วันจันทร์, มิถุนายน 19, 2566

พรรคก้าวไกลโพสต์จุดยืนเรื่องหยก หยกได้ให้ความเห็นถึงการออกแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลว่าค่อนข้างล่าช้า ในขณะที่ตนปีนเข้า ร.ร. มา 3 วันแล้ว


นักเรียนเลว @BadStudent_
Update: พบชุดจับกุม เดินเข้าเตรียมพัฒนฯ ด้านหยกใส่ไปรเวท-ไม่ต้องปีนรั้ว ย้ำเสรีแต่งกาย วันนี้ (19 มิ.ย.) เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ของการย้อมสีผมและทำทรงผมตามสะดวกของหยก และเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการแต่งไปรเวทมาเรียน แม้ทาง ร.ร. เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการออกประกาศในช่วงวันหยุด ว่าหยกไม่มีสภาพเป็น นร. ตนยืนยันว่าจะมาเรียน และมีสิทธิชอบธรรมตามที่ กสม. ยืนยันสิทธิดังกล่าว ส่วนตัวยังไม่อยากยื่นฟ้อง ร.ร. ต่อศาล เพราะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม วันนี้หยกได้เดินเข้า ร.ร. ตามปกติ ไม่ต้องปีนเข้าอย่างที่ผ่านมา ขณะที่มีรายงานว่ามี ตร. ทั้งในและนอกเครื่องแบบเดินเข้า ร.ร. โดยยังไม่ทราบถึงเจตนา ตามที่ปรากฎบนสื่อเป็นชุดจับกุมหญิง มาพร้อมกับรถจับกุม เดินเข้า ร.ร. จำนวนหลายนาย แต่ ร.ร. ไม่ได้มีท่าทีปิดกั้นแต่อย่างใด หยก ระบุว่า วันนี้ตนถูก ผปค. ของ นร. คนอื่น ๆ ตำหนิระหว่างทางไป ร.ร. และได้รับรู้ถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ ตนขอบคุณที่สังคมได้มีการโต้แย้งกัน ไม่ว่าจะโต้กันด้วยเหตุผลหรือไม่ก็ตาม ตนยืนยันเจตนาของการยกเลิก ‘บังคับ’ การแต่งกาย-ทรงผม ไม่ได้จะบังคับให้ถูกคนยกเลิกเหมือนที่ตนคิด หยก กล่าวเสริมว่า หากวันนี้ ร.ร. มีการประชาพิจารณ์ ให้เด็กมีส่วนร่วมกับการออกแบบกฎระเบียบใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่า นร. ทุกคนต้องได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แล้วหากผลออกมาให้คงไว้ซึ่งระเบียบเดิม ตนก็ยินดีที่จะทำตามเสียงส่วนมากนั้น เพราะที่ผ่านมา ตนมีปัญหากับการที่กฎระเบียบใน ร.ร. ที่ถูกเขียนขึ้นโดยครูและผู้ใหญ่ มิใช่นร. ผู้ต้องรับคำสั่ง ปฏิบัติตามกฎนั้น ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ช่วงท้ายการสัมภาษณ์ หยกได้ให้ความเห็นถึงการออกแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลว่าค่อนข้างล่าช้า ในขณะที่ตนปีนเข้า ร.ร. มา 3 วันแล้ว ทั้ง ๆ ที่ทางพรรคก้าวไกลมีนโยบายชัดเจนเรื่องการแก้ไขให้กฎระเบียบการแต่งกายของ นร. นั้นยืดหยุ่นผ่อนปรนมากขึ้น 
.....
ช่วงท้ายการสัมภาษณ์ หยกได้ให้ความเห็นถึงการออกแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลว่าค่อนข้างล่าช้า


 


พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
17h
·
[ การเดินหน้าสู่ทางออก เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา ]
.
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กรณีของหยก ทางบุคลากรของพรรคนำโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ณัฐวุฒิ บัวประทุม, ปารมี ไวจงเจริญ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้พยายามพูดคุย และประสานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจข้อเท็จจริง และหาทางออก
.
ทางพรรคก้าวไกลมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นแค่เรื่องของหยกหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของ “หลักการ” ที่เราต้องกำหนดร่วมกันสำหรับเยาวชนทุกคนในทุกสถานการณ์ในอนาคต
.
พรรคก้าวไกลต้องการหาทางออกโดยยึด 2 เป้าหมาย
.
เป้าหมายที่ 1 คือ เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา ไม่ว่าสถานะของผู้ปกครองเป็นอย่างไร
.
หนึ่งใน ‘ภารกิจหลัก’ ของระบบการศึกษา คือการตรึงไม่ให้เด็กหรือเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ว่าจากปัญหาความไม่พร้อมทางด้านสัญชาติ ฐานะทางบ้าน ความพร้อมของครอบครัว ฯลฯ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและโรงเรียนควรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการแก้ไขปัญหา ขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด หรือหากแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ อย่างน้อย ก็ควรผ่อนปรนแนวทางปฏิบัติบางประการที่เสี่ยงจะทำให้นักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาโดยไม่จำเป็น และยิ่งหากเจ้าตัวมีความประสงค์ที่อยากเรียน ก็ไม่ควรมีเหตุผลใดๆ มาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งคือหลักการทั่วไปที่ควรจะเป็น
.
สำหรับกรณีของหยก ที่ผ่านมา เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้หยกไม่ได้รับการับรองเป็นนักเรียน คือข้อกังวลเรื่องกระบวนการมอบตัวที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีผู้ปกครอง (มารดา) หรือบุคคลที่ผู้ปกครองมอบหมายอย่างเป็นทางการ มามอบตัวนักเรียนโดยตรงที่โรงเรียน ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับหลักการเรื่องสิทธิในการศึกษาที่ยึดถือเป็นหลักใหญ่
.
แม้ในเชิงกฎหมาย นิยามของ “ผู้ปกครอง” ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อาจถูกตีความได้กว้างกว่าที่เป็นที่เข้าใจของโรงเรียนหรือสังคม ณ ปัจจุบัน เนื่องจากมาตรา 3 เขียนนิยาม “ผู้ปกครอง” ที่รวมถึง “บุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดูหรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย
.
แต่ในความเป็นจริง เป็นที่ทราบว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกปล่อยปละละเลยโดยผู้ปกครอง และไม่สามารถติดต่อได้ บางกรณีพบว่าผู้ปกครองไม่มีความพร้อมที่จะสามารถทำหน้าที่ผู้ปกครองได้อย่างเต็มที่ตามที่โรงเรียนต้องการ (เช่น การจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงการศึกษา พานักเรียนเข้ามอบตัว การร่วมทำการบ้าน การร่วมกิจกรรมโรงเรียน การร่วมเข้ารับฟังปฐมนิเทศน์) ดังนั้นโดยหลักการ การติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ไม่ควรเป็นเหตุในการปิดกั้นให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม โดยปัจจุบันมีหลายโรงเรียนที่พยายามวางแนวทางในการรับเด็กและเยาวชนให้เข้าศึกษา แม้อาจไม่มีผู้ปกครองที่สะดวกมามอบตัวด้วยตนเอง
.
ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน เราควรทำความเข้าใจเพื่อคลายข้อกังวลของทุกโรงเรียน รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบที่ขัดกับหลักการนี้ (หากยังมีอยู่) เพื่อคุ้มครองสิทธิของนักเรียนทุกคนในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าสถานะของผู้ปกครองจะเป็นเช่นใด ซึ่งจะทำให้ในกรณีของหยก สถานภาพการเป็นนักเรียนของหยก ไม่ถูกปฏิเสธเพียงเพราะการขาดผู้ปกครองโดยตรง (เช่น มารดา) มารายงานตัว
.
เป้าหมายที่ 2 คือ เด็กและเยาวชนทุกคนปฏิบัติตามกติกาโรงเรียนที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพูดคุยและออกแบบร่วมกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับบทบาทเชิงรุกในการดูแลว่ากฎระเบียบเหล่านั้นต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน
.
แม้เราเชื่อว่าสังคมมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีกฎระเบียบไหนที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน แต่สังคมปัจจุบันยังมีความเห็นที่แตกต่างต่อกฎระเบียบปัจจุบันที่เป็นอยู่ (เช่น ทรงผม ชุดนักเรียน) - คนที่ไม่มองว่ากฎระเบียบเหล่านี้เป็นปัญหาหรือขัดหลักสิทธิมนุษยชนจึงคาดหวังให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบ ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งตั้งคำถาม (ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน) ถึงความเหมาะสมของการมีอยู่ของกฎระเบียบดังกล่าวที่ถูกมองว่าขัดหลักสิทธินักเรียนและสิทธิมนุษยชน
.
ดังนั้น เพื่อทำให้การทำตามกฎระเบียบและการคุ้มครองสิทธินักเรียนไม่ขัดแย้งกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการควรเร่งเปิดบทสนทนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อออกข้อกำหนดว่ามีกฎระเบียบด้านไหนบ้างที่ขัดกับหลักสิทธินักเรียนและสิทธิมนุษยชน
.
กฎระเบียบใดๆ ก็ตามที่มีความเห็นร่วมกันว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชน กระทรวงต้องออกข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อห้ามไม่ให้มีกฎระเบียบดังกล่าวในโรงเรียนใดก็ตาม โดยไม่ปล่อยให้เกิดการถกเถียงระหว่างนักเรียนกับโรงเรียนกันเองเพียงลำพัง
.
ในขณะที่กฎระเบียบอื่นๆ ก็ควรถูกออกแบบโดยโรงเรียนผ่านกระบวนการที่เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย พร้อมการดำเนินการทางวินัยสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎที่เหมาะสม ได้สัดส่วน ไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนเอง (เช่น การลงโทษต่อร่างกาย การทุบตี การสั่งยืนกลางแดด) และทั้งหมดนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
.
ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะมีความเห็นต่อจุดยืนและการกระทำของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร การร่วมกันแสวงหาทางออกเพื่อเดินหน้าไปสู่ 2 เป้าหมายนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของหยกโดยคำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมของทุกฝ่าย แต่จะยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญสำหรับการรับประกันสิทธิในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพในอนาคต
.
เป้าหมายสูงสุดของเรา คือการไม่ทำให้ใครหลุดออกจากระบบการศึกษา และให้โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและโอบรับทุกคน