วันจันทร์, พฤษภาคม 03, 2564

มีใครบ้างกำลังอดอาหาร เพื่อสิทธิประกันตัว ?



iLaw
April 29 at 12:35 AM ·

29 เมษายน 2564 เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวต่อเนื่องเป็นวันที่ 45 แล้ว มีรายงานสภาพร่างกายของเพนกวินว่า ถ่ายออกมาเป็นลิ่มเลือดสร้างความกังวลใจให้แก่ครอบครัวและเพื่อน วันนี้เวลา 13.00 น. ทนายความจะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง นอกจากนี้เพนกวินแล้วในเรือนจำยังมีรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลและฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารีที่อดอาหารเช่นกัน
.
ขณะที่ด้านนอกเรือนจำ หน้าศาลอาญาก็มีเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ People Go Network และฟิวส์-พีรพล ระเวกโสมอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวเช่นกัน
.
.
ความสำคัญของสิทธิการประกันตัว
.
สิทธิในการประกันตัว หรือหรือสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ก่อนที่ศาลจะพิพากษาจนถึงที่สุด เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเป็นสิทธิที่มาจากหลักการที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะการคุมขังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงกระทบต่อเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตและร่างกายของมนุษย์
.
ทั้งนี้ สิทธิในการประกันตัวและสิทธิที่ต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้ถูกรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
.
.
• ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน : ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการ #สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการ #พิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี
.
.
• มาตรา 29 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2560 : ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้
.
แม้ว่าสิทธิในการประกันตัวจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่สิทธิดังกล่าวก็สามารถถูกจำกัดหรือยกเว้นได้ โดยมีเงื่อนไขกำหนดไว้ในกฎหมาย อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 29 วรรคสาม ที่กำหนดว่า การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี
.
หรือในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) มาตรา 108/1 ได้ระบุว่า "การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
.
(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
.
คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว"
.
.
คดี 112: ศาลอ้างกระทำซ้ำข้อหาเดิม อาจเข้าข่ายขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
.
สำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2557 จนถึง ปี 2560 จะพบว่า จำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 ที่ได้รับสิทธิในการประกันตัวคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของจำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้งหมด แม้ว่าในปี 2561 ที่มี "แนวปฏิบัติใหม่" เกี่ยวกับคดี 112 ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิในการประกันตัวเพิ่มมากขึ้น แต่พอมาถึงปี 2563 ที่มีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้อย่างกว้างขวางอีกครั้ง ก็ทำให้เกิดกรณีไม่ให้สิทธิในการประกันตัวในคดี 112 อีกครั้ง
.
โดยเหตุผลที่ศาลนิยมใช้ในการพิจารณา "ไม่ให้สิทธิประกันตัว" คือ คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ร้ายแรงและการกระทำซ้ำในข้อหาเดิม
.
การไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 อาจเข้าข่ายขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ในกรณีที่การไม่ให้สิทธิประกันตัวนั้นเป็นไปอย่างไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็น ยกตัวอย่าง เช่น ในคดีการชุมนุมและปราศรัยของกลุ่มคณะราษฎร ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวจำเลยโดยอ้างว่า "กลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำข้อหาเดิม" มีประเด็นปัญหาว่า การให้เหตุผลของศาลอาจขัดต่อหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยสองประเด็น ได้แก่
.
.
๐ หนึ่ง การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยได้ทำการจัดการชุมนุมและปราศรับบทเวทีการชุมนุมในประเด็นเกี่ยวการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้กษัตริย์ธำรงตนภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวอาจตีความได้ว่าเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริตหรือตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การให้เหตุผลว่ากลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำ ไม่ว่าสิ่งที่กระทำนั้นจะเป็นความผิดต่อกฎหมายจริงหรือไม่ก็ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การก่อ "เหตุอันตราย" ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ให้จำเลยได้รับประกันตัวตาม ป.วิอาญา มาตรา 108/1 (3)
.
๐ สอง การที่ศาลให้เหตุผลเพื่อไม่ให้สิทธิประกันตัวแก่จำเลยว่า "กลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำข้อหาเดิม" ก็เข้าข่ายผิดจากหลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เป็นการ "สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยมีความผิด" ทั้งที่การดำเนินคดีทั้งหมดที่เกี่ยวกับการชุมนุมของจำเลยยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่า มีความผิด ดังนั้น การไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน