วันอังคาร, กันยายน 19, 2566

วาระแห่งชาติหน้า เรื่องใดที่ระบุว่าเป็น “นโยบายเร่งด่วน” อาจจะนานหลายปี? เรื่องใดที่ “ไม่ระบุกรอบเวลาชัดเจน” อาจเก็บใส่ตู้เย็น? เรื่องใดที่ระบุว่า “จะต้องตั้งกรรมการศึกษา” อาจถูกดองเค็ม? “แม่ลูกจันทร์” ชี้ให้เห็นกระบวนท่าพลิกพลิ้วเป็นหลิวลู่ลมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย



วาระแห่งชาติหน้า

"แม่ลูกจันทร์"
ไทยรัฐออนไลน์
18 ก.ย. 2566

เพราะภาษาไทยดิ้นได้ นโยบายรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่แถลงต่อสภาฯ จึงตีความได้หลายแง่หลายมุม

เรื่องใดที่ระบุว่าเป็น “นโยบายเร่งด่วน” อาจจะนานหลายปี?

เรื่องใดที่ “ไม่ระบุกรอบเวลาชัดเจน” อาจเก็บใส่ตู้เย็น?

เรื่องใดที่ระบุว่า “จะต้องตั้งกรรมการศึกษา” อาจถูกดองเค็ม?

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือนโยบายเร่งด่วน 1 ใน 4 คือเร่งจัดการลงประชามติให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เข้าตำราขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาๆไปกลายเป็นบ้องกัญชา

1. การจัดลงประชามติอาจเลื่อนยาว หรือไม่เกิดขึ้นเลย

2. การให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจไม่เกิดขึ้นอย่างที่หวังกัน

“แม่ลูกจันทร์” จะชี้ให้เห็นกระบวนท่าพลิกพลิ้วเป็นหลิวลู่ลมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เปลี่ยน แปลงไปถึง 3 ครั้ง 3 ครา

1. ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยประกาศจะจัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

2. ช่วงจับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลได้ระบุในเอ็มโอยูจะเร่งฟื้นฟูประชาธิปไตยให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนเร็วที่สุด

โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยตรง

ช่วงสลัดพรรคก้าวไกลย้ายข้ามขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคลุง

พรรคเพื่อไทยประกาศ “วาระแห่งชาติ” ว่า ในการประชุม ครม.นัดแรกจะให้จัดลงประชามติให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ

และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกาศใช้ รัฐบาลจะยุบสภาฯให้มีการเลือกตั้งใหญ่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที!!

แต่วันนี้ สิ่งที่ลั่นวาจาไว้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า การประชุม ครม.นัดแรกไม่มีการเร่งรัดให้จัดทำประชามติให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งมายกร่างรัฐธรรมนูญ

มีแต่การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติโดยไม่กำหนดกรอบเวลา

เพราะต้องนำเข้าไปปรึกษาหารือในที่ประชุมรัฐสภาให้เห็นชอบร่วมกัน

และจะต้องรับฟังความเห็นจากกลุ่มวิชาชีพให้ครบทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อหาข้อสรุปว่าควรจัดลงประชามติให้มี ส.ส.ร.หรือไม่??

กว่าจะได้ข้อยุติคงต้องใช้เวลาปรึกษาหารือกันอีกหลายปี

สุดท้ายจะไม่มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เปลี่ยนเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา

กลับลำ 180 องศาเชียวนะโยม.

"แม่ลูกจันทร์"