วันอังคาร, ตุลาคม 18, 2565

เรามาเลิกเรียกใครว่า “บิ๊ก” กันดีกว่าไหม ??



เรามาเลิกเรียกใครว่า “บิ๊ก” กันดีกว่าไหม??

เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ
2022-10-14
ประชาไท

คำว่า “บิ๊ก” (big) ดูเหมือนจะนำมาใช้กันเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เช่น บิ๊ก ก. นัยว่าเป็นการยกย่องผู้ที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงที่เป็นทหารหรือตำรวจ หรือแม้แต่คนเกษียณอายุที่มีอำนาจ คนที่เริ่มต้นใช้คำนี้น่าจะมาจากพวกนักข่าว แต่คงไม่รู้ว่าคำว่า “บิ๊ก” ในต่างประเทศเป็นคำที่มีความหมายในทางลบ และในทางรัฐศาสตร์เป็น “วาทกรรม” (discourse) รวมทั้งสร้างปัญหาให้กับการพัฒนาประเทศด้วย

ประการแรก ในต่างประเทศ คำว่า “บิ๊ก” เป็นคำย่อมาจากคำว่า “a big man” หมายถึง “อันธพาล” (thugs)

ประการที่สอง ในทางรัฐศาสตร์ คำว่า “บิ๊ก” เป็นวาทกรรม หมายถึง คำพูดที่มันฝังหัวคน ให้เขารู้สึกต่ำต้อยกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นการกระทำของระบบความรู้และการถ่ายทอดทางสังคม วัตถุประสงค์ก็เพื่อรักษาฐานะอำนาจให้กับผู้มีอำนาจเดิม ขณะเดียวกันก็ใช้กดหัวคนที่ถูกปกครอง คำพูดฝังหัวนี้ต่อมามันกลายเป็นความคิดฝังหัว ทำให้คนยอมตามโดยไม่รู้ตัว และไม่เกิดสำนึกความเป็นตัวตน พอคนคิดได้ วาทกรรมจึงมักเป็นที่มาของการต่อต้านเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น นักเรียนคนหนึ่งตอบนักข่าวที่ถามว่า “ทำไมหนูออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล” เธอตอบว่า “ก็เพราะรัฐบาลไม่เห็นหัวคน”

ประการที่สาม คำว่า “บิ๊ก” กลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ ปัญหาใหญ่ของโลก คือ การพัฒนาที่ทิ้งคนไว้ข้างหลัง โลกตั้งแต่ยุคสหัสวรรษเป็นต้นมาจึงพยายามพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (living no one behind) คำนี้นัยว่าเอามาจากหน่วยทหารจู่โจมสหรัฐอเมริกาที่มีคำขวัญว่า “I will never leave a fallen comrade to fall into the hands of the enemy” มีความหมายทำนองว่าเราจะไม่ทิ้งสหายที่ ล้มลงให้ตกอยู่ในมือของศัตรู อย่างไรก็ตาม นักวิชาการยุคหลังอ้างว่าเป็นการพ้องกันโดยบังเอิญ

สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP อธิบายว่า ประเทศที่คิดจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องไปสำรวจดูว่ามีใครถูกทิ้งอยู่บ้าง มีปัญหาอะไร และรีบจัดทำโครงการพัฒนาช่วยเขา โดยเฉพาะคนที่ถูกทิ้งไว้ไกลที่สุด (the furthest behind) และคนที่มีปัญหาทับซ้อนพร้อม ๆ กันหลาย ๆ อย่าง คนนั้นแหละหนักที่สุด รัฐบาลต้องรีบเข้าไปแก้ไขด้วยนโยบายการพัฒนาเชิงรุก น่าจะไม่ใช่แค่ “ผมสั่งไปแล้ว”

คำว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้าง” ถูกตีความเป็นสองนัย นัยแรก การพัฒนายุคสหัสวรรษ (2000-2015) ตีความว่าคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังที่สุด คือ คนจนสุดขั้ว (extreme poverty) หมายถึงจนจริง ๆ คือ ไม่มีอาหารเพียงพอในระดับขั้นต่ำที่สุด ต่อมายุคการพัฒนาฉบับ SDGs (2016-2030) ตีความเป็นนัยที่สองว่า คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากที่สุด คือ คนที่ได้รับความเหลื่อมล้ำมากที่สุด โดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติมีหลักให้วิเคราะห์ห้าประการ คือ (1) คนที่ถูกเลือกปฏิบัติที่สุด (2) คนที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง กันดาร ประสบภัยมากที่สุด (3) คนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรและการบริการของรัฐมากที่สุด (4) คนที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำที่สุด และ (5) คนที่ได้รับความผิดหวังรุนแรงที่สุดและเปราะบางที่สุด

ในยุคปัจจุบันเห็นว่า “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดและทิ้งคนไว้ข้างหลังที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การช่วยคนจนอย่างเดียวจึงยังไม่เพียงพอ ต้องสนใจปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีมากมายเหลือคนานับ และเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในการพัฒนา เพราะระบบการวางแผนพัฒนาของไทยใช้แนวทางการจัดการนิยมและสถาบันนิยม มุ่งนำเอาลักษณะสำคัญของประเทศมาวางแผนและจัดสรรทรัพยากรไปตามนั้น โดยใช้ตัวชี้วัดรวม แต่ไม่มองรายละเอียดของตัวชี้วัด เช่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการการศึกษาและสาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิ ข้อสำคัญที่ไม่ค่อยรู้กัน คือ การพัฒนาฉบับ SDGs ของโลก เขาใช้แนวทางการพัฒนาบนฐานสิทธิมนุษยชน (human right-based development) คือ ต้องเคารพ ส่งเสริมและทำตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมีกลไกกำกับตามแนวทางสิทธิมนุษยชน เช่น ในเยอรมัน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจวิพากษ์แผนพัฒนาตามเป้าหมาย SDGs ของรัฐบาล สามารถนำเอาไปรายงานสถานการณ์สิทธิประจำปี และส่งให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตรวจสอบได้

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับ “บิ๊ก” คือ โลกปัจจุบัน เขาไม่ได้มองว่าอำนาจติดอยู่กับตำแหน่ง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “zero-sum power structure” หมายความว่า เขาไม่ได้คิดว่าอำนาจมีเฉพาะในคนที่อยู่ในตำแหน่ง และเมื่อคนหนึ่งมีอำนาจแล้ว ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะไม่มี นักวิชาการด้านการพัฒนาในองค์กรพัฒนาภาคเอกชน Oxfam และนักคิดสตรีนิยมเผยแพร่ความคิดนี้จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ปัจจุบันเขาจึงรังเกียจอำนาจเชิงเดี่ยว เขาเห็นว่าการที่ใครมีอำนาจเหนือใคร (power over) และมีสิทธิที่จะใช้อำนาจนั้น เป็นแนวคิดที่ล้าหลัง เพราะทำให้คนคิดแคบ เช่น “ผมเป็นคนตัดสิน ผมทำตามขอบเขตอำนาจที่ผมมี และผมคิดว่าเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว” แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะผลต่อการพัฒนาประเทศ อันที่จริง อมาตยา เซน เคยยกตัวอย่างญี่ปุ่นว่า การที่เขาเจริญขึ้นมาได้นั้น เป็นเพราะเขาวางรากฐานการศึกษาที่ดี และการศึกษาส่วนที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาประเทศ ทุกคนในประเทศต้องรู้ว่าประเทศพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร และทุกคนต้องตอบให้ได้ว่าการทำหน้าที่ของท่านช่วยให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างไร ไม่ใช่ขยายงานหรือตำแหน่งออกไปเรื่อย

ปัจจุบัน เขาเน้นมากว่าความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจสร้างปัญหาให้กับการพัฒนาประเทศมากที่สุด เราพัฒนาประเทศไปให้ตาย แต่โครงสร้างอำนาจเราไม่เปลี่ยน เราก็ไม่มีทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ดังนั้น เขาจึงมาเน้นสองประการ ประการแรก คือ ต้องเสริมสร้างอำนาจให้กับคนที่ไม่เคยมีอำนาจ เพื่อให้เขามีอำนาจทัดทานคนที่มีอำนาจได้ พูดง่าย ๆ ให้มันรู้จักเห็นหัวเราเสียบ้าง สิ่งที่เขาทำ คือ power within หมายถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่ไม่มีอำนาจว่าท่านก็เป็นคนและมีสิทธิในความเป็นคนนะ power with หมายถึงคนจน คนเสียเปรียบ คนไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องรวมตัวกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรอง และ power to หมายถึงมีความสามารถตัดสินใจและดำเนินการตามที่ตนตัดสินใจได้ เช่น โครงการพัฒนาท้องถิ่น เป็นต้น

ประการที่สอง เขาเน้นว่า ไม่ใช่เฉพาะการเสริมสร้างอำนาจให้กับคนที่ไม่เคยมีอำนาจ แต่กลุ่มคนที่มีอำนาจมาก ๆ ในสังคมต้องหันมาทบทวนตัวเองว่าจะแบ่งปันอำนาจของตัวเองไปให้คนอื่นอย่างไร ไม่ใช่ออกโทรทัศน์บอกว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่การกระทำเป็นการ “ผลักคนไปอยู่ข้างหลัง” (pushed behind)

คำว่า “บิ๊ก” จึงเป็นการตอกย้ำ “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” อันที่จริงตำแหน่ง “พลเอก” ปกติก็ใหญ่มากอยู่แล้ว เรายังสร้างวาทกรรมว่าเขาเป็น “บิ๊ก” ซึ่งยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกหลายร้อยหลายพันเท่า มีค่าเท่ากับเป็นการกดหัวคนอื่นให้ต่ำลง เขายิ่งไม่เห็นหัวใครเข้าไปใหญ่ และฝ่ายที่ไม่มีอำนาจก็ยากยิ่งที่จะเติบโตขึ้นมาทัดทาน คำว่า “บิ๊ก” จึงเป็นการชี้นำสังคมในทางที่ผิด และเป็นแนวทางที่สวนกระแสการพัฒนาของโลกที่พยายามไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในปัจจุบัน