วันจันทร์, เมษายน 29, 2567

เปิดบันทึกคดี ม.112 จากห้องพิจารณา #แฮรี่พอตเตอร์2 เมื่อ ‘อานนท์ นำภา’ ยืนยันว่าสิ่งที่ปราศรัยทั้งหมดเป็นความจริง


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
14h
·
เปิดบันทึกคดี ม.112 จากห้องพิจารณา #แฮรี่พอตเตอร์2 เมื่อ ‘อานนท์ นำภา’ ยืนยันว่าสิ่งที่ปราศรัยทั้งหมดเป็นความจริง
.
ในวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 39 ปี ในคดีที่ถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ #มาตรา112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ เหตุจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564
.
ภาพรวมการสืบพยาน: จำเลยให้การปฏิเสธ ยืนยันสิ่งที่ปราศรัยทั้งหมดเป็นความจริง ไม่มีพยานโจทก์ปากใดยืนยันว่าได้ว่าเป็นข้อความเท็จ
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดสืบพยานทั้งสิ้น 9 นัด โดยอัยการจะนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 13 ปาก ระหว่างวันที่ 17-20 ต.ค., 18, 25 ธ.ค. 2566 และ 29 ม.ค. 2567 แต่ในช่วงวันดังกล่าว แน่งน้อย อัศวกิตติกร ไม่เดินทางมาศาลตามนัด ทำให้ศาลสั่งตัดพยานออก จึงเหลือพยานโจทก์ที่มาเบิกความทั้งสิ้น 12 ปาก ได้แก่ ประชาชนและตำรวจผู้กล่าวหา,​ พนักงานตำรวจอีก 4 ปาก, เจ้าหน้าที่เทศกิจ 1 ปาก และพยานความเห็นตามมาตรา 112 อีก 5 ปาก
ส่วนทนายความนำพยานจำเลยเข้าสืบพยานทั้งหมด 5 ปาก ในระหว่างวันที่ 19 ก.พ. และ 4 มี.ค. 2567 ได้แก่ อานนท์ ผู้เป็นจำเลยในคดีนี้ และพยานความเห็นทางวิชาการอีก 4 ปาก คือ ธนาพล อิ๋วสกุล, พวงทอง ภวัครพันธุ์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล และนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ถึงแม้ว่าการสืบพยานตลอด 9 นัด อานนท์ผู้เป็นจำเลยในคดีนี้จะถูกคุมขังอยู่และเบิกตัวมาศาลเพื่อร่วมพิจารณาคดี ก็จะมีประชาชนมาร่วมฟังการพิจารณาคดี และให้กำลังใจเขาอย่างต่อเนื่อง โดยการถามค้านพยานโจทก์บางปากในคดีนี้ อย่างเช่น ณฐพร โตประยูร และ กันตเมธส์ จโนภาส อานนท์ได้เป็นผู้ถามค้านด้วยตนเอง
.
การนำสืบของโจทก์ พยายามกล่าวหาว่า
ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ คือ จำเลยโพสต์เชิญชวนไปชุมนุมบนเพจเฟซบุ๊กของตนเอง ซึ่งเป็นสาธารณะและคนทั่วไปเข้าถึงได้ อีกทั้งจำเลยก็ใช้เครื่องขยายเสียงขณะปราศรัย โดยไม่ได้ขออนุญาตชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียงก่อน
ในข้อหามาตรา 112 การปราศรัยของจำเลยเป็นการกล่าวหาและมุ่งโจมตีรัชกาลที่ 10 ทั้งในเรื่องว่าไม่ได้ทรงอยู่เหนือทางการเมือง มุ่งแสวงหาผลประโยชน์และมีพฤติกรรมไม่ชอบในทางทรัพย์สิน ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติและภาพลักษณ์
.
ด้านจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและมีข้อต่อสู้ในคดีดังนี้
ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มีข้อต่อสู้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ปราศรัย ไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ในการขออนุญาตชุมนุม และขอใช้เครื่องขยายเสียง รวมถึงจัดเตรียมมาตรการป้องกันโควิด อีกทั้งขณะปราศรัยจำเลยก็ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และมีการเว้นระยะห่างกับผู้ชุมนุม ลานหน้าหอศิลป์เป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ปรากฏว่ามีระบาดของโรคจากการชุมนุม
ในข้อหามาตรา 112 มีข้อต่อสู้ว่า สิ่งที่จำเลยพูดทั้งหมดเป็นความจริง และไม่มีพยานโจทก์ปากใดยืนยันว่าได้ว่าเป็นข้อความเท็จ และในการสั่งฟ้องคดีก็ไม่ได้นำ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 มาพิจารณาประกอบ การพิจารณาความผิดตามมาตรา 112 ต้องคำนึงถึงมาตรา 6 และมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาดูควบคู่กันไป มิอาจใช้หลักการตามมาตรา 6 มาทำลายหลักเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสมอกัน
.
ก่อนฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 เม.ย. 2567 นี้ ชวนอ่านใจความสำคัญของคำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลยที่มาให้การต่อศาลในคดีนี้
.
.
อ่านคำเบิกความทั้งหมดบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/66499