iLaw
1d·
สรุปคำพิพากษา ม.112 เดือนตุลาคม: จาก 15 คดี มียกฟ้องแค่สามราย https://freedom.ilaw.or.th/blog/Oct66verdicts
.
เดือนตุลาคม 2566 มีการนัดฟังคำพิพากษาคดี #มาตรา112 มากถึง 15 คดี เป็นเดือนที่มีการนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 มากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กระบวนการดำเนินคดีทางการเมืองเหล่านี้ ไม่ได้ยุติลงแม้จะผ่านการเลือกตั้ง 2566 ไปแล้ว ในทางตรงกันข้ามกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่รู้ผล และยังคงสร้างผลกระทบเป็นความหวาดกลัวให้กับสังคมในทิศทางเดียวกับยุคของสมัยภายใต้รัฐบาลก่อนหน้า
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในจำนวน 15 คดี มีคดีที่รอการกำหนดโทษหนึ่งคดีถือเป็นนิมิตรหมายที่น่าสนใจ ยังไม่ทราบคำพิพากษาหนึ่งคดี มีคำพิพากษาลงโทษ แต่ให้รอลงอาญาห้าคดี และมีคำพิพากษาให้ลงโทษ แต่ไม่รอลงอาญาอีกห้าคดี โดยมีสามคดีเท่านั้นที่ศาลตัดสินใจยกฟ้อง
ในจำนวนคดีทั้งสิ้น 15 คดีที่มีผลคำพิพากษาในเดือนตุลาคมนี้ ยังมีถึงสามคดีที่เป็นการ “ฟ้องทางไกล” ทำให้จำเลยที่อยู่อาศัยที่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ต้องเดินทางไปฟังคำพิพากษาถึงจังหวัดนราธิวาส และทำให้จำเลยถูกตัดสินจำคุกที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
.
คดีที่มีการลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา: ห้าคดี
1. พรชัย
4 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดยะลาว่า พรชัย ชาวปกาเกอะญอจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความผิดตามมาตรา 112 รวมทั้งยังผิดหลักการของรัฐธรรมนูญในมาตรา 6 ว่าด้วย “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" จากการไลฟ์สดและโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวม 3 ครั้ง
พรชัยได้รับโทษจำคุกสามปี จากการไลฟ์สดการกระทำเดียว แต่โพสเฟซบุ๊กศาลยกฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นผู้โพสจริง เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงเหลือโทษจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างชั้นฎีกาโดยเพิ่มหลักประกันขึ้นอีกครึ่งหนึ่งจากที่เคยวางไว้แล้วในระหว่างอุทธรณ์ พรชัยจึงได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 112,500 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
ดูรายละเอียคดีได้ทาง https://database.tlhr2014.com/public/case/1786/lawsuit/570/
2. วรรณวลี หรือ "ตี้ พะเยา"
10 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่า วรรณวลี หรือ “ตี้ พะเยา” นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีชูป้ายข้อความในการชุมนุมเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งคดีนี้เริ่มขึ้นที่เชียงใหม่เพราะสุกิจ เดชกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดีเข้าแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดเชียงใหม่
ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า ข้อความบนป้ายมีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน จึงสั่งลงโทษจำคุกสี่ปี แต่วรรณวลีให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือจำคุกสองปีแปดเดือน ไม่รอลงอาญา และต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุญาตให้ใช้สิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/60457
3. สหรัฐ หรือ "โฟล์ค"
19 ตุลาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีของสหรัฐ หรืออดีตสามเณร “โฟล์ค” จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ของกลุ่มนักเรียนเลวบริวณสยามสแควร์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 ว่า จำเลยมีความผิดจริงตามมาตรา 112 ซึ่งศาลมองว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ไม่น่าเคารพ
ศาลพิพากษาให้จำคุกสามปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร ห้ามชุมนุมอันจะทำให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง และห้ามกระทำการใดๆ ที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมพระเกียรติ
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/60657
4. ‘กัลยา’
20 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาส ให้จำคุก ‘กัลยา’ พนักงานบริษัทจากจังหวัดนนทบุรีเป็นระยะเวลาหกปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 สองข้อความ ซึ่งคดีนี้เริ่มขึ้นโดย พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ประชาชนชาวนราธิวาสจากเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) เป็นผู้ริเริ่มให้ดำเนินคดีในจังหวัดนราธิวาส
ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำสั่งศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว ‘กัลยา’ แม้ทนายความพยายามวางหลักทรัพย์แล้วเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/46764
5. มงคล ถิระโคตร
30 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษา มงคลหรือ “บัสบาส” มีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กสองข้อความ ซึ่งนับเป็นคดีที่สามที่มงคลได้รับจากมาตรา 112
ศาลลงโทษจำคุกกระทงละสามปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือกระทงละสองปี และให้บวกโทษจากคดีอื่นที่จำเลยเคยถูกลงโทษมาก่อนหกเดือน รวมโทษจำคุกเป็นสี่ปีหกเดือน ซึ่งศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์ภาคห้าเป็นผู้วินิจฉัย
ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์ภาคห้าจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยหลักประกัน 300,000 บาท พร้อมมีเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการใดๆ ที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียอีก และห้ามออกนอกราชอาณาจักร
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/61068
.
คดีที่รอการกำหนดโทษ: หนึ่งคดี
1. ‘เซ็นเตอร์’
4 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดพิษณุโลกอ่านคำพิพากษาในคดีของ ‘เซ็นเตอร์’ นักศึกษาปริญญาโท ว่ามีความผิดตามมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ระหว่างการชุมนุมช่วงเดือนตุลาคม 2563
ศาลมีคำพิพากษาว่า ‘เซ็นเตอร์’ มีความผิดตามคำฟ้อง แต่จำเลยให้การสารภาพ จึงให้รอการกำหนดโทษเป็นระยะเวลาสองปี และต้องรายงานตัวต่อนักจิตวิทยาสังคมของศาลอีกสี่ครั้งภายในระยะเวลาหนึ่งปี
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://database.tlhr2014.com/public/case/2049/lawsuit/819/
คดีที่มีการลงโทษจำคุก แต่ยังให้รอลงอาญา: ห้าคดี
1. ‘เวฟ’
11 ตุลาคม 2566 ศาลอาญาพิพากษา ‘เวฟ’ ชาวนนทบุรี ตามมาตรา 112 จากกรณีแชร์โพสต์และเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์การผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของบริษัทสยามไบโอไซน์ว่าใช้ภาษีประชาชน เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
ศาลจึงมีคำสั่งพิพากษาลงโทษจำคุก ‘เวฟ’ สามปี แต่พิเคราะห์แล้วมีเหตุให้บรรเทาโทษเหลือจำคุกหนึ่งปีหกเดือน แต่ศาลยังเชื่อว่าสามารถกลับตัวเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมได้ จึงมีคำสั่งให้รอลงอาญาสองปี และต้องรายงานตัวต่อผู้คุมประพฤติสี่ครั้งภายในหนึ่งปี รวมทั้งต้องทำงานบริการสังคมให้ครบ 24 ชั่วโมงภายในระยะเวลาสองปี
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/60478
2. พัชรพล
25 ตุลาคม 2566 ศาลอาญาจังหวัดตลิ่งชันพิพากษาว่า พัชรพล มีความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุกสามปี จากกรณีแสดงความคิดเห็นเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ในโพสต์ลงนามถวายพระพรของเพจกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564
ศาลมีความเห็นว่าจำเลยให้การสารภาพ กระทำไปด้วยการขาดความยับยั้งชั่งใจและโง่เขลาเบาปัญญา จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุกหนึ่งปีหกเดือน และให้รอลงอาญาเป็นระยะเวลาสามปี
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/60883
3. 'ต้น'
25 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่า 'ต้น' มีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีชูป้ายในการชุมนุมคาร์ม็อบ #มินิด่วนนครพิงค์เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 พิพากษาลงโทษจำคุกสามปี แต่จำเลยให้การสารภาพจึงลดโทษเหลือหนึ่งปีหกเดือน
อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าต้นไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงมีคำสั่งให้รอลงอาญาสองปี
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/60872
4. เบนจา อะปัญ
30 ตุลาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งพิพากษาจำคุก เบนจา อะปัญ จากกรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด19 หน้าบริษัทซิโน-ไทยระหว่างกิจกรรม “คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564
ศาลลงความเห็นว่าการปราศรัยของเบนจามีลักษณะล่วงเกินรัชกาลที่ 10 จึงเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ลงโทษจำคุกสามปี พร้อมมึความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุกหนึ่งปี และปรับ 12,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษจำคุกเหลือสองปีแปดเดือน ปรับ 8,000 บาท แต่เนื่องจากเบนจาไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และขณะกระทำความผิดมีอายุเพียง 21 ปี ศาลถือว่าเป็นการกระทำผิดโดยขาดวุฒิภาวะ จึงให้รอลงอาญาไว้เป็นระยะเวลาสองปี
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/61065
5. มณีขวัญ
30 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาคดีของมณีขวัญ ว่ามีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีแชร์โพสต์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 จากเพจ “KonthaiUK” จำนวนสองโพสต์ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ลงโทษจำคุกกระทงละสามปี รวมหกปี แต่จำเลยให้การสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกสองปี 12 เดือน
อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งให้รอลงอาญาสามปี และต้องให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุกสองเดือน เป็นระยะเวลาสองปี พร้อมทำกิจกรรมบริการสังคมอีก 48 เดือน
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/60822
.
คดีที่ยกฟ้อง: สามคดี
1. สุรีมาศ
24 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดกระบี่ ยกฟ้องคดีมาตรา 112 ของสุรีมาศเนื่องจากอุทธรณ์ของอัยการโจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีนี้มีเหตุจากการที่สุรีมาศแชร์คลิปพิธีขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส” ซึ่งมีภาพโปรไฟล์ของกลุ่มเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจึงเข้าใจผิดว่าสุรีมาศใช้คำพูดไม่เหมาะสมต่อพระหมากษัตริย์ตามมาตรา 112
ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องสุรีมาศ
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง: https://tlhr2014.com/archives/60822
2. พิพัทธ์
25 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 ของพิพัทธ์ จากกรณีโพสต์ข้อความในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส” เมื่อปี 2563 เนื่องจากหลักฐานและพยานโจทก์ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า พิพัทธ์เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง
ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง: https://tlhr2014.com/archives/60894
3. วารี
26 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลจังหวัดนราธิวาสให้ยกฟ้องคดีมาตรา 112 ของ ‘วารี’ พนักงานขายจากจังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว คดีนี้ถูกริเริ่มโดยพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปส.) ชาวอำเภอสุไหงโกลก ทำให้จำเลยมีภาระต้องเดินทางไปต่อสู้คดีทางไกล
ศาลอุทธณ์จึงพิพากษายืน ยกฟ้อง ‘วารี’
ดูรายละเอียดคดีได้ทาง: https://tlhr2014.com/archives/60934