วันอังคาร, กรกฎาคม 19, 2565

ตรรกะประถมของศาล ในคดี ม.๑๑๒

ศาลไทยกับกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ นี่นับวันยิ่งแสดงถึงการลดระดับปัญญาของผู้ใช้ลงไปต่ำกว่า ฝุ่นใต้ตีน แล้วละ ดูจากที่ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม เก็บมาเล่า ถึง “ข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เรื่องหนึ่ง

ในคดีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา ๑๑๒ และ พรบ.คอมฯ” ศาลยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท “หลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์” การโพสต์ภาพและข้อความของจำเลย “ไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ฐานหมิ่นกษัตริย์ก็ตาม

แต่ศาลก็ยกเอาประวัติศาสตร์ยุคโบราณตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรฯ พระเจ้าตากสินฯ พระจอมเกล้าฯ พระจุลจอมเกล้าฯ ว่า “ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม...” ยาวเหยียดดั่งคำสอนนักเรียน ป.๔

ลงท้ายว่า “ใครหรือผู้ใดจะมาล่วงเกินหรือล่วงละเมิดในทางหนึ่งทางใดมิได้” แล้วยกเอา ม.๖ ในรัฐธรรมนูญมาย้ำด้วยว่า “ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” น่าจะมีใครหลายคนมึนชาเหมือน Yaowalak Anuphan ที่ว่า

“ตรูเขียนฎีกาไปไม่เป็นเลย” เมื่อเจอกับตรรกะระดับประถมของผุ้พิพากษาเหล่านั้น เฉกเช่นในอีกคดีที่ศาลสมุทรปราการ ซึ่งเกษตรกรวัย ๕๑ ปีถูกฟ้องข้อหา หมิ่นกษัตริย์ เพราะตั้งคำถามบนเฟชบุ๊ค ๒ ข้อความ

หนึ่ง “ความเห็นส่วนตัว สถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษี ปชช. เพราะกษัตริย์มีธุรกิจผูกขาดอยู่มากมาย สอง ปชช.มอบเงินให้ระบอบกษัตริย์ ๒-๓ หมื่นล้านต่อปี กษัตริย์มอบอะไรให้กับ ปชช. สืบพยานวันแรก ๑๘ กรกฎา อัยการเบิกความ ๔ ปาก

นำสืบว่าจำเลย “สื่อทำนองว่ากษัตริย์เอารัดเอาเปรียบประชาชน มีธุรกิจผูกขาดส่วนตัว รวมถึงสื่อทำนองว่านำภาษีประชาชนไปใช้ส่วนตัว ไม่ได้มอบอะไรกลับคือให้ประชาชน” เป็น “การดูหมิ่นอาฆาตมาดร้าย ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเกลียดชัง”

ส่วนที่ฟ้องว่า “เป็นการกล่าวเท็จใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์” นั้นฝ่ายจำเลยโต้ว่าเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต “อยากให้สังคมร่วมกันคิดว่าจะสามารถปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวมได้อย่างไร”

ศาลตีความข้อหาในคำฟ้องกรรมแรก “ชี้ว่าคำว่า 'ธุรกิจผูกขาด' หมายถึงสงวนสิทธิไว้ให้แต่เพียงผู้ดียว เจตนาสื่อว่า กษัตริย์เป็นผู้ประกอบธุรกิจแต่เพียงผู้เดียว กีดกัน ปชช.ไม่ให้ทำธุรกิจ เป็นการกล่าวหาว่ากษัตริย์ทำผิดกฎหมาย”

อันนี้ศาลตีความเกินความพอดี ขอใช้คำอธิบายของ Sai-See-Ma@SaiSeeMaP มาแย้งว่า “#ผูกขาด มันมีหลายระดับ ธุรกิจผูกขาดไม่จำเป็นต้องผิดกฎหมาย หลายธุรกิจเป็นการผูกขาดตามกฎหมาย ถามว่าเครือปูนซีเมนต์ไทยได้สัมปทานบัตรจากรัฐกี่ฉบับ” ศาลจะว่าไง

อีกประเด็นศาลแถ “แม้จำเลยจะอ้างเป็นแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตาม รธน. ม.๓๔ การจำกัดสิทธิดังกล่าวจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติตราขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ” อ้างเอาคำ อนิยมวิเศษณ์ซึ่งเวิ้งว้างมาข่ม

รัฐธรรมนูญมาตรา ๖ ที่ว่า “กษัตรย์จะล่วงละเมิดไม่ได้ #ผู้ใดจะใช้สิทธิเสรีภาพเป็นปฎิปักษ์กับพระองค์ไม่ได้” นั้น การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต แน่นอนเป็นการใช้เสรีภาพ แต่ไม่ใช่เป็นปฏิปักษ์ ตีความอย่างนี้ศาลนั่นแหละใช้อคติเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน

องค์คณะผู้พิพากษาเฉพาะคดีนี้ได้แก่ ปุณณวิทย์ ภัสรารุจินันท์ ประพันธ์ กึ่งพุทธพงษ์ และพลากร ฮะวังจู พร้อมด้วยผู้ร้อง คือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ซึ่งฟ้องคดี ๑๑๒ ไว้ที่ศาลสมุทรปราการถึง ๙ คดี ได้ถูกบันทึกไว้แล้วในประวัติศาสตร์ปฏิกิริยา

ว่า “ผู้ที่อยู่ในกระบวนยุติธรรมตามสั่ง” เหล่านี้ บิดเบี้ยวหลักกฎหมายและความเที่ยงธรรม เพื่อทำร้ายประชาชนจำนวนมากยิ่งๆ ขึ้นทุกวัน ซึ่งตระหนักในความล้าหลังของสังคม แล้วพยายามผลักดันให้ไปสู่ความก้าวหน้า

(https://tlhr2014.com/archives/46064 และ https://www.facebook.com/ronsan.huadong/posts/pfbid02dn5DK)