วันจันทร์, กรกฎาคม 25, 2565

วงเสวนา #กฎหมายหรือหมายกด ประเด็นว่าด้วย “กฎหมาย” ทั้ง 112, 116 และอื่นๆ ที่นำมาใช้ควบคุมการชุมนุม/การเคลื่อนไหวทางการเมือง


iLaw
18h

วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ที่ Cartel Art Space กานต์ ทัศนภักดิ์ ศิลปินอิสระจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 และจัดวงเสวนาว่าด้วยเรื่อง กฏหมายทั้งมาตรา 112 มาตรา 116 และอื่นๆ ที่นำมาใช้ควบคุมการชุมนุม/การเคลื่อนไหวทางการเมือง
นรเศรษฐ์ นาหนองตูม หรือ ทนายรอน ทนายความที่รับผิดชอบคดีทางการเมืองหลายสิบคดี กล่าวว่า ในการดำเนินคดีมาตรา 112 ยุคสมัยนี้เมื่อมีจำเลยถูกกล่าวหาเพราะเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเขาถูกฟ้องไปที่ศาล ก็ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานสำคัญหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พูด เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาพูดไปเป็นความจริงและพูดไปโดยสุจริต แต่ศาลมีคำสั่งตัดพยาน ไม่ยอมออกหมายเรียกพยานหลักฐานให้ โดยบอกว่ามาตรา 112 ไม่มีข้อยกเว้นให้พิสูจน์ความจริงหรือความสุจริต
"ที่หลายคนพูดว่า ผิดไม่ผิดก็ไปว่ากันในชั้นศาล แต่เห็นได้ว่ามาตรา 112 ในตัวบทของมันเองเนี่ยมีปัญหาจริงๆ คือบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเองก็มองว่าไม่ให้พิสูจน์ความจริง นั่นหมายความว่า ต่อให้คุณพูดความจริงคุณก็อ่านผิดมาตรา 112 ได้ แม้ว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ตาม”
“การต่อสู้คดีในทุกวันนี้ ไม่ว่าในส่วนของจำเลยก็ดี ในส่วนของทนายความก็ดี เราต้องการทำให้เห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 49 หลายคนพูดถึงมาตรา 112 ว่ามาตรา 112 ไม่มีข้อยกเว้นให้มีการพิสูจน์ความจริง ว่าถ้าเกิดคุณพูดความจริงแล้วคุณจะไม่ผิด”
ศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น Tyrell Haberkorn นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดดินสัน กล่าวว่า ได้อ่านคำสั่งของศาลล่าสุดที่ไม่ให้ประกันตัวบุ้ง และใบปอในข้อหามาตรา 112 ซึ่งกำลังอดอาหารและสุขภาพทรุดโทรม แล้วก็มีคำถามว่าควรจะเข้าใจยังไง ควรจะเข้าใจว่าผู้พิพากษามองสองคนนี้ไม่ใช่มนุษย์ หรือควรจะเข้าใจว่าผู้พิพากษาเลือกเชื่อคำพูดของเจ้าหน้าที่มากกว่า ก็ไม่รู้ควรจะสรุปยังไง
จากนั้น ศ.ดร.ไทเรลอ่านคำสั่งของศาลทบทวนอีกครั้งหนึ่ง โดยศาลสั่งว่า “ส่วนที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่สองกับที่สาม (บุ้งกับใบปอ) มีสุขภาพสุดโทรมจนอาจจะถึงอันตรายแก่ชีวิต แบบมีภาระโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ทำให้หัวใจวายได้ ก็ปรากฏว่าได้คำจากพยานปากหนึ่ง ศาลถามว่าได้พบจำเลยที่สองและที่สาม ในวันที่ 6 ก.ค. 65 จำเลยที่สองและที่สามยังใช้ชีวิตตามปกติ เดินเหินได้ตามปกติ มีความสดใสรื่นเริง สภาพร่างกายซูบผอมในลักษณะน้ำหนักลดลงเท่านั้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่สองและสามมีสุขภาพทรุดโทรมจนจะถึงอันตรายแก่ชีวิตตามที่อ้าง”
ศ.ดร.ไทเรล ยังกล่าวว่า ที่ใบปอเขียนมาจากการบันทึกเยี่ยมโดยทนายจากศูนย์ทนายความ ใบปอเขียนว่าเราจึงอยากถามศาลว่าต้องให้อาการเราทรุดแค่ไหน จึงจะปล่อยเรา โดยที่เพิ่งเข้าโรงพยาบาลเกือบตายมารอบหนึ่งแล้ว หรือต้องพรากชีวิตเราไปจริงๆ เราจึงจะได้ออกจากเรือนจำ
"การตั้งคำถามในประเทศนี้ เป็นภัยอันตรายกับความมั่นคงของประเทศมากขนาดนั้นเลยหรอ มีคำถามอีกมากมายในประเทศนี้ที่รอคำตอบอยู่ และสักวันนึงก็จะได้คำตอบ เหมือนที่เราจะรอคำตอบจากศาลว่าเมื่อไหร่เราสองคนจะได้รับความเป็นธรรม ได้รับสิทธิประกันตัว” นักวิชาการต่างชาติที่ศึกษาการเมืองประเทศไทยกล่าว
รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์บังคับใช้มาตรา 112 ที่กว้างขวางแบบที่เป็นอยู่ก็ขอชวนผู้มีอำนาจคิดถึงความเสี่ยงที่เอามาแขวนไว้ ทั้งเรื่องสถาบัน และเรื่องของความยุติธรรมในประเทศนี้
“ผมพูดกับผู้มีอำนาจน่ะคุณกำลังทำให้เกิดความเสี่ยงสองประการ ความเสี่ยงประการที่หนึ่งคือ ความเสี่ยงต่อสถาบันที่คุณบอกว่าคุณอยากจะปกป้อง แต่คุณเอาสถาบันมาเป็นขี้ปากประชาชนมากที่สุดในประวัติการณ์”
“ความเสี่ยงประการที่สอง คือ คุณกำลังเอาสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมมาแขวนไว้บนความเสี่ยงนี้คุณกำลังทำลายความยุติธรรม คนที่เรียนกฎหมายมาย่อมไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ถ้าคุณใช้หลักสากลใดใดทั้งสิ้นหรือหลักกฏหมาย สิ่งนี้มันไม่ใช่เลย กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดซึ่งไม่ใช่ตำรวจ เรากำลังพูดถึงอัยการ พูดถึงผู้พิพากษาโดยเปรียบเทียบกับในหมู่บ้าน สมมุติว่ามีปัญหาขึ้นมา แล้วมีคนอยู่คนหนึ่งที่เราเชื่อถือ ทุกคนฟังคนนี้ ถ้าคนนี้บอกว่าอันนี้คือผิดนี่คือถูกยังไงแล้วมันจบ แต่ถึงวันนี้คนที่บอกว่าอะไรผิดอะไรถูกเนี่ย ประชาชนทั่วไปเค้าไม่เชื่อถือแล้ว นี่คือความเสี่ยงผมไม่รู้อะไรเสี่ยงว่ากัน ระหว่างการทำลายสถาบันกษัตริย์ด้วยความเสี่ยงที่พวกคุณสร้างขึ้นมาเอง กับการทำลายสถาบันความยุติธรรมของประเทศ”
.
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw กล่าวว่า บุ้งกับใบปอเป็นที่รู้จักน้อยกว่าผู้ต้องขังคนอื่นที่อดอาหารก่อนหน้านี้ ในมุมของศาลในทางการเมืองไม่ใช่ในทางกฎหมาย สถาบันศาลถูกทดสอบมาแล้วสองรอบ แล้วเมื่อถูกทดสอบด้วยแรงกดดันเป็นรอบที่สาม ถ้าศาลยังทำเหมือนเดิม คือ เมื่อถึงจังหวะที่ผู้ต้องขังอดอาหารจนใกล้ตายแล้วได้ประกัน จะเท่ากับส่งสัญญาว่า หลังจากนี้ไม่ว่านักโทษคดีอะไรก็ตามก็อดอาหารจนใกล้ตายแล้วก็จะได้ประกันตัว ในทางการเมืองศาลจึงยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ศาลจะยอมให้ใครมาท้าทายเขาไม่ได้
"สิ่งที่ศาลอยากเห็นคือ ศาลอยากให้คุณมาสยบยอม ศิโรราบ ก้มกราบ และขอความเมตตา นั่นแหละถึงจะได้ แต่พอเลือกยุทธศาสตร์นี้ถึงครั้งที่สามในจังหวะที่ตอนนี้ม็อบไม่เยอะและคนรู้จักบุ้งกับใบพอไม่มาก พลังทางสังคมไม่พอ มันไม่ถึงกับเกินคาดที่ศาลจะออกคำสั่งแบบที่อาจารย์ไทเรลอ่านให้ฟัง"
ฟังงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/Karnt.Photography/videos/989844518364851/


live วงเสวนา #กฎหมายหรือหมายกด

Streamed live on Jul 9, 2022

PITVFANPAGE

วงเสวนาในประเด็นว่าด้วย “กฎหมาย” ทั้ง 112, 116 และอื่นๆ ที่นำมาใช้ควบคุมการชุมนุม/การเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งในมิติการตีความตามเจตนารมณ์/ตาม... การบังคับใช้ วิธีการจับกุม การฝากขัง การประกันตัว -- และจริงๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร ทั้งในแง่มุมของกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
- นรเศรษฐ์ นาหนองตูม (ทนายรอน)
- ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (เป๋า iLaw)
- รศ. ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
- ศ. ดร. ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น วันเสาร์ที่ 9 ก.ค. 65 เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป
ภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย #Post2010