เราที่ชังชาติ หรือชาติที่น่าชัง
ธีรชัย ระวิวัฒน์
8 ตุลาคม 2563
สถาบันปรีดี พนมยงค์
คำว่า “ชังชาติ” เป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นโดยบรรดากลุ่มคนที่เข้าใจไปเองว่า ตัวเองคือ “ผู้รักชาติ” อวยตัวเองและสถาปนาตัวเองว่า ตัวเองเป็นผู้ที่รักชาติเหนือกว่าผู้ใด และพร้อมผลักไสคนที่คิดต่างออกไปจนตกขอบความหมายของคำว่า ผู้รักชาติ
แต่เราคงไม่จำเป็นต้องถกเถียงกันบนเวทีว่า ใครชังชาติ หรือใครรักชาติ ผมอยากจะชวนทุกท่านหันกลับมาดูต้นเหตุของมัน
โดยปกติแล้ว ไม่มีทางเลยที่เราจะชิงชังสิ่งใดโดยที่ไร้เหตุแห่งความชัง คนเราจะเกลียดจะชังอะไร แสดงว่า สิ่งนั้นต้องมีอะไรซักอย่างที่น่าชัง เราชังอะไร คนรุ่นใหม่ชังอะไร ผมชังอะไร ถ้าพวกผมชังชาติ นั่นหมายความว่า ชาติมันต้องมีอะไรบางอย่างที่น่าชัง
คำว่า “ชาติ” ผมไม่ได้หมายถึงรัฐชาติ ที่มีดินแดน ประชากร รัฐบาล อธิปไตย และชาติของผมไม่ได้หมายถึงชาติพันธ์ุ เชื้อสาย เผ่าพันธ์ุ แต่ชาติที่ผมจะให้ดู คือ ชาติที่หมายถึงสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบัน สังคมที่เราจะใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต สังคมที่เราเกิด เรียนรู้ ก้าวเดินและเติบโต สังคมที่เราจะส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป
ถ้ามีคนชังชาติ แสดงว่า ต้องมีอะไรในชาติหรือสังคมที่ผิดปกติ ที่น่าชัง จึงนำไปสู่การตั้งชื่อหัวข้อในการพูดครั้งนี้ว่า เราที่ชังชาติ หรือชาติที่น่าชัง
หลายคนบอกว่า เด็กที่ออกมาทุกวันนี้มันโง่ โดนล้างสมองมา ผมก็จะขอยอมรับว่า “จริงครับ” พวกผมโดนล้างสมองมา โดนล้างมานานมาก โดยเครื่องมือที่ล้างสมองผมนั้น คือ ระบบและหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
หลายคนบอกว่า เด็กพวกนี้คิดเองไม่ได้หรอก โดนหลอกมาทั้งนั้น ผมก็จะยืดอกตอบไปว่า จริงครับ ผมโดนหลอก โดนเขาหลอกมาโดยตลอดครับ โดนเขาหลอกว่า สังคมที่เป็นอยู่มันช่างวิเศษเลิศเลอ ฝรั่งหลายคนอิจฉาเรา เมืองไทยดีที่สุดแล้ว แต่พอผมเติบโตขึ้น ผมจึงรู้ว่า มันคือคำโกหกคำโต
สังคมนี้หลอกเราว่า โรงเรียน คือ บ้านหลังที่สอง ครู คือ พ่อแม่คนที่สอง สถานศึกษา คือ ที่ที่ปลอดภัยของนักเรียน แต่หลายวันที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่า มันไม่ได้ปลอดภัยอย่างเขาบอก ยังมีการทำร้ายร่างกายนักเรียน แต่ครูที่ทำร้ายก็ออกมาขอความเป็นธรรม ขอที่ยืนในสังคม ขอความเห็นใจ ทั้ง ๆ ที่คนที่น่าเห็นใจที่สุด คือ นักเรียน แล้วมาบอกโรงเรียน คือ บ้านหลังที่สอง ถ้าโรงเรียน คือ บ้านหลังที่สองจริง ผมถามว่า เราต้องไถผมเกรียน ตัดผมติ่ง นอนอยู่บ้านไหมครับ เราต้องใส่เครื่องแบบอยู่บ้านหรอครับ มีไหม ตื่นเช้ามาใส่ชุดลูกเสือ นั่งผูกเงื่อนพิรอดเล่นในห้องครัว ไม่มีครับ มันโกหกชัด ๆ
พอเติบโตมาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เราก็ถูกหลอกอีกว่า มหาวิทยาลัยนี้จะรับใช้ประชาชน รักประชาชน มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่เอาจริงท่านก็กลับสยบยอมต่ออำนาจรัฐและไม่สบายใจที่นักศึกษาออกมาใช้เสรีภาพที่ตนมี
พอเราเรียนจบ เราก็ถูกหลอกอีกครับ ถูกหลอกให้รอ พอวันรับจริงเราก็ถูกหลอกอีกครับ หลอกว่า การรับปริญญาจะต้องแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่พอเอาจริงก็มีบางคนที่ไม่ต้องสนใจระเบียบเหล่านั้น ภาพมันเห็นชัด
เราถูกหลอกว่า การเป็นทหาร คือ การรับใช้ชาติ แต่พอเข้าจริง เราก็เข้าไปรบหญ้าฆ่ากับมด เลี้ยงไก่ ซักผ้าให้ลูกเมียนายพล
ถูกหลอกว่า อำนาจสูงสุดเป็นประชาชน แต่ผู้มีอำนาจทำอะไรไม่เห็นจะเห็นหัวประชาชนเลย กรณีถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวกับประชาชน พอประชาชนเข้าชื่อกันแสนกว่าชื่อ ก็บอกว่า อย่าไปให้ค่ามาก เพราะเป็นประชาชนแค่แสนคน เอ้า?
เห็นไหม สังคมนี้มันหลอกเรามาตลอด ถ้าสังคมแบบนี้ คือ ชาติที่ท่านว่า ใครบ้างจะไม่ชัง มันน่าชัง เพราะเราเห็นความย้อนแย้งมากมาย เห็นความ “อิหยังวะ” มากมายในสังคม
เราเห็นสื่อบางสำนักเอาการตายของเด็กคนหนึ่ง มาสร้างความโด่งดังให้กับคนคนหนึ่ง คือ ผมไม่ได้ว่าลุงพล ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับลุงพล ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับท่าเต้นเพลงเต่างอยของแก แต่ผมมีปัญหากับสื่อพวกนี้ ผมไม่เข้าใจ แบบ อิหยังวะ!!
เวลามีวิกฤตทางการเมือง สื่อทั้งหลายก็ชอบเอาไมค์ไปถามว่า จะยึดอำนาจไหม จะรัฐประหารไหม ทำเหมือนเป็นเรื่องปกติ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ควรปกติ ไหนจะไปอวยคำนำหน้าให้นายพลทั้งหลายว่าบิ๊กนั่นบิ๊กนี่ บิ๊กตู่ บิ๊กป้อม บิ๊กแดง เขาใหญ่มาจากไหนหรอครับ
แต่ก่อนผู้ใหญ่กลุ้มใจ บอกว่า เด็กสมัยนี้เอาแต่เล่นโทรศัพท์ ไถเฟส เลื่อนทวิตเตอร์ ไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง แบบนี้จะเป็นอนาคตของชาติได้ยังไง แต่พอวันนี้เด็กสนใจการเมือง ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็บอกว่า เด็กพวกนี้ชังชาติ หัวรุนแรง มีหน้าที่เรียนไม่ยอมเรียน มัวแต่มาสนใจการเมือง “อ่าว! จะเอาไงกับพวกผม”
บอกว่า เด็กสมัยไทยแลนด์ 4.0 ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คิดเองได้ วิเคราะห์เองเป็น คิดนอกกรอบเดิม แต่พอเด็กคิดนอกกรอบ วิเคราะห์เอง ก็บอกว่า เด็กพวกนี้มันหัวกบฏ ดื้อด้าน สอนไม่จำ และสุดท้ายก็มาจบที่เด็กพวกนี้ชังชาติ เอ้า!! สรุปจะเอายังไง มันมีความอิหยังวะ!! เต็มไปหมด สังคมมันย้อนแย้ง มันน่าชัง
แต่สิ่งที่ยิ่งทำให้สังคมน่าชังเข้าไปอีก คือ คนที่เห็นปัญหานะ ไม่ใช่ไม่เห็น รู้ว่ามีปัญหา แต่ตั้งใจละเลยมัน สนใจแต่จะอวยชาติ สรรหาคำสรรเสริญคำโต ๆ เพื่อแสดงออกว่า “ฉันรักชาติ” ขณะเดียวกันก็ชี้หน้าแขวนป้ายว่า “ชังชาติ” “หนักแผ่นดิน” กับคนที่บอกว่า สังคมนี้มีปัญหาอย่างไร
บอกว่า พวกชังชาติมองแต่เรื่องแย่ ๆ ของชาติ เรื่องดี ๆ มีเยอะแยะไม่มอง มันเหมือนกับเราอยู่ในบ้านร่วมกัน เราเห็นว่า ประตูมันพัง หน้าต่างมันหลุด หลอดไฟมันเสีย เราก็พยายามบอกว่า เห้ย!! ประตูมันพังนะ หน้าต่างมันหลุดนะ หลอดไฟมันเสียนะ คุณก็มาบอกเด็กพวกนี้มองแต่ของที่พัง ของดี ๆ ในบ้านก็มีเยอะแยะ ดูสิ ผนังเนี่ยสวยงามมาก เสาก็เป็นเสาโรมัน พวกผมก็พยายามจะบอกว่า เออ มันสวย แต่ประตูมันพังไง หน้าต่างมันหลุดไง หลอดไฟมันเสียไง เราต้องซ่อม ต้องเปลี่ยน แก้ไข
คุณก็บอกว่า เห้ย!! จะโวยวายทำไมเรื่องประตูพัง หน้าต่างหลุด พูดแบบนี้ไม่รักบ้านนี้ใช่ไหม ชังบ้านนี้ใช่ไหม ไม่รักบ้านนี้ก็บอกไป นี่บ้านของพ่อ!!! เอ้า! อะไรวะ คือยังไง จะให้เออออห่อหมกว่า ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน แบบนี้ดีแล้วครับ เยี่ยมครับ แบบนี้หรอถึงเรียกว่า รักชาติ เรียกว่า คนดี
ส่วนคนที่คิดต่างจากฉัน มันชังชาติ มันทำลายศาสนา มันล้มล้างสถาบัน วาทกรรมเหล่านี้มันฉีกกระชากให้คนคิดต่าง เป็นคนอื่น ฉีกกระชากสังคมให้ขาดออกจากกัน และนับวันแผลนั้นจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เรามีบทเรียนมาแล้วครับว่า ผลของวาทกรรมเหล่านี้มันจบแบบไหน คนที่ถูกใส่ร้ายว่า ฆ่าในหลวง ร.8 อย่างอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกไล่ออกนอกประเทศ หรือคนที่ถูกใส่ร้ายว่าอยากเป็นประธานาธิบดี อย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ถูกไล่ออกนอกประเทศ คนที่ถูกตราหน้าว่า หนักแผ่นดิน เป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ก็ถูกล้อมฆ่าอย่างชอบธรรมและสนุกสนานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง
คนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนจน คนโง่โดนทักษิณหลอก พวกล้มเจ้า พวกผู้ก่อการร้าย ก็ถูกล้อมฆ่าอย่างเป็นระบบและชอบธรรม ที่สี่แยกคอกวัว สี่แยกราชประสงค์ ท่านอยากให้มันจบแบบนี้หรอครับถึงสร้างวาทกรรมแบบเดิมขึ้นมาอีก
แต่สุดท้ายผมอยากจะบอกว่า ไม่ว่าคุณจะเข้าใจไปเองว่าเป็นผู้รักชาติ ไม่ว่าคุณจะตีตราคนเห็นต่างว่าผู้ชังชาติ แต่อย่างน้อยไม่ว่าจะเป็นผู้รักชาติหรือผู้ชังชาติ เราทั้งหมด คือ ผู้ร่วมชาติ เราต้องอยู่ร่วมกันในชาติหรือในสังคมนี้
ความแตกต่างทางความคิด ความแตกต่างทางอุดมการณ์ คือ เสน่ห์ของเสรีภาพ ลดทิฐิของท่าน เปิดใจฟังผู้ร่วมชาติของท่าน มองไปดูประตูที่พัง หน้าต่างที่หลุด และร่วมเปลี่ยนแปลงแก้ไขมันไปด้วยกัน เราไม่จำต้องเห็นตรงกัน แต่เราไม่จำเป็นต้องทำลายล้างล้อมฆ่ากัน เราต้องทำให้ความน่าชังในสังคมนี้มันลดลง ในความน่าชังทั้งหลายมันจบในรุ่นเรา และเมื่อไหร่ที่ชาติเราหายน่าชัง วันนั้นจะไม่มีคนที่หนักแผ่นดินหรือชังชาติอีกต่อไป
ที่มา: เรียบเรียงจากคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 6 หัวข้อ "จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ทาง Facebook: CARE คิด เคลื่อน ไทย