วันพุธ, สิงหาคม 03, 2565

การกระทำชำเรา แม่น้ำโขง "แม่น้ำนานาชาติที่หล่อเลี้ยงภูมิภาคเรา"


สาระพันธุ์สัตว์
August 1, 2019

เป็นที่ทราบกันดีว่ามีการสร้างเขื่อนปิดกันลำน้ำโขงและลำน้ำสาขา ตั้งแต่ประเทศจีน ลาว เวียดนาม ไปจนถึงประเทศกัมพูชา ซึ่งแต่ละประเทศก็อ้างถึงสิทธิที่จะทำได้ในแผ่นดินของประเทศตนเอง โดยไม่สนใจว่าแม่น้ำโขง เป็น "แม่น้ำนานาชาติที่หล่อเลี้ยงผู้คน" ในภูมิภาคนี้
.
เฉพาะผลิตภัณฑ์ปลาที่จับได้ก็มากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก จากจำนวนปลาที่สำรวจพบแล้วไม่ต่ำกว่า 1,100 ชนิด นอกจากนี้ลุ่มน้ำโขงยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 430 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 800 ชนิด นก 1,200 ชนิดพันธุ์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิด
.
หลายร้อยชนิดพบเฉพาะที่แม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวในโลก เช่น ปลาบึก นกเด้าลมแม่น้ำโขง ในทุกปีนักวิทยาศาสตร์จะระบุชนิดพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ได้รับการค้นพบเพิ่มขึ้น และระบุถึงจำนวนชนิดพันธุ์ที่ยังคงรอการค้นพบ โดยในระหว่างปี พ.ศ.2540 ถึง พ.ศ.2562 มีชนิดพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการค้นพบมากถึงเกือบ 2,500 ชนิดพันธุ์
.
พอมีการสร้างเขื่อนเข้ามาปิดกั้นลำน้ำ ขัดขวางการอพยพของปลา รบกวนการทำรังวางไข่ของสัตว์ริมแม่น้ำเพราะความสูงของน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาลอีกต่อไป ปริมาณน้ำจืดที่ส่งไปออกทะเลจีนใต้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของประเทศเวียดนามก็ลดลงเรื่อย ๆ
.
ทำให้ความสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรกรรมลดลง ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างน่าใจหายและไม่มีวันหวนคืน โดยเฉพาะ "โตนเลสาบ ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของประเทศกัมพูชา
.
ซึ่งมีคนอาศัยอยู่ถึง 7,000 ครอบครัว มีพื้นที่ประมาณ 7,500 ตารางกิโลเมตร แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนที่มีน้ำหลาก จะขยายพื้นที่ได้ถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่ากรุงเทพราว 10 เท่า)
.
ทะเลสาบแห่งนี้มีปลาอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 300 สายพันธุ์ และแต่ละปีมีผลผลิตปลาจากทะเลสาบแห่งนี้ราว 300,000 ตัน ซึ่งใช้บริโภคกันทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็น ปลาร้า ปลาย่าง ลูกชิ้นปลา ทอดมันปลากราย ฯลฯ
.
ผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นับสิบ ๆ แห่ง ทั้งในประเทศจีน ลาว และประเทศเวียดนาม ที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำโขง ทำให้กระแสน้ำสายหลักหรือแม่น้ำโขงที่ไหลลงโตนเลสาบลดน้อยกว่าปกติ และไม่เป็นไปตามธรรมชาติอีกต่อไป
.
เหล่าคน ปลา สัตว์ป่าที่วิวัฒนาการตนเองพึงพาธรรมชาติของน้ำจากแม่น้ำโขง รวมถึงมีวัฒนธรรมตามวงรอบของปีที่ผูกพันกับสายน้ำแห่งนี้ ก็ได้รับผลกระทบอย่างแรง
.
พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของประเทศเวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,401.6 ตารางกิโลเมตร ก็ได้รับผลกระทบรุนแรงด้วยเช่นกันเนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกน้ำเค็มรุกเข้ามาจนปลูกพืชไม่ได้
.
ทั้ง ๆ ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามอย่างมาก เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 17 ล้านคน เป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดลำดับ 3 รองจากนครโฮจิมินห์และกรุงฮานอย
.
มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 18 ของ GDP ทั้งประเทศ มูลค่าการส่งออกข้าวร้อยละ 90, การส่งออกอาหารทะเลร้อยละ 60 และส่งออกผลไม้ร้อยละ 70 ของทั้งประเทศ
.
ถ้ารัฐบาลของแต่ละประเทศตลอดลุ่มน้ำโขงไม่ตกลงกันก่อน หรือหาหนทางแก้ไขในเร็ววัน ทั้งผู้คน ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ อาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพที่กล่าวมาข้างต้น
.
"จะหายไปถาวร!!!" ยิ่งมีเขื่อนสร้างขึ้นมาเพิ่มตลอดลำน้ำโขงมากเท่าใด ธรรมชาติก็ยิ่งเสื่อมโทรมมากขึ้นเท่านั้น โดยผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมก็เห็นกันมาบ้างแล้ว ตั้งแต่การเปิดทดลองเขื่อนไชยะบุรี ในประเทศลาว แต่นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มเมื่อเทียบกับแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้งหมด
.
หรือว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติได้เริ่มขึ้น...โดยเราไม่รู้ตัว
.
เพราะ “จุดจบตั้งแต่เริ่มต้น...ได้เดินทางมาถึงแล้ว”
.
Cr.แผนที่ล่าสุด จาก Stimson Center ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562
.