วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 16, 2565

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน นักแปล มอง ม็อบทะลุแก๊ส ให้มุมมองจากการประท้วงที่ต่างประเทศด้วย


We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง
18h 

"ม็อบทะลุแก๊สเองก็ยังจำกัดพื้นที่ในการประท้วงอยู่ ถามว่ามันสร้างความวุ่นวายมากมายขนาดไหน ก็อาจมีบ้าง ทุกม็อบต้องมีคนเดือดร้อน แต่ถ้าเราไปนั่งประท้วงกันในสวนสาธารณะ คงไม่มีทางบรรลุข้อเรียกร้องอะไรได้"
.
ยังเป็นที่ถกเถียงของคนในสังคม กับการชุมนุมของกลุ่มที่ขนานนามตนเองว่า 'ทะลุแก๊ส' บ้างว่ารุนแรง บ้างว่าวุ่นวาย บ้างว่าอาจเสียภาพลักษณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบเช่นที่ผ่านๆ มา
.
เราคุยกับ 'คุณภัควดี วีระภาสพงษ์' นักเขียน-นักแปล และนักกิจกรรมทางสังคม คำที่ย้ำบ่อยๆ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้คือ สังคมพลเรือน วัฒนธรรมทหาร และการรับฟัง
.
ชวนทุกท่านรับฟังทัศนะจากคุณภัควดี
.
𝐐: มีบางความเห็นบอกว่า กลุ่มที่ใช้ชื่อ 'ทะลุแก๊ส' สร้างความวุ่นวายมากเกินไป คุณภัควดีมองอย่างไรครับ
.
𝐀: มองว่าคนไทยมีลักษณะของสังคมทหาร เราเลยคำนึงเรื่องระเบียบเป็นอันดับแรก คนไทยไม่เคยชินกับสังคมพลเรือน ที่มีการจัดการเรื่องความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ อยู่ตลอดเวลา คนไทยมองว่าความเป็นระเบียบคือสิ่งสำคัญสูงสุดของสังคม โดยไม่ได้สนใจว่าการมีระเบียบหมายความว่าคุณต้องกวาดศพใครไว้ใต้พรมไหม กวาดปัญหาต่างๆ ไว้ใต้พรมไหม
.
ทุกม็อบในโลกสร้างความปั่นป่วนให้สังคมทั้งนั้น เราควรมองหาต้นตอของปัญหาว่ามาจากไหนค่ะ แล้วแก้ตรงนั้น ไม่ใช่พอเกิดความไม่พอใจก็กดมันไว้ เหมือนผักชีโรยหน้า
.
ม็อบทะลุแก๊สเองก็ยังจำกัดพื้นที่ในการประท้วงอยู่ ถามว่ามันสร้างความวุ่นวายมากมายขนาดไหน ก็อาจมีบ้าง ทุกม็อบต้องมีคนเดือดร้อน แต่ถ้าเราไปนั่งประท้วงกันในสวนสาธารณะ คงไม่มีทางบรรลุข้อเรียกร้องอะไรได้ การประท้วงคือการขัดขวางระเบียบสังคมอยู่แล้ว เป็นการกระตุกให้สังคมคิดว่าเกิดอะไรขึ้น
.
ถ้าข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนองและแก้ไข มันก็จะไม่เกิดการชุมนุม แต่ถ้าถูกเพิกเฉย มันก็อาจบานปลายจนทำให้คนอื่นๆ เดือดร้อนไปด้วย
.
𝐐: เราจัดที่ประท้วงให้เป็นที่เป็นทางได้ไหม
.
𝐀: ความพยายามแบบนี้มีในทุกประเทศ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จหรอกค่ะ มันจึงอยู่ที่การลงไปแก้ปัญหาที่ต้นตอมากกว่า สิ่งที่ม็อบสื่อสารคือต้องการไล่ประยุทธ์ ปัญหาคือประยุทธ์ไม่เคยมาคุยกับม็อบในฐานะผู้นำประเทศ ส่งตัวแทนมาคุยก็ได้ ทำไมส่งแต่ คฝ.(กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน) มาตลอด
.
ถ้าบอกว่าสร้างความวุ่นวายเลยไม่เจรจา อย่างกรณี 3 จังหวัดชายแดน คุณเจรจากับบีอาร์เอ็นไหม ต้องรอให้ความเดือดร้อน ความคับแค้นมันปะทุรุนแรงแล้วค่อยเจรจาหรือ นี่คือวิธีคิดแบบทหาร ซึ่งแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ สุดท้ายคุณต้องกลับไปใช้วิธีการพลเรือนอยู่ดี นั่นคือการเจรจา ทำไมไม่เจรจาซะตั้งแต่ตอนนี้
.
𝐐: จะสร้างความเกลียดชังให้คนที่บอกว่าตนเดือดร้อนไหม
.
𝐀: คนไทยเคยชินกับวัฒนธรรมแบบทหาร ไม่สนใจว่ามีปัญหาใดถูกซุกไว้ใต้พรม สังคมพลเรือนทั่วไปในประเทศอื่นๆ สังคมเขาจะเข้าใจว่ามันต้องมีความขัดแย้ง มีการประนีประนอม มีแรงเสียดทาน ขณะเดียวกันก็มีการหาทางออก มีความอดทนอดกลั้นต่อกัน ถ้าเราอยากกลับไปสู่สังคมพลเรือน เราต้องยอมรับในสิ่งนี้
.
𝐐: มีคำหนึ่งที่สังคมชอบคือ 'สันติวิธี' ม็อบทะลุแก๊สเลยคำว่าสันติวิธีไปหรือยัง
.
𝐀: มันนิยามได้หลายแบบ บางคนเข้มงวดขนาดใช้คำหยาบก็ไม่ได้ ต้องนั่งเฉยๆ เท่านั้น เนื่องจากสันติวิธีเป็นอาวุธของคนอ่อนแอ ไม่มีทางสู้ แล้วต้องเผชิญหน้ากับรัฐซึ่งผูกขาดการใช้ความรุนแรงทุกชนิด ดังนั้น เราควรนิยามคำว่าสันติวิธีให้แคบที่สุด ถ้านิยามกว้างเกินไป มันจะเป็นการดึงอาวุธสุดท้ายจากคนอ่อนแอ เป็นการผลักให้จนตรอก เมื่อนั้นพวกเขาอาจหันไปใช้ความรุนแรงจริงๆ ก็ได้
.
ปกติคำว่าสันติวิธีคือการไม่ทำร้ายไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าคนหรือสัตว์ และไม่ไปทำลายทรัพย์สินของคนไม่เกี่ยวข้อง รถตำรวจคือคู่กรณี เขาไม่ได้ไปทุบรถคนสัญจร อย่างวันก่อน มีการโยนประทัดใต้ท้องรถของคนที่ผ่านไปมา ถูกวิจารณ์ตรงนี้ พอวันต่อมาดูเหมือนพวกเขาจะเปลี่ยนวิธี ใช้การติดสติกเกอร์บนรถตำรวจแทน (ด่านายกฯ)
.
เราไม่รู้ว่าเขาคิดยังไง แต่พวกเขาก็เปลี่ยนวิธี คิดว่านี่คือการพยายามควบคุมให้อยู่ในเส้นบางอย่าง เคยมีคนไปสัมภาษณ์พวกเขาก็บอกว่า มันคือสันติวิธีเชิงตอบโต้ ไม่ใช่ว่าพวกเขาหาปืนไม่ได้ แค่พวกเขาไม่ต้องการทำร้าย คฝ.ให้ถึงชีวิต เพียงต้องการระบายความโกรธแค้นบ้าง
.
𝐐: อีกบางความเห็นบอกว่า มันทำให้เสียภาพลักษณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างที่ผ่านๆ มา ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบ
.
𝐀: เมื่อก่อนเราชุมนุมสงบๆ 6 ตุลา ก็หาว่าเป็นเวียดกงถูกฆ่าทิ้ง 14 ตุลาที่ว่าสงบ ก็โดนยิงทิ้งเหมือนกัน โดยส่วนตัวมองว่า ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์เสียหายอะไรหรอกค่ะ อยู่ที่ว่าเราจะถูกแปะป้ายยังไงมากกว่า แล้วประชาชนจะเชื่อหรือไม่ อีกอย่างคืออยากให้มองด้วยว่า ทะลุแก๊สมีความซับซ้อน มีปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาการเมือง โยงใยกันอยู่ในนั้น
.
ถ้าเราเปรียบเทียบกับต่างประเทศ การเกิดจลาจลกรณี จอร์จ ฟลอยด์ (ตำรวจผิวขาวชาวสหรัฐฯ ถูกผู้พิพากษาศาลในรัฐมินิโซต้า ตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาสังหาร จอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน)
.
การประท้วงยังมีลักษณะของการจลาจลมากกว่า หรือการจลาจลที่ลอนดอนซึ่งรุนแรงมาก (เป็นเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 สิงหาคม 2554 หลังเหตุตำรวจวิสามัญฆาตกรรม มาร์ค ดักแกน นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่า สาเหตุของการจลาจลนั้นมีปัจจัยรวมไปถึงความยากจนและอัตราว่างงานที่สูง)
.
ดูปฏิกิริยาเท่าที่เคยได้อ่านสื่ออังกฤษในตอนนั้น เขาไม่ได้ประณามคนที่ก่อจลาจลด้วยซ้ำ แต่มานั่งวิเคราะห์ว่า มันเกิดอะไรขึ้น ผู้แทนราษฎรก็ออกมาพูดเรื่องนี้ว่าต้องแก้ไข คนทำผิดก็ถูกจับกุมลงโทษ แต่มันต้องแก้ไขปัญหา ไม่ใช่กดเอาไว้ เมื่อเทียบกับทะลุแก๊ส
.
ทะลุแก๊สยังควบคุมเส้นของการประท้วงพอสมควร มันจะดีกว่าไหมถ้าเราแก้ที่ต้นตอ มันมีความเป็นไปได้ถ้าพวกเขาถูกกดมากๆ แล้วจะหันไปใช้ความรุนแรงเต็มรูปแบบ มันจะยิ่งน่าเสียใจและสร้างผลกระทบต่อผู้ไม่เกี่ยวข้อง
.
เรามีตัวอย่างในประเทศอยู่แล้ว นั่นคือกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมไม่เรียนรู้ว่าเกิดความคับข้องอะไรถึงต้องใช้ความรุนแรง ทำไมเราไม่ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
.
𝐐: ในต่างประเทศ เวลาประท้วงกันมีการทุบกระจกร้านค้า พอทราบไหมครับว่า มีเสียงไม่เห็นด้วยหรือเปล่า
.
𝐀: มีแน่นอน ขนาดคนในกลุ่มประท้วงเองยังไม่เห็นด้วย ฝ่ายทุบกระจกก็โต้ว่า เขาทุบกระจกร้านซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมเท่านั้น ส่วนในมุมมองของคนที่ไม่เห็นด้วย ก็มองว่านี่เป็นการดึงเจ้าหน้าที่ให้ใช้ความรุนแรง มีการถกเถียงกัน แต่ถ้าไปทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เเบบนี้ผิดแน่นอน
.
ก็มีการเถียงกันแบบนี้แหละ ทุบรถตำรวจผิดไหม ทุบร้านค้าที่เป็นสัญลักษณ์ทุนนิยมผิดไหม การชุมนุมของเรายังอยู่ตรงเส้นแค่ทำลายรถคู่กรณีเท่านั้น คือ คฝ. ถ้าเรารีบแก้ไขมันก็จะไม่ล้ำเส้นนี้ไป อย่าบีบคนให้ไม่มีทางออก ไม่มีทางเลือก เราต้องกลับไปใช้วิธีการแบบสังคมพลเรือน เราจะได้สังคมเเบบที่เราต้องการ
.
𝐐: นักวิชาการบอกว่าทะลุแก๊สเป็นคนชายขอบ อย่างนี้หมายความว่า เราอนุญาตให้ทำอะไรก็ได้อย่างนั้นหรือ
.
𝐀: งานวิจัยของ อาจารย์กนกรัตน์ (เลิศชูสกุล) บอกว่า ทะลุแก๊สส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่หลุดจากระบบการศึกษา ต้องทำมาหากินเลี้ยงตนเองเลี้ยงครอบครัว เป็นแรงงานที่ไม่มีความมั่นคง ไม่มีตาข่ายรองรับทางสังคม พอเกิดปัญหาเศรษฐกิจ พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ
.
ปัญหาก็คือ กลุ่มคนแบบนี้ในทุกสังคมจะไร้เสียง เหมือนไม่มีตัวตนในสังคม เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ใช่พนักงานบริษัท พนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่ทำงานเป็นไรเดอร์ เสียงในสังคมของพวกเขาน้อยอยู่แล้ว เวลาต้องการให้สังคมได้ยิน เป็นธรรมดาที่ต้องก่อกวนให้เกิดความวุ่นวายอยู่บ้าง
.
ยกตัวอย่างชนพื้นเมืองในเม็กซิโก ขบวนการซาปาติสตา แรกๆ ก็ใช้ความรุนแรงจับอาวุธปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะพวกเขาถูกบีบคั้นอย่างรุนแรง ถูกทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมและเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีตัวตนในสังคม ซาปาติสตาเคยพูดว่า ถ้าไม่มีกระสุนนัดแรก ก็ไม่มีใครได้ยินเสียงของซาปาติสตา
.
เพราะรัฐละเลยคนชายขอบ ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็นกลุ่มคนที่สร้างความมั่งคั่งให้สังคม จึงเป็นธรรมดาที่เวลาคนพวกนี้ส่งเสียง มันอาจดังเกินไปสำหรับผู้ที่รักความเป็นระเบียบมาก โชคดีแล้วที่ทะลุแก๊สส่งเสียงด้วยพลุกับประทัด เราจะบีบคั้นให้เขาส่งเสียงและแสดงความมีตัวตนด้วยกระสุนและระเบิดหรือ
.
ในเมื่อพวกเขาส่งเสียงแล้ว คุณจะฟังเขาหรือเปล่า เมื่อเขาส่งเสียง เราควรต้องรับฟัง จะได้สัมผัสว่าเพื่อนร่วมชาติมีความเดือดร้อน ถ้าเรารับฟังและทำให้พวกเขามีเสียงขึ้นมา มันจะแก้ปัญหาได้
.
𝐐: เราควรให้คำแนะนำทะลุแก๊สไหม
.
𝐀: ไม่แน่ใจว่าจะกล้าแนะนำไหม เพราะเราไม่ได้มีชีวิตที่ต้องเผชิญปะทะปัญหาแบบเขา สิ่งที่คิดว่าควรทำมากกว่าคือ แทนที่จะพูดกับทะลุแก๊ส เราควรพูดกับรัฐกับประยุทธ์ว่า เฮ้ย! ตรงนี้มีปัญหา
.
ลงมารับรู้สิว่าพวกเขาต้องการอะไร แล้วทำไมถึงอยากไล่นายกฯ ก็ต้องไปถามเขาสิ ส่งตัวเเทนไปสิ ภาครัฐจะเยียวยาแบบไหน เวลาเศรษฐกิจมีปัญหา คุณลดภาษีให้บริษัทใหญ่ๆ ได้ แล้วทำไมคนตัวเล็กตัวน้อย คุณไม่ลงมาดูแล
.
𝐐: ตอนนี้เรากำลังปลื้มกับความสามารถของ ผู้ว่าฯ กทม. มองว่าคุณชัชชาติจะช่วยบรรเทาปัญหาได้หรือเปล่า
.
𝐀: คุณชัชชาติเพิ่งรับตำแหน่ง แต่เห็นนโยบายที่พูดถึงปัญหาเส้นเลือดฝอย (ในเพจคุณชัชาติระบุว่า ปัญหาโครงสร้างของเมืองในระดับเส้นเลือดฝอยเป็นปัญหาที่ต้องเจอในทุกๆ วัน เช่น ฟุตบาทไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ ขยะไม่มีคนเก็บ หรืออื่นๆ) ส่วนหนึ่งน่าจะหมายถึงคนตัวเล็กตัวน้อยแบบนี้ ในแง่นี้ถ้ามีนโยบายที่ช่วยเหลือได้ก็เป็นสิ่งที่ดี
.
แต่อำนาจของผู้ว่าฯ เราต้องเข้าใจว่ามันมีจำกัด เราจะไปโยนภาระให้คุณชัชชาติคนเดียวก็ไม่ถูก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีไว้เพื่ออะไร เราก็จ่ายภาษีให้ทุกวัน เราจะจ่ายภาษีให้นักการเมืองกับข้าราชการฟรีๆ แล้วใช้คุณชัชชาติทำงานคนเดียวได้อย่างไร รัฐบาลต้องลงมาแก้ปัญหา
.
สุดท้ายอยากให้สังคมไทยจินตนาการถึงสังคมแบบอื่นที่ไม่ใช่วัฒนธรรมทหาร ถ้าเราอยากมีประชาธิปไตยที่แท้จริง เราต้องยอมรับว่าสังคมพลเรือนมีความหลากหลาย มีความขัดแย้ง มีแรงเสียดทาน มีความไร้ระเบียบด้วย แต่ในความสับสนวุ่นวาย มันจะก่อพลังสร้างสรรค์ให้เราก้าวไปข้างหน้า
.
ในขณะที่สังคมทหารเน้นระเบียบอย่างเดียว มีแต่ความตายซากไปทุกวัน เราอย่าใช้ความเคยชินกับสังคมแบบนี้ พอมีปัญหาอะไรก็ไปเรียกทหารกลับมาแก้ ทำให้เราไม่เคยมีสังคมพลเรือนที่แท้จริงสักที เราต้องยอมรับว่า สังคมพลเรือนไม่ได้มีแต่ความกลมเกลียวสามัคคี สิ่งที่เราท่องกันมาว่าคือความดี เช่น ความสามัคคี ความเป็นระเบียบเรียบร้อย มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีจริงๆ ก็ได้
.
ส่วนสิ่งที่เราถูกสอนว่าไม่ดี เช่น ความปั่นป่วน ความขัดแย้ง การโต้แย้งโต้เถียง มันอาจเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ อยากให้เปิดใจมากขึ้น ถ้าอยากให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริงๆ
.
#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ
.
หากเห็นด้วย ชวนลงชื่อที่ Change.org/WeAllVoters เสียงทุกเสียงของท่านมีค่ายิ่ง หลังจากยื่น กมธ.กระจายอำนาจฯ ที่รัฐสภาไปแล้ว เราได้รับเชิญให้เข้าไปคุยข้อเรียกร้องของเราทุกคน
.
ใกล้เลือกตั้งใหญ่ เราจะนำไปยื่นแก่พรรคการเมืองเพื่อผลักเป็นนโยบาย ระหว่างนี้รอติดตามกิจกรรมจากเรา นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสังคมการเมือง เพื่อสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป
.
ขอให้ถึง 50,000 รายชื่อ