Puangthong Pawakapan
3h ·
อันนี้คิดต่อจากที่เข้าไปฟัง CH ห้องอ.ปิยบุตรในช่วง 30 นาทีสุดท้าย ... เวลาคนไทยพูดถึงศาล ประเด็นที่มักได้ยินบ่อยๆ คือศาลต้องเป็นกลาง ไม่เลือกข้างทางการเมือง ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความเที่ยงธรรม ขณะเดียวกันศาลต้องยึดโยงกับประชาชน ต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้ แล้วเราก็พยายามมองหาโมเดลแบบตะวันตก ... เราอยากตั้งขอสังเกตแบบนี้
ในสหรัฐอเมริกา เวลาเราอ่านข่าวเกี่ยวกับการเลือกผู้พิพากษาศาลสูง เขาจะวิเคราะห์กันชัดเจนว่า ผพษ.แต่ละคนมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เป็นสายเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม คนนี้พรรคเดโมแครตเลือกมา เป็นพวกโปรสิทธิของผู้หญิง ผพษ.หญิงคนหลังสุดเลือกโดยทรัมพ์จะส่งผลต่อกฎหมายทำแท้งค์แน่เพราะเป็นพวกเคร่งศาสนา เป็นต้น พูดง่ายๆ คือคนอเมริกันรู้ดีว่า ผพษ.มีจุดยืนทางการเมืองเป็นของตัวเอง และการตัดสินของพวกเขาส่งผลต่อประเด็นทางสังคมการเมืองแน่ๆ การเรียกร้องให้ศาลปลอดจากอคติทางการเมือง จึงน่าจะเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับคนอเมริกัน
ทั้งนี้ ศาลสูงของสหรัฐฯ ทำหน้าที่เหมือนศาลรัฐธรรมนูญในยุโรปและไทยด้วย คือตัดสินประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการเมือง เช่น สิทธิในการทำแท้งค์ สิทธิของ LGBTQ สิทธิในการมีอาวุธในครอบครอง ปัญหาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
กระนั้น จุดยืนทางการเมืองต้องไปนำไปสู่การละเมิด due process กระบวนการยุติธรรมต้อง free and fair สำหรับทุกฝ่ายด้วย และไม่ใช่ตัดสินทุกอย่างตามการเมืองของคนที่แต่งตั้งตัวเองมาอย่างไร้เหตุผล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แม้สัดส่วนของศาลสูงในปัจจุบันเป็นคนที่แต่งตั้งโดยฝ่ายรีพับลิกัน แต่เมื่อทรัมพ์ต้องการล้มการเลือกตั้งล่าสุดด้วยการร้องเรียนต่อศาลสูงให้ปฏิเสธผลการเลือกตั้งในรัฐเพนซิลวาเนีย ศาลสูงปฏิเสธคำขอ
กลับมาที่ไทย ทุกวันนี้มีคนไทยสักเท่าไรที่เชื่อว่าศาลเป็นกลาง และปลอดจากอคติทางการเมือง? .... น้อยมาก ต่อให้ศาลอมศาลพระภูมิมาพูด เราก็ไม่เชื่อ เพราะเราเชื่อว่าเขาเชื่ออะไร ต้องปกป้องอะไร และอำนาจทางการเมืองส่งผลต่อการตัดสินของเขาอย่างไร
ด้วยอำนาจทางการเมืองที่ครอบงำระบอบนี้อยู่ คนในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับต้องเชื่อ ต้องตัดสินคดีการเมืองไปในทางเดียวเท่านั้น เขาไม่สามารถ หรือไม่กล้า ที่จะเลือกเป็นอื่นได้ แม้ว่าบางคนอาจจะไม่เชื่อแล้ว แต่ก็ไม่กล้าที่จะแตกต่าง เพราะมันจะส่งผลต่อการไต่เต้าในตำแหน่งหน้าที่ของพวกเขาอย่างแน่นอน
ไม่ว่าเราจะออกแบบระบบศาลให้เหมือนฝรั่งอย่างไร เขาก็จะทำให้กลายเป็นแบบไทยๆ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง รัฐธรรมนูญ 2540 อุตส่าห์ไปลอกศาลรัฐธรรมนูญมาจากยุโรป แต่มันก็กลายเป็นไทยๆ ไปจนได้
ปัญหาของประเทศนี้จึงไม่ใช่เรียกร้องให้ศาลปลอดอคติทางการเมือง แต่เรียกร้องให้ศาลมีสิทธิที่จะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างได้ต่างหาก เป็นจุดยืนทางการเมืองที่ยึดหลักการสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นใหญ่
แต่ก็นั่นแหละ เราต่างก็รู้ว่าเราไม่สามารถหวังว่าศาลจะทำให้การเมืองดีขึ้นได้ มีแต่การเมืองที่ดีขึ้นเท่านั้นจึงจะทำให้ศาลดีขึ้นได้