วันจันทร์, มิถุนายน 27, 2565

‘ผู้นำประเทศ’ ที่คนไทยใฝ่หา


โดย ปราปต์ บุนปาน
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มิถุนายน 2565

ด้านหนึ่ง สังคมไทย โดยเฉพาะคนเมืองหลวง กำลังตื่นเต้นกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ในฐานะ “ผู้นำกรุงเทพฯ” ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นคนทำงานเก่ง สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ และปลุกเร้าให้เมืองกลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างน่าทึ่ง

ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์การเมืองระดับชาติ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกรกฎาคมสู่การเลือกตั้งใหญ่ ก็บ่งชี้ว่าพวกเรากำลังต้องการ “ผู้นำประเทศ” คนใหม่

พร้อมเงื่อนไขสองข้อใหญ่ นั่นคือ หนึ่ง ทุกฝ่ายเหลือเวลานับถอยหลังอีกไม่ถึงปี

สอง ไม่ว่าผู้นำประเทศคนปัจจุบันจะคิดอะไรอยู่ในใจ แต่หากพิจารณาท่าทีที่แสดงออกมาผ่านการปฏิบัติหน้าที่ ก็ดูเหมือนว่าเขาไม่มีความปรารถนา-ไร้เจตจำนง ที่จะทำงานต่อ

ถ้าความสำเร็จเบื้องต้นของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” พิสูจน์ว่า คนในสังคมไทยยุคปัจจุบันนั้นใฝ่หาผู้นำที่มุ่งทำงานทางความคิด-นำเสนอวิสัยทัศน์ของตนเอง รวมทั้งทำงานภาคปฏิบัติ ด้วยการเข้าพื้นที่พบปะประชาชนและสำรวจปัญหาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้าการเลือกตั้งประมาณสองปี

โจทย์นี้ก็คือ “โจทย์หิน” ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะลงชิงชัยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

เพราะหมายความว่า ความคาดหวังของสาธารณชนที่ต้องการ “ผู้นำ” ซึ่ง “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ล่วงหน้ามายาวนานพอสมควร จะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ปรากฏการณ์ประเภท “49 วันสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” หรือปรากฏการณ์ “ฟ้ารักพ่อ” เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้ง่ายดายนัก

เมื่อลงรายละเอียดไปที่พรรคการเมืองแต่ละพรรค แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่สุด มีความเชี่ยวชาญเรื่องการลงสนามเลือกตั้งมากที่สุด และมีเจตจำนงที่จะเป็นรัฐบาลบริหารประเทศเด่นชัดสุด

แต่หากอ้างอิงกับความคาดหวังทางการเมืองของคนไทยยุคปัจจุบัน ดูเหมือนสิ่งสำคัญที่เพื่อไทยยังขาดอยู่หรือไม่กล้านำเสนอออกมาอย่างชัดๆ คือตัว “ผู้นำ” หรือ “แคนดิเดตผู้นำประเทศ” ของพรรค

ถ้าฟันธงแล้วว่า “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย คือบุคคลที่ต้องมารับภารกิจดังกล่าว โปรแกรมการทำงานในพื้นที่สาธารณะ พร้อมด้วยชุดนโยบาย-จุดขายใหม่ๆ คงต้องเริ่มถูกเน้นย้ำให้มีความต่อเนื่อง ถี่ยิบ หนักแน่นมากกว่านี้

(หรือถ้าตัวเลือกกลายเป็นคนอื่น บุคคลคนนั้นก็จะยิ่งเหลือเวลาทำงานน้อยจนน่าหวั่นใจ)

ในกรอบการพิจารณาเดียวกัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล คล้ายจะยึดกุมความได้เปรียบเอาไว้มากกว่า

เนื่องจากเขามีโอกาสได้แสดงบทบาทผู้นำทางการเมือง และแสดงวิสัยทัศน์ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ในเวทีสภาผู้แทนราษฎร

ปัญหาใหญ่ของก้าวไกล ก็คือ ทำอย่างไรพรรคและหัวหน้าพรรคจึงจะมีศักยภาพเป็นพรรคการเมืองและผู้นำการเมืองของทุกคนหรือคนส่วนใหญ่

การมุ่งมั่นต่อต้านเฟคนิวส์เรื่อง “ก้าวไกลเสนอยกเลิกบำนาญข้าราชการ” ก็วางพื้นฐานอยู่บนความท้าทายข้อนี้

นอกจากนั้น น่าสังเกตว่าร่างกฎหมายที่ก้าวไกลผลักดันจนผ่านวาระแรกของสภาได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น “สุราก้าวหน้า” และ “สมรสเท่าเทียม” ล้วนมีเนื้อหาที่รองรับสถาบันครอบครัว วิถีการผลิต และวิถีการบริโภคของ “ชนชั้นกลางใหม่” ด้วยความเชื่อที่ว่าประเทศไทยควรมี “ชนชั้นกลาง” เพิ่มมากขึ้น

แต่ก็น่าตั้งคำถามว่า “ผลงานโบแดงในทางนิติบัญญัติ” เหล่านี้ จะส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของโหวตเตอร์ส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดมากน้อยแค่ไหน?

เวลาพรรคการเมืองอื่นๆ หาเสียงว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับ “ปัญหาปากท้อง” หรือพวกเขา “พูดแล้วทำ” นั่นคือการสื่อสารไปยังกลุ่มประชากร ที่ “สารทางการเมือง” ของพรรคก้าวไกลส่งไปไม่ถึงใช่หรือไม่?

แล้วบรรดาผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องการเป็น “ผู้นำประเทศ” ในอนาคตล่ะ จะมีชะตากรรมอย่างไร ณ ห้วงเวลาของการนับถอยหลังเช่นนี้?

แม้ผู้นำพรรคร่วมฯ ทั้งหลาย จะมีโอกาสและเวลาได้ลงมือสร้างผลงาน แต่น่าเสียดาย ที่พวกเขาต้องทำงานในฐานะ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ของ “ผู้นำประเทศ” ที่นับวันจะยิ่งถูกประเมินว่า “ด้อยประสิทธิภาพ” และ “ไร้บารมี”

แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะบางอย่างได้สำเร็จ อาจช่วยเพิ่ม/รักษาคะแนนของผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลเหล่านี้เอาไว้ได้บ้างตามสมควร

ทว่า คำถามต่อเนื่องคือ การที่พรรคการเมืองประเภทนี้ มี ส.ส.เขต หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่แข็งแกร่งจำนวนมากอยู่ในมือ จะถือเป็นการหนุนเสริมหรือกร่อนเซาะภาพลักษณ์ “ผู้นำประเทศ” ของหัวหน้าพรรคมากกว่ากัน?

เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย เพิ่งให้สัมภาษณ์มติชนทีวีว่า นักการเมืองทุกคนในจังหวัดต่างๆ นั้นสามารถสร้างคะแนนนิยมในแง่ตัวบุคคลแบบเดียวกับ “ชัชชาติ” ได้

ปัญหามีอยู่ว่า ในโจทย์การเมืองระดับชาติที่ต้องหาคำตอบสุดท้ายเป็น “ผู้นำประเทศ” พรรคการเมืองอย่างภูมิใจไทย ต้องการ “ชัชชาติ” 50-80-100 คน หรือต้องทำให้ “รองนายกฯ อนุทิน” (เพียงแค่คนเดียว) ได้รับฉันทามติจากประชาชนในระดับเดียวกับ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” กันแน่?

อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เวลาเราบอกว่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็น “ผู้นำ” ในแบบที่ขาดหายไปนานจากสังคมไทย

คำกล่าวนี้หมายความว่าอย่างไร?

แน่นอน ในด้านหนึ่ง “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” อาจมีสถานะเป็นตัวแทนของกลุ่มพลังต่างๆ และเครือข่ายอำนาจอันหลากหลายในสังคม

แต่กระนั้น ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ก็ได้แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่มีความคิดเป็นของตนเอง ตัดสินใจอะไรได้เอง และลงมือทำงานได้ด้วยตัวเอง

องค์ประกอบข้างต้นช่วยหนุนส่งให้ “ชัชชาติ” กลายเป็นผู้ว่าฯ ที่มีกึ๋น

ถือเป็นเรื่องตลกร้ายที่ “ผู้นำ” ในลักษณะนี้ ได้สูญหายไปจากประเทศไทย นับแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา

ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา “นายกรัฐมนตรี” ไม่ว่าจะจากฝ่ายไหนและพรรคใด ล้วนมีภาพลักษณ์เป็น “ตัวแสดงแทน” ของเครือข่าย-คณะบุคคล กระทั่งเขา/เธอมิได้มี “อำนาจเต็ม” ในการตัดสินใจหรือการลงมือทำงานใดๆ

เช่นเดียวกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในช่วงสิบกว่าปีหลัง ที่ได้รับเลือกตั้งในฐานะ “ตัวแทนของขั้วขัดแย้งทางการเมือง” มิใช่ “ผู้นำ/ผู้บริหารเมือง” แถมหลังรัฐประหาร 2557 อำนาจนอกระบบยังสอดแทรกเข้ามาแต่งตั้งผู้ว่าฯ ทดแทนการเลือกตั้งของประชาชนเสียอย่างนั้น

ด้วยเหตุนี้ ยิ่ง “ชัชชาติ” สามารถปลุกกระแสให้ประชาชนต้องการเลือก “ผู้นำตัวจริง” ได้สำเร็จ

“ตัวเลือกผู้นำประเทศ” ในอนาคตอันใกล้ ก็จะยิ่งถูกตัดทอนให้เหลือน้อยลงไปอีก •