วันพุธ, ตุลาคม 06, 2564

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ ‘การโฆษณาชวนเชื่อ’ ในประเทศไทย


GroundControl
Yesterday at 7:00 AM ·

History of Thai Propaganda
ประวัติศาสตร์ฉบับย่อยของ ‘การโฆษณาชวนเชื่อ’ ในประเทศไทย

.
“วิธีการทำลายประชาชนที่ได้ผลดีที่สุดคือการปฏิเสธและกำจัดความสามารถของพวกเขาในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตัวเอง”
.
“The most effective way to destroy people is to deny and obliterate their own understanding of their history”
.
- George Orwell

‘โฆษณาชวนเชื่อ’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน เรียกได้ว่าเมื่อมนุษย์เริ่มได้ทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ พร้อม ๆ กันนั้นมนุษย์ก็เรียนรู้วิธีการในการที่จะได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจ และการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการเผยแผ่อุดมการณ์ทางสังคมและการเมืองของผู้ปกครอง ก็คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ได้เรียนรู้ว่า เป็นสิ่งทรงพลังเหนือกว่าเครื่องมือหรือกระบวนการใด ๆ
.
แม้กระทั่งกษัตริย์ฝรั่งเศสผู้ได้ชื่อว่าครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของฝรั่งเศสอย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เคยตรัสไว้ว่า “ศิลปะแห่งการเมืองก็คือการรู้จักใช้สถานการณ์ปัจจุบันให้เป็นประโยชน์” (“Tout l’art de la politique est de se server de conjunctures”) อันสะท้อนให้เห็นว่าการปกครองนั้นหาใช่เรื่องของกลยุทธ์ในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำความเข้าใจบริบทของสังคมเพื่อนำมาพลิกแพลงดัดแปลงให้ส่งประโยชน์ต่อตน ในนวนิยายการเมืองสุดคลาสสิกอย่าง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่แทบจะเป็นดังคู่มือตีแผ่กระบวนการทำงานของโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ เมื่อรัฐสามารถควบคุมการคิดและวิถีในการมองสิ่งต่าง ๆ ของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ประชาชนในรัฐโอเชียเนียแห่ง 1984 ต่างสมาทานว่า 2+2 = 5 ตามที่รัฐบอกได้โดยไม่กังขาหรือมองเห็นความผิดปกติของตรรกะ
.
“ในท้ายที่สุด รัฐก็ประกาศว่า สองบวกสองเท่ากับห้า และคุณก็ต้องเชื่อตามนั้น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว รัฐก็ต้องประกาศเช่นนั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะสถานะที่พวกเขาดำรงอยู่บังคับให้พวกเขาต้องทำเช่นนั้น ในที่นี้ สิ่งที่ถูกบิดเบือนหาใช่ประสบการณ์ที่ประชาชนมีต่อความจริง แต่พวกเขายังใช้กลวิธีบิดเบือนสถานะของความจริงด้วยอุดมการณ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง”
.
(“In the end the Party would announce that two and two made five, and you would have to believe it. It was inevitable that they should make that claim sooner or later: the logic of their position demanded it. Not merely the validity of experience, but the very existence of external reality was tacitly denied by their philosophy”)
.
การโฆษณาชวนเชื่อจึงไม่ใช่แค่การประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารเพื่อให้ประชาชนมีแนวโน้มทางความคิดทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกับรัฐ แต่มันยังรวมถึงการบิดเบือนความคิดหรือการมองโลกของประชาชนให้เป็นไปดังที่รัฐหรือผู้ปกครองต้องการ โดยละเลยความจริงต่าง ๆ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น ประวัติศาสตร์ ตรรกะ หรือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ การก่อต้ังองค์กรเพื่อเผยแผ่ความเช่ือของคริสตจักรโรมันคาทอลิก (Sacra Congregatio de Propaganda Fide) โดยพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 15 ใน ค.ศ. 1622 จึงถือเป็นหลักฐานแรก ๆ ของต้นกำเนิดการโฆษณาชวนเชื่อของประวัติศาสตร์ และในอีกไม่กี่ปีถัดมา เมื่อพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 ก่อตั้งโรงเรียนศาสนา Collegium Urbanum โดยมีจุดประสงค์เพื่ออบรมบ่มเพาะบาทหลวงออกไปทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาและความเชื่อให้เป็นไปในแบบแผนเดียวกัน การประชาสัมพันธ์หรือเผยแผ่วิธีการคิดต่อชีวิตและพระเจ้านี้จึงถือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อโดยสมบูรณ์
.
เนื่องในสัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์ของกิจกรรม #5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง ที่จะจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ #6ตุลา2519 หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาในสังคมไทย อันเป็นผลมาจากการที่รัฐสร้างความชอบธรรมให้กับการ ‘กระทำ’ ในวันนั้นด้วยอานุภาพของอาวุธรัฐที่ทรงพลังอย่างน่ารังเกียจที่สุดที่เรียกว่า ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปกว่าสี่ทศวรรษ แต่รัฐก็ยังคงพยายามที่จะบิดเบือนและกลบฝัง ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ซึ่งยังคงแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร การโฆษณาชวนเชื่อยังคงเป็นเครื่องมืออันน่าสะอิดสะเอียนที่รัฐไทยไม่เคยวางมือ
.
คอลัมน์ History of ประจำสัปดาห์นี้ GroundControl จึงขอรวบรวมประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสิ่งที่เรียกว่า ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาให้ทุกคนได้ร่วมสำรวจโฉมหน้าความเลวร้ายของอาวุธรัฐชิ้นนี้กัน
.
อ้างอิง:
ไพโรจน์ กาญจนพันธุ์. (2518). การต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายคอมมิวนิสต์โดยรัฐบาลไทย ศึกษาเฉพาะกรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มลิสา ธนมิตรามณี. (2541) บทบาทการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีในเยอรมนี ระหว่าง ค.ศ.1933-1945 . มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/กรุงเทพฯ. DOI : https://doi.nrct.go.th/ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=
วรัญญา ประเสริฐ. (2559). การสื่อสารทางการเมืองในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2557-2559. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ณัฐพล ใจจริง. (2020). คณะราษฎรเยือนแดนซากุระ: การแสวงหาตัวแบบการ “สร้างชาติ” ภายหลังการปฏิวัติ 2475. วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์, 7(2), 1-33.
https://www.fapot.or.th/main/news/318
https://waymagazine.org/movie-brainwash-1/
https://www.silpa-mag.com/history/article_45546
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000036132
https://www.matichon.co.th/politics/news_2953445
https://www.matichon.co.th/politics/news_2955597
.
#5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง
#HistoryOf
#HistoryOfThaiPropaganda
#GroundControlTH


Propaganda Poster: จากยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย สู่ร่างไร้ลมหายใจที่ ‘ประตูแดง’
.
"เมื่อการเมืองมีเสถียรภาพแล้ว พวกเขา (คณะราษฎร) ก็เดินหน้าสร้างชาติ"
.
คือคำอธิบายของ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สวนสุนันทา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยหลังการปฏิวัติ 2475 ซึ่งเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่การเมืองและสังคมไทย
.
ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและการเดินหน้าสู่ภารกิจการ ‘สร้างชาติ’ ของคณะราษฎรนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาการสื่อสารทางตรงถึงประชาชนคนไทย โดยเฉพาะในยุคที่ จอมพลป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำของชาติ เป้าหมายหลักของจอมพล ป. ณ ขณะนั้นก็คือการผลักดันประเทศชาติให้เข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ อันเป็นเป้าหมายที่สืบเนื่องจากความสำเร็จในการถอนรากถอนโคนเหล่าผู้นำหัวอนุรักษ์นิยมที่ฝ่ายจอมพล ป. มองว่าเป็นสิ่งฉุดรั้งความก้าวหน้าของชาติ
.
โดยหลังจากที่ พล อ. พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มิ.ย.2476 และปราบปรามกบฏบวรเดช เมื่อ ต.ค. 2476 อันเป็นการกำจัดสายอนุรักษ์นิยมจนสิ้นแล้ว เป้าหมายถัดไปของคณะราษฎรก็คือการผลักดันให้ชาติไทยเจริญก้าวหน้าผ่านนโยบาย ‘สร้างชาติ’ ที่ประกอบด้วยการสร้างชาติทางเศรษฐกิจ การสร้างชาติทางวัฒนธรรม และการสร้างชาติทางการทหาร โดยคณะรัฐบาลของจอมพล ป. มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนชาวไทยเป็นหลัก เพราะในความหมายของจอมพล ป. ‘ชาติ’ = ‘ประชาชน’ การที่ประชาชนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีอารยะมากขึ้น เช่น การสวมหมวกเมื่อออกไปข้างนอกหรือการเลิกกินหมาก จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกาาสร้างชาติไทยที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งทัดเทียมกับชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่กำลังมีอำนาจขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ยุคนั้นเกิดคำขวัญติดปากอย่าง ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย ผู้นำไปไหน ฉันไปด้วย’ ซึ่งเป็นการพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนน้อมรับนโยบายการสร้างชาติไปใช้ เพื่อที่รัฐไทยจะได้ยิ่งใหญ่และไม่มีใครกล้ารุกรานนั่นเอง
.
ในยุคนี้เราจึงได้เริ่มเห็นสื่อการโฆษณาชวนเชื่อแรก ๆ ของไทย นั่นก็คือโปสเตอร์สร้างชาติที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ภาพของชาติไทยในอุดมคติของผู้นำ และเพื่อสื่อสารเรื่องกฎและข้อห้ามที่รัฐคิดขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทย เช่น โปสเตอร์นำเสนอภาพการแต่งกายแบบไทยไม่มีอารยะที่เป็นภาพคนนุ่งโสร่ง โพกหัว เปลือยท่อนบน กับภาพไทยอารยะที่เป็นการแต่งกายตามหลักสากล ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อนอก เป็นต้น
.
แต่เมื่อพูดถึงโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ ภาพที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีคงหนีไม่พ้นภาพโปสเตอร์โฆษณาความยิ่งใหญ่ของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และในทางกลับกัน โปสเตอร์ต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็เป็นที่แพร่หลายไม่แพ้กัน ซึ่งการแพร่สะพัดของโปสเตอร์คอมมิวนิสต์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมานี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มข้นในการใช้สื่อโฆษณาเพื่อชักจูงประชาชนให้น้อมรับอุดมการณ์ทางการเมืองและเพื่อการแผ่ขยายอำนาจของรัฐและผู้ปกครองในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อโปสเตอร์ซึ่งเป็นสื่อโฆษณาสาธารณะที่เข้าถึงประชาชนได้ใกล้ชิดที่สุด
.
ย้อนกลับไปก่อนหน้าโปสเตอร์คอมมิวนิสต์ การใช้โปสเตอร์เพื่อเผยแผ่อุดมการณ์ทางการเมืองมีความเด่นชัดมาก ๆ ในช่วงการเรืองอำนาจของกองทัพนาซี ในค.ศ. 1933 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้แต่งตั้งให้ ดร. โจเซฟ เกิบเบิลส์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในเยอรมนี มีหน้าที่หลักเป็นการถ่ายทอดอุดมการณ์ของพรรคนาซีให้กับประชาชน และคอยควบคุมความคิดของประชาชนให้เป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการ โดยอาศัยช่องทาง
การสื่อสารมวลชนทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศเป็นเครื่องมือ สื่อมวลชนทั้งวิทยุ, หนังสือพิมพ์ และภาพยนตร์ โดยกระทรวงโฆษณาการนี้มีบทบาทอย่างมากในการถ่ายทอดอุดมการณ์ของพรรคนาซีสู่ประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรักและศรัทธาในฮิตเลอร์ รวมไปถึงการทำให้ประชาชนชาวเยอรมันเกลียดชังยิว และสรรเสริญความบริสุทธิ์ของเชื้อสายอารยัน
.
เมื่อถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะผู้นำของโลก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ได้เล็งเห็นว่าภัยของโลกถัดจากนาซีที่ถูกปราบไปแล้วก็คือภัยจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยมีจีนและโซเวียตเป็นศัตรูหลักที่ผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกาจะต้องปราบปรามให้จงได้ ในประเทศไทย การดำเนินงานเพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ดำเนินไปตามแบบวิถีเดียวกับการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ และหนึ่งในสื่อสำคัญก็คือการใช้โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การยกย่องเชิดชูแรงงานและชาวไร่ชาวนา ซึ่งความสำคัญของการดูโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในยุคนี้ก็คือการที่รัฐไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเองก็ได้ออกโปสเตอร์มาเพื่อต่อสู้กับการใช้โปสเตอร์เผยแพร่อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ซึ่งชุดที่โด่งดังและยังสามารถหาชมได้ในยุคปัจจุบันก็คือ ‘โปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์’ ช่วง พ.ศ. 2510 - 2519 โดยความโดดเด่นของโปสเตอร์ชุดนี้ก็คือการนำเสนอภาพคอมมิวนิสต์ในฐานะผู้ร้ายและผู้ที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ยากของประชาชนในประเทศไทย (“คบหาคอมมิวนิสต์ เหมือนอุ้มอสรพิษไว้กับอก”) มีการนำเสนอภาพเปรียบเทียบชีวิตภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์กับชีวิตภายใต้ลัทธิเสรีภาพ โดยชีวิตภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นเป็นชีวิตแร้นแค้น อยู่กระท่อม พระสงฆ์ถูกนำตัวไปคุมขัง ในขณะที่ชีวิตภายใต้ลัทธิเสรีภาพเป็นชีวิตที่มีความสุข มีสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งถนนและรถประจำทาง ประชาชนมีความสุขใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
ถัดจากยุคการต่อสู้เพื่อคัดคานอำนาจกันระหว่างขั้วอำนาจทางการเมืองที่แตกต่างกันผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านโปสเตอร์ เมื่อล่วงถึงยุค #เดือนตุลา เราจะเห็นว่าการใช้โปสเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์อุดมการณ์ทางการเมืองนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ฝ่ายรัฐอีกต่อไป ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา โปสเตอร์ได้กลายเป็นอาวุธของประชาชนในการเผยแพร่ความคิดทางการเมืองและการชักชวนมวลชนให้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งความเฟื่องฟูของโปสเตอร์ในยุคนี้ก็มาจากการพัฒนาของสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการพิมพ์ได้ง่ายขึ้น และเมื่อถึงช่วงก่อนการมาถึงของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โปสเตอร์ก็เป็นอาวุธสำคัญที่นักศึกษาและประชาชนผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้อง ต่อต้าน และเผยแพร่ความไม่พอใจต่อการที่รัฐอนุญาตให้ทรราชทางการเมืองอย่าง ถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศไทย
.
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่างซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ประจำตึก ก.ต.ป. (ปัจจุบันคือห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) เคยอธิบายไว้ในหนังสือ ‘สร้างสานตำนานศิลป์: 20 ปี แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย 2517-2537’ ว่า ระหว่างปี 2516 - 2519 โปสเตอร์มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะย้อนกลับไปในยุคนั้น เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารยังมีจำกัด โปสเตอร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร เพราะนักศึกษาสามารถทำกันเองได้ และสื่อสารได้รวดเร็ว โดยโปสเตอร์ในการชุมนุมใหญ่ ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ตามเป้าหมายในการสื่อสาร คือ ประกาศข่าวด่วน เช่น เหตุร้าย มีการฆาตกรรมคนในขบวน และนัดรวมตัวชุมนุมด่วนเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน, ประกาศชุมนุมหรือเชิญชวนร่วมงานสำคัญซึ่งมีการนัดหมายล่วงหน้า เช่น การเฉลิมฉลองวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และสุดท้ายคือ โปสเตอร์ปลุกใจฝ่ายก้าวหน้า
.
เพจบันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6 ที่ทำหน้าที่รวบรวมความทรงจำและหลักฐานจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้สรุปบทบาทหน้าที่การทำงานของแต่ละตำแหน่งในขบวนการเคลื่อนไหวของภาคนักศึกษาในยุคนั้น โดยหนึ่งในหน้าที่สำคัญของขบวนการก็คือ ฝ่ายติดโปสเตอร์ โดยหน้าที่หลักของผู้ทำหน้าที่นี้ก็คือการเลือกตำแหน่งในการติดโปสเตอร์ซึ่งต้องเป็นจุดที่สะดุดตา และอยู่ในระดับสายตาพอดีคนถึงจะสังเกตเห็นได้ง่าย และฝ่ายนี้มักทำงานกันในเวลากลางคืนเพื่อให้พ้นสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ไม่หวังดี
.
แม้จะดูเป็นการทำงานหลังบ้าน แต่ตำแหน่งคนติดโปสเตอร์นั้นมีความเสี่ยง และต้องระมัดระวังตัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงไม่ให้ปะทะกับกลุ่มกระทิงแดงซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์และเหมารวมว่าการทำงานของกลุ่มนักศึกษาเป็นความพยายามในการที่จะโค่นล้มสถาบันกษัตริย์จากกลุ่มคอมมิวนิสต์
.
และหากถามว่า โปสเตอร์นั้นมีความสำคัญต่อการเผยแพร่อุดมการณ์และความเชื่อขนาดไหน? ร่างมรณะสักขีของสองช่างไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอที่ประตูแดง จ.นครปฐม จากความพยายามในการติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม น่าจะเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โปสเตอร์มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพียงใด


Propaganda ‘สื่อ’: เสรีภาพ เสรีภัย เสรีประชาธิปไตย เพราะ ‘พระพรหม’ ช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ
.
เมื่อพูดถึง ‘สื่อ’ ที่พัวพันกับการโฆษณาชวนเชื่อ ความคิดแรกของทุกคนคงพุ่งเป้าไปที่ ‘หนังสือพิมพ์ดาวสยาม’ หนังสือพิมพ์ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการยุยงปลุกปั่นจนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จากพาดหัวข่าวใหญ่ในเช้าวันที่ 6 ตุลา กรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์ทำการแสดงจำลองเหตุการณ์แขวนคอพนักงานการไฟฟ้า (“แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้า แผ่นดินเดือด! ศูนย์เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ”)
.
แต่ความจริงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า หนังสือพิมพ์ดาวสยามที่ก่อตั้งขึ้นเพียงสองปีก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นเป็นเพียงหนึ่งในผลสำเร็จของของกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งพัวพันกับการเมืองโลก ผลประโยชน์ และการคัดคานอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งทางเกมการเมืองโลก
.
ก่อนการมาถึงของดาวสยาม เราขอชวนทุกคนย้อนกลับไปรู้จักกับสื่อที่เป็นต้นสายธารแห่งการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทย ซึ่งผลจากการเผยแผ่ความคิดผ่านสื่อนั้นยังคงฝังรากอยู่ในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน…
.
บริบทในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความสําคัญต่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแหล่งทรัพยากรหลัก และในทางตรงกันข้าม ภูมิภาคแห่งนี้ก็เป็นตลาดสำหรับระบายสินค้าจากประเทศของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
.
สหรัฐอเมริกามองเห็นว่า อุดมการณ์คอมมิวนิสต์จะเป็นสิ่งกีดขวางอุดมการณ์ทุนนิยมของสหรัฐอเมริกา ประเทศลุงแซมจึงต้องยื่นมือเข้ามาจัดการการเมืองภายในประเทศเหล่านี้ โดยกระทำผ่านทั้งการใช้กำลังทหาร (Hard Power) และการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่าง ๆ (Soft Power)
.
ประเทศไทยคือหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สหรัฐอเมริกาเล็งไว้เป็นที่มั่นในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อขัดขวางการเผยแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ สหรัฐอเมริกาใช้ ‘การทูตสาธารณ’ เป็นนโยบายสำคัญในการเข้าไปแทรกแซงการเมืองในต่างประเทศ ทั้งการจัดตั้งองค์กร ‘สํานักข่าวสารอเมริกัน’ ที่มีเป้าหมายฉากหน้าเป็นการนำความเจริญก้าวหน้าไปสู่บรรดาประเทศโลกที่ 3 แต่ที่จริงแล้วสำนักข่าวสารอเมริกันนี้ยังทำงานเพื่อประชาสัมพันธ์และใช้ศาสตร์ด้านจิตวิทยาผ่านสื่อในการควบคุมแนวคิดทางการเมืองของประชาชนในประเทศนั้น ๆ ซึ่งในประเทศไทยเอง หน่วยงานนี่ก็ได้ทำงานร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ของไทยโดยที่รัฐบาลอเมริกันเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนทั้งหมด และนั่นจึงเป็นที่มาของนิตยสารที่ชื่อว่า ‘เสรีภาพ’ ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 - 2540
.
เนื้อหาในนิตยสารเสรีภาพพูดถึงประเด็นในสังคมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม เรื่องผู้หญิง เกษตรกรรม สาธารณสุข ฯลฯ แต่ที่จริงแล้วใจความสำคัญอีกประการหนึ่งของนิตยสารเสรีภาพก็คือการเป็นสิ่งพิมพ์ต่อต้านฝ่ายซ้ายในประเทศไทย ซึ่งในเวลานั้น ตัวแทนของฝ่ายซ้ายในไทยก็คือขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่มีท่าทีต่อต้านสหรัฐอเมริกาในช่วงและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นั่นเอง
.
ธงนรินทร์ นามวงศ์ได้มีการจำแนกบทบาทหน้าที่ของนิตยสารเสรีภาพไว้ในวิทยานิพนธ์ที่ชื่อว่า ‘โฆษณาชวนเชื่อในนิตยสารเสรีภาพ พ.ศ. 2497-2518’ โดยอธิบายว่า ในช่วงเริ่มต้นการก่อตั้งนิตยสาร (พ.ศ. 2497 - 2518) จะเป็นการ ‘แนะนำ’ ภาพของคอมมิวนิสต์แก่ผู้อ่านชาวไทยในฐานะ ‘ผู้รุกราน’ และยังคงสานต่อโครงสร้างภาพจำของคนไทยที่มีต่อชาวพม่าในฐานะ ‘ผู้ร้าย’ หรือภัยรุกรานจากนอกบ้านที่มารุกรานดินแดนของ ‘ผู้ดี’ ชาวไทย เพียงแต่เปลี่ยนตัวร้ายจากกองทัพพม่ามาเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มาในรูปของ ‘ญวนอพยพ’, ‘โจรจีนคอมมิวนิสต์’ ที่กำลังซ่องสุมกองกำลังอยู่ทางภาคเหนือของไทย
.
และตามพล็อตหรือโครงเรื่องเกี่ยวกับภัยคุกคามต่างชาติ สิ่งที่จะตามมาเมื่อเกิดวิกฤติปัญหาก็คือการปรากฏตัวของพระเอก (Hero) ที่มากอบกู้เอกราชความเป็นไทย ซึ่งในที่นี้สหรัฐอเมริกาก็ได้ใช้บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะวีรบุรุษในฐานะผู้นำชาติพ้นภ้ย และเป็นผู้นำประเทศกลับไปสู่ภาพของความสงบร่มเย็น ซึ่งในนิตยสาร Life ฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย ก็ได้มีการบรรยายถึงประเทศไทยในฐานะดินแดนแห่งความสงบ ร่มเย็น เป็นแดนสวรรค์เขตร้อนที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอันบริสุทธิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นดินแดนที่ผู้คนมีอัธยาศัยงดงาม ตั้งอยู่ในศีลในธรรม การให้ภาพเมืองไทยเช่นนี้จึงยิ่งเป็นการสนับสนุนบทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ปกป้องคุ้มภัยร้ายจากนอกบ้านและผู้ซึ่งจะนำความสงบมาสู่ประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้ ภาพของคอมมิวนิสต์ในฐานะศัตรูภายนอกที่คิดจะรุกรานประเทศไทยจึงซ้อนทับกับภาพของผู้คิดโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ (ซึ่งเท่ากับชาติ) การปกป้องเอกราชของชาติจากคอมมิวนิสต์จึงเป็นเรื่องเดียวกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์ผู้เป็นสัญลักษณ์และผู้คุ้มครองความเป็นชาติไทย
.
นิตยสารเสรีภาพยังมีความสำคัญในแง่ของการสร้างภาพความโหดร้ายและป่าเถื่อนแก่คอมมิวนิสต์ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการลดค่าความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) เพื่อสร้างความเกลียดชังและความชอบธรรมในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในไทย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นครองอำนาจ เขาก็ได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างสุดตัว โดยเฉพาะในการส่งกองประชาสัมพันธ์ไปยังพื้นที่ห่างไกลในแถบภาคเหนือและอีสาน และยังมีการให้ภาพ ‘พวกทรยศชาติ’ ที่รับเงินจากภายนอกมาทำลายประเทศ
.
นิตยสารเสรีภาพยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ภาพของตำรวจตระเวนชายแดนและพระมหากษัตริย์ที่เดินทางไปยังพื้นที่ทุรกันดาร เพื่อนำเสนอภาพการคุ้มกันประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ที่อาจรุกรานเข้ามาทางตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะตำรวจตระเวนชายแดนที่นอกจากจะเป็นภาพแทนของการปกป้องคุ้มภัยแล้ว ยังมีบทบาทในฐานะผู้นำความเจริญมาก้าวหน้ามาสู่พื้นที่ห่างไกล ซึ่งภาพนี้ก็เด่นชัดมากใน พ.ศ. 2499 ที่มีโครงการสร้างโรงเรียนชาวเขาของกองกํากับการตํารวจชายแดนเขต 5 ซึ่ง สร้างขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
.
การนำเสนอพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ยังเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของนิตยสารเสรีภาพ เจ. โดโนแวน (William J. Donovan) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา คือผู้ที่เสนอแนวคิดให้ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ในการทําสงครามจิตวิทยาเพื่อการต่อต้านคอมมิวนิสต์ การส่งองคมนตรีเพื่อนําพระบรมฉายาลักษณ์ไปพระราชทานให้แก่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวน์เป็นการส่วนพระองค์ รวมไปถึงโครงการเสด็จฯ ประพาสต่างจังหวัดล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์และเพื่อดึงใจมวลชนชาวไทยให้อยู่ข้างสหรัฐอเมริกา กระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการดําเนินนโยบายแผนสงครามจิตวิทยาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา
.
นิตยสารเสรีภาพจึงเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อที่สำคัญซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งอันสลับซับซ้อนในสังคมไทย และหากจะกล่าวว่า บทบาทหนึ่งของนิตยสารเสรีภาพที่สำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย ก็คือการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็คงจะไม่ผิดนัก
.
…แต่ความน่าเศร้าก็คือ แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านไปเกือบศตวรรษแล้ว แต่เมล็ดพันธุ์ที่นิตยสารเสรีภาพได้บ่มเพาะไว้ก็ยังคงออกดอกออกผลงดงาม… เห็นได้จากในยุคปัจจุบันที่เรายังคงเห็นสื่ออีกมากมายที่ยังคงทำหน้าที่สานต่อเจตนารมณ์ที่นิตยสารเสรีภาพได้ทิ้งไว้…


Propaganda Film: จากผีคอมมิวนิสต์สู่ ‘ผีในบ้าน’
.
แม้ว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยจะเริ่มถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมัยรัชกาลที่ 6 จากการที่ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ซึ่งเป็นผู้หลงใหลในภาพยนตร์ และยังเป็นนักทำหนังมือสมัครเล่น ได้ทรงก่อตั้ง ‘กองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว’ เพื่อผลิตภาพยนตร์ข่าวของกรมรถไฟและข่าวสารประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล แต่กว่าที่ ‘ภาพยนตร์’ จะกลายเป็นสื่อทรงอานุภาพที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างล้นหลาม ก็เมื่อเข้าล่วงรัชกาลที่ 7 ที่ได้มีการสร้าง ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ ขึ้นเป็นโรงหนังแห่งแรกในประเทศไทย ล่วงเลยถึงในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้มีการจัดทำหนังเรื่องแรกโดยรัฐบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2478 นั่นก็คือ ‘เลือดทหารไทย’ ซึ่งออกฉายหลังหนังเรื่องแรกของไทยอย่าง ‘โชคสองชั้น’ เพียงแปดปี
.
การเกิดขึ้นของ เลือดทหารไทย สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้ปกครองไทยเล็งเห็นถึงอานุภาพและความสำคัญของภาพยนตร์ในฐานะช่องทางการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่หาญกล้าของนายทหารหาญผู้เป็นตัวแทนของชาติไทย โดยสามารถกล่าวได้ว่า เลือดทหารไทย เป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ไทยอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงได้ทุนสร้างจากรัฐ แต่จอมพล ป. ยังลงมือวางพล็อตเรื่องเองด้วย!
.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ไทย ได้ค้นพบหลักฐานที่สะท้อนถึงเป้าหมายในการสร้างหนังเรื่องนี้ โดยปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2477 ณ วังปารุสกวัน ซึ่งอนุมัติให้มีการสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้น “เพื่อการโฆษณาให้ราษฎรนิยมกิจการของกระทรวงต่าง ๆ” เนื้อเรื่องของหนังว่าด้วยชะตากรรมของชายหญิงที่เกี่ยวพันกับราชการทหารและรักสามเส้า โดยเน้นที่วีรกรรมของพระเอกผู้เป็นนายทหารซึ่งสามารถนำทัพไทยเข้ารบในสงครามและคว้าชัยกลับพระนครได้อย่างงดงาม
.
ในยุคสร้างชาติ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งในขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ก็ได้สร้างหนังอีกเรื่องขึ้นมาโดยใช้ทีมงานถ่ายทำเดียวกับหนังเรื่อง เลือดทหารไทย แต่คราวนี้จุดประสงค์ในการทำหนังหาใช่เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของทหาร แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของชาวนาชาวไร่ไทยในฐานะกระดูกสันหลังของชาติ
.
หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า ‘บ้านไร่นาเรา’ และแม้ว่าจะเป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อสนองต่อนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป. ในยุคนั้น แต่จอมพล ป. ก็ยังพยายามสอดแทรกการรณรงค์เรื่องการแต่งกายและวิถีชีวิตแบบ ‘ไทยอารยะ’ เข้าไปในเรื่อง ด้วยเหตุนี้ชาวนาชาวสวนในเรื่องจึงไม่ได้นุ่งกางเกงม่อฮ่อมหรือคาดผ้าขาวม้าที่เอว แต่พากันสวมเสื้อเชิ้ตและรองเท้าบู๊ตแบบชาวไร่ตะวันตกไปดำนา!
.
เมื่อถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่าทีของการใช้หนังในการโฆษณาชวนเชื่อก็มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับการโฆษณาผ่านโปสเตอร์ จากการเผยแผ่อุดมการณ์รัฐชาติ สู่การสร้างความเกลียดชังและนำเสนอภาพคอมมิวนิสต์ในฐานะปีศาจร้าย
.
นอกจากการก่อตั้งนิตยสารเสรีภาพเพื่อโต้ตอบลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว สํานักข่าวสารอเมริกันในประเทศไทยยังอำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพื่อนำไปจัดฉายในจังหวัดห่างไกล เช่น เชียงใหม่, อุบลราชธานี, อุดรธานี, นครราชสีมา, สงขลา, ขอนแก่น, ยะลา, สกลนคร, นครพนม, นครศรีธรรมราช และพิษณุโลก โดยภาพยนตร์ที่ถูกนำไปจัดฉายนั้นมีตั้งแต่ การ์ตูนล้อลัทธิคอมมิวนิสต์เรื่อง หนุมานกับลูกต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Adventures of Hanuman), ภาพยนตร์เรื่อง ไฟเย็น (Cold Fire) อันว่าด้วยกระบวนการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์เพื่อเข้ามาบ่อนทำลายชาติ จัดทำขึ้นเพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในภาคอีสานของไทย, ภาพยนตร์บรรยายด้วยการร้องหมอลํา สุนทราภิรมย์ ชุดที่ 9 ร่ายภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
.
แต่ในบรรดาหนังโฆษณาชวนเชื่อที่โดดเด่นที่สุดในยุคนี้ ก็หนีไม่พ้น ‘คำสั่งคำสาป’ ซึ่งหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) ได้ระบุว่า ‘เป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคแรก ๆ ของไทย’ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี 2494 เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวการสืบหาเบื้องหลังของเหตุการณ์ลึกลับ เมื่อรูปปั้นของ ดร.ทองคำ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีใจรักในประชาธิปไตยและมีผู้คนศรัทธาเป็นจำนวนมาก กลับเปล่งเสียงเชิญชวนให้ผู้คนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังเกิดเหตุฆาตกรรมปริศนาภายในบ้าน โดยทุนในการสร้างทั้งหมดนั้นถูกอุดหนุนด้วยสํานักข่าวสารอเมริกัน ซึ่งในภายหลัง หนึ่งในเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวอเมริกันอย่าง พอล กู๊ด ก็ได้รำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อเขานำภาพยนตร์เหล่านี้ไปฉายตามจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ห่างไกลของไทย โดยภาพที่เขาจำได้ดีก็คือ ภาพยนตร์เหล่านี้มักจะถูกฉายพร้อมกับการแจกจ่ายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ และหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก เพื่อให้ความรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยและภัยร้ายของคอมมิวนิสต์
.
การผลิตภาพยนตร์เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อแทบจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘พันธกิจหลัก’ ของรัฐไทยมานับแต่นั้น ด้วยความที่ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ประชาชน โดย วรัญญา ประเสริฐ ได้รวบรวมสื่อทางการเมืองในยุคการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ไว้ในวิทยานิพนธ์ชื่อ ‘การสื่อสารทางการเมืองในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2557 - 2559’ พบว่าในยุคนี้มีการสร้างภาพยนตร์ไทยเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์รัฐมากมาย ประกอบด้วย ภาพยนตร์สั้นชุดไทยนิยม 12 เรื่อง (ในม่านหมอก, ปริศนาวันล่าสัตว์, กลับบ้าน, เจ้าชายป้อม, เปลี่ยน, BANGKOK 2014, 30, ความลับของวินัย, คุณธรรม, ไอติมแมน, 2110 และ ก้าว) และ ภาพยนตร์สารคดีชุดก้าวข้าม. . .เพื่อตามฝัน 7 เรื่อง (การสร้างที่กลับมา, ศรัทธาและเหตุผล, ชีวิตใหม่ที่เชื่อมโยง, กำลังใจเคลื่อนที่เร็ว, น้ำเดียวกัน, ตามหาจิตวิญญาณไทย และ รากแก้วของต้นไม้ใหญ่) โดยเนื้อหาของภาพยนตร์ทั้งหมดมักมีประเด็นร่วมกันอยู่ไม่กี่อย่าง นั่นก็คือ การสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจเพื่อขจัดความขัดแย้งในประเทศชาติ, การสร้างความสมานฉันท์สามัคคีในหมู่ประชาชน, การเชิดชูสถาบันกษัตริย์ และการเชิดชูความเจริญทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช.
.
…ซึ่งถามว่าภาพยนตร์เหล่านี้ ‘ชวน’ ให้ ‘เชื่อ’ หรือไม่… ไม่พูดดีกว่า

Propaganda Music: ขอความสุขกลับคืนมา (สักทีนะไอ้…ต้าว)
.
ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2519 สถานการณ์การเมืองคุกรุ่นไปด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจนำในระหว่างฝ่ายซ้ายที่นำโดยเหล่านักศึกษาและฝ่ายขวาที่มีรัฐบาลให้การหนุนหลัง บรรยากาศในช่วงเวลานี้เต็มไปด้วยการโฆษณาของแต่ละฝ่าย ‘เพลง’ หนึ่งในประดิษฐกรรมที่สามารถส่งสารและสะเทือนความรู้สึกของผู้คน จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ
.
ในวิทยานิพนธ์ของ ยิ่งลักษณ์ บุญเก็บ เรื่อง ‘การใช้เพลงปลุกใจในฐานะสื่อประชาสัมพันธ์ให้คนไทยสำนึกรักชาติของกองทัพบก พ.ศ. 2475-2550’ ยิ่งลักษณ์ได้ศึกษาพัฒนาการของเพลงปลุกใจที่ผลิตโดยกองทัพบกในฐานะสื่อประชาสัมพันธ์ให้คนไทยมีสำนึกรักชาติ และพบว่า เป้าหมายในการประชาสัมพันธ์เพลงของกองทัพบกนั้นแตกต่างกันไป (แต่ไม่มากนัก) ตามยุคสมัย แต่สามารถแบ่งได้เป็น 4 ช่วง คือ เพลงยุคปลูกอุดมการณ์ชาตินิยม (2475-2500) เป็นเพลงที่นำเสนอการเสียสละพลีชีพเพื่อชาติ หวงแหนดินแดนอธิปไตยและความเป็นเชื้อชาติไทย, เพลงยุคสู้ภัยคอมมิวนิสต์ (2501-2525) ที่มีแก่นในการให้กำลังใจทหารในการปฏิบัติหน้าที่ การประณามโจมตีผู้เป็นภัยต่อชาติและการเตือนสติเตือนใจคนไทย, เพลงยุคงานประจำทำตามหน้าที่ (2526-2535) เน้นการแสดงถึงความภาคภูมิใจในกองทัพบก, เพลงยุคกู้ภาพลักษณ์กองทัพบก (2536-2538) มุ่งแสดงเจตนารมณ์และจุดยืนของกองทัพบกภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 และ เพลงยุคฟื้นฟูอุดมการณ์รักชาติ (2539-2550) ซึ่งแก่นหลักของเพลงคือการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การแสดงความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ และการแสดงถึงบทบาทของทหารที่เสียสละเพื่อปกป้องชาติ
.
หากเราย้อนกลับไปดูเพลงปลุกใจหรือเพลงโฆษณาชวนเชื่อที่โด่งดังที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเพลงปลุกปั่นยุยงประจำใจของมวลชนสายอนุรักษ์นิยมอย่าง ‘หนักแผ่นดิน’ โดยผู้แต่งเพลงนี้ก็คือ พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 เนื้อหาของเพลงมุ่งแบ่งแยกคนในชาติออกเป็นสองกลุ่ม และการแปะป้ายภาพผู้ร้ายที่คุกคามความเป็นชาติในอุดมคติให้กับฝ่ายหัวก้าวหน้าในช่วงเวลานั้น
.
“คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการเกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา”
.
ด้วยความที่เนื้อหาในเพลงที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกและตีกรอบของความเป็น ‘คนดี’ ของคนในชาติเอง เพลงหนักแผ่นดินจึงอาจเป็นเพลงแรก ๆ ที่นิยามคนในชาติด้วยกันเองให้เป็นศัตรูหรือทำให้ ‘คนใด’ ตามในเนื้อเพลงกลายเป็นคนนอกและสามารถกำจัดออกไปได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา เพลงนี้จึงถูกเปิดตามสถานีวิทยุของฝ่ายขวา เพื่อสร้างความเป็นคนอื่นให้กับฝ่ายซ้าย และสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามและกำจัดฝ่ายซ้ายของฝ่ายตนเอง
.
บทบาทหน้าที่ของเพลงในฐานะเครื่องมือของรัฐในการปลุกใจคนในชาติผู้ถูกปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองในแบบเดียวกัน และสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปรามผู้เห็นต่าง ไม่เคยเลือนหายไปจากสังคมไทย ในยุคปัจจุบัน เรากลับได้เห็นเพลงโฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์รัฐที่กลับถูกแต่งขึ้นโดยภาคประชาชน อันเป็นข้อพิสูจน์ว่าการผลของการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐก่อนหน้านี้ได้ผลิดอกออกผลงอกงาม เพลง ‘ขอความสุขคืนกลับมา’ (พ.ศ. 2553 หรือหนึ่งปีก่อนการรัฐประหารครั้งล่าสุด) ที่แม้ว่าจะมีลักษณะที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ได้มีท่าทีประณามรุนแรงเท่ากับเพลงหนักแผ่นดิน แต่แก่นหลักของเพลงนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับเพลงหนักแผ่นดินที่เป็นการนำเสนอภาพผู้ยึดถืออุดมการณ์คนละแบบ (คนเสื้อแดง) ในฐานะภัยคุกคามของประเทศชาติในอุดมคติ โดยเฉพาะในท่อนที่นำเสนอว่า ณ ขณะนั้นบ้านเมืองที่เคยสวยงามต้องพังพินาศลงด้วยความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งมีสาเหตุมาจากกลุ่มทางการเมืองอีกฝ่าย
.
“บ้านเราเหมือนเมืองในฝัน อยู่ตรงไหนสุขใจทั้งนั้น บ้านคนไทยจนไม่นานมานี้ เหมือนมีลมแห่งความขัดแย้ง คอยพัดความแห้งแล้ง เข้ากลางใจลมยังคงพัดพา ความสุขและความสดใส กับรอยยิ้มจากใจคนไทย ไม่มีเหลือ”
.
ถ้าเพลง ขอความสุขคืนกลับมา นำเสนอภาพของวิกฤติบ้านเมืองอันมีสาเหตุมาจากภัยคุกคามในบ้าน เพลง ‘‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ที่มีการอ้างว่าแต่งคำร้องโดยพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ในขณะนั้น ก็คือการสานต่อเรื่องราวด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์การเป็นวีรบุรุษของกองทัพที่ก้าวเข้ามาปกป้องชาติจากภัยคุกคาม
.
เนื้อหาของบทเพลงมีลักษณะอ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นข้ออ้างตามที่ปรากฏในประกาศยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อนหน้านี้ โดยใจความหลักกล่าวถึงความขัดแย้งบาดหมางในบ้านเมืองอันเป็นเหตุให้ต้องมีการก้าวเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อคืนความสงบสุขสู่การดำรงชีวิตของคนในชาติ แต่ด้วยความเป็นเพลง เนื้อหาในบทเพลงจึงมีการขยายความ เพิ่มรายละเอียด และเลือกใช้คำที่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมได้มากกว่าแถลงการณ์ทางการเมือง
.
“วันที่ชาติและองค์ราชา มวลประชาอยู่มาพ้นภัยขอดูแลคุ้มครองด้วยใจ นี่คือคำสัญญา วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป เพื่อนำรักกลับมา ต้องใช้เวลาเท่าไร โปรดจงรอได้ไหม จะข้ามผ่านความบาดหมาง”
.
เนื้อหาในบทเพลงเน้นให้เห็นภาพสถาบันชาติและสถาบันกษัตริย์ที่เป็นหัวใจของคุณค่าความเป็นไทยที่กำลังตกอยู่ในวิกฤติของภัยคุกคาม โดยที่สามารถอุปมาได้ว่า ‘ไฟลุกโชน’ ในเนื้อเพลงก็คือวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่ ‘คนที่เดินเข้ามา’ ก็สะท้อนภาพของทหารที่อาสาเข้ามาขจัดความขัดแย้งและคืนความสงบสุขแก่สังคมไทย เนื้อเพลงคืนความสุขให้คนในชาติจึงเป็นการเล่าเรื่องสังคมอันสงบสุขที่เกิดจากการยึดถือคุณค่าความดีงามในสังคมไทยที่มาจากสถาบันชาติและสถาบันกษัตริย์ที่เชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตอันสงบสุขของคนในชาติ (“ปวงประชาอยู่มาพ้นภัย”) แต่แล้วกลับเกิดความพลิกผันเมื่อคุณค่าความดีงามเหล่านั้นกำลังถูกคุกคามจากภัยร้ายที่หมายมั่นจะกำจัดคุณค่าดังกล่าวออกจากสังคมไทย (วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย”) ซึ่งสถานะอันสั่นคลอนของคุณค่าความเป็นไทยก็เป็นผลทำให้ชีวิตของคนในสังคมไทยต้องเผชิญภัยคุกคามไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทหารที่จะทำหน้าที่ยุติภัยร้ายดังกล่าวปกป้องคุณค่าของสังคมไทยอันเป็นการปกป้องความมั่นคงของชีวิตของคนในสังคม
.
แต่ถ้าถามว่าปัจจุบัน ‘เขา’ คืนความสุขให้เราสำเร็จดังที่พรรณนาไว้ในเพลงหรือยัง… เอาเป็นว่าบางทีโฆษณาชวนเชื่อมันก็ไม่ชวนให้เชื่ออะโนะ