ThaiArmedForce.com
12h
#ซื้ออาวุธ - #เรือดำน้ำจีน เครื่องยนต์เยอรมนี หลักฐานการปฏิเสธการขายเครื่องยนต์ และความผิดพลาดของทั้งอู่จีนและกองทัพเรือไทย
ตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา TAF ได้ติดตามโครงการจัดหา #เรือดำน้ำ ของ #กองทัพเรือ ไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อครั้งความพยายามในการจัดหาเรือดำน้ำ U-206A มือสองจากประเทศเยอรมนีจำนวน 4 ลำ มูลค่าราว 7 พันล้านบาท ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในสมัยนั้นและไม่นำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติจัดหา จนมาถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำที่มีการแข่งขันกันและได้ผู้ชนะเป็นเรือดำน้ำ S26T จากประเทศจีนจำนวน 3 ลำ มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท จนมาถึงวันนี้ที่แม้ว่าจะเซ็นสัญญาแล้ว แต่เกิดปัญหาเครื่องยนต์ #MTU ซึ่งถือว่าทำให้เรือดำน้ำไทยยังคงเป็นอาถรรพ์อยู่อย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาในประเด็นเรือดำน้ำ เรานำเสนอข้อมูลจากทั้งข้อมูลอย่างเป็นทางการ และข้อมูลจากการค้นคว้าและสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มคนที่เราอ้างอิงได้เพียงว่า “แหล่งข่าว” ซึ่งถือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับโครงการนี้ทั้งในและต่างประเทศ ถือว่าเราติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน และเชื่อว่าเรามีข้อมูลที่ค่อนข้างรอบด้านในระดับหนึ่ง
--------------------------
แน่นอนว่าในกรณีเรือดำน้ำ S26T เราสัมภาษณ์ทั้งฝ่ายที่คัดค้านและสนับสนุน
แต่จุดสังเกตุก็คือ ไม่เคยมีครั้งไหนในระหว่างการสัมภาษณ์ที่แหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลกับเรายกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาพูด แม้แต่ฝ่ายคัดค้านที่ก็ควรจะใช้ประเด็นนี้ในการย้ำว่าไม่ควรจัดหาเรือดำน้ำ S26T ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน แต่ก็ไม่มีใครยกประเด็นขึ้นมาว่า เรือดำน้ำนี้ใช้เครื่องยนต์ MTU ของเยอรมนี (ที่ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่โดย Rolls-Royces สหราชอาณาจักร) และอาจมีความเสี่ยงที่เยอรมนีอาจไม่ขายเครื่องยนต์ให้
ในมุมหนึ่งนั้น เมื่อเราถามเรื่องเครื่องยนต์ แหล่งข่าวบางคนบอกว่า "ก็ใช้เครื่องยนต์จีน" ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะแหล่งข่าวนั้นไม่ทราบจริง ๆ หรือพูดง่าย ๆ เพื่อสื่อถึงเครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในจีนภายใต้บริษัทลูกของ MTU ที่ร่วมมือกับบริษัทจีน
แต่ในเมื่อปัญหามันเกิดขึ้นในภายหลัง เราก็อาจจะอนุมานว่า กองทัพเรือไม่รู้จริง ๆ ว่าสุดท้ายแล้ว เยอรมนีจะไม่ขายเครื่องยนต์ MTU ให้
สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะในตอนเจรจาสัญญา กองทัพเรือคิดว่าถ้าเยอรมนียอมหลับตาข้างเดียวขายเครื่องยนต์ให้ติดเรือดำน้ำที่จีนใช้งานได้ ทำไมจะขายเครื่องยนต์ให้ติดเรือดำน้ำที่จีนจะต่อให้ไทยไม่ได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการอนุมานที่สมเหตุสมผลอยู่
อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะคิดว่า ถ้าจีนมาเสนอเรือพร้อมเครื่องยนต์เยอรมนี ก็น่าจะแปลว่าจีนไปเคลียร์มาแล้ว พร้อมขาย ทำให้ไม่น่าห่วงอะไร ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลอีกเช่นกัน
--------------------------
ดังนั้นคำถามที่มีประชาชนจำนวนมากถามว่า เรื่องใหญ่ขนาดนี้ กองทัพเรือไม่รู้เลยหรือว่าเครื่องยนต์เยอรมนีอาจจะมีปัญหาในการต่อเรือดำน้ำจีน คำตอบก็อาจจะเป็นไปได้ว่า กองทัพเรือคงไม่รู้จริง ๆ แหละ เพราะถ้ารู้ ก็คงไม่ปล่อยมาจนถึงขนาดนี้หรอก
แต่ถึงไม่รู้ ถามว่ากองทัพเรือผิดพลาดไหม อันนี้ก็ต้องตอบว่าผิดพลาดแน่นอน ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
เพราะถึงแม้มันจะดูไม่มีอะไร แต่อย่างน้อยโครงการระดับเกือบ 5 หมื่นล้าน (เมื่อรวมโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด) แบบนี้ ความรอบคอบเป็นสิ่งสำคัญ กองทัพเรือควรจะตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่า เยอรมนีออกใบอนุญาตส่งออกเครื่องยนต์ MTU ให้กับจีนเพื่อต่อให้ไทยจริง ๆ หรืออย่างน้อยก็ต้องขอคำยืนยันเบื้องต้นก่อน ไม่ใช่ฝากความหวังไว้ว่าเยอรมนีคงไม่ว่าอะไรหรอก
อันนี้ถือว่าไม่ว่าเรื่องจะจบอย่างไร เป็นความผิดพลาดที่สำคัญที่กองทัพเรือปฏิเสธไม่ได้ เพราะแม้กองทัพเรือจะไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ MTU ให้จีน แต่กองทัพเรือก็ไม่รอบคอบเพียงพอในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าเยอรมนีจะขายเครื่องยนต์ให้จีนมาต่อให้ไทยจริง ๆ
ยกเว้นแต่ว่า กองทัพเรือแสดงเอกสารได้ว่า ณ วันลงนามสัญญา จีนส่งเอกสารยืนยันว่ามีความสามารถในการจัดหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำหรือได้รับในอนุญาตจากเยอรมนีแล้วจริง ๆ อันนั้นก็จะถือได้ว่า ยกประโยชน์ให้ และเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายจีนฝ่ายเดียว
--------------------------
จริง ๆ ถ้าไปค้นดูรายงานของรัฐบาลเยอรมนีเมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นเวลา 1 ปีหลังจากที่กองทัพเรือลงนามในสัญญาจัดหาเรือดำน้ำกับจีน (ขอบคุณคุณ Beta ผู้ฟัง Clubhouse ของเราที่แนะนำเอกสารให้ครับ) ก็จะพบว่ารายงานระบุชัดเจนว่าจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกคว่ำบาตรการขายอาวุธจากรัฐบาลเยอรมนี
รายงานยังกล่าวต่อไปอีกว่า รัฐบาลเยอรมนีได้ให้สัตยาบันในข้อตกลงวัสเซนนาร์ (Wassenaar Arrangement) ที่ส่งเสริมความโปร่งใสและตวามรับผิดชอบในการขายอาวุธและสินค้าและเทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทางหรือ Dual-use Technology โดยสมาชิกของข้อตกลงนี้จะรายงานให้ประเทศสมาชิกทราบ ถ้ามีการปฏิเสธการขายสินค้าและเทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทางให้กับประเทศนอกข้อตกลง
สินค้าและเทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทางคือสินค้าและเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้ทั้งทางทหารและพลเรือน ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องยนต์เรือดำน้ำก็ควรถูกจัดอยู่ในประเภทนี้ เพราะนอกจากจะใช้งานบนเรือดำน้ำได้ ยังใช้งานเรือรบ หรือเรือสินค้าได้เช่นกัน
ในปี 2018 หรือ 1 ปีหลังจากกองทัพเรือลงนามจัดหาเรือดำน้ำจากจีน เยอรมนีปฏิเสธการออกใบอนุญาตขายอาวุธทั้งหมด 88 รายการ โดยปฏิเสธการขายอาวุธและสินค้าและเทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทางให้กับจันเป็นมูลค่า 6.99 ล้านยูโร มากเป็นอันดับสองของปีนั้น ซึ่งเมื่อดูในภาคผนวกจะพบข้อมูลอย่างชัดเจนว่า เยอรมนีปฏิเสธการขายในรายการ A0009 ซึ่งเป็นรหัสของอุปกรณ์ใช้งานทางทะเลที่รวมถึงเครื่องยนต์ดีเซลของเรือดำน้ำให้กับจีน
ทำให้อาจหมายถึงว่า ฝ่ายจีนรู้ตั้งแต่ปี 2018 แล้วว่าเกิดปัญหาการปฏิเสธการขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้กับจีน แม้จะเพื่อต่อให้กับไทยก็ตาม แต่พวกเราเพิ่งมาทราบเรื่องในปีนี้ คือปี 2022 ซึ่งแปลว่า 4 ปีที่ผ่านมา จีนก็คงทำอย่างที่พูดคือ พยายามเจรจาและใช้ทุกช่องทางที่นึกออกแล้วในการขอให้เยอรมนีขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
แต่เราไม่รู้ว่า กองทัพเรือรู้ว่ามีปัญหานี้เมื่อไหร่ แต่เดาได้ว่าไม่น่าจะเพิ่งรู้ในปีนี้แน่นอน เพราะงวดงานในการส่งมอบและติดตั้งเครื่องยนต์นั้นผ่านมานานแล้ว
--------------------------
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อาจจะยืนยันได้ว่า ปัญหาเครื่องยนต์ MTU นั้นเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว และคงต้องจับตาต่อไปว่า ก่อนวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นเส้นตายที่กองทัพเรือขีดไว้นั้น ทางฝ่ายจีนจะเสนอทางออกใด และกองทัพเรือจะยอมรับทางออกนั้นหรือไม่
เพราะดูแล้ว ทางเดียวที่เรือดำน้ำ S26T จะดำเนินการต่อต่อไปและส่งมอบให้กับกองทัพเรือไทยได้ ก็คือการที่กองทัพเรือไทยยอมใช้เครื่องยนต์ CHD620 ของจีนเท่านั้น ไม่น่ามีทางออกอื่นอีกแล้ว
เพราะถ้าไม่เลือกทางนี้ ก็ต้องยกเลิกสัญญา และภาวนาว่ารัฐบาลไทยจะได้เงิน 7 พันกว่าล้านบาทที่จ่ายไปแล้วคืน ซึ่งก็ค่อนข้างยากที่จะได้คืนเป็นเงินสด อย่างที่เราเคยวิเคราะห์ไป
และไม่ว่าจะจบอย่างไร นี่เป็นบทเรียนสำคัญของกองทัพเรือ ที่ควรจะต้องรอบคอบกว่านี้ เพราะตามข่าวคือ รัฐบาลให้งบประมาณกองทัพเรือไปศึกษาถึง 200 ล้านบาทก่อนจะทำการจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งถ้าจ่ายไปถึง 200 ล้านบาท แต่ยังเกิดปัญหาแบบนี้ ก็ถือว่าการศึกษาไม่สมบูรณ์อย่างมาก
และกรณีนี้ อาจจะทำให้ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำไปอีกนาน ระบบสื่อสาร ระบบควบคุมและสั่งการ หรือโครงสร้างพื้นฐานในการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำที่สร้างขึ้นมาก็จะไม่ได้ใช้งาน อาจรวมความเสียหายมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
และถ้ามีการยกเลิกสัญญาจริง ๆ กว่าคนคนจะลืมเรื่องนี้ไปและรัฐบาลยอมอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้ง ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ในตอนนั้น กองทัพเรือก็น่าจะเป็นกองทัพเรือสุดท้ายในอาเซียนไม่มีเรือดำน้ำใช้งานในปัจจุบัน แม้ว่ากองทัพเรือจะเป็นกองทัพเรือแรกที่เคยมีเรือดำน้ำใช้งานเมื่อกว่า 60 ปีก่อนก็ตาม
ฝ่ายจีนอาจจะผิดสัก 70% แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีก 30% คือความผิดพลาดในการบริหารโครงการของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงไปอีกนานแน่นอน
ThaiArmedForce.com
เอกสารต้นฉบับ
https://www.bmwk.de//Redaktion/EN/Publikationen/Aussenwirtschaft/report-on-the-exports-of-conventional-military-equipment-in-2018.pdf
Saiseema Phutikarn ·
อียูแบนการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปจีนตั้งแต่เหตุการณ์เทียนอันเหมิน 40 กว่าปีแล้ว เป็นไปไม่ได้หรอกที่กองทัพเรือจะไม่รู้ความเสี่ยงเรื่องนี้ เพราะความเสี่ยงมันมีอยู่ตลอด มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ... แต่ที่ผ่านมาคงชะล่าใจว่าในช่วงที่ความสัมพันธ์จีน-ตะวันตกดีๆ ฝ่ายเยอรมนีก็หลับตาข้างเดียวให้ส่งออกเครื่องยนต์ได้โดยอ้างว่าเป็นสินค้า Dual-Use ใช้ได้ทั้งทางทหารและพลเรือน ไม่ได้ถูกห้ามโดยอียูโดยตรงขึ้นกับดุลยพินิจของแต่ละประเทศ
ซึ่งประเด็นเรื่องการใช้ช่องโหว่เรื่องนี้ส่งออกเทคโนโลยีทหารจากยุโรปไปจีนมันก็มีมาเป็นระยะเป็นสิบปีแล้ว เช่นที่ลงในรอยเตอร์ นี่ที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือเครื่องยนต์ MTU นั่นแหละ พอดีช่วงนั้นความสัมพันธ์จีนกับตะวันตกยังราบรื่นก็ไม่มีปัญหาอะไร
https://www.reuters.com/.../breakout-submarines-special...
แต่พอช่วงหลังพอเริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น ทั้งเรื่องอุยกูร์ ทะเลจีนใต้ ไต้หวัน การขยายกองเรือรบจีน เมื่อมีสื่อเล่นข่าวว่าเทคโนโลยีของเยอรมันถูกเอาไปใช้ในอาวุธจีนตอนปลายปี 64 คราวนี้ก็เลยมีปัญหา อันนำไปสู่การยกเลิกส่งออกแม้จะเป็นของที่เคยส่งออกโดยอ้าง Dual-Use มาได้ตลอด ซึ่งเครื่องยนต์เรือดำน้ำไทยก็เลยโดนหางเลขไป
https://www.dw.com/.../german-engine.../a-59740301
เรื่องนี้ถ้า กองทัพเรือ จะมาอ้างว่าไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงนี่ ถ้าไม่โดนมองว่าโกหกหน้าตาย ก็คงกลายเป็นไอ้งั่งในวงการความมั่นคงระหว่างประเทศ
Puangthong Pawakapan
4h ·
เรือดำน้ำไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดจากความชุ่ยในการจัดซื้ออาวุธของทหารไทย ก่อนหน้านี้ก็มี GT200 กับเรือเหาะที่บินไม่ขึ้นของกองทัพบก ทุกครั้งไม่เคยมีคนต้องรับผิด ภาษีของประชาชนก็ถูกละลายไปกับสายลม