ชีวิตพลัดถิ่น ในวันที่ถูกขัง ‘ไกลบ้าน’ ทำความรู้จัก เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ในวันที่มีคนถูกขังด้วย ม.112 ถึง 2 คนแล้ว
31/10/2566
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธอมนุษยชน
Behind the Wall
ปี 2564 ประชาชนอย่างน้อย 8 คน (รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากศูนย์ทนายฯ จำนวน 6 ราย) ทยอยถูกแจ้งความในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) ที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยทุกคดีมีผู้กล่าวหาคนเดียวกัน นั่นคือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน
ปี 2565 คดีทยอยสู่ชั้นศาลจังหวัดนราธิวาส โดยบางคดีให้การรับสารภาพ บางคดียืนยันต่อสู้คดี และเมื่อถึงนัดฟังคำพิพากษา บางคดีถูกตัดสินให้ยกฟ้อง และบางคดีถูกตัดสินจำคุกด้วยจำนวนโทษต่างกันไปตามจำนวนของการกระทำ แต่ทุกคดีได้รับการประกันตัวให้ไปสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์
ปี 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสทยอยนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นผลให้มีผู้ถูกคุมขังถึง 2 รายแล้ว ขณะที่ยังเหลืออีกอย่างน้อย 3 คดีที่รอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และอาจเป็นไปได้ว่าจะมีคนถูกคุมขังเพิ่มอีกเป็นรายที่ 3, 4, 5 …
ปัจจุบันทำให้มีผู้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ในคดีมาตรา 112 ถึง 2 คน
คนแรก ชื่อว่า “ดม” อุดม พันธ์นิล ปัจจุบันอายุ 36 ปี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 4 ปี ตามศาลชั้นต้น อุดมจึงต้องถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา
คนที่สอง ชื่อว่า “กัลยา” (นามสมมติ) ปัจจุบัน 28 ปี ประกอบอาชีพอยู่ที่เทศบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 6 ปี ตามศาลชั้นต้น กัลยาจึงถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา
‘ต้นทุน’ ที่ต้องแบกรับ เมื่อออกเดินทาง ‘ไกล’ ไปสู้คดีที่นราธิวาส
1.1 เดินทางไกลกว่าพันกิโล ค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว : ค่าเดินทาง ค่าที่พัก อาหาร ซ้ำเสียโอกาสทำงานอีก
การเดินทางมายังจังหวัดนราธิวาส อาจเลือกเดินทางได้ 3 แบบด้วยกัน ขึ้นอยู่กับความสะดวกและทุนทรัพย์ของแต่ละคน แต่จำเลยส่วนใหญ่จะเลือกเดินทางด้วย ‘รถไฟ’ เนื่องจากมีราคาถูก จำเลยบางคนในบางครั้งจะเลือกโดยสารผ่านเครื่องบินที่มีราคาสูงกว่าหลายเท่า เพราะไม่สะดวกใช้เวลาเดินทางนาน ๆ อาจจะด้วยอุปสรรคเรื่องการลางาน และปัญหาเรื่องสุขภาพ เป็นต้น
การสู้คดีที่ผ่านมา จำเลยบางคนที่คดีมาถึงการนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์แล้วนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเดินทางมาต่อสู้คดียัง จ.นราธิวาส อย่างน้อย 8 ครั้งด้วยกัน ได้แก่
- การรับทราบข้อกล่าวหา
- การนัดส่งสำนวนให้อัยการ
- อัยการยื่นฟ้องต่อศาล
- นัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน
- นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย (ต่อเนื่องกันหลายวัน)
- ฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น
- ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา
- ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
- (หากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาต้องไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาด้วย)
จากการสอบถามจำเลยถึงค่าใช้จ่ายในการสู้คดีตลอด 5 – 6 ครั้งที่ผ่านมา พวกเขาส่วนใหญ่สูญเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 70,000 – 100,000 บาท ทั้งในบางรายยังมีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นอีก เพราะจะต้องหยุดทำงานหรือลางาน ทำให้สูญเสียรายได้หรือถูกหักรายได้ตามจำนวนวันที่ลาพักด้วย
การเดินทางไปต่อสู้คดีหากมีครอบครัวหรือคนรักติดตามเดินทางมาด้วย นั่นย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายอาจมากขึ้นถึงเท่าตัวเลยก็ได้ อย่าง ‘วารี’ และ ‘ภัคภิญญา’ ก็จะมีคู่ครองเดินทางมาด้วยทุกอย่าง เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย
1.2 การเดินทางในเมืองนราธิวาส : ไร้ขนส่งสาธารณะ มีเพียงคนในพื้นที่รับจ้างขับ แต่น้อยราย
การเดินทางภายใน อ.เมือง จ.นราธิวาส แทบจะทุกคนล้วนใช้ยานพาหนะส่วนตัว เท่าที่จำเลยเดินทางไปต่อสู้คดีและเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายฯ เดินทางไปสังเกตการณ์คดี พบว่า ที่นี่ไม่มีขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถเมล์ หรือแม้แต่รถสองแถวประจำทาง
โดยที่พักหรือโรงแรมบางแห่งจะมีรถยนต์รับจ้างไว้ให้บริการ ซึ่งจะคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มต่างหาก ไม่รวมกับค่าที่พัก การโดยสารภายในตัวเมืองละแวกใกล้ที่พัก มีค่าบริการอยู่ที่ครั้งละประมาณ 200-500 บาท (ไปหรือกลับ)
หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องจ้างรถรับจ้างโดยคนในพื้นที่เป็นผู้ให้บริการ อาจสอบถามได้จากพนักงานโรงแรม เท่าที่เราทราบมีคนในพื้นที่ขับรถรับจ้างเป็นอาชีพเสริมน้อยราย เพียง 1- 3 คนเท่านั้น และการใช้บริการแต่ละครั้งจะต้องติดต่อไปล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง หรือจะให้แน่นอนต้องติดต่อไปอย่างน้อย 1 วัน บางครั้งอาจหารถรับจ้างไม่ได้เลย เพราะความต้องการใช้งานมีมากกว่าผู้ให้บริการ
แม้กระทั่งการเดินทางภายใน อ.เมือง จ.นราธิวาส ก็ยากลำบากเช่นเดียวกัน ดังปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ฉะนั้นการจะเดินทางมาแต่ละครั้งจะต้องวางแผนให้รอบคอบพอสมควร ไม่เช่นนั้นอาจเดินทางไปตามนัดหมายคดีที่สถานีตำรวจหรือศาลล่าช้ากว่ากำหนด เป็นภาระอีกประการหนึ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องแบกรับ
1.3 ความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
เหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดสามชายแดนภาคใต้ยังคงมีขึ้นอยู่ตลอด หากลองเดินทางสำรวจดูภายในบริเวณ อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องต่อสู้คดีนั้น จะพบว่ามียังคงการรักษาความปลอดภัย และมีมาตรการป้องกันเหตุรุนแรงหลายอย่างด้วยกัน
วางถังขยะไว้กลางถนน – ในหลายจุดเราสังเกตเห็นว่าคนในพื้นที่จะไม่วาง ‘ถังขยะสีทึบ’ ไว้ที่บริเวณฟุตบาทหน้าอาคารหรือบ้านเรือน แต่กลับนำไปวางไว้ที่ ‘กลางถนน’ ส่วนตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งปกติจะมีถังขยะตั้งไว้หน้าร้านเสมอ แต่ที่นี่กลับหาไม่เจอเลยสักถัง และเมื่อเดินสำรวจดูตามตลาดนัดจะพบว่า มีการใช้ ‘ถุงขยะสีใส’ ใบเล็ก ๆ ตั้งไว้วางตามจุดต่าง ๆ ทดแทนถังขยะพลาสติกสีทึบ
คนในพื้นที่บอกว่ากลวิธีเหล่านี้มีไว้เพื่อป้องกันการซุกซ่อน ‘วัตถุระเบิด’ ที่ผู้ก่อเหตุมักนำมาวางไว้ในถังขยะ จึงต้องนำถังขยะไปวางห่างไกลจากผู้คน หรือหากจำเป็นต้องใช้ที่ทิ้งขยะจริง ๆ ก็จะเลือกใช้ชนิดที่โปร่งใส มองเห็นว่าภายในถูกซุกซ่อนวัตถุต้องสงสัยใดหรือไม่
(ถนนบริเวณด้านหน้า Big C อ.เมือง นราธิวาส ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แห่งเดียวของจังหวัด)
จนท.ตั้งจุดรักษาความปลอดภัย – ตามถนนหลายจุดเราพบว่าเจ้าหน้าที่ได้วางกำลังตั้งด่านตรวจอยู่เป็นระยะ ๆ ด่านส่วนใหญ่จะมีการวางรั้วลวดหนามเตรียมพร้อมไว้ หรือเมื่อขับรถไปตามสถานที่ราชการหรือห้างสรรพสินค้าก็จะมีกับการตรวจตราที่เข้มงวดพอสมควร หากเป็นรถมอเตอร์ไซต์ เจ้าหน้าที่จะเปิดตรวจค้นดูช่องเก็บใต้เบาะรถทุกคัน หากเป็นรถยนต์จะต้องขับขึ้นทางต่างระดับที่สูงประมาณ 50 เซนติเมตรเพื่อตรวจดูใต้ท้องรถด้วย
แม้คนในพื้นที่ อ.เมือง จะให้ข้อมูลว่าสถานการณ์ความรุนแรงมักจะไม่ได้เกิดขึ้นในตัวเมืองที่คนอาศัยอยู่พลุกพล่านเช่นนี้สักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มักจะเกิดในพื้นที่รอบนอก แต่ที่ผ่านมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นใน อ.เมือง อยู่หลายครั้งเช่นกัน สถานการณ์นี้สร้างความกังวลต่อการเดินทางมาต่อสู้คดีและเข้าพักในพื้นที่ เพราะผู้ถูกกล่าวหาทุกคนล้วนไม่ได้มีที่พำนักอยู่ที่นราธิวาส หรือจังหวัดในภาคใต้ จึงไม่คุ้นชินกับพื้นที่
เรือนจำจังหวัดนราธิวาส
เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ที่ถนนศูนย์ราชการ อำเภอเมือง จ.นราธิวาส มีเนื้อที่ 45 ไร่ 42 ตารางวา โดยรอบเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการหลายแห่ง อาทิ ศาล สำนักงานอัยการ สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานประกันสังคม สถานพินิจฯ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้น สถานที่แต่ละแห่งตั้งอยู่ไกลจากกันพอสมควร เป็นย่านที่ห่างไกลจากพื้นที่ชุมชน โดยรอบเป็นที่รกร้างและป่า
(แผนที่แสดงที่อาณาเขต (ซ้าย) และที่ตั้งเรือนจำจังหวัดนราธิวาส (ขวา))
เรือนจำที่เปิดใช้งานทุกวันนี้ เป็นเรือนจำ ‘แห่งใหม่’ เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2563 เพื่อทดแทนเรือนจำแห่งเก่าที่พื้นที่เล็กกว่าประมาณ 4 เท่า ซึ่งถูกใช้งานมาตั้งแต่ปี 2466 หรือกว่า 97 ปี จนมีสภาพทรุดโทรมและมีพื้นที่คับแคบ ไม่เพียงพอต่อนักโทษที่มีจำนวนมาก ความแออัดและการเข้าไม่ถึงทรัพยากรของนักโทษในเรือนจำแห่งเดิมนั้นนำไปสู่การจลาจรในช่วงปี 2554 ถึง 2 ครั้ง มีนักโทษและเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บไปหลายราย
2.1 สถานการณ์ความแออัด : คนล้นคุกแล้ว เกินจำนวนรับได้เกือบ 40%
เจ้าหน้าที่เรือนจำให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเรือนจำแห่งใหม่นี้ก็นับได้ว่ามีจำนวนนักโทษหนาแน่นอยู่พอสมควร แม้จะเพิ่งเปิดใช้งานเพียงเกือบ 3 ปีก็ตาม แต่กลับมีผู้ต้องขังทยอยถูกคุมขังมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ถูกคุมขังรายใหม่มีมากกว่าคนที่ได้รับการปล่อยตัวอยู่หลายเท่า อีกทั้งเรือนจำใกล้เคียงยังมักจะโอนย้ายผู้ต้องขังมาที่เรือนจำแห่งนี้อยู่เรื่อย ๆ อาทิ เรือนจำจังหวัดตรัง เรือนจำกลางยะลา เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เป็นต้น
จากรายงานแสดงสภาพความแออัดของผู้ต้องขังเรือนจำ จ.นราธิวาส ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2566 พบว่า มีจำนวนผู้ต้องขังชาย 2,383 คน เกินจากจำนวนที่รับได้มา 670 คน หรือ 39.11% ส่วนผู้ต้องขังหญิงมี 482 คน เกินจากจำนวนที่รับได้มา 113 คน หรือ 30.62%
เจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสบอกว่า จากการนับจำนวนนักโทษครั้งล่าสุด ในช่วงเช้าของวันที่ 27 ต.ค. 2566 พบว่า เรือนจำมีผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น 2,947 คน ในความเห็นของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นี่เป็นตัวเลขที่เลยจุดตัดของคำว่า ‘ล้นคุก’ ไปนานแล้ว
2.2 พื้นที่ภายในเรือนจำ : มีนักโทษทั้งชายหญิง “4 แดนของชาย-1 แดนของหญิง”
เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลอีกว่า เรือนจำแห่งนี้มีไว้คุมขังผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงที่ต้องโทษไม่เกิน 30 ปี ภายในมีการแบ่งพื้นที่ กั้นอาณาเขตด้วยกำแพงที่ชัดเจนอีกทีหนึ่ง รั้วกำแพงเรือนจำที่ภายนอกเห็นว่าสูงกว่า 6 เมตร และทอดยาวหลาย 10 เมตรนั้น ภายในถูกแบ่งออกเป็น 8 ส่วนด้วยกัน พื้นที่แต่ละส่วนเรียกว่า ‘แดน’
แดนที่ 1 : พื้นที่สำหรับใช้ประกอบอาหารในเรือนจำ โดยมีผู้ต้องขังชายเป็นผู้รับผิดชอบ
แดนที่ 2 : พื้นที่สำหรับให้การรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วย มีประมาณ 60 คน
แดนที่ 3 : พื้นที่สำหรับการศึกษาและทำกิจกรรมในช่วงเวลากลางวัน
แดนที่ 4 – 7 : พื้นที่คุมขังและเรือนนอนของผู้ต้องขังชาย แต่ละแดนมีประมาณ 500 คน
แดนที่ 8 : พื้นที่คุมขังและเรือนจำเพียงแห่งเดียวของผู้ต้องขังหญิง มีประมาณ 513 คน
สำหรับแดนที่ 4-8 ที่มีไว้คุมขังผู้ต้องขังนั้น แต่ละแดนจะมีเรือนนอน 1 หลัง แต่ละหลังจะมีพื้นที่ 3 ชั้นด้วยกัน
ชั้นที่ 1 ชั้นล่างสุดเป็นลานโล่ง ไม่มีผนัง พื้นที่ครึ่งหนึ่งมีไว้สำหรับให้ผู้นับถือศาสนาอิสลามทำการละหมาด ส่วนอีกครึ่งมีไว้ให้พักผ่อน หรือทำกิจกรรมในร่มตามอัธยาศัย
ชั้นที่ 2 และ 3 เป็นพื้นที่สำหรับการถูกคุมขังและนอนหลับ แต่ละชั้นจะมีโถงทางเดินทางตรงกลาง ฝั่งซ้าย-ขวาจะถูกซอยแบ่งเป็นห้องขัง ได้ฝั่งละประมาณ 5 – 6 ห้อง เรือนนอน 1 หลังจึงจะมีห้องขังประมาณ 10-12 ห้อง
2.3 วัฒนธรรมเฉพาะ : กว่า 82% เป็นมุสลิม ส่งอิทธิพลต่อชีวิตในเรือนจำ
นราธิวาสเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตอนล่างสุดของประเทศไทย ทิศใต้และทิศตะวันออกติดกับประเทศมาเลเซีย ที่นี่จะมีเพียง 2 ฤดูเท่านั้น คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน โดยฝนจะตกมากในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. ผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มี ‘ภาษามลายูถิ่น’ หรือ ‘ภาษายาวี’ เป็นภาษาพูด
จากรายงานสถานการณ์ทางสังคมจังหวัดนราธิวาส ปี 2564 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาส ระบุว่า ประชากรในจังหวัดนับถือศาสนาอิสลาม 82% ศาสนาพุทธ 17% ศาสนาคริตส์และศาสนาอื่น ๆ 1% มีมัสยิด 676 แห่ง วัด 79 แห่ง และโบสถ์คริสต์ 5 แห่ง วัฒนธรรมและความหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่นี้ส่งอิทธิพลไปถึงความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำหลายอย่างโดยปริยาย
อาหารในเรือนจำ : ต้องแกงใต้ ต้องฮาลาล ไร้เงาเนื้อหมู – อาหารในเรือนจำ 3 มื้อที่ถูกทำโดยผู้ต้องขังชายเพื่อให้ผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงในเรือนจำได้รับประทานนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารของภาคใต้ อาทิ แกงไตปลา แกงเหลือง คั่วกลิ้ง เป็นต้น เนื้อสัตว์ที่ใช้จะเป็นไก่ ปลา เนื้อวัว และอาหารทะเล จะไม่มีการเนื้อหมูเป็นวัตถุดิบเพื่อปรุงอาหารเด็ดขาด และจะต้องเป็นอาหารฮาลาลเท่านั้น รสชาติของอาหารจะมีรสจัด เผ็ดและเค็มนำ แกงส่วนใหญ่มีกะทิและน้ำมันเป็นองค์ประกอบ คาร์โบไฮเดรตหลักยังเป็นข้าวขาวหุง
กระนั้นอาหารบางเมนูก็มีรสจืด ไม่เข้มข้นก็มีเช่นกัน นอกจากร้านค้าของเรือนจำจะมี ‘น้ำปลา’ วางขายแล้ว ที่นี่ยังมีเครื่องปรุงรสอย่าง ‘น้ำบูดู’ วางจำหน่ายด้วย เป็นที่รู้กันว่าเป็นนิยมที่ใช้ปรุงอาหารบางมื้อที่จืดชืดให้มีรสชาติมากขึ้น ต่างจากเรือนจำในภาคกลางที่จะจำหน่ายเครื่องปรุงรสจำพวก “น้ำพริก” ต่าง ๆ อาทิ น้ำพริกนรก น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกตาแดง เป็นต้น
รายการสินค้าของร้านค้าในเรือนจำก็ถูกจัดไว้ให้สัมพันธ์กับประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ในเรือนจำไปโดยปริยาย ร้านค้าไม่วางอาหารที่เป็นเนื้อหมูเลย ต่างจากเรือนจำภาคกลางที่จะมีหมูหย็อง หมูฝอย อาหารปรุงสุกที่มีหมูเป็นวัตถุดิบ เช่น ขาหมูพะโล้ ผัดกะเพราหมู ไส้กรอกอีสานหมู ต้มเลือดหมู ฯลฯ และสินค้าทุกอย่างจะต้องได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาลแล้วเท่านั้น
กิจวัตรประจำวันสอดรับกับศาสนาอิสลาม – เมื่อประชากรในนราธิวาสส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เรือนจำจึงเป็นอิสลาม การใช้ชีวิตในเรือนจำจึงแตกต่างจากเรือนจำในภูมิภาคอื่น ๆ
ตารางกิจวัตรประจำวันแต่ละวันทุกอย่าง จะต้องรอให้ผู้ต้องขังมุสลิมทำการละหมาดให้เสร็จก่อน ซึ่งแต่ละวันจะต้องทำการละหมาด 5 ครั้ง ในช่วงย่ำรุ่ง (ประมาณ 05.00 – 06.00 น.), ช่วงบ่าย (ประมาณ 12.30 – 13.00 น.) ช่วงเย็น (ประมาณ 15.00 – 17.00 น.) พลบค่ำ (ประมาณ 18.30 – 19.00 น.) และครั้งสุดท้ายในช่วงกลางคืน (19.00 น. เป็นต้นไป)
การจะขึ้นเรือนนอน เริ่มกินข้าว หรือเข้านอน ฯลฯ จะต้องรอผู้ต้องขังมุสลิมทำการละหมาดให้เสร็จเสียก่อน ผู้คุมจึงจะให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้โดยพร้อมกัน
หรืออย่าง ‘บทท่องก่อนจะทานข้าว’ เรือนจำแห่งอื่นจะต้องกล่าวทำนองว่า “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้างเป็นของมีค่า ชาวนาเหนื่อยยาก ลำบากนักหนา สงสารบรรดาคนยากคนจน” แต่ในศาสนาอิสลามก็จะมีเป็นท่องทั้งก่อนและหลังทานอาหารเป็นของตัวเอง จะเห็นได้ว่ากิจวัตรประจำวันหลายอย่างถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของวัฒนธรรมและความเชื่อในพื้นที่ ซึ่งผู้ต้องขังต่างถิ่นต้องปรับตัวให้อยู่ให้ได้
2.4 การซื้อของใช้ – อาหาร ให้กับผู้ต้องขัง : สินค้าน้อยอย่าง ไม่ขายอาหารปรุงสุก
การซื้อของใช้และอาหารสำเร็จรูปฝากเข้าไปให้ผู้ต้องขังนั้น ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อได้ที่ร้านค้าของเรือนจำได้เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น เนื่องจากการขายช่องทางออนไลน์ถูกปิดปรับปรุงอยู่ และยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่าจะเปิดใช้งานได้เมื่อใด โดยปิดปรับปรุงมาอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 2566
รายการสินค้าที่บุคคลภายนอกสามารถเลือกซื้อให้กับผู้ต้องขัง มี 40 รายการ ได้แก่
เจ้าหน้าที่เรือนจำให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้รายการสินค้ามีมากกว่านี้อีกหลาย 10 อย่าง แต่ปัจจุบันได้ลดรายการสินค้าเหลือเพียง 40 รายการข้างต้น ตามความนิยมในการเลือกของญาติ และหากปรับปรุงระบบการขายผ่านช่องทางออนไลน์เสร็จแล้ว รายการสินค้าออนไลน์จะถูกตัดออกครึ่งหนึ่งจากรายการสินค้าหน้าร้าน หรือประมาณ 20 อย่างเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการจัดการของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังในเรือนจำสามารถซื้อสินค้าที่หลากหลายมากกว่า 40 รายการ เป็นจำนวนสินค้าในตอนเริ่มแรกของเรือนจำที่ยังไม่ถูกปรับลด ซึ่งผู้ต้องขังจะเลือกซื้อได้โดยใช้ ‘เครดิตเงิน’ ที่ญาติหรือบุคคลภายนอกฝากไว้ให้
การซื้อของให้กับผู้ต้องขังจะซื้อในจำนวนมากเท่าใดก็ได้ ไม่มีระเบียบห้ามไว้ แต่เจ้าหน้าที่จะแนะนำว่าให้ซื้อในจำนวนที่เหมาะสมกับการรับประทานและพื้นที่เก็บวาง หรือประมาณไม่เกิน 10 รายการ โดยผู้ต้องขังแต่ละคนจะมี ‘ตู้ล็อกเกอร์’ ขนาดเล็ก 1 ช่องเท่านั้นไว้เก็บใช้ของตัวเอง หากซื้อให้จำนวนมากเกินไป ผู้ต้องขังก็จะไม่มีพื้นที่เก็บรักษา และอาจเสี่ยงจะสูญหายได้
ทั้งนี้ วันที่เราไปเยี่ยมผู้ต้องขัง ร้านค้าเรือนจำนราธิวาสยังไม่วางขาย ‘อาหารปรุงสำเร็จรูป’ เฉกเช่นเรือนจำอีกหลายแห่ง อย่างเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นั้นจะมีอาหารปรุงสุกวางขายให้ญาติและผู้ต้องขังเลือกซื้อได้ด้วย อาทิ เป็ดพะโล้ กะเพราเนื้อ หมูทอดกระเทียม ต้มจืดเต้าหู้หมูสับ บะหมี่เกี๊ยวหมูแดง ต้มเลือดหมู หมูปิ้งนมสด ส้มตำ ข้าวสวย ไข่เจียว ฯลฯ
ผู้ต้องขังจึงมีทางเลือกไม่มากนักที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่เรือนจำแห่งนี้ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเป็นคนต่างถิ่น ไม่คุ้นเคยกับอาหารภาคใต้ด้วยแล้ว พวกเขาก็ต้องจะต้องจำใจยอมใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก อย่างกัลยาเธอก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยเธอไม่ยอมทานอาหารของเรือนจำแม้แต่คำเดียวเลย ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในเรือนจำ แต่ยังดีที่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ซื้อขนมและผลไม้ให้
2.5 จดหมาย : ไม่รองรับ Dimimail ส่งได้เฉพาะไปรณีย์ ใช้เวลารับส่งแสนนาน
ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ได้สร้างแอปพลิเคชัน Domimail หรือที่เรียกว่า ‘จดหมายหลังกำแพง’ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขังและญาติสามารถส่งจดหมายออนไลน์ถึงกันได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว คล้ายกับการส่งอีเมล การส่ง-รับใช้เวลาเพียง 1-2 วันเท่านั้น ต่างจากการเขียนจดหมายกระดาษส่งผ่านไปรษณีย์ที่ใช้เวลานานพอควร โดยผู้ต้องขังการเมืองให้ข้อมูลคล้ายกันว่า ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ และนานที่สุดกว่า 2 เดือน
(แอพพลิเคชัน Domimail)
การสื่อสารผ่าน Domimail มีระเบียบการใช้งานคล้ายกับการส่งจดหมายผ่านไปรษณีย์ ได้แก่
กำหนดให้ผู้ต้องขังใช้เขียนส่งออกภายนอกเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ไม่กำหนดจำนวนการรับจดหมาย
จดหมายจะต้องถูกเขียนได้ 1 หน้ากระดาษในแบบฟอร์มที่กำหนด หากเป็นการส่งถึงผู้ต้องขังจะสามารถแนบรูปภาพได้ด้วย 1 ภาพ
เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเนื้อหาในจดหมายที่ถูกส่งเข้า-ออก หากพบว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องตามระเบียบ จดหมายฉบับนั้นจะไม่ถึงมือผู้รับ
บุคคลภายนอกจะรับและส่งจดหมายผ่านแอพลิเคชั่น Domimail ส่วนผู้ต้องขังจะเขียนจดหมายบนกระดาษ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะสแกนเป็นไฟล์ภาพเพื่อทำการส่ง ส่วนการรับ เจ้าหน้าที่จะพิมพ์ไฟล์ภาพจดหมายเป็นกระดาษไปให้ผู้ต้องขังได้อ่าน
Domimail ถูกพัฒนาใช้เพื่อรองรับจำนวนผู้ต้องขังที่มีมากขึ้น ทำให้ญาติมีความต้องการเข้าเยี่ยมจำนวนมากตามไปด้วย ทว่าเรือนจำไม่มีความสามารถจะให้ญาติทุกคนเข้าเยี่ยมได้ทั้งหมด เพราะพื้นที่รองรับและระยะเวลามีอยู่จำกัด โดยปัจจุบันมีเพียง 10 เรือนจำเท่านั้นที่รองรับ Domimail ได้แก่
เรือนจำในภาคกลาง จำนวน 6 แห่ง
- เรือนจำกลางคลองเปรม
- เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
- เรือนจำพิเศษมีนบุรี
- ทัณฑสถานหญิงกลาง
- ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง
- ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง
- เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช
- เรือนจำจังหวัดสงขลา
- เรือนจำกลางสงขลา
- เรือนจำอำเภอนาทวี
โดยที่เรือนจำ จ.นราธิวาส ไม่รองรับการใช้งาน Domimail การสื่อสารถึงภายนอกจึงจำต้องใช้การเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์เท่านั้น ซึ่งใช้เวลานานพอสมควรและคาดเดาไม่ได้ว่าจดหมายจะถึงปลายทางเมื่อใด คนรักของอุดมที่ปราจีนบุรีเขียนจดหมายถึงอุดมไป 1 ฉบับ ตั้งแต่ช่วง 1-2 สัปดาห์แรกที่เขาถูกคุมขัง แต่จนถึงตอนนี้ (27 ต.ค. 2566) ผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว จดหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ถึงมือของอุดมเลย
‘จดหมาย’ เป็นสิทธิการสื่อสารทางเดียว (One-way Communication) เพียงอย่างเดียวของผู้ต้องขังที่เลือกใช้ส่งข่าวให้กับคนข้างนอกได้ โดยไม่ต้องรอให้ญาติติดต่อเข้าเยี่ยมก่อน ช่องทางนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งในการส่งข่าวเพื่อแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือ และบอกเล่าความเป็นอยู่ของตัวเองในเรือนจำ ขณะเดียวกันจดหมายก็มีความสำคัญในแง่ ‘คุณค่าทางจิตใจ’ ของผู้ต้องขังด้วย เพราะพวกเขาสามารถเก็บติดตัวไว้เป็น ‘ของดูต่างหน้า’ คนไกลได้
2.6 การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง
สำหรับญาติ การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำมีด้วยกัน 3 แบบ ซึ่งผู้ที่เข้าเยี่ยมจะต้องเป็น 1 ใน 10 รายชื่อญาติหรือบุคคลใกล้ชิดที่ผู้ต้องขังยินยอมให้เข้าพบเสียก่อน
1.เข้าเยี่ยมที่เรือนจำ
(ภาพบรรยากาศที่ห้องเยี่ยมญาติของเรือนจำ จ.นราธิวาส)
การเข้าพบลักษณะนี้ ผู้ขังจะถูกเบิกตัวจากแดนมาพบญาติที่ ‘ห้องเยี่ยมญาติ’ ระหว่างห้องจะถูกกั้นด้วยแผ่นกระจกใส ไม่มีช่องให้เสียงลอดผ่าน การสื่อสารถึงกันจะต้องใช้โทรศัพท์บ้าน โดยจะต้องยกหูเพื่อพูดคุยพร้อมกัน
ห้องเยี่ยมญาติไม่ได้ถูกกั้นเป็นห้อง ๆ อย่างมิดชิด แต่จะเป็นห้องโถงใหญ่ที่ถูกใช้หลายคนพร้อมกัน อุปสรรคของการเยี่ยมลักษณะนี้จึงมักจะเป็นเสียงที่ตีกันของทั้งฝั่งญาติและฝั่งผู้ต้องขัง บ้างก็จะร้องไห้เสียงดัง บ้างก็จะตะโกนฟูมฟาย จนบางครั้งทำให้การสื่อสารระหว่างคู่สนทนาเป็นไปอย่างลำบาก
ข้อดีของการเข้าเยี่ยมลักษณะลักษณะนี้ คือได้มองเห็นคู่สนทนาตรงหน้าอย่างชัดเจน แต่จะไม่สามารถสัมผัสร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่งได้เท่านั้น ญาติจะต้องจองคิวเพื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังกับเรือนจำก่อน และเมื่อได้คิวแล้ว ต้องเดินทางไปที่เรือนจำเพื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังตามวันและเวลาที่จองไว้สำเร็จ
2 การเข้าเยี่ยมผ่านทางออนไลน์
เป็นช่องทางที่ญาติและผู้ต้องขังจะได้พูดคุยกันด้วยวิดีโอคอล ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ครั้งละ 15 นาที โดยแต่ละสัปดาห์ เรือนจำจัดสรรคิวให้ผู้ต้องขังในแต่ละแดนมีสิทธิให้ญาติเข้าเยี่ยมได้เพียง 1 วัน วันละประมาณ 60 คนต่อแดน โดยแต่ละแดนมีผู้ต้องขังประมาณ 500 คน
อุปสรรคของช่องทางนี้ ในบางครั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตอาจจะไม่เสถียร ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการพูดคุยและสื่อสารกันได้ แต่ช่องทางนี้สะดวกต่อญาติของผู้ต้องขังที่อยู่ไกลและไม่สะดวกเดินทางไปที่เรือนจำ
3.การเข้าเยี่ยมญาติแบบใกล้ชิด
เรือนจำจะเปิดให้มีการเข้าเยี่ยมแบบใกล้ชิดตามวาระโอกาสที่สำคัญ อย่างวันพ่อแห่งชาติและวันแม่แห่งชาติ การเข้าเยี่ยมลักษณะญาติและผู้ต้องขังจะได้พบกันตัวต่อตัว สามารถสัมผัสร่างกาย กอด จับมือกันได้
แต่การเข้าเยี่ยมลักษณะเรือนจำจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะได้รับสิทธิการเข้าเยี่ยมญาติอย่างใกล้ชิด อาทิ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป มีความประพฤติดี ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน ไม่เป็นผู้ป่วยโรคติดต่อ เป็นต้น และโดยมาก เกิดขึ้นปีละครั้ง ไม่ได้มีเป็นประจำ
4.การเข้าเยี่ยมของบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ
บุคคลที่ไม่ได้มีรายชื่อเป็นหนึ่งใน 10 รายชื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง แต่มีความประสงค์จะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง จะต้องทำหนังสือส่งถึงผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อขออนุญาตเสียก่อน โดยในหนังสือจำเป็นจะต้องระบุเหตุผลและความสำคัญในการเข้าเยี่ยม วันและเวลาในการเข้าเยี่ยม จากนั้นให้นำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำด้วยตัวเองหรือจะใช้วิธีแฟกซ์ไปที่เรือนจำก็ได้
การพิจารณาหนังสือใช้เวลา 1-2 วัน หากผู้บัญชาการเรือนจำมีคำสั่งแล้วเจ้าหน้าที่จะติดต่อมายังเบอร์ติดต่อที่ผู้ร้องได้แจ้งไว้ในหนังสือ หากเรือนจำอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ จำเป็นจะต้องพกบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนในวันเข้าเยี่ยมด้วย
บุคคลที่ไม่ได้มีรายชื่อเป็นหนึ่งใน 10 รายชื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง แต่มีความประสงค์จะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง จะต้องทำหนังสือส่งถึงผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อขออนุญาตเสียก่อน โดยในหนังสือจำเป็นจะต้องระบุเหตุผลและความสำคัญในการเข้าเยี่ยม วันและเวลาในการเข้าเยี่ยม จากนั้นให้นำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำด้วยตัวเองหรือจะใช้วิธีแฟกซ์ไปที่เรือนจำก็ได้
การพิจารณาหนังสือใช้เวลา 1-2 วัน หากผู้บัญชาการเรือนจำมีคำสั่งแล้วเจ้าหน้าที่จะติดต่อมายังเบอร์ติดต่อที่ผู้ร้องได้แจ้งไว้ในหนังสือ หากเรือนจำอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ จำเป็นจะต้องพกบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนในวันเข้าเยี่ยมด้วย