วันอาทิตย์, ธันวาคม 25, 2565

จดหมายจากป้าอัญชัญ ตอบ ธนาพล อิ๋วสกุล

.....
Thanapol Eawsakul
5h

จดหมายตอบจากป้าอัญชัญ
.................
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565
ผมได้เขียน "จดหมายถึงคุณอัญชัญ ปรีเลิศ และคุณสมบัติ ทองย้อย"
https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/pfbid02ydM3PqSeoVFF7ASvvhNuY2JJpfZhSbAKfNsncZdWggLvng2PdWAzBSDydj6jibTEl
นอกจากส่งทางไปรษณีย์แล้ว ผมเพิ่งทราบว่าตอนนี้ทางเรือนจำมีบริการส่งจดหมายทางออนไลน์ได้ด้วย (โพสต์วิธีส่งไว้ในข้อความ)
ผมขอเอาข้อความจดหมายตอบของป้าอัญชัญ มาเผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งในการ "ร้องทุกข์" จากเรือนจำของป้าอัญชัญ
เห็นความทุกข์ทนจากคดี 112 แล้วกำลังนึกถึงการ "ทำบุญ" กันในตอนนี้ ถ้าได้อ่่านจดหมายของป้าอัญชัญแล้วผมคิดว่าการปล่อยคุณอัญชัญ ก็น่าจะ "ได้บุญ" มากเช่นกัน
.......................
ชื่อ อัญชัญ ปรีเลิศ R.9 ชื่อเล่น ป้าอัญชัญ
ถึงธนาพล อิ๋วสกุล 3 ธ.ต. 65
ป้าได้รับจดหมายของหนูเมื่อวันที่ 2 ธ.ต. 65 จำนวน 2 ฉบับค่ะ ก็รีบตอบเลยเขียนได้อาทิตย์ละครั้ง
ดีใจมากที่ได้รับจ.ม. ของหนู จ.ม. ฉบับนี้มีคุณค่ามากสำหรับป้า (ผู้รับ) เรื่องจริงเลยค่ะ
หนูเก่งมากเลย ทำหน้าที่ร้องทุกข์สิ่งที่เกิดขึ้นในปทท. หนูเป็นคนกล้าหาญมาก ป้านับถือหัวใจของหนูจริงๆที่กล้าและไม่กลัว แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวให้มากนะค่ะ
หนูทำให้ ตปท. เห็นความแตกต่างของปทท.
ขอบคุณสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันมากๆค่ะ และได้ถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัล IPA Prix Voltaire เป็นรางวัลอันทรงเกียรติจริงๆ ขอขอบคุณที่ทำเพื่อปทช. และอนาคตลูกหลานนะคะ, ป้าอยากอ่านสุนทรพจน์ของหนูให้จบ (มีต่ออีกฉบับ) ยังไม่ได้รับเลยค่ะ อยากอ่านมากๆเลย,
ป้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นำเรื่องของป้าขึ้นเวทีด้วย คดีป้านี้คือผลงานของ DSI ในยุคปี 58 ค่ะจากการที่ป้าให้ความร่วมมืออย่างดี ป้่าเป็นคนตรงๆแต่หาได้รับปราณีจากพวกเขาเลย เหมือนป้าเป็นอาชญากรร้ายแรงมากเลยพวกเดียวกันที่ถูกจับโดนกันแค่คนละกรรมเดียว คนผลิตก็แค่กรรมเดียวออกไปก็ยังไปทำคลิปหากินต่อ นี่ไงความยุติธรรมที่ป้าได้รับ
ป้าถูกจับปี 58 ป้าก็ขอลาออกจากราชการ ป้าจะเกษียณ 30 ก.ย. 59 ป้าทำงานมา 38 ปีค่ะเก็บภาษีอากรให้กับรัฐ ปัจจุบันการพิจารณาวินัยข้าราชการของป้ายังไม่จบเลยค่ะ ตอนนี้ยังอยู่ที่ อ.ก.พ. (กระทรวงการคลัง) ตัดสินมาจะครบ 2 ปีแล้วค่ะ ทุกวันนี้ป้ายังไม่ได้รับเงินจากราชการสักบาทเลย ป้าได้พี่ชายส่งเสียเงินให้ 7-8 ปีแล้ว ปัจจุบันพี่ชายก็ไม่ค่อยสบาย (อัมพฤกษ์) เป็นข้าราชการบำนาญส่งให้ใช้เดือนละ 10,000 บาทโอนให้ 2 ครั้งวันที่ 1 ,15 ต่อเดือนบางครั้งแกก็ลืม กว่าจะได้โอนปลาเข้าไปเป็นเดือน ของในนี้ก็แพงสุดๆ ไม่มีพี่ชายส่งเสียคงแย่มากๆ และคงเครียดมากกว่านี้ แฟนก็ลี้ภัยเหมือนกัน
ป้าก็ขออภัยธ .ต. 65 นี้แหละ หากไม่มีก็ไม่รู้จะได้ออกเมื่อไหร่ หรือวิธีใดที่จะได้ออกจากที่นี่ ถ้ามีอภัยเหมือนปี 63 64 ป้าก็จะเหลือ 18 -19 เดือน ก็จะได้พบกันในรัชสมัยปัจจุบันค่ะ
ป้าคงอยู่ยากในปทท. ถ้าประเทศนี้ยังจับ 112 เป็นว่าเล่น, การต่อสู้ของพวกเด็กๆก็ถูกทำร้าย Only Thailand ค่ะ
(รอจ.ม. ต่อสุนทรพจน์นะค่ะ)
ปัาอัญชัญ
อัญชัญ ปรีเลิศ D3 R9 (ผู้สูงวัย)

Thanapol Eawsakul
แอปและขั้นตอน
ถ้าไม่รู้รายละเอียด เขียนแค่ชื่อ-นามสกุล ให้ถูกต้องก็พอค่ะ
https://www.appstoremagazine.com/social-network/domimail/
วิธีการคือ
ต้องเสียเงิน 100 บาท เพื่อส่งหาคนข้างในได้ 10 ฉบับ (ส่งให้ใครก็ได้)
ต้องเสียเงิน 100 บาท สำหรับซื้อใบตอบกลับ
ให้เพื่อน 10ฉบับ อันนี้จะต้องเสียต่อคนค่ะ (เช่น ถ้าซื้อให้ป้าอัญชัญ ป้าอัญชัญก็จะมีกระดาษตอบกลับเราได้ 10 ครั้ง ถ้าจะซื้อให้คนอื่นก็ต้องซื้อเพิ่ม)
โดยปกติ จะใช้เวลาส่งไม่เกิน 1 อาทิตย์
ต้องใช้คำสุภาพ
ผู้ต้องขังจะถูกตรวจจดหมายก่อนออกทุกครั้ง และถูกกดดันไม่ให้การเล่าเรื่องของเรือนจำในด้านลบ

.....
จากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม: การต่อสู้ของ “อัญชัญ” จำเลยคดี 112 กับโทษจำคุกครึ่งชีวิต

21/01/2564
ศูนย์ทน่ยความเพื่อสิืธิมนุษยชน

หลังการยึดอำนาจของ คสช. เมื่อปี 2557 นับเป็นช่วงเวลาที่การใช้ข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทั้งในแง่ของจำนวนคดีที่เพิ่มสูงขึ้น และรูปแบบการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมเข้าค่ายทหารก่อนกล่าวหาดำเนินคดี การประกาศให้ผู้ถูกดำเนินคดีต้องถูกพิจารณาพิพากษาในศาลทหาร การลงโทษจำคุกในอัตราโทษที่รุนแรงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านั้น การพิจารณาคดีอันยาวนาน หรือแม้แต่การไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว จนผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากยินยอมรับสารภาพ แทนที่จะต่อสู้คดี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในช่วงที่ คสช. อยู่ในอำนาจ อย่างน้อย 169 คน แบ่งเป็นผู้ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นอย่างน้อย 106 คน และกรณีแอบอ้างสถาบันกษัตริย์เรียกรับผลประโยชน์อีกอย่างน้อย 63 คน

หนึ่งในตัวเลขสถิตินี้ก็คือ “อัญชัญ” อดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง วัย 65 ปี ที่ถูกบุกจับเข้าค่ายทหารและดำเนินคดีทั้งมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าเธอเป็นหนึ่งในผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมทั้งหมด 29 ครั้ง เป็นความผิด 29 กรรม ในช่วงระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ถึง 24 มกราคม 2558 ถือว่าเป็นคดี 112 ที่มีโทษหนักที่สุดเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามสถานการณ์มา

ใครคือ “บรรพต”?

ราว 10 ปี ก่อนที่โซเชียลมีเดียยังไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายเท่าในทุกวันนี้ หนึ่งในช่องทางที่คอการเมืองสายฮาร์ดคอร์ทั้งหลายใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่ในสื่อกระแสหลัก นั่นก็ช่องทางออนไลน์อย่างยูทูปและเว็บบอร์ด ซึ่งมีกลุ่มนักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่มักเลือกหยิบประเด็นสถาบันกษัตริย์มาอภิปรายและพูดถึงอย่างเผ็ดร้อน สอดแทรกไปกับเนื้อหาอื่นๆ หนึ่งในผู้จัดรายการวิทยุใต้ดินที่เป็นที่รู้จักในยุคนั้นก็คือ “บรรพต” ซึ่งมียอดเข้าชมคลิปรวมกันจนถึงปัจจุบันร่วมแสนครั้ง

ตลอดหลายปีนับจากวันที่ได้มีการเผยแพร่คลิปแรกราวปี 2553 บรรพตยังได้เผยแพร่คลิปเสียงตามมาอีกหลายร้อยตอน จนกระทั่งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาเปิดเผยว่าได้จับกุมชายชื่อ “หัสดิน” ซึ่งภายหลังได้ยอมรับว่าเขาคือเจ้าของเสียงของดีเจบรรพตจริง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่หัสดินเพียงรายเดียวที่ถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยังได้ทยอยจับกุมและดำเนินคดีประชาชนรวมทั้งหมด 16 ราย กล่าวเฉพาะในคดีของบรรพตเอง มีผู้กล่าวหา 12 ราย – นอกจากตัวบรรพตเอง 9 รายถูกกล่าวหาว่าแชร์คลิปเสียงของบรรพตบนเฟซบุ๊คและเว็บไซต์อื่นๆ ขณะที่อีก 2 ราย ถูกกล่าวหาฐานสนับสนุนการเผยแพร่คลิปเสียง

หัสดินและผู้ต้องหารายอื่นๆ ทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร หัสดินให้การรับสารภาพในคดีที่เขาถูกกล่าวหาเรื่องการจัดทำคลิปเสียงเผยแพร่จำนวน 1 ครั้ง (1 กรรม) ในที่สุด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ศาลได้พิพากษาให้หัสดินมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำคุกเป็นเวลา 10 ปี แต่ลดเหลือ 5 ปี เพราะจำเลยรับสารภาพ

หัสดินถูกคุมขังตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ระยะเวลาที่ถูกคุมขังจริงคือ 1 ปี 10 เดือน กับอีก 19 วัน นอกเหนือจากหัสดิน จำเลยรายอื่นเองก็ถูกตัดสินจำคุกในอัตราเดียวกัน ยกเว้น 2 ราย ที่ศาลสั่งจำหน่ายเป็นอีกคดี ในฐานความผิดเป็นผู้สนับสนุน ทั้ง 2 ราย รับสารภาพ ศาลทหารได้พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะให้การรับสารภาพ เหลือจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยทุกคนได้รับโทษและถูกทยอยปล่อยตัวจากเรือนจำจนครบเกือบหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จำเลยทั้ง 12 ราย ถูกศาลพิจารณาลงโทษและคดีถึงที่สิ้นสุด แต่ในชุดคดีของประชาชนที่ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นเครือข่ายของบรรพต ยังมีกรณีอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีแยกออกมา อาทิ กรณีของ “ธารา” ซึ่งถูกตั้งข้อหาจากการเผยแพร่คลิปเสียงของบรรพต จำนวน 6 กรรม เดิมคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เนื่องจากการต่อสู้คดีเป็นไปอย่างล่าช้าในศาลทหาร เขาจึงขอกลับคำให้การหลังเวลาผ่านไป 2 ปี โดยธาราไม่ได้รับการประกันตัว เขาถูกศาลทหาพิพากษาจำคุก 18 ปี 24 เดือน โดยไม่สามารถอุทธรณ์คดีได้อีก

เช่นเดียวกับคดีของอัญชัญที่ถูกดำเนินคดีแยกออกมา นับจากวันที่อัญชัญถูกจับเมื่อปี 2558 จนกระทั่งวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา เป็นเวลาเกือบ 7 ปี ที่คดีความของเธอคงค้างอยู่ใน “กระบวนการยุติธรรม” น่าสังเกตด้วยว่า แม้ว่าอัญชัญจะเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครือข่ายบรรพต” แต่อัญชัญกลับเป็นจำเลยคนเดียวที่ถูกฟ้องมากที่สุดถึง 29 กรรม ขณะที่จำเลยรายอื่นส่วนใหญ่ รวมทั้งตัว “บรรพต” เอง ถูกฟ้องเพียง 1 กรรม



จากแฟนคลับสู่การเป็นนักโทษคดีความมั่นคง

จากการสอบข้อเท็จจริงของศูนย์ทนายฯ อัญชัญเล่าว่า ตัวเธอสนใจเรื่องประเด็นทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเคยเข้าร่วมในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบ้าง จนกระทั่งวันที่เกิดการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 การได้พบเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นที่แยกราชประสงค์ ทำให้อัญชัญเริ่มต้นหาข้อมูลเรื่องการเมืองเบื้องลึกที่ไม่สามารถหาอ่านหรือดูได้จากสื่อกระแสหลัก

ต่อมาภายหลังจากที่แม่เสียชีวิต อัญชัญได้เริ่มเล่นเฟซบุ๊กครั้งแรกและได้รู้จักกับรายการวิเคราะห์การเมืองของบรรพตผ่านเว็บไซต์คนเสื้อแดงแห่งหนึ่ง เมื่อลองฟังรายการของบรรพตก็รู้สึกชอบ เพราะรู้สึกว่าวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างน่าสนใจ เธอได้กลายเป็นหนึ่งในแฟนคลับของบรรพต และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BP (ชื่อของกลุ่มแฟนคลับ) ในปี 2555

อัญชัญเล่าว่า ตัวเธอเคยพบเจ้าของเสียงบรรพตจริงๆ เพียงแค่ครั้งเดียว เมื่ออัญชัญและสามีนัดกับอีกฝ่ายเพื่อทานข้าวและพูดคุยเรื่องที่อัญชัญจะขออาสามาเป็นคนดูแลระบบเงินบริจาคที่ผู้ฟังมอบให้บรรพตเพื่อสนับสนุนการจัดรายการ ด้วยความที่อัญชัญเป็นข้าราชการ ทำให้ดูมีความน่าเชื่อถือในหมู่แฟนคลับ โดยทั้งเธอและสามีเป็นที่รู้จักในนาม “เพชรจรัญ” และ “เพชรประกาย”

อย่างไรก็ตาม ความฝันของอัญชัญที่คาดหวังจะได้ใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างสงบต้องพังทลายลงเมื่อเธอถูกจับกุมในวันที่ 25 มกราคม 2558 ในช่วงระหว่างที่ คสช. ยังคงบังคับใช้กฎอัยการศึก เป็นเวลาก่อนหน้าการเข้าจับกุมหัสดินไม่นาน อดีตข้าราชการวัยใกล้เกษียณรายนี้เล่าว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 10 นาย พร้อมอาวุธบุกเข้าควบคุมตัวที่บ้าน ขณะที่กำลังสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ขายตรงให้เพื่อนๆ ได้ชม โดยที่ทางเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้แจ้งชื่อหน่วยงานของตัวเอง และไม่ได้แจ้งด้วยว่าจะนำไปตัวอัญชัญไปที่ไหน ทั้งยังปิดล้อมบ้านของอัญชัญและซอยเข้าออก ลักษณะเหมือนมาจับกุมอาชญากรที่ทำความผิดร้ายแรง

เธอถูกควบคุมตัวไปพร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงทรัพย์สินอื่นๆ อีกหลายรายการ ภายหลังการเข้าควบคุมตัว สามีและญาติของอัญชัญไม่สามารถติดต่อเธอได้อีกเลยและไม่ได้รับการติดต่อกลับมา ไม่ว่าจากทางอัญชัญเองหรือจากเจ้าหน้าที่

จนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 เป็นวันที่ 6 ที่อัญชัญถูกควบคุมตัวโดยที่ญาติไม่สามารถติดต่อได้ เจ้าหน้าที่ได้ติดต่อสามีของอัญชัญให้นำหนังสือรับรองการทำงานของเธอไปให้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อีกทั้งได้แจ้งว่า จะนำตัวอัญชัญไปฝากขังที่ศาลทหารเลย ขอให้ตามไปประกันตัว

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ อัญชัญถูกดำเนินคดี ตามที่ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 บก.ปอท. ในขณะนั้น เข้าแจ้งความไว้ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาอัญชัญว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการอัพโหลดคลิปเสียงของบรรพต ทั้งในเฟซบุ๊กและยูทูบ รวม 4 ครั้ง

ในการสอบปากคำโดยไม่มีทนายความเข้าร่วมในครั้งนี้ อัญชัญให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังในวันเดียวกัน โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากอยู่ระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก อีกทั้งเกรงว่าหากอนุญาตแล้ว จำเลยจะไปก่อเหตุที่เป็นความผิดซ้ำอีก อัญชัญจึงถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และถูกขังในระหว่างพิจารณาคดีอีกเกือบ 4 ปี ก่อนได้ประกันตัว

อัญชัญให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายฯ ว่า ในระหว่างถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหาร ช่วง 3 วันแรก เธอถูกซักถามโดยเจ้าหน้าที่ 2 ชุด ชุดละ 2 ครั้ง โดยที่ไม่รู้เลยว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยไหนบ้าง เพราะไม่ได้แต่งเครื่องแบบ อีกทั้งยังไม่มีทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจอยู่ด้วยในระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่นั่งล้อมรอบและให้เธอนั่งตรงกลาง การซักถามแต่ละครั้งใช้เวลานาน มีการพูดข่มขู่ เนื้อหาที่ซักถามส่วนใหญ่ถามถึงบรรพต อัญชัญเล่าอีกว่า เธอถูกปิดตาตลอดเวลา ยกเว้นเมื่อถูกนำตัวไปขังในห้อง ซึ่งมีเธอเพียงคนเดียว โดยที่ด้านหน้ามีเจ้าหน้าที่หญิงคอยเฝ้า และมีอาหารให้กินวันละ 3 มื้อ

19 มีนาคม 2558 พนักงานสอบสวนของดีเอสไอเข้าแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การของอัญชัญเพิ่มเติมถึงในทัณฑสถานหญิงกลาง โดยมีทนายความที่เจ้าหน้าที่จัดหาให้ (ทราบภายหลังว่าบัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความของทนายรายนี้หมดอายุไปแล้ว) กล่าวหาว่า อัญชัญอัพโหลดคลิปเสียงของบรรพต ทั้งในเฟซบุ๊กและยูทูป ในระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557- 24 มกราคม 2558 ทั้งหมด 26 ครั้ง ในชั้นนี้ อัญชัญให้การรับสารภาพเช่นเดียวกัน เนื่องจากหวังว่า หากรับสารภาพและให้การโดยละเอียด โทษจากหนักจะกลายเป็นเบา อย่างไรก็ตาม แทนที่การตัดสินใจให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จะช่วยผ่อนปรนโทษให้เธอ แต่ในภายหลัง กลับกลายเป็นสิ่งที่มัดมือของอัญชัญในชั้นพิจารณาคดี

23 เมษายน 2558 อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอัญชัญต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาตามคำฟ้องของอัยการทหาร คือ จำเลยได้กระทำผิดรวม 29 กรรม จากการอัพโหลดไฟล์และคลิปข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า ‘บรรพต’ จำนวน 19 คลิป ลงในยูทูบ 3 บัญชี รวม 23 ครั้ง และเฟซบุ๊กส่วนตัว 1 บัญชี รวม 6 ครั้ง ซึ่งไฟล์และคลิปข้อความเสียงดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ

เนื่องจากคดีนี้ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช. และการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก หากศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษา จำเลยจะไม่สามารถอุทธรณ์/ฎีกาคำพิพากษาได้



อิสรภาพเกือบ 4 ปีที่ต้องแลก แม้คดีความยังไม่ถึงที่สิ้นสุด

28 กรกฎาคม 2558 ย่างเข้าเดือนที่ 7 ที่ถูกคุมขัง อัญชัญถูกควบคุมตัวมาจากทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อเข้าสู่การพิจารณาคดีนัดแรก ก่อนดำเนินกระบวนพิจารณา อัยการทหารแถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และข้อหาที่ฟ้อง รวมถึงการนำสืบพยานเป็นข้อเท็จจริงที่หากพิจารณาโดยเปิดเผย อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อพระมหากษัตริย์และความรู้สึกของประชาชน ศาลพิเคราะห์และมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับจนกว่าจะมีคำพิพากษา และให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาคดี ในวันดังกล่าวไม่มีญาติพี่น้องของจำเลยมาที่ศาลแต่อย่างใด

ศาลอ่านคำฟ้องของโจทก์ทุกข้อความให้จำเลยฟัง และถามคำให้การจำเลย อัญชัญให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาทั้งน้ำตา พร้อมยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุว่าไม่ได้กระทำความผิด และขอต่อสู้คดี จากนั้น โจทก์แถลงระบุว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 8 ปาก ด้านทนายจำเลยระบุว่ามีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 2 ปาก

ต่อมากระบวนสืบพยานในศาลทหารเกือบ 4 ปี สืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมด 7 ปาก โดยมีเจ้าหน้าที่จากหลายส่วนที่ร่วมในการแจ้งความ จับกุม และตรวจสอบพยานหลักฐาน ถูกเชิญมาให้การที่ศาล

ปากแรกคือ พันตำรวจเอกโอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. ซึ่งให้การว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ให้คอยสอดส่องผู้กระทำความผิดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นผู้แจ้งความอัญชัญในคดีนี้ นอกเหนือจากพันตำรวจเอกโอฬาร ยังมีเจ้าหน้าที่จาก DSI มาร่วมให้ปากคำ บรรยายถึงปฏิบัติการติดตามตัวจำเลยและผู้ต้องหารายอื่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 และได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทาง บก.ปอท. ก่อนเข้าจับกุม พยานรายนี้ยังเล่าว่าตนได้ร่วมในการซักถามจำเลยเมื่อครั้งที่ถูกควบคุมตัวที่ศาลทหาร

อย่างไรก็ตาม พยานยอมรับกับทนายจำเลยว่า ในขั้นตอนการซักถามในค่ายทหาร จำเลยไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วยและไม่ได้มีการแจ้งสิทธิให้จำเลยได้ทราบ ต่อเมื่อพาตัวอัญชัญมามอบตัวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามขั้นตอน ในส่วนของการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับอัญชัญที่ในเวลานั้นถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำแล้ว แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่ามีทนายอยู่ร่วมด้วยในกระบวนการ แต่ปรากฏภายหลังว่า บัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความของทนายที่เจ้าหน้าที่จัดหามาให้นั้นหมดอายุแล้วตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2558

นอกจากพยานที่มีส่วนร่วมในการจับกุม ยังมีเจ้าหน้าที่จาก ปอท. อีก 3 รายด้วยกันที่มาให้ปากคำในชั้นศาล ในฐานะผู้ตรวจสอบข้อมูลดิจิตอลในอุปกรณ์ที่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมยึดมาจากบ้านของอัญชัญ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอื่นๆ โดยมีการใช้โปรแกรมอย่างน้อย 2 โปรแกรมในการตรวจสอบข้อมูล ได้แก่ โปรแกรม Encase และโปรแกรม XPY โดยวิธีการทำงานคือ เจ้าหน้าที่จะป้อนคำคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ลงไปในโปรแกรม แล้วโปรแกรมจะแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นลิ้งค์ URL ไปยังข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคำนั้นๆ

ในการสืบพยานเพื่อสู้คดีให้กับอัญชัญ ทนายความของศูนย์ทนายฯ ภาวิณี ชุมศรี ให้ข้อมูลว่า นอกเหนือจากการต่อสู้ในประเด็นเรื่องการละเมิดของทางเจ้าหน้าที่ ยังมีการต่อสู้ในประเด็นที่ซับซ้อนอย่างเรื่องความชัดเจนของหลักฐานข้อมูลดิจิทัลซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมมากล่าวหา

“การจะสู้ในชั้นสืบพยาน เราจะดูพยานหลักฐานอย่างเช่นผลการตรวจคอมพิวเตอร์ ว่ามันเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่าในหลักฐานที่รวบรวมมาจากการตรวจคอมพิวเตอร์ ทางเจ้าหน้าที่มีแค่ประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ที่เป็น URL เท่านั้น หากดูจากหลักฐานในตัวของมันเอง มันจะบอกได้แค่ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้มีการเข้าชมเว็บไซต์อะไรบ้าง แต่มันไม่สามารถบอกได้ว่า เจ้าของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้เข้าไปที่ URL นั้นในฐานะอะไร คนที่เข้าไปอัพโหลดไฟล์หรือว่าเป็นคนที่เข้าไปดาวน์โหลดไฟล์ เพราะลำพังแค่การมีคลิปของบรรพตอยู่ในเครื่องอย่างเดียว ไม่ถือว่าเป็นความผิด”

ในระหว่างการสืบพยานปากที่ 7 เส้นทางสู่อิสรภาพของอัญชัญที่เหมือนจะริบหรี่แสงลงทุกที ในที่สุด ก็เริ่มจะมีความหวังขึ้นมาบ้าง เมื่อญาติและทนายจำเลยได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยอีกครั้ง โดยให้เหตุผลกับศาลว่า จำเลยถูกขังระหว่างสู้คดีมากว่า 3 ปี 9 เดือนแล้ว และจำเลยก็ไม่ได้พยายามจะหลบหนี อีกทั้งจำเลยยังได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ก่อนการเกษียณราชการ การคุมขังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจำเลยที่มีอายุมาก มีโรคประจำตัวผู้สูงอายุ ในครั้งนี้ ทนายและญาติได้วางหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 500,000 บาท ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แม้ทางโจทก์จะคัดค้านก็ตาม ทำให้อัญชัญได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561


ศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตบางประการต่อการพิจารณาคดีของอัญชัญในศาลทหาร นอกเหนือจากการที่ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับ ทำให้การพิจารณาคดีขาดการตรวจสอบจากสาธารณชน ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการ อย่างเช่น การสืบพยานที่เกิดขึ้นในศาลทหาร พบว่ามีหลายนัดที่พยานโจทก์ไม่มาศาล และการสืบพยานก็ไม่ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบสิทธิของจำเลยที่ต้องถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดีเป็นเวลาเกือบ 4 ปี แม้ว่าทางญาติจะพยายามยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลกลับไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี

ข้อสังเกตต่อมา นับตั้งแต่วันที่อัยการทหารยื่นฟ้องคดีจนถึงวันที่ศาลเบิกตัวจำเลยมาสอบคำให้การเป็นเวลานานถึง 3 เดือน ซึ่งโดยปกติในศาลยุติธรรม หากอัยการยื่นฟ้องวันใด ศาลจะอ่านฟ้องและถามคำให้การเบื้องต้นในวันเดียวกันหรือวันถัดไปทันที

>>> 20 เหตุผลที่คดีพลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร
>>> ความล่าช้าในศาลทหาร: คดีพลเรือนยังดำเนินอยู่ แม้ไร้เงา คสช.



จากศาลทหาร สู่ศาลยุติธรรม และอิสรภาพที่ไม่เคยมีอยู่จริง

ในขณะที่กำลังจะเริ่มสืบพยานโจทก์ปากที่ 8 ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 หลังจากที่ต้องเลื่อนนัดถึง 2 รอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ให้โอนย้ายคดีพลเรือนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาโดยศาลทหาร ไปยังศาลยุติธรรม ทำให้คดีของอัญชัญและคดีความมั่นคงของประชาชนคนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในยุค คสช. ถูกส่งไม้ต่อให้กับศาลยุติธรรม โดยการโอนย้ายที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีทบทวนคดีเหล่านั้นใหม่ว่าควรถูกสั่งฟ้องอยู่หรือไม่หรือพยานหลักฐานเป็นเช่นใด แต่ทั้งอัยการพลเรือนและศาลพลเรือนรับช่วงดำเนินคดีต่อมาทั้งหมด

17 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลอาญา รัชดาฯ ได้นัดคู่ความในคดีของอัญชัญมากำหนดนัดสืบพยานปากที่เหลือ โดยฝ่ายโจทก์คือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่าจะขอสืบพยานโจทก์อีก 4 ปาก ด้านจำเลยและทนายจำเลยระบุว่า จะสืบพยานจำเลยรวม 2 ปาก ศาลได้ตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 15 – 16 ธันวาคม 2563 นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับเช่นเดียวกับศาลทหาร โดยระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการพิจารณาคดีอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในนัดวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ก่อนที่จะเริ่มสืบพยานโจทก์ปากแรก อัญชัญได้เลือกกลับคำให้การ ยินยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหาทั้งหมด 29 กรรม ที่อาจพรากชีวิตบั้นปลายในวัยเกษียณไปจากเธอ ในวันที่เธอไม่เหลืออะไรจะให้เสียอีกต่อไปแล้ว การถูกดำเนินคดีและคุมขังทำให้อัญชัญต้องเสียสิทธิในการรับเงินเกษียณอายุราชการที่ควรจะต้องได้ แม้ว่าคดีความจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม บ้านที่เคยมีก็ต้องถูกยึดเพราะไม่มีคนผ่อน ในขณะที่สามีเองก็ต้องระหกระเหินลี้ภัยไปต่างประเทศ เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในเครือข่ายของบรรพตเช่นเดียวกัน สำหรับอัญชัญ นี่คือคำประกาศขอยอมจำนนต่อระบบยุติธรรมไทย หวังเพียงแค่ว่าศาลจะมีความเมตตาช่วยลดโทษลง

19 มกราคม 2564 คือวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา อัญชัญเดินทางมาที่ศาลอาญา โดยมีกลุ่มนักข่าวและช่างภาพเฝ้ารอ หญิงสูงวัยร่างเล็กยืนให้สัมภาษณ์ท่ามกลางผู้คนที่รายล้อม เล่าความเป็นมาและเรื่องราวของคดีความที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

เมื่อใกล้เวลาที่ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา อัญชัญพร้อมกับเพื่อนๆ ที่มาให้กำลังใจค่อยๆ ทยอยเดินเข้าห้องพิจารณาคดีหมายเลข 809 บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีในช่วงเช้าไม่ได้แตกต่างไปจากทุกครั้ง เว้นเสียแต่ว่าในครั้งนี้ มีตัวแทนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายรายเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการฟ้งคำพิพากษา ไม่นานหลังจากที่ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษาในคดีความเกี่ยวกับการฉ้อโกงก่อน ในที่สุดก็ถึงคิวของอัญชัญ

ศาลได้เท้าความถึงคำฟ้องของโจทก์ และข้อความทั้ง 29 ข้อความที่กลายเป็นชนวนมาสู่การดำเนินคดี ศาลอ่านด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างเบา ในขณะที่อัญชัญในวัย 65 ปี ยืนตัวลีบเล็กฟังคำตัดสินพิจารณาโทษ ในส่วนท้ายที่เป็นส่วนระบุโทษ ศาลพิพากษาว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เป็นจำนวนทั้งหมด 29 กรรม อันเป็นความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ นำเข้าข้อข้อมูลอันเป็นเท็จในประการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร แต่เนื่องจากจำเลยกระทำความผิดหลายกระทง ศาลจึงตัดสินลงโทษเฉพาะมาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่า จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน เท่ากับพิพากษาจำคุก 29 ปี 174 เดือน

หลังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ศาลเดินเข้าไปหาอัญชัญที่กำลังเซ็นต์เอกสารในคดี ก่อนจะใส่กุญแจมือเธอพ่วงไปกับนักโทษอีก 3 รายที่ถูกตัดสินจำคุกหลายสิบปีจากคดีฉ้อโกง เพียงแต่ว่าคดีความของอัญชัญนั้นไม่ใช่การไปหลอกลวงเอาประโยชน์จากใครที่ไหน แต่คือราคาของการแชร์คลิปเสียงจำนวนไม่กี่คลิปที่เธอต้องจ่ายด้วยชีวิต อิสรภาพ และอนาคต

อัญชัญหันมายิ้มให้กับเพื่อนที่ตามมาให้กำลังใจ รวมไปถึงกลุ่มผู้สังเกตการณ์ในห้องพิจารณา เธอถูกพาตัวออกจากห้องพิจารณาไปยังห้องเวรชี้ทั้งที่ยังไม่ทันได้รำ่ลาใคร เพื่อรอญาติกับทนายทำเรื่องยื่นประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยวางหลักทรัพย์ 1 ล้านบาท

ต่อมาในเวลา 15.34 น. ศาลอาญามีคำสั่งเรื่องการขอประกันตัวของอัญชัญว่า “ส่งศาลอุทรณ์เพื่อพิจารณาและมีคำสั่ง” ทำให้ในวันนั้น อัญชัญถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์เรื่องการประกันตัวใหม่อีกครั้ง

ล่าสุดในวันที่ 21 มกราคม 2564 หลังจากที่ทนายทำเรื่องยื่นขอประกันตัวให้กับอัญชัญ โดยศาลอาญาได้ส่งคำร้องต่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอัญชัญ อ้างว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง ประกอบกับจําเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทํานํามาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนผู้จงรักภักดี และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 29 ปี 174 เดือน ในชั้นนี้หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจําเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคําร้อง

ขณะนี้ อัญชัญถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง…

คดีที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรถูกบันทึก

สำหรับคำพิพากษาจำคุกอัญชัญถึง 87 ปี เรียกได้ว่าเป็นอัตราโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 ที่มากที่สุดเท่าที่ศูนย์ทนายฯ เคยบันทึกไว้ ในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมมีแนวโน้มพิพากษาลงโทษผู้ต้องคดีนี้ด้วยอัตราโทษที่สูงขึ้น จากเดิมกรรมละ 5 ปี เป็นกรรมละ 8-10 ปี ทำให้เกิดกรณีที่ศาลทหารพิพากษาจำคุกด้วยโทษสูง 50 – 70 ปี (จำเลยรับสารภาพได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง) ในหลายคดี

สำหรับคดีที่ศาลทหารเคยลงโทษจำคุกไว้สูงสุดที่สุด คือคดีของวิชัย พนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกฟ้องร้องจากการปลอมเฟซบุ๊กแล้วโพสต์ข้อความ 10 ข้อความ ซึ่งศาลทหารมีคำพิพากษาจำคุก กรรมละ 7 ปี นับโทษรวมเป็น 70 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี 60 เดือน (ราว 35 ปี) โดยขณะนี้เขายังคงถูกคุมขังในเรือนจำ