วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 23, 2565
รับสั่ง ร. 9 พวกผู้พิพากษาอ่านกันบ้างหรือเปล่า... "...ศาลเป็นองค์กรประกันความสงบสุขของประเทศชาติ ถ้าไม่มีความยุติธรรมในประเทศ คนอยู่ไม่ได้ แล้วก็ถ้าคนอยู่ไม่ได้ มีประเทศชาติก็ไม่มีประโยชน์..."
ป้ายอ่านว่า "...ศาลเป็นองค์กรประกันความสงบสุขของประเทศชาติ ถ้าไม่มีความยุติธรรมในประเทศ คนอยู่ไม่ได้ แล้วก็ถ้าคนอยู่ไม่ได้ มีประเทศชาติก็ไม่มีประโยชน์..."
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
13h
เรื่องเล่าเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565
ครอบครัวคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลก คงเป็นนิยามของหญิงชราที่นั่งรอคำตอบในห้องงานประกันที่ชั้นล่างของศาลอาญา เธอเล่าว่านี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เพิ่งจะได้เห็นหน้าลูกผ่านจอภาพเล็กๆ ในห้องพิจารณาคดี
.
เธอคือมารดาของ ‘อาร์ท’ เวหา แสนชนชนะศึก ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 จากกรณีการแชร์โพสต์เพจเฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก’ ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ความสามารถในการจัดการวัคซีนของรัฐบาล และโพสต์ข้อความวิจารณ์ศาลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่
.
และในอีกคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ ‘ฟ้าฝน ver.เกรี้ยวกราด’ ซึ่งออกมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล หรือที่รู้จักกันในนาม ‘คุกวังทวีฯ’
.
“มาตั้งแต่เช้า 8 โมง จนถึงตอนนี้เขายังไม่มีคำสั่งออกเลย” หญิงชรายกดูนาฬิกาบนข้อมือของตัวเอง เธอบอกว่ามารอตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึงบ่ายวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าศาลจะออกคำสั่งว่าอย่างไร
.
แต่แล้วการรอคอยก็ได้สิ้นสุดลง เมื่อเวลา 17.00 น. ศาลยังคงมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคดีของเวหา ในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ทำให้ในวันนี้แม่จะต้องเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดพิษณุโลกไปอย่างความเดียวดาย พร้อมกับความคิดถึงลูกชายที่ไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะส่งถึงเขาหรือไม่
.
เวหาในสายตาแม่
“เขาเป็นคนอัธยาศัยดี ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ชอบเที่ยว เขาจะอยู่บ้านกับแม่เนี่ยแหละ พอเราบอกให้เขาออกไปนู่นไปนี่บ้าง เขาก็ไม่ไปนะ เพราะเขาไม่ชอบวุ่นวายกับใคร เขาจะชอบอยู่บ้านกับแม่ เราจะไปซื้อนู่นนี่มาทำกินกัน”
.
“เวลามีใครเจ็บป่วย เขาก็ไปช่วยหมด งานวัด งานบุญหรืองานศพช่วยตลอด ไม่ใช่ญาติพี่น้องเขาก็ช่วย คือเขาจะไม่เลือกว่าคนนู้นคนนี้เกลียดเขาไหม ถ้าใครมีปัญหาเขาก็พร้อมช่วยหมดทุกคน เห็นตัวเล็กๆ แบบนั้น คนป่วยลุกไม่ได้ อาร์ทมันก็อุ้มพาเขาไปโรงพยาบาลให้ได้”
.
“เออ เขาจะเขียนคำกลอนอะไรพวกนี้ให้คนเอาไปอ่านในงานศพด้วยนะ มีแต่คนบอกว่าอาร์ทมันเป็นคนเขียนอ่านดี”
.
ราวกับว่าเรื่องทุกอย่างที่แม่เล่าออกมาเหมือนจะเป็นเรื่องเล่าของวันเมื่อวาน แต่อันที่จริงนี่ก็ปาเข้าไปวันที่ 88 แล้วที่หญิงชราผู้นี้ยังไม่มีแม้โอกาสจะได้กอดลูกชายของเธอ
.
เพราะในความเป็นจริงนี่คือช่วงเวลาที่เธอบอกว่าโดดเดี่ยวที่สุด
.
“ช่วงที่ลูกไม่อยู่ เราอยู่คนเดียว เราอายุมากขึ้น เจ็บป่วยขึ้นมาใครจะดูแล น้องชายเขาก็มีครอบครัวแล้ว เราเลยอยู่กันสองคนแม่ลูกไง”
.
“แม่มีปัญหาสุขภาพเข่าด้วย จริงๆ หมอให้ผ่าตัดตั้งนานแล้ว แต่เพราะไม่มีใครอยู่เฝ้า เราก็เลยยังไม่ได้ไปผ่า ก็รอเขาออกมานี่แหละ”
.
“เราก็คิดอยู่ทุกวันว่าเมื่อไหร่ลูกจะได้ออกมาอยู่ด้วยกัน” เมื่อสิ้นสุดประโยค น้ำตาของผู้เป็นแม่ก็เริ่มไหลริน เธอบอกว่าตัวเองคิดถึงลูกชายสุดหัวใจ
.
จดหมายจากลูกชาย
และเพราะความคิดถึง จดหมายฉบับล่าสุดพร้อมทั้งกลอนที่เวหาแต่งให้กับนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำร่วมกับเขาก็ถูกส่งให้แม่อ่าน
.
ถึงแม้ว่าในเนื้อความของกระดาษแผ่นบางพวกนั้นจะไม่มีข้อความใดๆ ที่เอ่ยถึงแม่สักประโยค แต่หญิงชราผู้นี้ก็นั่งอ่านไล่เรียงที่ละบรรทัดอย่างตั้งใจ
.
“เขาเข้มแข็งมาก เขาบอกกับแม่ตลอดว่าอาร์ทไม่ได้ฆ่าคนตาย อาร์ทไม่ได้ค้าอาวุธ อาร์ทไม่ได้ค้ายาบ้า จะมาเอาผิดอาร์ทได้ยังไง แค่พูดแค่นี้เอง แต่ไม่ต้องเป็นห่วงนะ อาร์ทจะสู้ เขาพูดอย่างนี้”
.
“เขียนจดหมายไปทุกฉบับ เขาจะพูดแบบนี้ตลอด ถามแม่ว่าแม่สบายดีมั้ย ให้แม่สู้ๆ นะ ไม่ให้แม่คิดมาก แต่ลูกเรามาอยู่แบบนี้ เราก็อดคิดไม่ได้” เธอบอกเล่าถึงจดหมายส่วนตัวที่เขียนตอบกลับไปมากับลูกชายของตัวเอง
.
ไม่นานนักหลังจากที่แม่อ่านจดหมายฉบับล่าสุดที่เวหาเขียน และกลอนที่แต่งขึ้นให้กับนักกิจกรรมทางการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่ รถเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็แล่นผ่านหน้าเธอไปพร้อมกับเสียงชายคนหนึ่งที่ตะโกนลั่นออกมาผ่านลูกกรงสีทึบ
.
“แม่! อาร์ทไปแล้วนะ” เวหาจำแม่ได้ในทันที ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่เสี้ยววินาทีที่รถขับผ่าน
.
“เอ้อ ไปๆ โชคดีลูก โชคดี แสดงว่าเขาเห็นแม่” เธอยกยิ้มขึ้น พร้อมกับเอียงตัวเพื่อทอดสายตามองตามรถของเรือนจำคันนั้นไปจนลับตา
.
เรื่องการเมืองที่เวหาไม่เคยบอกแม่
“ไม่ เขาไม่เคยพูดเลย เพราะก่อนหน้านี้เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน อาร์ทเพิ่งกลับมาอยู่กับแม่ตอนช่วงปี 2563 เอง ” แม่บอก
.
“ก่อนที่เขาจะถูกจับนี่เขาถึงเล่าให้ฟังว่า เออเรื่องมันเป็นแบบนี้นะ เราก็ตกใจว่าทำไมมันไปถึงขนาดนั้น แม่เคยห้ามนะว่าอย่าไปทำอะไรที่มันโจ่งแจ้ง ถ้าเคลื่อวไหวก็อยากให้อยู่ในขอบเขต คือฝ่ายตรงข้ามเขาจับตามองเราอยู่” แม่เล่าว่าการที่เวหาถูกจับเป็นเรื่องใหม่สำหรับแม่มาก มันคืออีกตัวตนหนึ่งของลูกชายที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน
.
“ทุกวันนี้คนในหมู่บ้านก็รู้กันหมดแล้ว เพราะมีเขาคนเดียวที่มาเคลื่อนไหวอะไรแบบนี้”
.
“เป็นเพราะเราไม่เคยสนใจเรื่องนี้ด้วยแหละ ทำแต่งาน คือพ่อกับแม่จะตื่นมาตั้งแต่ตีสามซื้อของแล้วก็ไปเตรียมขายที่โรงอาหารในบริษัท ไม่เกินตีห้าพนักงานเขาก็จะเริ่มมาทำงานกันแล้ว เรากลับบ้านก็สี่ทุ่ม ตีสามก็ตื่นมาใหม่ เป็นแบบนี้วนไปทุกวัน” แม่พยายามอธิบาย คล้ายกับว่าเธอจะโทษตัวเอง
.
ความเปราะบางข้างในจิตใจของลูกชายแม่
“เขาเริ่มป่วยมาตั้งแต่ปี 2560 ตอนนั้นคือยังไม่มีเรื่องการเมืองอะไรนะ เขาจะพูดบ่อยๆ ว่าอยากให้เราสบาย ไม่อยากให้เราทำอะไรแล้ว”
.
“พอตอนหลังมาเขาก็มีอาการซึมเศร้า เราก็ขอให้เขาไปพบแพทย์ ก็เพิ่งมาเข้ารักษาจริงจังตอนปี 2561 นี่เอง”
.
อย่างไรก็ตาม ในนัดไต่สวนคำร้องขอประกัน เวหา แสนชนชนะศึก เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา แม่ของเวหาได้เบิกความต่อศาลว่า เวหายังมีโรคประจำตัวทางจิตเภท คืออาการ PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) ซึ่งได้เข้ารับการรักษามาตลอดควบคู่กับอาการซึมเศร้าของเขา
.
อ่านบันทึกการไต่สวนคำร้องขอประกันเวหา เพิ่มเติม >>> ไต่สวนคำร้องขอประกัน “เวหา” 2 คดี ม.112 ยินดีรับทุกเงื่อนไข-ให้แม่เป็น ผกก.ดูแล ก่อนศาลนัดฟังคำสั่ง 17 มิ.ย. นี้ | https://tlhr2014.com/archives/44778
.
“ตั้งแต่พ่อเขาเสีย เขาคงมีความรู้สึกมาตั้งแต่ตอนนั้นน่ะ มันคงสะสมมาเรื่อยๆ แม่ก็ตอบไม่ถูกนะว่ามันมีอะไรกระทบกระเทือนเขาไหม คือเขาไม่ได้พูดเรื่องส่วนตัวให้อะไรมากมายให้เราฟัง เขาจะไม่อยากพูดอะไรที่ทำให้แม่ไม่สบายใจ ถ้าสิ่งไหนที่เขารู้ว่ามันต้องทำให้แม่ไม่สบายใจแน่ๆ เขาจะไม่พูดเลย เราก็เลยไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร”
.
“เขาต้องกินยาตลอด เราก็เป็นห่วงนะอยู่ในนั้นจะได้กินยาครบไหม เพราะถ้าขาดยาเขาจะนอนไม่ได้เลย แล้วก็จะหงุดหงิด ขนาดก่อนนอนแม่ก็จะไปถามเขาตลอด ไปดูตลอดว่าเขาได้กินยาไหม”
.
“ต่อหน้าเรา เขาก็จะทำให้มันดี ให้มันถูกใจแม่ เราก็เลยไม่รู้ว่าข้างในเขาเป็นยังไง จิตใจเขาโอเคไหม เราไม่รู้เลย”
.
จากเพื่อนบ้านก็กลายเป็นคนแปลกหน้า
“คือมันไม่มีใครถามด้วยนะว่าลูกเราเป็นยังไง ไม่มีเลย มีแต่คนมองด้วยสายตาที่ไม่ดีอ่ะ มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เขาไม่พูดถึงอาร์ทเลยนะ” เธอบอกว่าเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่สร้างความทุกข์ทรมานข้างในจิตใจของเธอเป็นอย่างมาก
.
“เขาถึงขนาดพูดเลยนะว่า ป้า ถ้าอาร์ทไปด้วย ขอไม่ให้ขึ้นรถนะ เราก็ถามว่าเหตุว่าทำไมล่ะ เขาก็บอกว่ากลัวจะโดนเก็บ” แม่อธิบายว่าในช่วงก่อนที่ลูกชายของเธอจะถูกส่งเข้าไปในเรือนจำ ในละแวกบ้านจะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่ตลอด เวลาไปไหนมาไหนเธอสามารถติดรถเพื่อนบ้านไปได้เป็นเรื่องปกติ
.
แต่ถึงวันนี้มิตรไมตรีก็ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นความรังเกียจและความหวาดกลัวครอบครัวของเธอไปเสียแล้ว
.
“คือเขาคิดกันไปขนาดนั้นเลยนะ เขาจะไม่ยุ่งเลย ถ้าเราบอกว่าช่วยไปส่งหน่อย เดี๋ยวเราช่วยเติมน้ำมันให้ เขาก็จะถามเราเลยว่าอาร์ทไปด้วยไหม ถ้าอาร์ทไปเขาจะไม่ให้เราขึ้นรถนะ”
.
“เหมือนเขารังเกียจเลยอะ ไปร่วมงานอะไร พอเขาเห็นอาร์ทเขาก็จะหนีกันเลย เราก็สงสารลูกนะ ทำไมต้องทำท่ารังเกียจกันปานนั้น” แม่อดเศร้าไมได้ แววตาของเธอแสดงออกถึงความผิดหวัง เธอบอกว่าลูกชายก็ช่วยเหลืองานในชุมชนตลอด แต่การที่ชุมชนตอบแทนกันแบบนี้เป็นเรื่องที่เธออดที่จะรู้สึกผิดหวังไม่ได้จริงๆ
.
“เราปลอบใจเขาตลอดนะ เพราะตัวเขาเองก็น้อยใจที่เคยช่วยเหลือคนอื่นแล้วมีแต่คนมาซ้ำเติมแบบนี้”
.
สิ้นสุดการรอคอย 99 วัน
ในที่สุดแม่ก็ได้พบกับเวหาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ศาลได้มีคำสั่งให้ประกันตัว “เวหา แสนชนชนะศึก” ใน 2 คดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ หลังก่อนหน้านี้ดำเนินการไต่สวนคำร้องไปแล้ว ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเวหา พร้อมกำหนดเงื่อนไขและมีคำสั่งให้แต่งตั้งแม่ของเวหาเป็นผู้กำกับดูแล
.
อ่านคำสั่งประกันและเงื่อนไข เพิ่มเติม >>> ศาลให้ประกัน “เวหา” 2 เดือน ใน 2 คดี ม.112 พร้อมให้ติด EM – ห้ามออกนอกบ้านตั้งแต่ 2 ทุ่ม หลังถูกขัง 99 วัน | https://tlhr2014.com/archives/44915
.
ทั้งนี้ เวหาจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งสิ้น 99 วัน นับตั้งแต่ศาลอนุญาตให้ฝากขังในวันที่ 11 มี.ค. 2565
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/45134