ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
9h
27 มิ.ย. 2565 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังจากทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน “ใบปอ” (นามสมมติ) และ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ในคดีจากการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคนเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น
.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสอง เป็นครั้งที่ 5 โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันคนละ 200,000 บาท ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยอ้างเหตุอาการป่วยของจำเลยทั้งสองสามารถรักษาภายในเรือนจำได้ ทนายความจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 โดยเป็นการยื่นอุทธรณ์เป็นครั้งแรก
.
อ่านคำร้องขอประกัน บุ้ง-ใบปอ ครั้งที่ 5 >>> ไม่อนุญาตให้ประกันตัว “บุ้ง-ใบปอ” เป็นครั้งที่ 5 แม้บุ้งอาการทรุด หลังอดอาหาร 22 วัน ศาลอ้างเหตุ รักษาใน รพ.ราชทัณฑ์ ได้ https://tlhr2014.com/archives/45185
.
ทั้งนี้ คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ทนายความได้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ มีใจความสำคัญ ระบุว่า
.
1. ตามที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งพิเคราะห์ให้ใบปอ (จำเลยที่2) และ บุ้ง (จำเลยที่ 3) ซึ่งอ้างว่ามีอาการปวดท้อง ร่างกายอ่อนเพลียนั้น เนื่องจากในเรือนจำมีแพทย์และโรงพยาบาลที่สามารถดูแลรักษาอาการดังกล่าวได้ กรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เป็นข้อวินิจฉัยที่ไม่ตรงกับคำร้องและเหตุผลตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยทั้งสอง นอกจากคำร้องเรื่องอาการเจ็บป่วยดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองยังยืนยันถึงเหตุจำเป็นอื่นอีกหลายประการ
.
2. การที่จำเลยทั้งสองถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลากว่า 50 วัน ยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของจำเลยทั้งสอง กล่าวคือ ใบปอ จำเลยที่ 2 ในฐานะนิสิต นักศึกษาประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วยอึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขาดสอบวัดผลตามกำหนดการที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม ใบปอยังตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในการศึกษาที่จะส่งผลต่ออนาคตของตัวเอง จึงได้ดำเนินเรื่องขออนุญาตภาควิชาในการดำเนินการสอบวัดผลย้อนหลัง หากได้รับอนุญาตในการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของจำเลยไม่ให้ต้องพ้นสภาพนักศึกษา
.
ในส่วนของบุ้งนั้น ก่อนถูกคุมขังในคดีนี้ บุ้งมีอาชีพรับจ้างสอนพิเศษ เพื่อเลี้ยงดูมารดาของตัวเอง ซึ่งมีอาการป่วย และมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมทำให้จำเลยมีโอกาสกลับไปเลี้ยงดูและจัดการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาโรคของมารดาได้
.
3. ในคดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 8 คน ในระหว่างพิจารณาคดี และศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อนุญาตให้จำเลยอื่นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปในระหว่างพิจารณาคดีทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงบุ้งและใบปอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่โจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยไปในระหว่างพิจารณาคดี ย่อมไม่เป็นการก่อให้เกิดอันตรายอื่นแต่อย่างใด
.
4. คดีนี้เป็นคดีสำคัญที่มีพยานหลักฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งการที่บุ้งและใบปอถูกกักขังไว้ในเรือนจำย่อมเป็นการตัดโอกาสในการต่อสู้คดี ในการแสวงหาหลักฐานเพื่อมายืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง
.
ต่อมาในวันนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยที่ 2 และ 3 ถูกฟ้องว่าร่วมกับพวกกระทำความผิดหลายข้อหาบางข้อหามีอัตราโทษสูงและมีลักษณะเป็นการกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไปถือเป็นเรื่องร้ายแรง
.
“ประกอบกับศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และ 3 ในระหว่างสอบสวน โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
“แต่จำเลยที่ 2 และ 3 ผิดเงื่อนไขจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และ 3 กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นนี้จำเลยที่ 2 และ 3 อาจจะหลบหนีหรือก่อให้เกิดภัยอันตรายประการอื่น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”
.
จากคำสั่งศาลอุทธรณ์ในครั้งนี้ ทำให้บุ้งและใบปอยังถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป โดยจากวันที่ 3 พ.ค. 2565 จนถึงวันนี้ (27 มิ.ย. 2565) ทั้งสองได้ถูกขังมานานกว่า 56 วัน และได้ทำการประท้วงอดอาหารเพื่อทวงสิทธิประกันตัวมาเป็นระยะเวลา 26 วันแล้ว
.
อ่านบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/45294
...