รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61
March 23, 2024
iLaw
ระบบการ “เลือกกันเอง” เพื่อใช้สรรหาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซับซ้อนและเต็มไปด้วยช่องโหว่ ในปี 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ระบบที่คล้ายกันนี้ในการหาผู้สมัคร สว. กลุ่มอาชีพ 200 คน เพื่อให้รัฐบาลทหารคัดเลือกเหลือ 50 คนเป็น สว. กลายมาเป็น 50 คน ในจำนวน 250 สว. ชุดพิเศษ
จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย
ให้ผลประโยชน์ แลกพาคนไปโหวตให้ตัวเอง
การเลือก สว. ภายใต้ระบบเลือกกันเอง ใครมีพรรคพวกมาก ก็มีโอกาสได้รับเลือกมาก สำหรับผู้ที่อยากเป็น สว. การตระเตรียมและเกณฑ์คนให้ไปสมัคร สว. เพื่อมาโหวตให้ตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งเล่าว่า เมื่อถึงวันเลือกจริง ผลลัพธ์ก็อาจจะรู้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงคะแนนเสียง โดยคนที่ระดมไปได้ก็มีตั้งแต่ญาติพี่น้อง คนรู้จักในชุมชนหรือในสมาคมท้องถิ่น ไปจนถึงกลุ่มการเมืองท้องถิ่นต่าง ๆ
โจทย์ใหญ่ของการระดมคนไปโหวตก็คือผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่ผู้อยากเป็น สว. ต้องแลกกับคะแนนเสียง โดยในการเลือก สว. เมื่อปี 2561 มีผู้ให้ข้อมูลว่ามีการเสนอผลประโยชน์หลากหลายรูปแบบ เช่น
1. เงิน : การให้ทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินเป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุด โดยพื้นฐานแล้ว ผู้สมัคร สว. ที่อยากให้มีคนไปลงคะแนนให้ตนเอง ต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาทต่อคน พร้อมกับค่าเดินทางของแต่ละคนที่อาจไม่เท่ากัน จากการพูดคุยกับคนที่เคยอยู่ในกระบวนการเลือก สว. วงเงิน 500 บาท เป็นจำนวนที่ถูกใช้เป็นค่าเดินทางในบางพื้นที่ เมื่อรวมกับค่าสมัครก็เป็น 3,000 บาทต่อคนเป็นอย่างน้อย ยังไม่รวมกับเงินค่าตอบแทนการเสียเวลาอื่น ๆ ที่แตกต่างกันป
ไการเลือก สว. เมื่อปี 2561 ในบางพื้นที่ การจะ “ล็อคผล” ให้ได้ในระดับอำเภอต้องใช้คนประมาณ 20-30 คน แยกกระจายลงสมัครในกลุ่มต่าง ๆ หมายความว่าผู้สมัครจะต้องใช้เงินประมาณ 60,000-90,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาคนมาโหวต
2. ตำแหน่ง : การตอบแทนผู้มาลงคะแนนให้ อาจมาในรูปแบบของคำสัญญาว่าจะให้ตำแหน่ง หากผู้สมัครได้รับเลือกเป็น สว. ในขั้นสุดท้าย ตำแหน่งที่สะดวกที่สุดและสามารถใช้ “ตอบแทน” ได้ คือ “ผู้ช่วย สว.” ซึ่ง สว. คนหนึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงาน รวมทั้งหมดแปดคน เงินเดือนตั้งแต่ 15,000-24,000 บาท โดย สว. อาจจะตั้งผู้ที่เคยให้ความช่วยเหลือตนเองเป็นผู้ช่วยโดยไม่ต้องปฏิบัติงานแต่ได้รับเงินเดือน ซึ่งมีตั้งแต่ได้เป็นผู้ช่วยตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งห้าปีของ สว. คนนั้น หรือใช้วิธีการ “เวียน” กล่าวคือ ให้เป็นผู้ช่วยในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยอาจจะเป็นหกเดือนหรือหนึ่งปี หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนคนอื่นเข้ามาแทน
หากได้รับตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว อัตราเงินเดือน 15,000 บาท เป็นเวลาห้าปี ก็จะได้รับเงินรวม 900,000 บาท แต่หากได้ตำแหน่งเพียงหนึ่งปีก็จะเหลือ 180,000 บาท แต่หากนับว่าค่าสมัครเพียง 2,500 บาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ได้กำไรงาม
หากได้รับตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว อัตราเงินเดือน 15,000 บาท เป็นเวลาห้าปี ก็จะได้รับเงินรวม 900,000 บาท แต่หากได้ตำแหน่งเพียงหนึ่งปีก็จะเหลือ 180,000 บาท แต่หากนับว่าค่าสมัครเพียง 2,500 บาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ได้กำไรงาม
นอกจากนี้ ยังมีการให้ตำแหน่งในกรรมาธิการของ สว. แตกต่างกันไป โดยมีทั้งตำแหน่งที่ได้เงินค่าตอบแทนและไม่ได้ค่าตอบแทน ทั้งนี้ บางคนเพียงต้องการจะเข้าไปมีตำแหน่ง “เป็นหน้าเป็นตา” และมีโอกาสได้รับเครื่องราชอิสรยาภรณ์ โดยไม่ได้หวังค่าตอบแทน
3. ผลประโยชน์ทางธุรกิจ : บางกรณี ผู้คนที่ตระเตรียมให้ไปลงคะแนนนั้นก็อาจจะกระทำผ่านเครือข่ายทางธุรกิจ ทำให้มีการใช้ผลประโยชน์ทางธุรกิจในการแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียง เช่น การต่อสัญญาการค้าขาย หรือให้สิทธิประโยชน์บางประการ เพื่อให้จัดหาคนไปลงสมัครและเลือกผู้สมัครเป้าหมายให้ผ่านเข้ารอบ
กระจายพรรคพวกทั้งประเทศ ทุกกลุ่มอาชีพ
เนื่องจากการเลือก สว. จะไม่จบที่แค่การเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่หากได้รับคะแนนมากที่สุดห้าอันดับแรก ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะต้องไปเจอกับ “การเลือกไขว้” โดยให้จับสลากแบ่งสาย และผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจะต้องลงคะแนนให้กับผู้สมัครจากกลุ่มอื่น
ผู้สมัครที่อยากผ่านเข้ารอบจึงจำเป็นต้องให้ “คนของตนเอง” กระจายไปตามกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อการันตีว่าเมื่อมีการจับฉลากสายโหวตไขว้แล้ว จะมีคะแนนเสียงจากคนที่ตนเองจัดตั้งมา นอกจากนี้ ผู้สมัครยังต้องหาคนกระจายไปตามอำเภอต่าง ๆ ในกรณีที่ผ่านเข้ารอบไปในระดับจังหวัด และจังหวัดต่าง ๆ ในกรณีที่ผ่านเข้ารอบไปในระดับประเทศ
ดังนั้น หากไม่ใช่ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไปในระดับประเทศ ผู้สมัครจะต้องเป็นคนที่มีเครือข่ายกว้างขวางในการรวบรวมคนในทุกกลุ่มอาชีพจากหลายอำเภอและจังหวัด
สมัครแบบมียุทธศาสตร์ เลือกอำเภอ-จังหวัดคนน้อย กลุ่มอาชีพที่ไม่มีคนสมัคร
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.) ให้ทางเลือกผู้สมัครไว้หลากหลาย สำหรับอำเภอที่จะลงสมัครนั้น ผู้สมัครสามารถเลือกจาก อำเภอที่เกิด อำเภอที่ศึกษาหรือเคยศึกษา อำเภอที่ทำงานหรือเคยทำงาน อำเภอที่มีหรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งหมดไม่น้อยกว่าสองปีติดต่อกัน ในขณะที่กลุ่มอาชีพ หากผู้สมัครมีประสบการณ์มากกว่าหนึ่งด้าน ก็สามารถเลือกลงสมัครได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้สมัครสามารถเลือกสมัครได้เพียงกลุ่มอาชีพเดียวในอำเภอเดียวเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น หากนางสาวสมหญิง เกิดที่ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เรียนมัธยมที่ อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ทำงานที่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และสมหญิงรับราชการครู มาแล้ว 20 ปี ในระหว่างการเป็นครูก็ยังทำอาชีพเสริมคือการขายของออนไลน์ด้วย ทำมาแล้ว 15 ปี
ในกรณีนี้ สมหญิงจะมีถึง 20 ทางเลือกในการสมัคร (สี่อำเภอ และห้ากลุ่มทางอาชีพและสังคม ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ กลุ่มการศึกษา กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มสตรี และกลุ่มอื่น ๆ)
ดังนั้น ทางเลือกที่ดีของผู้สมัครคือสมัครในอำเภอและกลุ่มอาชีพที่มีแนวโน้มว่าจะมีผู้สมัครน้อย เพื่อให้มีคู่แข่งน้อยที่สุด ในกรณีที่มีผู้สมัครน้อย ไม่เกินสามคนในระดับอำเภอ (เฉพาะการเลือกกันเองในปี 2561 ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 94 (5) ของพ.ร.ป. สว.) ผู้สมัครก็จะผ่านเข้ารอบโดยทันทีและไม่ต้องการมีการเลือกกันเอง ในการเลือก สว. ปี 2561 มีการจัดการเลือกกันเองเพียง 197 อำเภอ ใน 52 จังหวัด ส่วนอำเภออื่นนั้นมีผู้สมัครไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีถึงสี่จังหวัด ได้แก่ พังงา ระนอง สมุทรสาคร และชุมพร ที่ผู้สมัครไม่ต้องผ่านการเลือกในระดับจังหวัดด้วยเนื่องจากมีผู้สมัครไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ที่สมัครในอำเภอในจังหวัดเหล่านี้ผ่านไปเลือกในระดับประเทศทันที
https://www.ilaw.or.th/articles/22218