วันพุธ, ธันวาคม 28, 2565

ข้อเสนอแนะ จากปิยบุตร ถึงพรรคก้าวไกล กับการเลือกตั้ง 2566


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
· 2d

[1. พรรคก้าวไกลกับการเลือกตั้ง 2566]
- 1 -
สู้ในระบบเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลเสียเปรียบ
พรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาลและพรรคใหญ่ฝ่ายค้านมีฉันทามติร่วมกันว่าต้องแก้ไขระบบเลือกตั้ง จากเดิมทุกคะแนนมีความหมายนำไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส.และจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศสอดคล้องกับจำนวนที่น้่ง ส.ส. มาเป็น แข่งกันในเขตเลือกตั้งเอาที่หนี่งคนเดียวรวม 400 ที่นั่ง เหลืออีก 100 ที่นั่งมาจากการคำนวนคะแนนสัดส่วนทั่วประเทศ
พรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งครั้งนี้ คือ พรรคก้าวไกล เพราะ ฐานคะแนนของผู้นิยมพรรคก้าวไกลกระจายออกไปทั่วประเทศ ไม่ได้ฝังอยู่ในพื้นที่เขตเลือกตั้งใดเลือกตั้งหนี่งโดยเฉพาะ และส่วนใหญ่ ผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกล น่าจะเป็นเรื่องเชิงประเด็น นโยบาย มากกว่าตัวบุคคลผู้สมัครในพื้นที่ นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคใหม่ ผ่านการเลือกตั้งมาหนึ่งครั้ง ไม่ได้มีเครือข่ายหัวคะแนนหรือเครือข่ายเชิงอุปถัมภ์ในพื้นที่ ดังนั้น การชนะเลือกตั้งในเขตในจำนวนมาก กวาดยกจังหวัด กวาดหลายๆเขตหลายๆจังหวัดในภาคต่างๆ จึงแทบเป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้
เมื่อผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลมีลักษณะเช่นนี้ หากใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่ทุกคะแนนมีความหมาย ถูกนำมาคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. แบบปี 62 ก็ดี หรือแบบ MMP ของเยอรมนีก็ดี พรรคก้าวไกลย่อมมีโอกาสได้ ส.ส.ทะลุ 100 ที่นั่งก็เป็นได้
แต่เมื่อระบบเลือกตั้งเปลี่ยนไปคล้ายแบบปี 2544/2548 ที่ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยแยกการคำนวณขาดออกจากกัน น้ำหนักคะแนนที่ส่งผลต่อจำนวนที่นั่ง สส ก็ไปอยู่ที่เขตเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลอาจได้คะแนนรวมทั่วประเทศไม่น้อยกว่าที่พรรคอนาคตใหม่ได้ในปี 62 แต่เมื่อพิจารณารายเขต อาจมีหลายเขตที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนจำนวนมาก แต่ไม่มากพอที่จะได้ลำดับที่ 1 ในเขตเลือกตั้งนั้น และคะแนนเหล่านั้นทั้งหมดต้องถูก “ทิ้งน้ำ” ไป
แล้วพรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร?
ในฐานะพรรคการเมืองในระบบ พรรคก้าวไกลต้องพร้อมต่อสู้กับการเลือกตั้ง ต้องพร้อมปรับวิธีการต่อสู้ในทุกระบบการเลือกตั้ง
หากพิจารณาเฉพาะเรื่องคะแนนเสียง เดิมพันของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ก็คือ
หนึ่ง การได้คะแนนรวมทั่วประเทศมากกว่าพรรคอนาคตใหม่ได้ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562
พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนรวมทั่วประเทศประมาณ 6.3 ล้านเสียง การเลือกตั้งในปี 2566 พรรคก้าวไกลต้องทำให้ได้มากกว่าเดิม ส่วนจะคำนวณเป็น ส.ส.แล้วได้กี่ที่นั่งนั้น แน่นอนว่าจำนวนน้อยลงกว่าเดิมอยู่แล้ว เพราะ ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนไป แต่อย่างน้อยๆพรรคก้าวไกลต้องทำให้ได้คะแนนรวมทั่วประเทศมากกว่าครั้งก่อน ไปให้ถึงร้อยละ 20 หรือร้อยละ 25 เพื่อยืนยันว่า ยังมีผู้นิยมแนวทางของพรรคก้าวไกลอยู่ถึง 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ แม้กลไกรัฐจะพร้อมใจกันบดขยี้พรรคอย่างต่อเนื่อง แต่พรรคก็ยังสามารถยืนระยะต่อไปได้
การเลือกตั้งครั้งที่สองสำคัญกว่าการเลือกตั้งครั้งแรก
ครั้งแรก หากไม่ได้ตามเป้า ได้มาน้อย เรายังอธิบายได้ว่าเราเป็นพรรคใหม่ กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ผู้คนก็พอจะเข้าใจและเอาใจช่วยต่อไป
แต่ครั้งที่สอง หากไม่ได้ตามเป้า คะแนนรวมทั้งประเทศน้อยลงกว่าเดิม สิ่งซึ่งจะตามมา จะมีมากมายสารพัด ไล่ตั้งแต่ ข้อวิจารณ์ว่าแนวทางที่พรรคใช้นั้นผิดพลาด นโยบายหาเสียงก้าวหน้าเกินไป ยุทธศาสตร์การสื่อสารผิดพลาด ความขัดแย้งกันในหมู่แกนนำและผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ความท้อแท้สิ้นหวัง เป็นต้น
พรรคก้าวไกลต้องพิสูจน์ให้ได้ในการเลือกตั้ง 2566 ว่า ประเทศนี้ สังคมนี้ ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกล
สอง การเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตให้มากขึ้น
พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.เขต 30 ที่นั่ง เกจิอาจารย์กูรูทางการเมืองต่างบอกว่านี่คือเซอไพรส์ ผู้สมัครที่ไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน ไม่เคยลงเลือกตั้ง ไม่มีเครือข่ายหัวคะแนน แต่สามารถใช้ “กระแส” ของธนาธร จนชนะในเขตเลือกตั้งได้ถึง 30 คน ถึงกระนั้น ก็มีบางฝ่ายเห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับจากกรณีพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค ทำให้หลายเขต ไม่มีผู้สมัครทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ประชาชนหันมาเลือกพรรคอนาคตใหม่แทน
การเลือกตั้งในปี 2566 คงไม่มีอุบัติเหตุแบบกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ และทุกพรรคการเมือง “เอาจริง” ไม่มีใครประมาทพรรคก้าวไกลอีกแล้ว การต่อสู้ในระบบแบ่งเขต 400 คน จะเข้มข้นมากกว่าเดิม แต่ละพรรคมุ่งหวังกับการมี สส เขต เพราะ หากไปลุ้นบัตรใบที่สองให้มี สส แบบบัญชีรายชื่อ ก็ไม่มีหลักรับประกันแน่นอนว่าจะได้หรือไม่ ได้มาจำนวนเท่าไร
ประกอบกับพรรคเพื่อไทยชูคำขวัญ “แลนด์สไลด์” ย่อมทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์อีกต่อไป แม้พวกเขาอาจเอาใจช่วยพรรคก้าวไกลอยู่ แต่ก็พร้อมที่จะเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะเห็นว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าที่พรรคเพื่อไทยจะชนะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากไม่เทคะแนนให้พรรคเพื่อไทย สุดท้าย เราจะไม่ได้เปลี่ยนรัฐบาล ไม่ได้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี
ปัจจัยเหล่านี้ ย่อมทำให้ การต่อสู้ในเขตเลือกตั้งรอบนี้ พรรคก้าวไกลเหนื่อยกว่าพรรคอนาคตใหม่หลายเท่า
พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร?
จะตีโพยตีพายกับการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งไปก็ไม่มีประโยชน์ อย่างไรเสีย การเลือกตั้งครั้งหน้าก็เป็น 400:100
จะใช้ยุทธวิธีสู้ด้วยกระแสภาพใหญ่แบบเดิม? ครั้งนี้ก็ไม่มีธนาธร และไม่สามารถสร้างกระแสได้เทียบเท่า “ธนาธรฟีเวอร์” แล้ว
จะหันเหไปใช้การเมืองแบบเครือข่ายอุปถัมภ์ในพื้นที่ การเมือง “บ้านใหญ่” แบบพรรคอื่นๆ? ก็เป็นสนามที่ตนเองไม่ถนัด ทำให้ตายก็ไล่ตามเขาไม่ทัน และยังจะทำให้คนที่เลือกพรรคก้าวไกลเพราะต้องการการเมืองแบบใหม่ผิดหวังด้วย
นักการเมืองผู้นำที่ยิ่งใหญ่จะต้องไม่ปล่อยไปตามยถากรรม ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติ แต่ต้องควบคุมสถานการณ์เพื่อกำหนดชะตากรรมตนเอง
การเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลมีเดิมพันสำคัญ นอกจากต้องมี ส.ส.เขตให้มากกว่าเดิมแล้ว ยังต้องสร้างโมเดล ส.ส.เขตแบบก้าวไกล ขึ้นมาให้ได้

- 2 -
ส.ส.เขตแบบก้าวไกล
การเลือกตั้งในปี 2566 พรรคก้าวไกลต้องทดลองสร้างโมเดล ส.ส.เขตในแบบก้าวไกลขึ้นมา มีลักษณะที่แตกต่างจาก ส.ส.เขตของพรรคอื่นๆ แต่ก็พร้อมเข้าใจและสามารถทำงานกับวัฒนธรรมการเมืองแบบดั้งเดิมได้ด้วย
แม้เราต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการการเมืองแบบใหม่ แต่ในสนามการเลือกตั้งยังคงมีวัฒนธรรมการเมืองแบบดั้งเดิมฝังอยู่ ความสัมพันธ์ทางอำนาจในพื้นที่ เครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่ ยังคงมีอยู่มาก การต่อสู้กับการเลือกตั้งเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องหารสูตรส่วนผสมให้กลมกล่อม มีความใหม่ แต่เป็นใหม่ที่พร้อมทำงานในโครงสร้างแบบเดิม และโครงสร้างแบบเดิมก็ไม่อาจกลืนกินลบล้างความใหม่ของเราไปได้
ส.ส.เขตแบบก้าวไกล ต้องมีส่วนผสมสองข้อ
หนึ่ง ความขยันขันแข็งในการเข้าหาประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้ง
ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่มาพรรคก้าวไกล ต่างก็ทราบกันดีว่า ที่นี่ ไม่เหมือนที่อื่น ที่นี่ ไม่มีกลไกหัวคะแนน ที่นี่ ไม่มีกลไกกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/อสม/ข้าราชการในพื้นที่ สนับสนุนเท่าไรนัก ที่นี่ ไม่มีเงินทอง ทรัพยากรให้มากมายในการ “ทำพื้นที่” ที่นี่ ไม่มีระบบ “วิ่งแย่งหางบประมาณแผ่นดิน” มาลงพื้นที่ตนเอง
ต่อให้ทำแบบที่อื่น ก็ไม่มีทางที่จะทำได้เท่ากับหรือเหนือกว่าที่พรรคอื่นๆเขาทำกันมา
แต่ในเมื่อประชาชนประสบปัญหาเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขได้ทั่วถึงทั่วประเทศ และการกระจายอำนาจและงบประมาณไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับหน้าที่เรื่องเหล่านี้ ก็ยังคงไปไม่ถึงไหน เมื่อประชาชนมาร้องเรียน หรือเดือดร้อน ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ส.จึงต้องร้บบทบาทในการช่วยเหลือประชาชน
ในเมื่อไม่มีเงิน ทรัพยากร อำนาจกลไกรัฐ แล้วผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร?
ต้องทดแทนด้วยความขยัน มานะพยายามมุ่งมั่น เข้าถึงประชาชน ประชาชนเข้าถึงง่าย
เดินพบปะพี่น้องประชาชนให้มาก ให้เวลากับพี่น้องประชาชน นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาติดต่อประสานหาหนทางช่วยเหลือ
อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่กร่าง ไม่เบ่ง เคารพประชาชน รับฟังประชาชน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน
สอง มีความรู้ในงานนิติบัญญัติ งานสภา นโยบายพรรค และมีจุดยืนมั่นคงชัดเจนตามอุดมการณ์แนวทางพรรค
ภารกิจของ ส.ส. คือ การตรากฎหมาย การอภิปราย การตรวจสอบรัฐบาล ส.ส.จึงไม่อาจเชี่ยวชาญเฉพาะในงานพื้นที่เขตเลือกตั้งได้เท่านั้น แต่ต้องทำงานในระดับชาติ มีภารกิจในภาพใหญ่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประเทศด้วย
ผู้สมัคร ส.ส.เขตแบบก้าวไกลโมเดล ต้องหมั่นฝีกฝนค้นคว้าหาความรู้ในประเด็นต่างๆ ทั้งนโยบายพรรค ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ประวัติศาสตร์การเมืองไทย นโยบายสาธารณะ เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น กฎหมาย รัฐธรรมนูญ ติดตามข่าวสารให้ทันโลก
ผู้สมัคร ส.ส.เขตแบบก้าวไกลโมเดล ต้องอภิปรายในสภาได้ มิใช่ ทำงานพื้นที่ดี แต่ไม่เคยพูดอะไรเลยในสภา
ผู้สมัคร ส.ส.เขตแบบก้าวไกลโมเดล ต้องยึดมั่นในแนวทางอุดมการณ์ของพรรค มิใช่ ย้ายพรรคทุกการเลือกตั้ง เพียงเพราะ ต้องการหาที่ลง ส.ส. หรือหาที่ให้ประโยชน์ทรัพยากรและอำนาจแก่ตนเอง
สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ ส.ส.เขตแบบก้าวไกลโมเดล มีจุดเด่นที่แตกต่างจาก ส.ส.เขตแบบเดิม และทดแทนสิ่งที่เราสู้เขาไม่ได้

- 3 -
ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบก้าวไกล
ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ต่อเนื่องมาสู่พรรคก้าวไกล ส.ส.แบบบัญชี่รายชื่อ ไม่ต้องจ่ายเงินให้พรรค ไม่ต้องเป็นหัวหน้ามุ้ง ส.ส. ไม่ต้องเป็นนักการเมืองอาวุโสหลายพรรษามาก่อน
ภายหลังเลือกตั้ง มีนาคม 2562 นักการเมืองอาวุโสหลายคนได้ปรารภกับผมว่า ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ คือ “สามล้อถูกหวย” ได้เป็น ส.ส.เพราะธนาธร
ระบบเลือกตั้งในปี 2566 เหลือ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มาจากการคำนวณคะแนนสัดส่วนทั่วประเทศ เพียง 100 คน จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง 66 ย่อมหายไปเกินครึ่ง จะให้ได้ 25 ที่ ก็ยากแสนสาหัส
ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้เอง ย่อมนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งกันภายในพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะประเด็นการแย่งชิงเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในลำดับปลอดภัย 1-20 หรือ 1-25
ผมมีความเห็นและข้อสังเกตฝากไปถึงแกนนำและผู้มีอำนาจตัดสินใจการคัดเลือกและจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล 3 ประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง Set Zero ลำดับใหม่ทั้งหมด
การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต้องไม่ยึดกับลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ตอนปี 62 และต้องไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติให้ลำดับที่ดีแก่ผู้อาวุโสก่อน (ทั้งในแง่อายุ และในแง่เป็น ส.ส.ในปี 62 มาก่อน)
สมัยพรรคอนาคตใหม่ เรามีโอกาสในการคัดเลือกผู้สมัครน้อยมาก ปัจจุบัน พรรคก้าวไกลมีชื่อเสียงและความนิยมมากกว่าเดิม คนมีความรู้ความสามารถอาจเข้ามาเสนอตัวมากขึ้น มีโอกาสไปทาบทามคนมีความรู้ความสามารถหน้าใหม่ๆให้มาลงสมัครได้มากขึ้น
การ Set Zero จึงช่วยเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆที่มีความรู้ความสามารถ ช่วยหาคะแนนให้พรรคได้มากขึ้น หากสร้างธรรมเนียม “ผู้มาก่อนได้ก่อน” ขึ้นมา เมื่อผ่านการเลือกตั้งไปหลายครั้ง ก็จะเกิด “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” นั่งทับลำดับต้นๆไว้ตลอด จนเหลือลำดับสำหรับคนใหม่ๆได้ไม่กี่คน แบบที่พรรคเก่าแก่หลายพรรคกำลังเผชิญปัญหาอยู่
ประการที่สอง ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและจัดลำดับ 5 ข้อ ได้แก่
ข้อแรก การอุทิศตนให้พรรค
เช่น การทำงานอย่างขยันขันแข็ง ไม่เกี่ยงงาน ไม่เทงาน
การไปช่วยหาเสียงทั่วประเทศ ไปแล้วได้คะแนนเสียง มิใช่ไปแล้วสร้างภาระให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตและทีมงานในจังหวัดต่างๆ
ความสามารถในการระดมทุนหรือทรัพยากรให้พรรค
การขับเคลื่อนแบกพรรคได้ในภาพรวม มิใช่สร้างภาระให้พรรค หรือให้พรรคต้องตามแบกให้
เป็นต้น
ข้อสอง ความสามารถในการทำงานทางการเมือง
ได้แก่ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานสภาและการบริหารราชการแผ่นดิน มีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นของตนเอง สามารถอภิปรายในที่สาธารณะ สามารถทำงานได้ด้วยตนเอง ริเริ่มด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้พนักงานพรรคมาแบกมาก
ข้อสาม การเป็นตัวแทนประเด็นตามนโยบายหาเสียงของพรรค มีความนิยม มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในประเด็นต่างๆ
ข้อสี่ ประวัติ ความประพฤติ บุคลิกภาพ
มีประวัติและความประพฤติดี สอดคล้องกับอุดมการณ์ Core Value ของพรรคที่ตั้งกันมาตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่
เข้าสังคมได้ เข้ากับผู้อื่นได้ อ่อนน้อมถ่อมตนกับประชาชน
มี “ความเป็นนักการเมือง” อยู่ สามารถทำงานการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งต้องเข้าใจโครงสร้างและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ทำงานภายใต้โครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองแบบนี้ได้ พูดคุยและเจรจากับนักการเมืองแบบดั้งเดิมได้ ต่างพรรคได้ โดยไม่เสียจุดยืน ความเป็นตัวตนของตนเอง ไม่ถูกกลืนกินความใหม่ และไม่สูญเสียเป้าหมายหลักของการเปลี่ยนแปลงประเทศ
มีทักษะการสื่อสาร ทั้งในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ โพสสื่อสารในประเด็นสาธารณะ ประเด็นการทำงาน ประเด็นนโยบายพรรค ที่ตนเชี่ยวชาญและถนัด มิใช่โพสเรื่องส่วนตัว เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน เล่นสนุกทุกวันจนเหมือนมิใช่นักการเมืองที่เข้ามาทำงานการเมืองเพื่อส่วนรวม แต่มาเป็นนักเล่นโซเชียลสนุกกับแฟนคลับมากกว่า
ข้อห้า มีความคิดอุดมการณ์และแนวทางสอดคล้องกับพรรคก้าวไกล
ประการที่สาม รับฟังเสียงสะท้อนจาก ส.ส.เขต พนักงานพรรค และทีมงานเครือข่ายของพรรคทั่วประเทศ
เพื่อป้องกันมิให้เกิด “สภาวะแปลกแยกภายในพรรค” ระหว่าง ส.ส.กับคนทำงานแบกพรรค และระหว่าง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อกับ ส.ส.เขต การกำหนดว่าใครมีโอกาสเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ควรต้องผ่านหูผ่านตา ร้บฟังความเห็นจากส่วนอื่นๆของพรรคด้วย
หากไม่มีกระบวนการเช่นนี้ ก็จะเกิดการตั้งคำถามจากคนทำงานในพรรคและ ส.ส.เขตตามมาว่า ทำไมเขาต้งทำงานแบกพรรค หาคะแนนให้พรรค เพื่อให้ใครก็ไม่รู้มาเป็น ส.ส.
สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อรอบปี 62 และผู้สมัครอื่น ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกอยู่ใน 25 ลำดับแรก ต้องย้อนกลับไปคิดตั้งแต่สมัยเริ่มต้นก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ทุกคนพูดกันว่า เราเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลง มิใช่เราเข้ามาเพราะอยากเป็น ส.ส. แต่เราต้องเป็น ส.ส.เพราะต้องมีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงประเทศ
งานการเมืองมิใช่อาชีพ
ตำแหน่ง ส.ส. มิใช่สมบัติของใครคนใดหรือตระกูลใด
การเป็น ส.ส.เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลง มิใช่ “ยานพาหนะ” ที่ทำให้คนคนหนึ่งได้กลายเป็น “ชนชั้นนำอำมาตย์รายใหม่”
หากยังเชื่อในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกัน องค์กรแบบพรรคก้าวไกลก็ยังมีพื้นที่อีกมากมายให้ทำงานร่วมกัน และการเลือกตั้งในครั้งถัดๆไป ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ก็ยังมีโอกาสอีกมาก
ผมทราบดีว่า การคัดเลือกและการจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นประเด็นอ่อนไหว อาจนำมาซึ่งแรงกระเพื่อมภายในพรรค และอาจทำให้ผู้ผิดหวังไม่พอใจแกนนำผู้มีอำนาจในพรรคได้
แต่ก็นั่นแหละ การปล่อยเรื้อรัง ไม่ตัดสินใจ มีแต่สร้างผลเสียให้กับทุกฝ่าย ส.ส.ปัจจุบันและผู้แสดงความจำนงขอสมัคร ไม่มีสมาธิในการทำงาน กังวลใจกับอนาคตทางการเมืองของตนเอง นานวันเข้า ก็เปิดทางให้มีการเล่นการเมืองภายในพรรคเพื่อแย่งลำดับบัญชีรายชื่อกัน ในขณะที่พรรคจะไปทาบทามเชิญคนใหม่ๆเข้ามา ก็ไม่อาจทำได้อีก กว่าจะเคลียร์ภายในกันลงตัวแล้วค่อยไปทาบทาม ก็อาจสายเกินไปแล้ว ทำให้พรรคเสียโอกาสการมีคนใหม่ๆที่สร้างกระแส ความนิยม และมีความรู้ความสามารถไป
อำนาจมาพร้อมกับความรับผิดชอบ อำนาจมาพร้อมกับความกล้าหาญ
ถ้าแค่เรื่องการคัดเข้า คัดออก จัดเรียงลำดับ ผู้นำพรรคยังไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าเผชิญหน้า ไม่กล้าอธิบาย หรือกลัวเพื่อน ส.ส.ผิดหวัง ไม่รัก ไม่นิยม แบบนี้ จะคิดฝันเป็นรัฐมนตรี จะบริหารประเทศได้อย่างไร?
การตัดสินใจในทางการเมือง ในเรื่องสาธารณะ ย่อมมีผู้ได้ ย่อมมีผู้เสีย ย่อมมีผู้พอใจ ย่อมมีผู้ผิดหวัง เป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ผู้นำต้องทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องยาก และต้องพร้อมรับผิดชอบ หากผู้นำไม่ทำ แล้วจะมีผู้นำไปทำไม?

ปรัชญาเมธีฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะเป็น มาร์กซ์ เลนิน ตร็อตสกี้ กรัมชี่ ต่างก็วิจารณ์และต่อต้านระบบรัฐสภาและการเมืองแบบผู้แทน แต่ถึงกระนั้น พวกเขาเหล่านี้ก็เห็นคุณประโยชน์ของการลงแข่งขันในการเลือกตั้งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยังไม่สุกงอมเพียงพอ หรือช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ในฐานะที่การเลือกตั้งเป็น “สนาม” ในการรณรงค์ต่อสู้ ในการทำงานทางความคิด สะสมกำลังทั้งทางปริมาณและคุณภาพ เพื่อการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอนาคต
พรรคก้าวไกลต้องเร่งจัดการแก้ปัญหาภายใน
แกนนำต้องแสดงภาวะผู้นำ ทั้งภายในพรรค และต่อประชาชน ให้คนในพรรคและประชาชนเชื่อมั่นว่า เขาสามารถฝากความหวังและอนาคตไว้กับคนกลุ่มนี้ได้
รณรงค์หาเสียงอย่างขยันขันแข็งและชัดเจนทั้งในแง่นโยบายและจุดยืน
การเลือกตั้ง 2566 เป็นทั้งเดิมพันชะตากรรมของพรรคก้าวไกลและเดิมพันสังคมไทย
.....
Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งบทความชุด 10 ตอน ที่ผมอยากฝากความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปถึงพรรคก้าวไกล
เพื่อสื่อสารไปให้ถึงสมาชิกพรรค ผู้ปฏิบัติงานของพรรค ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ส.ของพรรค กรรมการบริหารพรรค ตลอดจนผู้สนับสนุนเคยลงคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่และจะลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลต่อไป ได้พิจารณา ผมจำเป็นต้องโพสผ่านทางเพจของผม
โดยจะเรียงลำดับไปทีละตอน ดังนี้
1. พรรคก้าวไกลกับการเลือกตั้ง 2566
2. สถานะและบทบาทของพรรคก้าวไกลในขบวนการต่อสู้
3. ภารกิจการต่อสู้ทางความคิด สร้างจิตสำนึกใหม่
4. ความทนทานต่อการบดขยี้ของกลไกรัฐ
5. การต่อสู้ภายในระบอบภายใต้ข้อจำกัดนานัปการ
6. พรรคมวลชน/พรรคขบวนการ/พรรคยุทธศาสตร์/พรรคอุดมการณ์
7. ต้องไม่เป็น “ชนชั้นนำอำมาตย์ทางการเมือง” รายใหม่
8. การประพฤติตน ครองตน ของนักการเมืองของพรรคก้าวไกล
9. การร่วมรัฐบาล การตั้งรัฐบาล
10. เป้าหมายและยุทธศาสตร์ระยะยาว