วันศุกร์, สิงหาคม 05, 2565

ท้ายที่สุดศาลก็ยังไม่มีเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไม (ที่ผ่านมา) ไม่ให้ประกัน #บุ้ง กับ #ใบปอ

กลัวว่าจะตายจริง ศาลอาญากรุงเทพใต้ถึงได้ยอมให้ประกัน #บุ้ง กับ #ใบปอ หลังจากที่แกล้งกักขังมาเกิน ๙๐ วัน และน้องทั้งสองใจเด็ดอดอาหารประท้วงความอยุติธรรมกว่า ๖๐ วัน ท้ายที่สุดศาลก็ยังไม่มีเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไมไม่ให้ประกัน

“ถ้าจะอ้างข้อกฎหมายก็เท่ากับประจานตนเอง” มันเป็นเช่นนี้จริงๆ ดังที่ Thanapol Eawsakul ชิงประจานศาลเสียก่อน คดีอื่นๆ ที่เอาไว้ใช้เตะถ่วงหน่วงเหนี่ยว ก็พลอยให้ประกันหมด คดีแชร์โพสต์จากเพจทะลุวังของใบปอ เรียก ๒ แสนแล้วปล่อย

คดีกิจกรรมที่กระทรวงสาธารณสุขของบุ้ง ศาลจังหวัดนนทบุรีขอแสนเดียวก่อนปล่อย ทั้งคู่เจอข้อแม้เฉกเช่นคดีของเยาวชนปฏิรูป-ปฏิวัติอื่นๆ ห้ามกระทำทำนองเดียวกับที่ถูกฟ้องอีก ห้ามออกนอกเคหสถาน ๑๙.๐๐-๖.๐๐ น. ห้ามออกนอกราชอาณาจักร

ใส่เครื่องตรวจจับการเดินทาง หรือกำไลข้อเท้า อีเอ็มและให้ไปรายงานตัวต่อศาลทุกๆ ๓๐ วัน เป็นต้น พอพ้นจากเรือนจำ น้องทั้งสองถุกนำตัวตรงไปโรงพยาบาลทันที คนอื่นๆ ที่ยังติดอยู่ในการคุมขัง หลายคนตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คือเอาตัวไปขังไว้อย่างผิดกฎหมาย

กฎหมายคำนี้ตีความต่างกันระหว่างพวกสวมครุยนั่งบนบัลลังก์ กับพวกปฏิบัติกฎหมาย (practice law) ตามหลักนิติรัฐ-นิติธรรมสากล สาวตรี สุขศรี รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ให้สัมภาษณ์ ประชาไท ไว้ว่า ตลก.คดี ม.๑๑๒ เหล่านั้นบดบี้ กม.กันอย่างไร

ข้ออ้างที่ใช้กันจนเฝือเพื่อไม่ให้ประกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่ยังไม่ได้พิจารณาคดี ก็คือ “เคยทำผิดแล้วมาทำผิดซ้ำอีก...อันนี้ไม่ชอบด้วยหลักการปล่อยชั่วคราวด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะ “คำว่า (จะไป) ก่อเหตุอันตรายประการอื่น” อจ.สาวตรี ว่า

“แม้ผู้ถูกกล่าวหาครั้งใหม่ จะเคยถูกตัดสินความผิดในฐานนี้มาแล้ว นั่นไม่ใช่เครื่องการันตีหรือยืนยันได้ดดยอัตโนมัติ” ว่าการถูกกล่าวหาครั้งนี้จะมีความผิดเหมือนครั้งก่อน หรือจะไปทำผิดแบบเดิมอีก “เขาอาจจะถูกกลั่นแกล้ง” ก็ได้

ข้อสำคัญ หลักฐานหัวใจของกระบวนการยุติธรรมแท้จริงอยู่ที่ “สันนิษฐาน (ไว้ก่อน) ว่าบุคคลต้องบริสุทธิ์ หรือ ‘presumption of innocence’ ยังคงใช้ได้ทุกกรณี ไม่ว่าคุณจะทำความผิดมากี่ครั้งแล้วก็ตาม” การได้ประกันตัวเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา

“จริงๆ แล้ว มันควรต้องตีความให้ชัดเจน ว่าวงเล็บนี้ (๑๐๘/๑ วงเล็บ ๓) มีแนวคิดมาจากเรื่องการป้องกันอันตรายต่อชุมชน” กระบวนความผิดในลักษณะดังกล่าว “จะต้องเป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง” อาจจะเป็นฆาตกรรม หรือก่อการร้าย

อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา มธ. ยังกล่าวถึงการกำหนดข้อแม้ต่างๆ มากมาย ให้กับผู้ได้รับการประกันปล่อยตัวชั่วคราว ศาล “ตั้งเงื่อนไขให้เป็นภาระอย่างหนัก เสมือนตัดสินไปแล้วว่าการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นผิดกฎหมาย”

พูดกันปากเปียกปากแฉะอย่างนี้กันมาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ศาลทั่นได้แต่มึนชา ไม่เคยสำเหนียกว่าพวกตนนั่นเองที่ทำลายระบบยุติธรรม ตราบเท่าที่ได้ถวายความจงรักภักดี ด้วยศรัทธาอันมืดบอดต่อ Monarchy ในความหมายที่ จอจอ’ มุสาไว้

มันไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เขาหลอกลวง แต่เป็นระบบเอารัดเอาเปรียบที่ล้าหลัง ซึ่งวันใดวันหนึ่งไม่ช้าจะถอยกลับไปสมทบกับสิ่งปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ อันมีไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมเป็นอุทธาหรณ์

(https://prachatai.com/journal/2022/08/99838 และ https://twitter.com/TLHR2014/status/1555108256779239424)