พริษฐ์ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ทุกปัญหา แต่จะทำหน้าที่ 3 อย่างคือ ระบุและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ออกแบบสถาบันทางการเมืองให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และสะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคม
พริษฐ์ วัชรสินธุ เปิดโรดแมป “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ต้องสู้ 4 ยก 3 ประชามติ
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
18 มิถุนายน 2023
ผ่านมากว่า 1 เดือนสำหรับการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ซึ่งมีประชาชน 24 ล้านคนลงคะแนนเลือก 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่อยู่ในขั้วฝ่ายค้านเดิม แม้พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศเจตนารมณ์จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันแล้ว แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้สถานการณ์การเมืองไม่แน่นอน โดยเฉพาะเมื่อ ส.ว. ยังมีอำนาจร่วมกับ ส.ส. ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
พ.ย. 2564 พริษฐ์ วัชรสินธุ ยืนอยู่กลางห้องประชุมรัฐสภา ในฐานะตัวแทนกลุ่ม “รี-โซลูชัน” (Re-Solution) นำเสนอหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อระบอบประยุทธ์” โดยสาระส่วนหนึ่งคือการให้ยกเลิกวุฒิสภา แล้วหันไปใช้ระบบสภาเดี่ยว
แต่สุดท้ายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีประชาชน 1.3 แสนคนร่วมลงชื่อสนับสนุน ถูกตีตกกลางสภา สิ่งที่เขาทำได้คือกล่าว "ขอบคุณ และขอโทษจากใจจริง” ต่อประชาชนที่ร่วมเดินทางกันมา
เม.ย. 2565 พริษฐ์เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และขอโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของพรรค ในฐานะผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย
ในวันที่ “นโยบายข้อแรก” ใน 300 นโยบายของก้าวไกลที่ ไอติม-พริษฐ์ มีส่วนร่วมคิด-ทำ-นำเสนอ ได้รับการบรรจุเป็น “วาระร่วมข้อแรก” ในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค เมื่อ 22 พ.ค. 2566 เขาคิดว่าเป็น “นิมิตหมายอันดีที่จะเห็นได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
เอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ข้อ 1 ระบุว่า “ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน”
ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า พริษฐ์จะกลับเข้าสภาในบทบาทใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะผลักดันภารกิจเดิม รื้อ-ร่าง-สร้าง “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ให้สำเร็จ
“เป้าหมายในการทำงานการเมืองของผม คือการขยับเขยื้อนประเทศไทยที่เป็นปัจจุบันไปสู่ประเทศไทยที่ควรเป็นประชาธิปไตย... ผมหวังว่าจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในพรรคก้าวไกลที่พาประเทศไทยไปข้างหน้าได้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” ไอติม-พริษฐ์ กล่าวกับบีบีซีไทย
3 อาวุธร้ายของ “ระบอบประยุทธ์” ที่ฝังลงรัฐธรรมนูญ 60
พริษฐ์ให้คำจำกัดความ “ระบอบประยุทธ์” ที่ไม่ใช่แค่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น หากแต่หมายถึงโครงสร้าง กลไก กติกาที่ พล.อ.ประยุทธ์และพวก สร้างขึ้นตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของเครือข่ายที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อรัฐประหาร 2557 หรือได้ประโยชน์จากรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือ
ในสายตาคนหนุ่มวัย 30 ผู้มีประสบการณ์ร่วมกับคนไทยทั้งประเทศ-ผ่านเหตุการณ์ยึดอำนาจการปกครองมา 2 ครั้ง สรุปภาพสังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์ไว้ว่า “เป็นเกมชักเย่อระหว่างสังคมที่ก้าวหน้า อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง กับระบบที่ล้าหลัง ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มันเลยเกิดการสะสมความรู้สึกของผู้คนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมา และสะท้อนออกมาผ่านผลการเลือกตั้ง”
วาระของก้าวไกลและรัฐบาลชุดถัดไป จึงอยู่ที่การรื้อระบบที่ล้าหลังภายใต้ระบอบประยุทธ์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งพริษฐ์มองว่า ที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีการฝัง 3 อาวุธที่ถูกใช้สืบทอดอำนาจเอาไว้ ดังนี้
อาวุธที่หนึ่ง: สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง คสช. แต่มีอำนาจล้นฟ้า โดยเฉพาะอำนาจในการร่วมเลือกนายกฯ, อำนาจร่วมโหวตกฎหมายปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส.ว. เฉพาะกาล 250 คน มาจากคณะกรรมการสรรหาที่ คสช. แต่งตั้ง 194 คน, เป็นโดยตำแหน่ง (ผบ.เหล่าทัพ) 6 คน และการสรรหาในกลุ่มอาชีพ 50 คน
อาวุธที่สอง: ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นสถาบันทางการเมืองที่ประชาชนคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่กระบวนการได้มาซึ่งกรรมการองค์กรอิสระถูกผูกขาดโดย ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. พูดง่าย ๆ ว่าใครจะมาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องถูกรับรองโดย ส.ว. 250 คน ทั้งที่ คสช. เป็นหนึ่งใน “ผู้เล่นทางการเมือง” ทำให้ประชาชนตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลางของ “กรรมการ” เวลาเห็นคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. และ ป.ป.ช.
อาวุธที่สาม: ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากรัฐบาลดำเนินนโยบายไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการเปิดช่องให้ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ “ที่ผ่านมา อาวุธนี้ถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ก็มีความกังวลว่าอาวุธนี้จะถูกหยิบมาใช้หรือไม่”
“นี่คือความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเราไม่รื้ออย่างน้อย 3 อาวุธนี้ ก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” ว่าที่ผู้แทนราษฎรสมัยแรกกล่าว
4 ยก 3 ประชามติ โรดแมป “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล เปิดโรดแมป “ฟื้นฟูประชาธิปไตย” ด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนผ่านบีบีซีไทย โดยคาดการณ์ว่า ใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 2 ปีเศษ หรือราวเดือน ส.ค. 2568 จะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 และกฎหมายลูก แล้วใช้จัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า
“จากวันนี้ไปจนถึงวันที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันจะมี 4 ยกสำคัญ คือ 4 ครั้งที่ประชาชนต้องเข้าคูหา โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่การมีรัฐธรรมนูญซึ่งร่างโดย ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” พริษฐ์ระบุ
ยกแรก: ทำประชามติครั้งแรกโดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อสอบถามประชาชนว่า “เห็นชอบหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน” เนื่องจากมีผู้ตีความว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 11 มี.ค. 2564 หมายถึงการจัดประชามติก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 1
“ก้าวไกลมองว่า ในมุมกฎหมายไม่มีความจำเป็น แต่ในมุมกลยุทธ์ การได้สอบถามประชาชนโดยตรงในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ น่าจะเป็นทางออกให้ประเทศ”
“กรอบเวลาที่ทำได้คือภายใน 90-120 วันนับแต่วันที่ ครม. มีมติ ถ้าเราตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้เดือน ส.ค. วันที่เป็นได้คือ 10 ธ.ค. 2566 วันรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่วงหยุดยาว ประชาชนน่าจะออกไปใช้สิทธิได้สะดวก” พริษฐ์เผยปฏิทินประชามติยกแรก
หากประชามติผ่าน รัฐบาลก็จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 15 มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งในวาระ 3 ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 84 คน จากทั้งหมด 250 คน และได้เสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน 20%
“มีคนตั้งคำถามว่า ส.ว. 250 คน จะให้ความเห็นชอบไหม หรือจะรอให้ ส.ว. ชุดนี้หมดวาระ (พ.ค. 2567) ให้มีการสรรหา ส.ว. ชุดใหม่ 200 คน แล้วค่อยเสนอร่างเข้ารัฐสภาตอนนั้น แต่ในมุมมองของผม ถ้าประชาชนโหวตอย่างท้วมท้นในประชามติ ส.ว. 250 คนน่าจะเข้าใจและไม่ขัดขวางสิ่งที่ประชาชนแสดงออก โรดแมปเราจึงอยู่บนสมมติฐานว่าจะยื่นร่างเลย และคาดว่าจะใช้เวลา 3-5 เดือนในการผ่าน 3 วาระ” เขาแจกแจงแนวทางของพรรคสีส้ม
มีชัย ฤชุพันธุ์ นำทีมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมถ่ายภาพหมู่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 อาคารรัฐสภา ก่อนร่วมพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อ 6 เม.ย. 2560
ยกสอง: ทำประชามติครั้งที่สอง เพื่อสอบถามประชาชนว่า “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 15 มาตรา 256” ซึ่งเป็นการกำหนดรูปแบบ องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ร. หากประชามติผ่าน ก็เข้าสู่ยกต่อไป
ยกสาม: เข้าคูหาเพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. จากนั้น ส.ส.ร. ก็ไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถ้าอิงกรอบเวลาของ ส.ส.ร. ชุดยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีเวลาทำงาน 240 วัน แต่พริษฐ์เห็นว่า หากสามารถทำงานความคิด รณรงค์ และพูดคุยกันได้ อาจลดเวลาลงเหลือ 180 วัน ทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นกลางปี 2568 หรือ เม.ย. 2568 แล้วส่งเข้ายกสุดท้าย
ยกสี่: ทำประชามติครั้งที่สาม เพื่อถามประชาชนว่า “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับ”
การต่อสู้ใน 4 ยก ตามที่พริษฐ์ไล่เลียงมา จำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนขั้นต่ำตามกฎหมาย 2 เกณฑ์ในชั้นประชามติ จึงจะประสบชัยชนะ-ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ พ.ศ. 2564 กำหนดว่า 1. ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงต้องมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และ 2. คะแนนออกเสียง “เห็นชอบ” ต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
นอกจากมิติทางกฎหมาย พริษฐ์ ผู้เป็นคณะทำงานด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 8 พรรคการเมือง อดรู้สึก “ตื่นเต้น” ไม่ได้กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 4 ยกนี้ ซึ่งเขาเปรียบเปรยว่าเป็น “Democratic Dialogue” หรือการเปิดบทสนทนาครั้งใหญ่เกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทย สังคมจะได้ถกเถียง แลกเปลี่ยน และคาดหวังว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาหลังผ่าน 4 ยกนี้ จะมีฉันทามติใหม่ว่าประชาธิปไตยแบบไหนที่จะใช้ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า
ประชามติพ่วง รื้อรัฐธรรมนูญ-เลือกตั้งผู้ว่าฯ
ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ย้ำว่า ปฏิทินจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนข้างต้น เป็นข้อเสนอจากพรรค ก.ก. ซึ่งต้องปรึกษาพูดคุยให้ตกผลึกกับอีก 7 พรรคการเมืองก่อน ทั้งจำนวนครั้งที่ประชาชนต้องเข้าคูหา การจัดประชามติที่อาจเชื่อมโยงกับการจัดประชามติประเด็นอื่น ๆ หรือการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เพื่อประหยัดงบประมาณ
บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน กกต. ใช้งบจัดการเลือกตั้งทั่วไป 8 ครั้ง (ทั้งการเลือกตั้งที่สำเร็จและเป็นโมฆะ ระหว่างปี 2544-2566) เป็นจำนวนตั้งแต่ 2,000-5,945 ล้านบาท และใช้งบจัดให้มีการออกเสียงประชามติปี 2550 จำนวน 1,500 ล้านบาท และปี 2559 จำนวน 2,991 บาท
ขณะที่เอกสารของพรรค ก.ก. ที่แจ้งต่อสำนักงาน กกต. ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่อชี้แจงนโยบาย วงเงิน และแหล่งที่มาของงบประมาณ ระบุวงเงินที่ต้องใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ที่ปีละ 3,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ต้องใช้งบถึง 12,000 ล้านบาท ในการจัด 3 ประชามติ และ 1 เลือกตั้ง ส.ส.ร.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พริษฐ์อธิบายว่า จำเป็นต้องนำปฏิทินการเมืองมากาง เช่น พรรค ก.ก. มีข้อเสนอว่า วาระกระจายอำนาจท้องถิ่นอาจต้องทำประชามติบางส่วนเพื่อสอบถามประชาชน หากสามารถทำให้โรดแมปนั้นมาเชื่อมโยงกับโรดแมปรัฐธรรมนญ ก็อาจทำให้การจัดประชามติเกิดขึ้นในวันเดียวกัน แต่มีหลายวาระที่ถูกถาม
“ที่ผ่านมา เราอาจไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าจะทำประชามติพร้อมกัน แต่เป็นที่เข้าใจเจตนาของเราอยู่แล้วว่าถ้ามี 2 เรื่องต้องจัดประชามติ และมันอยู่ในกรอบเวลาที่เท่ากัน ก็จะเอามารวมกันเพื่อให้ประหยัดงบประมาณ” คณะทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ สังกัดพรรค ก.ก. กล่าว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำ 2 วาระยาก ๆ - รื้อรัฐธรรมนูญ 2560 และล้างโครงสร้างราชการส่วนภูมิภาคเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทางตรง - มาทำประชามติในคราวเดียวกัน อาจเพิ่มแรงต้าน และไปถึงขั้นทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในชั้นประชามติ
ในทัศนะของพริษฐ์ ทุกครั้งที่จัดประชามติย่อมเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ จึงไม่แปลกหากจะมีแรงสนับสนุนและมีคนที่ยังเห็นต่าง แต่ย้ำว่าทั้งโรดแมปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และวาระกระจายอำนาจ เป็นสิ่งที่ต้องหารือกับพรรคพันธมิตรก่อน
ประชาชนฝ่ายรณรงค์โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแสดงความผิดหวัง ภายหลังทราบผลประชามติ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งประชาชน 16.8 ล้านคนโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และ 15.1 ล้านเสียงโหวตรับคำถามพ่วง ซึ่งให้อำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ
อำนาจในมือ ส.ส.ร.
ถึงขณะนี้ 8 พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่า ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน คือผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบ-เขียนกติกาใหม่ แต่อาจยังเห็นต่างเรื่องระบบเลือกตั้ง และอำนาจหน้าที่
แนวทางของพรรค ก.ก. ชัดเจนว่า ส.ส.ร. ควรมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตรา แม้มีผู้เสนอให้ล็อกหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ เพราะกังวลว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบต่อรูปแบบการปกครองของรัฐ
ไอติม-พริษฐ์ ให้เหตุผลว่า แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ก็อนุญาตให้แก้ไขได้ทั้งหมด เพียงแต่ต้องทำประชามติก่อน จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปล็อก
“มีความจำเป็นต้องไม่ล็อกด้วย เพราะข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นข้อเสนอที่มีการถกเถียงกันตามสมควรในสังคม มีทั้งประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และ 2 ฝั่งก็มีอารมณ์ร่วมตามสมควรกับวาระนี้ ดังนั้นถ้าเราอยากจะหาฉันทามติใหม่ร่วมกันในสังคม การเอาข้อขัดแย้งเข้ามาถกเถียงด้วยเหตุและผลอย่างมีวุฒิภาวะภายใต้พื้นที่ปลอดภัยของสภาร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นการหาทางออกร่วมกันดีที่สุด” นักการเมืองรุ่นใหม่กล่าว
อานุภาพของ ส.ว.
ไม่ว่าวาระจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค หรือวาระจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ล้วนมี “คนหน้าเก่า” อย่าง ส.ว. 250 คน ร่วมชี้เป็น-ชี้ตาย-ชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลว จึงน่าสนใจว่าคนการเมืองค่ายาวไกลประเมินอานุภาพ ส.ว. ที่ตัวเขาเปรียบเปรยเป็น “อาวุธ” อย่างไร
พริษฐ์ไม่ได้วิเคราะห์ชัดเจนนัก แต่ตอบด้วยความเชื่อที่ว่า 250 ส.ว. จะเข้าใจเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกมาผ่านการเข้าคูหา
กับวาระ “ปลดอาวุธ คสช.” ที่ฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากเสียงของประชาชนที่สะท้อนผ่านประชามติมากพอ เขาเชื่อว่าวุฒิสภาจะกลับท่าทีและยอมทำตามความต้องการของประชาชน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งกระแสตื่นตัวของสังคมเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญสูงมาก ทำให้ ส.ว. กว่า 50 คน โหวต “ปิดสวิตช์ตัวเอง”
ในสมัยของรัฐสภาชุดก่อน มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหายกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา รวม 6 ฉบับ ผลปรากฏว่า แต่ละครั้งมี ส.ว. โหวตมติรับหลักการด้วยจำนวนไม่เท่ากัน
ในการผ่านวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่สองสภา หรือ 375 คน จาก 750 คน ในจำนวนนี้ต้องเป็นคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 84 คน จาก 250 คน
เมื่อประมวลภาพรวมตลอด 4 ปี มีนักการเมืองและภาคประชาชนพยายาม “ถอดชนวน” ระเบิดเวลา ด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 26 ร่าง แต่มีเพียงร่างเดียวเรื่องระบบเลือกตั้งที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา-ได้ประกาศใช้
จากการรวบรวมข้อมูลของพริษฐ์ หนึ่งในเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับกลุ่มรี-โซลูชัน (Re-Solution) ที่ถูกคว่ำกลางรัฐสภา พบว่า มี 20 ร่างที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เกินครึ่งหนึ่ง และ 19 ร่างได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เกิน 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ผ่านด่าน ส.ว. จึงตกไป
ส่วนวาระจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรค ก.ก. นักการเมืองน้องใหม่คาดหวังว่า ส.ว. จะร่วมลงมติสนับสนุนให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. เป็นนายกฯ เพื่อรักษาหลักการประชาธิปไตย แม้อาจไม่เห็นชอบกับทุกนโยบายของก้าวไกล
เขาโยนคำถามทิ้งไว้ให้ ส.ว. ช่วยขบคิด หากไม่โหวตตามเสียงข้างมาก หรือตาม ส.ส. 8 พรรคที่จับมือกันแน่น-มีเสียงในสภาล่างรวมกันเกิน 300 เสียง ทางเลือกอื่นคืออะไร
หากเลือกโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ที่ไม่ได้เสียงข้างมากของสภา อาจเลือกคน ๆ นั้นเป็นนายกฯ ได้ แต่การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่สามารถบริหารประเทศได้ ไม่สามารถผ่านกฎหมายได้สักฉบับ ไม่สามารถผ่านงบประมาณได้สักบาท ดำรงตำแหน่งได้สัปดาห์เดียวหรือเดือนเดียว หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลนั้นก็จะล้มไปทันที
หากเลือกไม่โหวตให้ใครเลย ทำให้รัฐบาลปัจจุบันรักษาการไปเรื่อย ๆ ก็จะเพิ่มความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเพิ่มความรู้สึกไม่พอใจของประชาชนที่อยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่ที่เขาเลือกมา ทำไมไม่สามารถเกิดขึ้นได้สักที
“คิดว่า ส.ว. แต่ละท่านน่าจะเห็นฉากทัศน์เหล่านี้... การไม่เคารพ 1 สิทธิ 1 เสียงที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง ก็จะทำให้ ส.ว. นำตัวเองไปอยู่ในจุดตรงกันข้ามกับเสียงของประชาชน ผมคิดว่าอันนี้จะยิ่งทำให้บ้านเมืองมีความขัดแย้งมากขึ้น” ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรค ก.ก. กล่าว
พริษฐ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า จัดกิจกรรมล่ารายชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "รื้อระบอบประยุทธ์" เมื่อปี 2564
ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน
หากรัฐธรรมนูญคือ “เครื่องมือจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ” น่าสนใจว่าโจทย์ในการออกแบบความสัมพันธ์ใหม่ให้กับ ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์-ประชาชน ซึ่งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชี้ว่าเป็น “4 เสาหลักของเสรีนิยมประชาธิปไตย” ของชาวก้าวไกลคืออะไร
พริษฐ์ย้ำเป้าหมายของพรรคที่ว่า “อยากจะพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนให้ดำรงคุณค่าและความหมายภายใต้สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
การนำพาสังคมไปสู่จุดนั้น เขาบอกว่า มี 2 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงคือ การมีวิวัฒนาการ และไม่ผูกขาดเป้าหมาย-วิธีคิด-วิธีการ
ในความเห็นของพริษฐ์ ถ้าอยากให้ประเพณี วัฒนธรรม หรือจารีตใด ๆ ก็ตามที่เรารักและหวงแหนดำรงอยู่ได้แบบมีคุณค่าและความหมาย ทางออกต้องไม่ใช่การหยุดอยู่กับที่ แต่ต้องออกแบบสถาบันนั้นให้หมุนไปตามเข็มนาฬิกาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และคุณค่าของยุคที่เปลี่ยนไป
“ต้องอาศัยการคิดไปข้างหน้าให้สอดคล้องกับยุคสมัยเป็นอย่างไร ค่านิยมที่สังคมให้ความสำคัญเป็นอย่างไร เพื่อให้เราสามารถออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนให้สอดคล้องกับความรู้สึกของยุคสมัยและค่านิยมของสังคม”
“สมมติเราเห็นว่าสังคมให้ความสำคัญกับหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ให้ความสำคัญกับการที่ประชาชนอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เราก็ต้องออกแบบกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 ที่ฐานสมดุลที่ดีระหว่างการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน กับการคุ้มครองประมุขจากฐานหมิ่นประมาท” พริษฐ์ระบุ
ในเมื่อเป้าหมายตรงกันว่าอยากเห็นความสัมพันธ์ตรงนี้ดีขึ้น ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. จึงไม่อยากให้มีการผูกขาดว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน ไม่อยากให้กลุ่มไหนคิดว่าตนเองเป็นกลุ่มเดียวที่มีเป้าหมายนี้ เพียงเพราะคนอื่นมีวิธีการแตกต่างไป เช่น เวลาพูดว่า “ทำเพื่อชาติ” แต่ละคนอาจมีชุดความคิดแตกต่างว่านโยบายแบบไหนจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชาติได้ดีที่สุด
“สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือการผูกขาดว่าวิธีการที่ฉันนำเสนอเท่านั้นเป็นวิธีการที่ถูกต้อง เป็นการทำเพื่อชาติ แล้วคนอื่นที่มีนโยบายต่างออกไป ไม่ได้ทำเพื่อชาติ”
จากนั้นเขาวกกลับมาพูดถึงประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นกังวล-คลางแคลงใจชาวก้าวไกล ที่ประกาศผลักดัน “วาระเฉพาะ” ของพรรคว่าด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งพริษฐ์ย้ำเป้าหมายเดิม เรื่องการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ กับประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และมองว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะทำให้สามารถหาสมดุลได้ดีขึ้น แต่อีกกลุ่มอาจคิดว่าวิธีการที่ดีที่สุดคือไม่แก้มาตรา 112 เลย ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือใช้รัฐสภาหารือและทางออกร่วมกัน