้าตำแหน่ง รองผู้กำกับนั้นดีอยู่แล้ว แต่ต้องการตำแหน่งที่กว่าเดิม จะอยู่ที่ 5 ล้าน สารวัตรขึ้นรองผู้กำกับ 1.5 ล้าน ถ้าตำแหน่งดีอยู่แล้วจะย้ายไปที่ดีกว่าเดิมลดเหลือ 1 ล้าน

ศศินันท์ชี้ว่า การใช้อำนาจในการเด้งสองนายตำรวจใหญ่ ไม่ได้ทำให้เกิดการปฏิรูปวงการตำรวจ หรือแก้ปัญหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แม้แต่นิดเดียว และมีการใช้อำนาจประธาน ก.ตร. สั่งตำรวจหยุดให้ข่าว ทั้งที่เป็นเรื่องวิกฤตศรัทธาของกระบวนการยุติธรรม

อีกทั้งนายกฯ ไม่มีความกระตือรือร้นต่อการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะตั้งแต่เกิดเรื่องมา 7 เดือน ตั้งแต่นายกฯ รับตำแหน่ง ปล่อยปัญหาคาราคาซัง ตั้งแต่คดีกำนก การแต่งตั้ง ผบ.ตร. การใช้คอมมานโดบุกบ้าน รอง ผบ.ตร. ส่วยเว็บพนัน หรือปัญหาระบบตั๋วตำรวจ เรื่องเหล่านี้ชี้ชัดว่า ในรัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลที่แล้ว

"ตอนนี้ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการการปฏิรูปอย่างที่สุด และเป็นความรับผิดชอบของนายกฯ เศรษฐา... อย่าให้ใครต้องมาปรามาสท่านว่า ท่านเป็นแค่เหรียญอีกด้านของประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือท่านแก้ปัญหาแบบฉบับบ้านจันทร์ส่องหล้าเท่านั้น"

หลังจากนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ชี้แจงถึงปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ว่า หน้าที่การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามที่ประชุม ก.ตร. ไม่สามารถใช้อำนาจในการแต่งตั้งได้เพียงลำพัง แม้นายกฯ จะเป็นประธาน ก.ตร. แต่ไม่เคยใช้อำนาจใดครอบงำ สั่งการทางตรงหรือทางอ้อมในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และในการทำหน้าที่ประธาน ก.ตร. ก็เปิดกว้างให้คณะกรรมการอภิปรายอย่างทั่วถึง เปิดเผย ไม่มีการรวบรัด เร่งรีบ และยึดหลักนิติธรรม

"การจะกล่าวหาว่าผมชี้นำ สั่งการ หรือครอบงำใด ๆ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นเท็จ"

นายกฯ ยังชี้แจงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายระดับผู้บัญชาการ ระดับภาคเป็นไปตามกฎหมาย และไม่เคยชี้นำ เพราะตระหนักดีว่า การแต่งตั้งที่เป็นธรรมเพื่อให้ได้ตำรวจที่ดี ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข ขณะนี้แม้มีปัญหาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่ได้นิ่งเฉย ซึ่งจะเห็นได้ว่าแก้ไขทันที และมีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

โรม เปิดขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เผยมีทหาร-ตร.ไทย เป็นหุ้นส่วนกาสิโนฝั่งเมียวดี

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในเรื่องเกี่ยวกับความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ไร้ความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ เกี่ยวกับขบวนการสแกมเมอร์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเมียวดีของเมียนมา ตรงข้ามชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ของประเทศไทย

นายรังสิมันต์ ระบุว่า ภายหลังเมืองเล้าก์ก่ายถูกทลาย ขบวนการสแกมเมอร์ได้มาสมทบอยู่ที่เมียวดีและส่งเสริมให้เมียวดีกลายเป็นแหล่งที่ใหญ่มากยิ่งขึ้น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เมียวดีกลายเป็นสถานที่ที่ดึงดูดธุรกิจที่ผิดกฎหมายขนาดนี้ก็เพราะว่า เมืองเมียวดีอยู่ติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีไฟฟ้า น้ำมันและอินเทอร์เน็ต ส่งจากประเทศไทย มีช่องทางธรรมชาติมากมายให้เลือกใช้ และการเดินทางติดต่อที่สามารถข้ามไปได้อย่างง่ายดาย โดยนายรังสิมันต์ ได้เปิดคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นท่าเรือแห่งหนึ่งของฝั่งไทย ที่ไม่มีด่านเจ้าหน้าที่ของทางการไทยหน่วยใดเลย และไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางหรือบอร์เดอร์พาส ในการข้ามเรือไปยังฝั่งเมียวดี

"นาตาชา (ผู้สืบข้อมูลในทางลับ) ของผมยืนยัน เพราะว่าไปถ่ายมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่มี ตม.ไม่มีศุลกากรอะไรทั้งนั้น ข้ามกันไปง่าย มีเรือมารับ แล้วไปเล่นแบบนั้น ใครคุม ตม. ใครคุมตำรวจ ใครคุมศุลกากร เศรษฐา ทวีสิน" นายรังสิมันต์กล่าว "การไปแบบนี้ไม่ต้องดีแคลร์ (สำแดง) อะไรเลย แบบนี้คือ ฟอกเงินกันอย่างสนุกสนาน"

สส.ก้าวไกล ได้เปิดข้อมูลให้เห็นถึงบ่อนกาสิโนมากมายที่พ่วง สแกมเมอร์และคอลเซ็นเตอร์ ที่ตั้งกระจายอยู่ในจังหวัดเมียวดี เช่น เมืองชเวก๊กโก ของบริษัท หย่าไท้ ซึ่งมีอาณาจักรขนาดใหญ่กว่า 75,000 ไร่ หรือโครงการหวันหยา นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า มีธุรกิจกาสิโนของคนไทยอย่างน้อย ๆ 17 แห่ง ซึ่งมีคนไทยเป็นเจ้าของ หรือเป็นหุ้นส่วน

คลิปวิดีโอท่าเรือข้ามฝั่งจากฝั่งแม่สอดของไทย ไปยังเมียวดี ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่ทางการไทยประจำอยู่

สำหรับกาสิโน ที่นายรังสิมันต์ กล่าวว่ามีคนไทยเป็นเจ้าของหรือเป็นหุ้นส่วน ได้แก่
  • เมียวดี คอมเพล็กซ์ นายรังสิมันต์กล่าวว่า เจ้าของเป็นนายตำรวจ ยศพลตำรวจตรี ปัจจุบันยังรับราชการอยู่ เขาบอกด้วยว่า นายตำรวจคนนี้ มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนในพรรครัฐบาล และเคยรับราชการที่แม่สอด จ.ตาก ในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
  • สกาย คอมเพล็กซ์ เป็นอีกหนึ่งบ่อนกาสิโนที่มีอดีตนายตำรวจ ยศร้อยตำรวจตรีเป็นเจ้าของ ปัจจุบันออกจากราชการไปแล้ว
  • สตาร์คอมเพล็กซ์ เจ้าของคือ บุคคลที่ชื่อว่า "เสี่ยตือ" ซึ่งนายรังสิมันต์ กล่าวว่า เป็นผู้กว้างขวางทั้งในไทยและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ในละแวกนั้น บางบ่อน ยังมีเจ้าของเป็นถึงอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม บางคนก็อยู่ในเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 17

"นี่หรือเปล่าที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจัดการต่อเมียวดี นี่หรือเปล่าที่เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลเพิกเฉยต่อการเอาจริงเอาจังต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ เพราะสุดท้ายแหล่งเงินเหล่านี้มันก็จะไปถึงเครือข่ายของเพื่อนตัวเอง" นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้การที่เรายังทำราวกับประเทศเมียนมามีสถานการณ์ปกติ นายกฯ เศรษฐา ซึ่งดำรงตำแหน่งมา 7 เดือน จะทำอะไรหรือไม่กับเรื่องนี้ อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะเพิ่งมีการทลายเครือข่ายคนจีนใน จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนักการเมืองท้องถิ่นให้การสนับสนุน ตอกย้ำอย่างชัดเจนว่าทุนจีนสีเทาอยู่รอบตัวเราและตอนนี้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ไม่มีแหล่งคอลเซ็นเตอร์อื่นอีกแล้วในประเทศไทย หรือจะมั่นใจได้อย่างไรว่านักการเมืองท้องถิ่นคนนี้จะไม่เชื่อมโยงไปยังนักการเมืองระดับชาติบางคน



นายรังสิมันต์เสนอว่า เรื่องนี้ควรเป็นวาระแห่งชาติและจำเป็นต้องทำให้พื้นที่ชายแดนของไทยมีความมั่นคงปลอดภัย อีกทั้งรัฐบาลต้องกวดขันเอาจริงเอาจังกับบุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยหรือสัญชาติเมียนมา เช่น จีน หรือกลุ่มประเทศในแอฟริกา ที่เข้าออกผ่านจุดผ่านแดนนี้ซึ่งทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเคยชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคง ว่าไม่ได้เปิดให้บุคคลสัญชาติที่สามเข้าออกอยู่แล้ว พร้อมออกมาตรการควบคุมไฟฟ้า น้ำมัน อินเทอร์เน็ต ที่จะผ่านไปฝั่งเมียนมา ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของเครือข่ายกลุ่มสแกมเมอร์ ตลอดจนนายกฯ ควรต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตในแม่สอด

"คนเหล่านี้ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ มีเส้นทางการเงินอย่างไร เพื่อจะนำไปสู่การตรวจสอบและเอาผิดข้าราชการที่ทุจริต เพื่อป้องกันไม่ให้บรรดาธุรกิจที่ผิดกฎหมาย สามารถดำเนินการได้สะดวกผ่านการใช้เส้นสายทางราชการของประเทศไทยต่อไป"

หลังจากนั้นนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวชี้แจงว่า กรณีหากพบว่ามีนายตำรวจหรือใครที่เกี่ยวข้องกับขบวนการผิดกฎหมายดังกล่าว ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ปล่อยไว้อย่างแน่นอนและจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดตามกฎหมาย และเรื่องใดหากเป็นผลกระทบต่อคนไทย รัฐบาลต้องดำเนินการ แม้ว่าจะต้องประสานกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของเมืองเมียวดี หรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา

สำหรับกรอบเวลาในการอภิปรายตามข้อตกลงของคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายค้านได้เวลาอภิปราย 22 ชม. ฝ่าย ครม. และ สส.พรรคร่วมรัฐบาลได้เวลา 6 ชั่วโมง แต่อาจขยายกรอบเวลาได้มากกว่านั้นขึ้นกับ ครม. ประสงค์จะชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่

นี่ถือเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติรัฐบาลเศรษฐาเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อ 25 มี.ค. สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพิ่งเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้ ครม. แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงแนวทางปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ

https://www.bbc.com/thai/articles/cyjzzxlym23o