วันอังคาร, ตุลาคม 31, 2566

ทำไม ‘พวกนายแบก-นางแบก’ จึงมี ‘บทบาท’ ในรัฐบาลและในพรรคเพื่อไทย ???



Matichon Weekly - มติชนสุดสัปดาห์
.....
Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
19h
·
ทำไม ‘แบก’ จึงมี ‘บท’ ???
มติชนมีคำตอบ
https://www.facebook.com/100064566254770/posts/707230328105836/?mibextid=cr9u03
แต่ใช่ว่า “วิธีการทำงานการเมือง” ของ “นางแบก-นายแบก” จะเป็น “คุณ” ต่อ “รัฐบาล” ไปทุกเรื่อง
เมื่อใดที่ “นางแบก-นายแบก” ทำผิดพลาดทางการเมืองอย่างฉกรรจ์ เมื่อนั้น ผู้ที่จะถูกทวงถามความรับผิดชอบด้วย ย่อมเป็น “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งไม่ยอมแสดงบทบาท “ผู้นำทางการเมือง” ตั้งแต่ต้น






‘ผู้นำรัฐบาล-ผู้นำการเมือง’ : บทบาท ‘เศรษฐา ทวีสิน’ และ ‘นางแบก-นายแบก’

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566

ต้องให้ความเป็นธรรมกันก่อนว่า เรายังไม่สามารถประเมินผลงานของ “รัฐบาลเพื่อไทย-เศรษฐา” ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย หลังจากที่นายกรัฐมนตรี และ ครม. เพิ่งมีเวลาทำงานเพียงหนึ่งเดือนนิดๆ

ผลลัพธ์ที่เริ่มปรากฏออกมาบ้าง ล้วนเป็นแค่แนวโน้มหรือจุดเริ่มต้นของภาพใหญ่ ไม่ก็เป็นกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ

นโยบายเรือธงอย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ก็ยังอยู่ในกระบวนการปรับเปลี่ยนปรับปรุงเพื่อให้ลงมือทำ-ลงมือแจกได้จริง

การประเมินผลนโยบายนี้ คงต้องไปวัดกันตรงที่ว่า “การจ่ายเงินดิจิทัล” จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากน้อยแค่ไหน?

ส่วนเรื่องบุคลิกภาพ-การแต่งกายของ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ยิ่งเป็นประเด็นจิ๊บจ๊อยปลีกย่อย ไม่ใช่สาระ-แก่นแกนหลักทางการเมือง

(เหมือนที่เราเคยหยอกล้อเล่นหัว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เรื่องชอบพูดคุยกับสรรพสัตว์และปาข้าวของใส่คน แต่สุดท้าย เขาก็ครองอำนาจอยู่ได้ยาวนานถึง 9 ปี)

ประเด็นที่รู้สึกว่าน่าเป็นห่วงมากกว่า คือ การที่นายกรัฐมนตรี (และทีมงานเบื้องหลัง) วางโจทย์ไว้อย่างชัดเจน ว่าตนเองจะสวมบทเป็น “ผู้นำรัฐบาล” แต่หลีกเลี่ยงจะเป็น “ผู้นำทางการเมือง”

ยิ่งเมื่อรัฐบาลชุดนี้วางเป้าหมายหลัก ว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องกันก่อน

สังคมไทยยิ่งได้มองเห็นบทบาทหลักของ “นายกฯ เศรษฐา” ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และ/หรือ “หัวหน้าผู้แทนการค้าไทย” ที่ออกเดินสายไปต่างประเทศโดยต่อเนื่อง

ส่วนประเด็นใหญ่ๆ ทางการเมือง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนผู้รับผิดชอบหลักจะเป็น “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ (ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีช่วยทำภารกิจหลังให้เรียบร้อยแล้ว)

แต่ “พี่อ้วน ภูมิธรรม” ของคนเดือนตุลา ก็มีลักษณะการทำงานเป็น “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ไม่ใช่ “ตัวละครนำ” ที่จะออกมาแอ๊กชั่นทางการเมืองได้ทุกวี่วัน

ปัญหาที่เริ่มปรากฏวี่แวว ณ ตอนนี้ คือ เราไม่มี “ผู้นำทางการเมือง” ที่คอยชี้นำประเด็นต่างๆ ในทางการเมือง หรือรับหน้าที่กำกับหางเสือว่าสังคมการเมืองไทยควรจะเคลื่อนไหวไปในแนวทางไหน

ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ “อดีตนายกฯ ประยุทธ์” แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ระหว่างปี 2557 ถึงก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์” นั้นพยายามเล่นบท “ผู้นำทางการเมือง” อย่างเข้มข้นจริงจัง

นี่คือบทที่ “เศรษฐา” คล้ายยังไม่ค่อยอยากเล่น

โจทย์ท้าทาย ก็คือ อย่างไรเสีย “เศรษฐา ทวีสิน” ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ของรัฐบาลเพื่อไทย จะต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นทั้ง “ผู้นำรัฐบาล” และ “ผู้นำทางการเมือง”

สภาวะปัจจุบัน ที่ “นายกรัฐมนตรี” อยากเป็น “ผู้นำรัฐบาล” โดยเน้นหนักไปยังภารกิจเรื่องการเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จึงส่งผลให้ศักยภาพในการสื่อสารประเด็นทางการเมืองกับประชาชนภายในประเทศ พลอยเงียบหายสาบสูญไปเสียเฉยๆ

แถมถ้ามองไปที่บุคลากรรายอื่นๆ ของรัฐบาลและในพรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีใครที่จะสามารถ “สื่อสารทางการเมือง” แทนนายกฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ช่องว่าง-รูโหว่เช่นนี้นี่เอง ที่ค่อยๆ เกื้อหนุนผลักดันให้ “นางแบก-นายแบก” กลายมาเป็น “บุคลากรทางการเมือง” ระดับสำคัญ สำหรับพรรคเพื่อไทย แม้พรรคจะไม่ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการก็ตาม

ในทางปฏิบัติ “นางแบก-นายแบก” จึงเป็นกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อ “ทำงานการเมือง” อย่างแข็งขันเอาเป็นเอาตาย ยิ่งกว่าคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่ตนเองโหวตให้เสียอีก

แต่ใช่ว่า “วิธีการทำงานการเมือง” ของ “นางแบก-นายแบก” จะเป็น “คุณ” ต่อ “รัฐบาล” ไปทุกเรื่อง

เมื่อใดที่ “นางแบก-นายแบก” ทำผิดพลาดทางการเมืองอย่างฉกรรจ์ เมื่อนั้น ผู้ที่จะถูกทวงถามความรับผิดชอบด้วย ย่อมเป็น “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งไม่ยอมแสดงบทบาท “ผู้นำทางการเมือง” ตั้งแต่ต้น •

คอลัมนฺ : ของดีมีอยู่