200 วัน รัฐบาลเศรษฐา กับ ภารกิจ ‘พายเรือวน’ หาสูตรประชามติร่างรธน.ใหม่
29 มี.ค. 67
Thairath Plus
Summary
- เป็นเวลากว่า 200 วัน ที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังคงหาคำตอบเกี่ยวกับ ‘สูตรการทำประชามติ’ หรือแนวทางการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 แม้ก่อนหน้านี้จะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติขึ้นมา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566
- แม้คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่นำโดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี จะเคยแถลงผลการศึกษาว่า เส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง แต่ยังมีฝ่ายที่เห็นแตกต่างว่า การทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ก็เพียงพอตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
- เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับสูตรการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจึงมีมติเสียงข้างมากเห็นด้วย 233 ต่อ 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง ให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาด หรือหมายความว่า เส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะยังไม่เริ่มนับหนึ่งจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจนออกมา
ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่นำโดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ได้แถลงผลการศึกษาว่า เส้นทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง คือ
1. ทำประชามติก่อนรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่ง
2. ทำประชามติหลังรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม (ตามมาตรา 256 (8) รัฐธรรมนูญ 2560)
3. ทำประชามติหลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
แต่แนวทางดังกล่าวยังมีฝ่ายที่เห็นต่างเนื่องจากเห็นว่า การทำประชามติเพียง 2 ครั้ง คือ ทำประชามติหลังรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม หรือ ทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) และทำประชามติหลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทางพรรคเพื่อไทยที่นำโดย ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วนต่อประธานรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องดังกล่าว
ในวันที่ 29 มีนาคม 2567 สภามีมติเสียงข้างมากเห็นด้วย 233 ต่อ 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง ให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดสูตรการทำประชามติ
ชูศักดิ์ ศิรินิล
200 วัน กับ ภารกิจ ‘พายเรือวน’ ตามหาสูตรประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ตลอดระยะเวลากว่า 199 วัน นับตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 ที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับ ‘สูตร’ หรือแนวทางการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่สภามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดสูตรประชามติ ภารกิจดังกล่าวเปรียบเสมือน ‘การพายเรือวน’ ที่ยังมองไม่เห็นฝั่ง และต้องรอศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องดังกล่าว
โดยเส้นทางการพยายามหาคำตอบเรื่องสูตรการทำประชามติมีรายละเอียดดังนี้
- 13 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติผ่านข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ
- 2 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ จำนวน 35 คน โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ
- 25 ธันวาคม 2566 ภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ แถลงข้อสรุปผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ว่า จะทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง โดยคำถามประชามติครั้งแรกคือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
- 22 มกราคม 2567 ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา โดยมีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน และมีเงื่อนไขว่า ห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 และ 2 โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง
- 15 กุมภาพันธ์ 2567 ภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลว่า การหารือดังกล่าว เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานในสภา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญเพื่อจะเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม
- 29 กุมภาพันธ์ 2567 ชูศักดิ์ ศิรินิล แถลงยื่นญัตติขอให้รัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภา ภายหลังสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเพื่อไทยที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ว่า คำวินิจฉัยกำหนดให้ต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
- 29 มีนาคม 2567 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นด้วย 233 ต่อ 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง ให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดสูตรการทำประชามติ
ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ระบุเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ ดังนี้
...หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่…
จะเห็นได้ว่า ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติ ‘อย่างน้อย 2 ครั้ง’ คือ
1. ต้องจัดออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
2. ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
และเมื่อดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คน มีความเห็นว่า ควรทำประชามติเพียงสองครั้งคือ ทำประชามติตาม มาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญ 2560 กับ ประชามติหลังยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และมีเพียงคนเดียวที่เห็นว่า ควรทำประชามติ 3 ครั้ง ในขณะที่ตุลาการท่านอื่นๆ ก็ไม่ได้ยืนยันว่า ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง และมีการระบุถึงการทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง อีก 2 คน
โดยตุลาการที่เห็นว่าควรทำประชามติ 2 ครั้ง ได้แก่
1) วรวิทย์ กังศศิเทียม ได้วินิจฉัยว่า แม้จะต้องมีการจัดประชามติครั้งหนึ่งก่อน แต่ “ก่อน” ในที่นี้ หมายถึง “ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “ก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งไม่ได้ขัดหรือแย้งกับการทำประชามติหลังรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม ตามมาตรา 256 (8) ซึ่งถือเป็นการจัดทำประชามติก่อนจะมีการตั้ง สสร.
2) ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้วินิจฉัยว่า แม้จะต้องมีการถามประชาชนว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาหรือไม่ แต่คำถามนี้สามารถถาม “ในช่วงเวลาเดียวกัน” กับการทำประชามติตามมาตรา 256 (8) โดยอาจจะแบ่งเป็น 2 คำถามคือ เห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเห็นด้วยหรือไม่กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับ สสร.
ทั้งนี้ ในคำวินิจฉัยส่วนตัวยังระบุด้วยว่า “มิได้มีเจตนารมณ์ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนจะเสนอญัตติหรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”
3) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้วินิจฉัยว่า “หากรัฐสภาประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้จัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการขออาณัติจากประชาชน โดยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ” ซึ่งเป็นการทำประชามติตามมาตรา 256 (8)
4) อุดม สิทธิวิรัชธรรม วินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่มหมวดเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาจะ “ต้องมีบทบัญญัติการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ก่อนจะดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการทำประชามติตามมาตรา 256 (8)
บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
โดยตุลาการที่เห็นว่าควรทำประชามติ 1 ครั้ง ได้แก่ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ที่วินิจฉัยว่า “หากรัฐสภาประสงค์จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ …จะต้องเริ่มต้นด้วยการขอฉันทมติจากประชาชน… โดยการจัดให้มีการลงประชามติในเรื่องดังกล่าวเสียก่อน” และ “หากประชาชนได้มีฉันทมติให้ดำเนินการได้แล้ว รัฐสภาจึงจะมีอำนาจดำเนินการต่อไปได้”
อย่างไรก็ดี เมื่อดูกระบวนการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จะพบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ มีการกำหนดให้ต้องทำประชามติอยู่แล้ว ตาม มาตรา 256 (8) โดยให้ทำประชามติหลังรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม อีกทั้งในร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอโดยพรรคเพื่อไทยก็มีการกำหนดให้ทำประชามติภายหลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ดังนั้น กระบวนการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จึงดูไม่ขัดข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ถามประชาชนก่อนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่แนวทางดังกล่าวยังมีฝ่ายที่เห็นต่าง ดังนั้น เพื่อหาข้อสรุปของการหาสูตรประชามติในครั้งนี้ รัฐสภาจึงมีมติเสียงข้างมากเห็นด้วย 233 ต่อ 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง ให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และทำให้เส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะยังไม่เริ่มนับหนึ่งจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจนออกมา
https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104326
.....
'ปกรณ์วุฒิ' ชี้การส่งศาล รธน.วินิจฉัยแก้กฎหมาย เป็นการทำให้ดุลยภาพอำนาจบางอย่างสูงกว่าอำนาจที่ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามา #MatichonTV #ThePolitics #ปกรณ์วุฒิ #ก้าวไกล #ประชุมสภา #แก้ไขรัฐธรรมนูญ pic.twitter.com/GKAbnUY3Lu
— Matichon TV (@MatichonTV) March 30, 2024