พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
January 2
[เทศกาลวันปีใหม่ของหลายคนจะสมบูรณ์ไม่ได้ หากไม่มีพวกเขา]
.
นี่คือเรื่องเล่าที่เป็นทั้งของขวัญและเรื่องราวสุดสามัญของชีวิตคนทำงานในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘งานบริการ’ ที่เกี่ยวพันกับอารมณ์ของผู้คนในสังคมช่วงเปลี่ยนผ่านศักราชใหม่ เราตั้งใจส่งต่อเรื่องราวและความฝันเล็กๆ ของคนทำงานให้พวกคุณได้รับรู้ เพราะการสร้างสังคมที่เราอยากเห็น ไม่ได้ใช้ยอดมนุษย์คนไหน แต่ใช้การร่วมกันทำของคนธรรมดาๆ อย่างพวกเราทุกคน
.
พรรคก้าวไกล ได้รวมเรื่องเล่าของคนทำงาน ที่เป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสุขของผู้คนระหว่างเทศกาลฉลองปีใหม่ เพื่อให้คุณจำได้ว่ายังมีคนอีกจำนวนมากทำงานเพื่อให้วันหยุดของเราสมบูรณ์ที่สุด สามารถกดอ่านเนื้อหาได้ที่รูปภาพ
[รอรถเมล์กลับบ้านที่ราชประสงค์]
‘ราชประสงค์’ เป็นทั้งชื่อย่านและแยกที่ตั้งอยู่บริเวณเขตปทุมวัน จุดศูนย์กลางทุนนิยมของไทย ห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ที่ตั้งประจันหน้ากัน บรรษัทกลุ่มทุนข้ามชาติและทุนไทย สำนักงานออฟฟิศที่กระจายตัวตั้งอยู่ตลอดทั้งย่าน ในขณะเดียวกัน ที่แห่งนี้ก็ถูกจดจำในฐานะพื้นที่ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางการเมืองร่วมสมัย
.
แต่ไม่ว่าราชประสงค์จะถูกจดจำในฐานะอะไร ที่นี่ก็ถูกปลุกให้กลับมาคึกคักและมีชีวิตชีวาอีกครั้งในเทศกาลปีใหม่ ในฐานะสถานที่เคานท์ดาวน์ที่คนจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาร่วมเฉลิมฉลอง นอกจากจะเป็นสถานที่นัดหมายในวันปีใหม่ นี่ยังเป็นสถานที่ทำงานและรอรถเมล์ของพนักงานห้างสรรพสินค้าบางคนอีกด้วย
.
เพราะเบื้องหลังการให้บริการที่ไม่มีวันหยุด คือบทบาทหน้าที่ ชีวิต เนื้อตัวของเหล่าพ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ รปภ. พนักงานทำความสะอาด ที่ทำหน้าที่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในวันขึ้นปีใหม่ ยิ่งผู้คนเดินทางมาเยือนย่านแห่งนี้มาเท่าใด ผู้อำนวยความสะดวกก็คือคนเบื้องหลังที่ต้องเหน็ดเหนื่อยมากขึ้นเท่านั้น
.
ก.ไก่ คือพนักงานประจำร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าในย่านนี้ เธอเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ยังคงต้องทำงานในวันหยุด การเดินทางมาทำงานในช่วงเทศกาลจึงเป็นหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกๆ วัน เธอจะใช้ชีวิตอยู่กับการทำงานราว 10 ชั่วโมง รวมเวลาเดินทางไป-กลับบ้าน อีก 1 ชั่วโมง ทำให้เกือบครึ่งของวันหนึ่ง เธออุทิศเวลาให้กับงาน
.
“วันปีใหม่ก็คงมาทำงาน ไม่ได้สนใจอะไรเท่าไหร่ ทำงานเสร็จปิดร้าน 5 ทุ่ม ก็นั่งรถเมล์กลับบ้าน คงไม่ได้เคาท์ดาวน์” ก.ไก่ เล่าแผนการที่เธอคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ย่างเข้าวันที่ 1 มกราคม 2566 ให้เราฟัง
“แล้วอยากได้อะไรในวันปีใหม่ไหม?”
“ไม่ค่อยมี ก็อยากทำงานเก็บเงินให้ได้เยอะๆ” เธอกล่าว
.
เดือนนี้จะเข้าเดือนที่ 4 ที่ ก.ไก่ เดินทางจากภูมิลำเนาในภาคอีสาน มาเสี่ยงแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ที่กรุงเทพ เธอใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมาเป็นสิบปี นี่เป็นอีกครั้งที่ความโดดเดี่ยวและความเงียบเหงาทำอะไรเธอไม่ได้
.
“ไม่เหงานะ ไม่เคยคิดลบเวลาที่เห็นคนอื่นฉลอง อะไรที่ปวดหัวก็ไม่เคยเก็บมาคิด มาทำงานปกติ เลิกงานก็กลับบ้าน”
“บางครั้งทำงานเหนื่อยๆ แบบอยากหยุดทำไปเลยก็มี แต่พอมันผ่านไป ก็ไม่ได้คิดอะไร ก็กลับมาทำงานต่อ” เธอแสดงถึงจุดยืนที่หนักแน่นในช่วงวันเวลาแห่งแสงสีว่า เธอไม่ได้คิดน้อยใจอะไรต่อความสุขของผู้อื่น ตรงกันข้ามยังคงรักษาจุดยืนของความเป็นมืออาชีพไว้ได้เป็นอย่างดี
.
มีรถเมล์หลายสายที่ผ่านบ้านของ ก.ไก่ ค่ำคืนก่อนจะเปลี่ยนสู่ศักราชใหม่ บาร์ริสต้าอย่างเธอยังคงทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด หลังจากชงเครื่องดื่มให้ลูกค้าที่ทะลักกันเข้ามาเฉลิมฉลองในย่านราชประสงค์แก้วแล้วแก้วเล่า เธอจะเริ่มปัดกวาดเช็ดถูกบริเวณบาร์ตรงหน้า เมื่อเก็บข้าวของให้แล้วเสร็จ เธอเปลี่ยนชุดกลับและสวมเสื้อกันหนาวทับก่อนจะเดินไปขึ้นรถเมล์เพื่อกลับบ้าน
.
และวันปีใหม่ก็คงเป็นเหมือนทุกวัน
[เพราะชีวิตนี้ไม่มีเกียร์ R ให้เหยียบ และต้องโจนทะยานให้เหมือนเครื่องบินที่เทคออฟ]
.
6 โมงเช้า จนถึง 6 โมงเย็น คือเวลาทำการของประเสริฐ จิตพิชัย คนขับแท็กซี่วัย 62 ผู้คร่ำหวอดในวงการ 4 ล้อรับจ้างมายาวนานถึง 20 ปี เขาเริ่มต้นออกจากบ้านย่านหนองจอก ก่อนจะตะลุยรับลูกค้าชนิดไม่ปฏิเสธสักราย “ผมไปหมดครับ” เสียงประเสริฐยืนยัน แม้จะถูกถามว่า ถ้าให้ไปส่งฝั่งธนฯ จะยังไปไหม เขาก็ยืนยันว่าไปแน่นอน เพราะยังมีอีก 4 ชีวิตที่บ้านรอคอยเขาอยู่ แต่ชีวิตของประเสริฐไม่มีเกียร์ R ให้เหยียบ การทำงานของประเสริฐจึงไม่มีวันหยุด
.
ก่อนถึงเวลาเที่ยงวัน เขาจะนำรถมาเติมแก๊สที่มีนบุรีเป็นกิจวัตร ในมือของประเสริฐกำเงินราว 200-300 “วันหนึ่งควรจะหาให้ 1,500 บาท ถึงจะอยู่ได้ เติมแก๊สก็ 200 บาท ค่าส่งรถก็เฉลี่ยวันละ 500 บาท แล้ว” ประเสริฐ แจงแจกรายละเอียดให้เราฟัง นอกจากตัวเขา ยังมีภรรยา หลานเล็กๆ อีก 2 คน และย่าวัย 86 ที่ป่วยเป็นอัมพาต
.
รายได้ในการขับรถของเขา จะแปรเปลี่ยนเป็นมื้ออาหารของครอบครัว ค่าบ้าน ยารักษาโรคของผู้สูงวัยที่นอนติดเตียง รวมตัวเองแล้วกว่า 5 ชีวิต โดยหลังจากที่ลูกชายประสบอุบัติเหตุและด่วนจากไป ทำให้เขาต้องดูแลหลานๆ อีก 2 การหยุดงานโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่น่าจะเป็นโอกาสในการหาเงิน ดูเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย
.
“ผมติดโควิดรอบแรกๆ ที่หนักๆ เลยครับ ตอนนั้นก็ไม่ได้ขับรถ นอนโรงพยาบาลอยู่ 2 สัปดาห์ ออกมารถแท็กซี่ที่กำลังผ่อนเช่าซื้อ ก็โดนยึดแล้ว”
“แล้วคนอื่นในบ้านอยู่กันอย่างไรคะ”
“ผมโทรบอกร้านค้าแถวบ้านว่าขอเซ็นซื้อของก่อน ไว้ออกจากโรงพยาบาลหายจากโควิดแล้วผมก็จะกลับมาจ่าย”
“ตอนนั้นกลัวไหม เพราะคุณเป็นคนเดียวที่หาเงินเข้าบ้าน”
“กลัวสิ ผมคิดว่าผมจะไม่ได้กลับไปแล้วด้วยซ้ำ 14 วันนั้น บางทีผมนอนร้องไห้ ผมนอนคิดอยู่นั่นแหละว่า ถ้าไม่ได้ออกไป ครอบครัวจะอยู่ยังไง”
เมื่อถามว่า เทศกาลปีใหม่นี้ประเสริฐจะทำอะไร เขาตอบกลับมาว่า ไม่ได้ฉลองปีใหม่หรือทำอะไรพิเศษมากว่า 20 ปีแล้ว เพราะชีวิตไม่ได้คิดอะไรมากนอกจากทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว นี่เป็นชีวิตที่เหมือนเงาของการเฉลิมฉลอง แม้ไม่ได้สนุกสุดเหวี่ยงเหมือนกับชีวิตอื่นๆ แต่ก็ใช่ว่าประเสริฐจะไม่มีของขวัญให้กับตัวเองและครอบครัวในวันปีใหม่
.
“ผมจะพาหลาน 2 คน นั่งรถแท็กซี่ ไปดูเครื่องบิน”
.
ตื่นเช้าออกรับลูกค้า เมื่อมีช่วงที่ลูกค้าบางตา เขาจะกลับไปรับหลานๆ หรืออุ้มย่าขึ้นรถ ขับพาทุกคนไปดูเครื่องบินที่สุวรรณภูมิ นี่คือความฝันวันปีใหม่สุดแสนธรรมดา แต่โรแมนติกมากที่สุดของชายวัย 62 แน่นอนว่ามันไม่ใช่จุดชมวิวที่สวยหรู แต่เป็นริมถนนสุวรรณภูมิ 3 ถนนที่ยาวกว่า 6 กิโลเมตร มองเห็นเครื่องบินลำยักษ์จากทั่วทุกมุมโลกที่แท็กซี่ไปตามทางวิ่ง ก่อนจะพุ่งทะยานขึ้นบนฟากฟ้า ตลอดระยะทาง 6 กิโลเมตร ไม่ได้มีแค่ประเสริฐที่หยุดดูเครื่องบินขึ้น ยังมีคนอีกมากที่ชอบความงามที่เรียบง่ายอย่างการดูเครื่องบินเป็นของขวัญวันปีใหม่
.
ขอให้ชีวิตพุ่งทะยานเหมือนเครื่องบินที่เทคออฟ
[เทคออฟในวันปีใหม่]
.
อาชีพลูกเรือและกัปตันคนขับเครื่องบิน ก็เป็นอีกหนึ่งในหลายอาชีพที่ทำงานหนักในช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่
.
เราคุยกับลูกเรือท่านหนึ่ง เธอขอใช้นามแฝงว่า ‘หญิง’ ปัจจุบันเธอทำงานเป็นลูกเรือ สายการบินหนึ่งมาได้ประมาณ 5 ปี และนี่ไม่ใช่การทำงานในช่วงเทศกาลครั้งแรกของหญิง แต่สำหรับเธอ การทำงานแบบลืมเรื่องวันหยุดหรือวันสำคัญไปช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น และมีพลังในการรับมือกับผู้โดยสารบนเครื่องได้มากกว่า
.
“อาชีพลูกเรือจะลืมคำว่าวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ไปเลยค่ะ จะไม่ค่อยได้หยุดเหมือนพนักงานบริษัทหรือข้าราชการทั่วไป” เธอเริ่มต้นเล่าให้เราฟังในช่วง 30 นาทีสุดท้าย ก่อนเธอจะเดินทางออกจากบ้านไปสุวรรณภูมิ เพื่อขึ้นบินในช่วงกลางดึกของคืนนั้น
.
“เราสามารถเลือกวันหยุดช่วงเทศกาลได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทัน เพราะเป็นช่วงที่ทุกคนแย่งกันหยุด เราก็ไม่เคยขอทัน เดี๋ยวค่อยหยุดหลังจากนั้นก็ได้”
“แล้วปีนี้?”
“เราบินตั้งแต่ 27 ธันวาคม เป็นต้นไป ช่วงปีใหม่ก็บินค่ะ”
.
หญิงเล่าถึงชีวิตบนฟ้า ที่ไม่ง่ายเหมือนหลายคนคิด เกิดเรื่องท้าทายขึ้นมากมาย มีทั้งวิกฤตช่วงการระบาดของโควิดที่ทำให้หยุดบินไป และการกลับมาบินด้วยตารางงานที่หนาแน่น เธอต้องบินไปต่างประเทศบ่อยครั้ง และบางครั้งเธอต้องรับมือกับผู้โดยสารที่มีความต้องการมากเป็นพิเศษ
.
“เจอไฟลท์หลายแบบเลยค่ะ เช่น จะมีผู้โดยสายที่ชอบขอน้ำก่อนเครื่องออก (หัวเราะ) ถ้ามีมนุษยสัมพันธ์ดีมากเกินไป เราก็จะดุ เพราะเครื่องกำลังจะออกแล้ว (หัวเราะ)”
“เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการบินค่ะ บางทีก็ต้องขัดใจกันบ้าง”
“บางไฟลท์คุณอาจจะเจอผู้โดยสารที่กดชักโครกไม่เป็นก็ได้นะ ซึ่งเราไม่โทษใคร เพราะบางครั้งผู้โดยสารก็ทำไม่เป็นจริงๆ ”
.
การเป็นลูกเรือในทัศนะของหญิง เป็นทั้งงานเบื้องหลังและงานเบื้องหน้า ทำหน้าที่ช่วยส่งผู้โดยสารให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารเมื่ออยู่บนเครื่อง” นอกจากนี้ เธอยังเล่าว่าไม่ได้มีแค่เธอที่ต้องทำงานในวันปีใหม่ สำหรับอาชีพที่เกี่ยวข้องกัน อย่างนักบิน ฝ่ายประสานงานภาคพื้น ฝ่ายซ่อมบำรุง ครัวการบิน และอีกมากที่เกี่ยวข้องกับการนำเครื่องขึ้นและลงอย่างปลอดภัยก็ไม่ได้หยุดช่วงปีใหม่เช่นเดียวกัน
.
นอกจากนี้ หญิงยังพูดถึงข้อจำกัดในการทำงานในแง่ของสุขภาพว่า เพราะบางไฟลท์เธอต้องบินช่วงดึก ทำงานตลอดทั้งคืน “เราต้องทานอาหารให้ได้เวลาไหนก็ได้ค่ะ ทานให้ได้ นอนให้ได้ เอาเข้าจริงมันก็รวนเหมือนกัน อย่างวันนี้ก็ยังไม่ได้ทานอะไร เดี๋ยวจะขึ้นบินดึก ก็ค่อยทานบนเครื่อง” ก่อนจะทิ้งถึงความฝันเล็กๆ ในวันปีใหม่ว่า
.
“อยากหาเวลาไปเที่ยวกับครอบครัว แต่ปีใหม่นี้ก็ยังคงบิน ยังไงก็จะหาช่วงเวลาอื่นไปเที่ยวกับครอบครัวชดเชยแน่นอน”
[กรุงเทพ เมืองที่ไม่มีวันเน่า: “ผมไม่เคยรู้สึกว่ามันสกปรกเลยนะ ผมมองว่ามันเป็นงาน” ]
.
นอกจากหมอ พยาบาล เวรเปลฉุกเฉิน ไปจนถึงลูกเรือบนเครื่องบิน เราก็ได้รู้แล้วว่า มีอีกหลายอาชีพที่ยังคงทำงานเป็นวัวงาน มดงาน ในช่วงเทศกาลหยุดยาวนี้ หนึ่งในนั้นคือพนักงานป้องกันเมืองเน่า หรือฝ่ายรักษาความสะอาดของแต่ละเขต เคยสงสัยกันไหมว่า หยุดยาวนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนฉลองสังสรรค์กันสุดเหวี่ยง ร่องรอยแห่งความสุขก็ปรากฏในลักษณะของขยะ เศษอาหาร ขยะมูลฝอยหลายชนิด และถ้าพนักงานรักษาความสะอาดหยุดฉลองบ้าง…
.
“กรุงเทพ เมืองที่ไม่มีวันเน่า” เพราะมีคนทำงานทุกวัน 365 วันต่อปี และมันจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ภูมิเรศ พนักงานรักษาความสะอาดเขตสาทร อนุญาตให้เราติดตามเขาไปทำงานในช่วงเช้าสิ้นปี เราพบว่า พนักงานเขตยังคงทำงานกันอย่างขยันขันแข็งแข็ง โดยปกติแล้วรถเก็บขยะจะต้องใช้ 2 กะ สลับกันตลอดทั้งวัน และนำขยะมูลฝอยที่เก็บได้ในทุกวันขนถ่ายไปยังโรงกำจัดขยะขนาดใหญ่ในกรุงเทพ เช่น หนองแขม หลักสี่ และอ่อนนุช
.
กะเช้า จะใช้รถเก็บขยะขนาดเล็ก เริ่มทำงานตั้งแต่ 05.00-12.00 น. และกะดึก ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่ จะเริ่ม 00.00-08.00 น. ไล่เก็บตอนกลางคืน ขยะตามบ้านเรือนก็จะเก็บยากเป็นพิเศษ เพราะขยะจะสุมรวมปนๆ กันมาก
.
ภูมิเรศ ยังคงทำงานในวันหยุดสิ้นปีเหมือนกับทุกวัน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 16 แล้ว ชีวิตการทำงานของเขาในแต่ละวัน จะเริ่มต้นการทำงานช่วงเวลา 00.00 และจบที่เวลา 08.00 น. ทันทีที่ไล่เก็บกวาดขยะบริเวณถนนจันทน์ ที่ตนรับผิดชอบครบหมดแล้ว เขาจะขับรถนำขยะไปขนถ่ายที่โรงกำจัดขยะหนองแขม ก่อนจะขับรถกลับมาจอดที่เขตสาทร และขี่จักรยานยนต์กลับบ้านที่ดินแดงประมาณช่วง 10.00 น. เป็นอย่างนี้ในทุกวัน
.
“ผมกลับบ้าน นอนพัก ตื่นแล้วก็ไปเตรียมรับลูกที่โรงเรียน เสร็จแล้วก็มาที่สาทร”
“ส่วนลูกชายคนโต วัย 14 บางวันก็มาทำงานกับผม ช่วงนี้เป็นวันหยุดของเขา ถ้าปิดเทอมเขาก็จะตามมาเก็บขยะด้วย บางทีก็ได้ค่าขนมจากการเก็บขยะ เขาก็อยากจะมาเก็บแต่ขยะ” ภูมิเรศ พูดถึงลูกชายวัยรุ่นที่ทำงานเคียงข้างเขาทั้งคืนด้วยน้ำเสียงภูมิใจ
.
เมื่อถูกถามว่า ทำงานอยู่กับขยะไปแล้วครึ่งวันในชีวิต เขารู้สึกอย่างไร ภูมิเรศตอบกลับมาว่า “ผมไม่เคยรู้สึกว่ามันสกปรกเลยนะ ผมมองว่ามันเป็นงาน”
.
“คืนข้ามปี ผมก็จะเริ่มต้นทำงานเหมือนเดิม 00.00 น. ค่อยๆ ไล่เก็บขยะไปตามจุดเหมือนทุกคน เรียกได้ว่าเก็บขยะข้ามปีก็ได้ครับ” ภูมิเรศตอบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในคืนวันปีใหม่ และคาดการณ์ว่าลูกชายของเขาก็จะมาช่วยทำงานข้ามปีด้วยกันเช่นเดิม
ของขวัญชิ้นใหญ่ที่ภูมิเรศนึกออก คือการอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง เพราะปัจจุบันต้องอาศัยอยู่บ้านเช่า และเมื่อถามว่าวันปีใหม่อยากจะทำอะไรเป็นพิเศษ เขาตอบว่า
.
“ปีใหม่ผมก็ไม่ได้อยากได้อะไรเป็นพิเศษนะ แค่อยากกินหมูกระทะกับครอบครัว”
.....
เพื่อนตำรวจ
January 3
เรียน ผู้บังคับบัญชา
๑. หน่วยที่รายงาน : กก.๖ บก.กฝ.บช.ตชด.
๒. ประเภทกิจกรรม : จิตอาสาภัยพิบัติ
๓. วันที่ดำเนินกิจกรรม : วันพุธที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๐๖.๓๐ น.- ๑๗.๐๐ น.
๔. สถานที่จัดกิจกรรม : จุดบริการประชาชน ม.๑๑ บ้านแสนตอ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย
๕. รายละเอียดของกิจกรรม : ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.ศักดิ์ศิริ เข็มขาว ผกก.๖ บก.กฝ.บช.ตชด. มอบหมายให้ ร.ต.อ.ศุภกร วันทัพ (หัวหน้าชุดจิตอาสา) นำกำลังพลข้าราชการตำรวจจิตอาสา จำนวน ๑๐ นาย ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาภัยพิบัติ " เนื่องในห้วง ๗ วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๖" มอบน้ำดื่มให้กับจุดบริการประชาชน ม.๑๑ บ้านแสนตอ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย โดยมี นายวัชรา แก่นพ่วง ผู้ใหญ่บ้านฯ พร้อมผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฯ,อบต. รับมอบสิ่งของดังกล่าว
๖. ข้าราชการตำรวจจิตอาสาที่รายงานเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด ๑๐ นาย
๗. รายละเอียดปรากฏตามภาพการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาที่แนบมา พร้อมนี้
๘. จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ