วันจันทร์, มิถุนายน 13, 2565

ปัญหาของระบบราชการไทย 'บทความพิเศษ' จาก ข้าราชการส่วนภูมิภาค


We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง
June 9

ทีมงานได้รับ 'บทความพิเศษ' จาก 'ข้าราชการ' ผู้ทำงานใน กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดในสำนักงานจังหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
.
เขาทำงานที่นี่มาเกือบ 6 ปี (นับจากวันที่มีคำสั่งบรรจุแต่งตั้ง)
.
"อาจพอพูดได้ว่าผมทำงานในส่วนภูมิภาคมาราวๆ 6 ปีได้แล้วครับ เพราะผมอยู่กลุ่มงานนี้มาตั้งแต่แรกบรรจุเลย และอยู่มา 2 จังหวัดแล้ว"
.
บรรทัดถัดจากนี้ไป ชวนอ่านข้อเท็จจริงและทัศนะ นี่อาจตอบคำถามได้ว่า ข้อเสนอยุบส่วนภูมิภาคทิ้งไปเลย ทำได้จริงหรือไม่ อุปสรรคของการทำงานในระบบราชการคืออะไร
.
และทำอย่างไร ข้าราชการถึงจะทวงศักดิ์ศรีของตนที่ถูกค่อนขอดมาตลอดว่า ไม่ทำงานรับใช้ประชาชน

ในพื้นที่จังหวัดหนึ่ง เท่าที่ผมสังเกตจากการทำงานมา 6 ปี ถ้าเราตัดพวก องค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการอย่าง ศาล อัยการ กกต. (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ที่มีสำนักงานในจังหวัดออกไป
.
ต้องบอกว่าจังหวัดเป็นพื้นที่ซึ่งมีการ 'ทับซ้อน' กันในการทำงานทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น เฉพาะราชการส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค ถ้าอ่านถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า ทำไมผมถึงแยก 'ส่วนกลาง' กับ 'ส่วนภูมิภาค' ออกจากกันใช่ไหมครับ
.
ในข้อเท็จจริงแล้ว การจัดตั้งส่วนราชการในส่วนภูมิภาคของ กระทรวง กรม ต่างๆ มี 2 รูปแบบครับ คือ ส่วนราชการแบบที่เรียกว่า 'ส่วนราชการสังกัดส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค' ส่วนราชการลักษณะนี้ หัวหน้าส่วนราชการจะขึ้นตรงกับ อธิบดี/หัวหน้าส่วนราชการนั้นโดยตรง ไม่ขึ้นกับผู้ว่าฯ ดังนั้น จึงไม่สามารถให้คุณให้โทษกับหัวหน้าส่วนราชการแบบนี้ได้
.
แบบที่ 2 คือส่วนราชการที่กำหนดให้สังกัด 'ราชการส่วนภูมิภาค' หัวหน้าส่วนราชการแบบนี้ นับว่าอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัดครับ
.
ปัญหาที่พบบ่อยๆ ในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคคือ การจัดทำโครงการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในจังหวัด ผู้ว่าฯ ไม่สามารถผลักดันให้บังเกิดผลได้ ด้วยเหตุ 2 ประการ
.
ประการแรก คือข้อจำกัดในด้านงบประมาณ ปัจจุบัน แม้มีงบที่ลงส่วนภูมิภาคทั้งงบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดก็ตาม แต่สัดส่วนของงบเหล่านี้มีน้อยมาก คืองบจังหวัดจะได้เฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาทเศษ
.
ส่วนงบกลุ่มจังหวัดต้องแบ่งสัดส่วนให้จังหวัดอื่นๆ ในกลุ่มจังหวัดเดียวกันด้วย จึงได้เฉลี่ยจังหวัดละ 50-100 ล้านบาทไม่เกินนี้ รวมทั้งข้อจำกัดของการใช้งบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ไม่สามารถผูกพัน 'ข้ามปี' งบประมาณได้เหมือนงบ กระทรวง/กรม (ภาษาพูดในวงราชการจะเรียกว่างบฟังก์ชัน หรืองบตามภารกิจของส่วนราชการ)
.
จึงไม่สามารถใช้งบส่วนนี้ทำโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลาดำเนินการนานเกินกว่า 1 ปีงบประมาณได้
.
ประการที่ 2 คือส่วนราชการที่รับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัด ไม่ว่า ถนน ไฟฟ้า ประปา แหล่งน้ำ ล้วนเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาคทั้งนั้น ทั้งแขวงทางหลวงจังหวัด แขวงทางหลวงชนบทจังหวัด โครงการชลประทานจังหวัด ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค
.
ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค รวมทั้งผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัด และผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคสาขาจังหวัด ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ พวกนี้ขึ้นกับอธิบดี/หัวหน้าส่วนราชการ/ผู้บริหารส่วนกลางของเขาเอง ไม่ได้ขึ้นกับผู้ว่าฯ
.
ดังนั้น หัวหน้าส่วนพวกนี้เขาจึงให้ความสำคัญกับนโยบาย แผนงาน โครงการของต้นสังกัดของเขาก่อนเป็นลำดับแรกครับ เพราะหัวหน้าของเขาที่ให้คุณให้โทษได้อยู่ในส่วนกลาง
.
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมอยากบอกว่า ต่อให้ไม่มีผู้ว่า ฯ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยกระทรววงมหาดไทย แล้วให้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งแทน แต่ยังมีส่วนราชการพวกนี้อยู่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะสั่งไม่ได้อยู่ดี
.
ถ้าเราดูโครงสร้างกับอัตรากำลังของส่วนราชการทั้ง 2 ประเภท คือทั้งเป็นส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาค กับราชการส่วนภูมิภาคที่ขึ้นกับผู้ว่าฯ ของทุกกระทรวงกรมที่มีในปัจจุบัน
.
จะพบโครงสร้างที่ 'ใหญ่โต' มาก จำนวนข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง รวมแล้วอาจจะร่วมๆ แสนคน และเกี่ยวพันเกือบทุกกระทรวง กรม ไม่เฉพาะแค่มหาดไทยกระทรวงเดียว
.
เอาแค่เฉพาะสำนักงานของผมเอง ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างทั้งแบบลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวรวมกันทั้งสำนักงานก็ปาไป 50 คนแล้วครับ
.
ทุกวันนี้ระบบราชการขยายใหญ่โตมาก แต่การขยายของมันจะเป็นไปในลักษณะแบบหัวโตตัวลีบ คือส่วนหัวโดยเฉพาะระดับบริหารและอำนวยการเยอะ แต่ระดับผู้ปฏิบัติมีน้อย
.
ระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่เป็นข้าราชการมีไม่มากครับ แต่เน้นจ้างแบบรายปี แบบพนักงานราชการกับลูกจ้างชั่วคราว แบบจ้างเหมาบริการแทน เน้นเพิ่มตำแหน่งบริหาร เช่น ของกระทรวงมหาดไทยตอนนี้ ก็พยายามเพิ่มตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด (ระดับบริหารต้น เท่ารองอธิบดี) และยกระดับตำแหน่งนายอำเภอให้เป็นอำนวยการสูง (ซี 9 เดิม) ทั้งหมด
.
การตั้งส่วนราชการของราชการส่วนกลางในภูมิภาคจำนวนมากๆ ก็ส่งผลทางอ้อมในการเพิ่มจำนวนตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นระดับอำนวยการ พวกนี้กินเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นบาท รวมเงินประจำตำแหน่งอีกเดือนละเป็นหมื่น
.
ปัญหาของระบบราชการไทยตอนนี้คือขยายใหญ่โต แต่เป็นแบบหัวโตตัวลีบอย่างที่กล่าว มีคนสั่งมากกว่าคนทำ คนสั่งกินเงินเดือนเยอะ เพราะงั้นสัดส่วนงบประมาณในภาพรวมแต่ละปี งบประจำในส่วนของค่าตอบแทนบุคลากรเลยเยอะครับ เพราะจำนวนคนกินเงินเดือนระดับบริหารและอำนวยการเยอะ
.
พอระบบราชการใหญ่โต แล้วที่มีเยอะคือพวกระดับบนและกลางของโครงสร้างแบบนี้
.
ถ้าหากเราจะ 'ยุบ' ราชการส่วนภูมิภาค จะเอาคนพวกนี้ไปไว้ที่ไหน เพราะปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. ก็มีคนของตนเองกันทั้งนั้น จำนวนกรอบอัตราตำแหน่งน่าจะไม่พอรับโอนคนเหล่านี้ครับ
.
แต่ถ้าจะจ้างเขาออกทีเดียวทั้งหมดเลย ก็ต้องใช้เงินงบประมาณสูงมาก จะปลดเขาออกเฉยๆ ก็อาจมีปัญหาตามมาเหมือนนโยบายดุลข้าราชการสมัย ร.7 ที่ทำให้ปัญญาชนตกงานพร้อมกันเป็นพันคนหมื่นคนในคืนเดียว ซึ่งนำมาสู่กระแสการปฏิวัติ 2475 ตามมา
.
นี่เป็นเหตุผลที่ผมขอเสนอแนวคิด 'การทำให้ราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาคค่อยๆ ฝ่อลงทีละนิด' ก่อนครับ
.
ผมคิดว่าเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นสิ่งที่ 'ควรจะต้องเป็นไป' ในอนาคตแน่นอน เราเลี่ยงไม่พ้นครับ ผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยเองก็เหมือนจะรู้อยู่ แต่บางท่านก็ยังพยายามดึงดันไว้
.
เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ให้น้อยที่สุด ควรต้องค่อยๆ 'ลีน' โครงสร้างราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาคให้ฝ่อลงเสียก่อน พอโครงสร้างพวกนี้ฝ่อลงแล้ว การยุบในอนาคตมันจะง่ายเข้าครับ
.
ต่อคำถามที่ว่า หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้ว เราสามารถยุบ อบจ. มารวมได้ไหม แล้วให้คนที่เคยลง อบจ.มาสมัครผู้ว่าแทน จริงๆ ควรเป็นแบบนั้น เพราะสะดวกและประหยัดงบประมาณ
.
ในญี่ปุ่นและไต้หวันก็มีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง ไม่มีการตั้ง อบจ.กับเทศบาลมาให้ซ้ำซ้อนกันอีก เมื่อก่อนผมเคยคิดอยากเป็นผู้ว่าฯ นะครับ แบบแต่งตั้งทุกวันนี้แหละ
.
แต่ถ้าวันหนึ่งเราเปลี่ยนระบบให้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งแล้ว ผมก็หวังแค่เป็น ผอ.กองแผน/ยุทธศาสตร์ ช่วยผู้ว่าฯ ทำแผนพัฒนาจังหวัดก็พอละครับ นั่นหมายความว่า
.
ข้าราชการจะยึดโยงกับประชาชนที่เลือกผู้ว่าฯ มา
.
เรื่องตลกอย่างหนึ่งผมเจอตอนทำแผนพัฒนาจังหวัดของปีงบประมาณ 2566 ก็คือ งบที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายที่เข้าสภาอยู่ตอนนี้ ทางผมได้ประสานไปที่โครงการชลประทานจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยราชการสังกัดส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค ขึ้นกับอธิบดีกรมชลประทานโดยตรง
.
เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำ เพื่อให้เขาเขียนโครงการที่เป็นปัญหาความต้องการเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดเพื่อนำเข้าบรรจุในแผนเพื่อเสนอของบจังหวัด
.
ปรากฎเขา 'ไม่เขียน' โดยให้เหตุผลว่า เขาได้งบฟังก์ชันของกรมมาทำเพียงพอแล้ว (ซึ่งในข้อเท็จจริงเราก็ไม่รู้ว่าเขาได้มาจริงหรือเปล่า) แล้วจังหวัดก็ไปบังคับไม่ได้ เพราะขึ้นกับส่วนกลาง
.
ข้อเสนอแนวคิดของผมโดยสรุปคือ ค่อยๆ ลดขนาดราชการส่วนภูมิภาค+ส่วนกลางในภูมิภาคก่อน ถ่ายโอนภารกิจ(งาน) งบประมาณ(เงิน) บุคลากร(คน) ให้ อปท. เพื่อลดเนื้องานของราชการส่วนภูมิภาคกับส่วนกลางในภูมิภาคลง
.
จากนั้นพอหน่วยงานเหล่านี้มีคนเกษียณ/ลาออก/ย้าย/เลื่อนตำแหน่ง ก็ยุบตำแหน่งเดิมไป ทำโครงการ 'เออร์ลี่รีไทร์' จูงใจข้าราชการเก่าๆ สมัครใจลาออก แล้วยุบตำแหน่งนั้นไป สักระยะนึง หน่วยงานพวกนี้จะฝ่อลง
.
ทีนี้พอจะยุบจะเลิกมันก็ง่ายเข้าครับ
.
#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ
.
หากเห็นด้วย ชวนลงชื่อที่ Change.org/WeAllVoters เสียงทุกเสียงของท่านมีค่ายิ่ง หลังจากยื่น กมธ.กระจายอำนาจที่รัฐสภาไปแล้ว และใกล้เลือกตั้งใหญ่ เราจะนำไปยื่นแก่พรรคการเมืองเพื่อผลักเป็นนโยบาย ระหว่างนี้รอติดตามกิจกรรมจากเรา