วันจันทร์, มีนาคม 30, 2563

ทหารสำคัญกว่าประชาชนสินะ ครม.บิ๊กตู่ ไม่รื้องบกลาโหม


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.isranews.org/article/isranews-news/86960-gov-5-2.html
...
..
หยุดซื้ออาวุธชั่วคราว!




โดย สุรชาติ บำรุงสุข
มติชนออนไลน์
28 มีนาคม 2563

หลังจากรัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ การออก พ.ร.ก.กู้เงินสองแสนล้านบาท ซึ่งก็อาจจะไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะสภาวะหลังจากรัฐประหาร 2557 แล้ว เห็นได้ชัดว่า สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศทรุดลงมาเป็นลำดับ และแม้หลังจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้งจะพยายามใช้นโยบายประชานิยมแบบแจกเงิน แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับไม่สามารถช่วยพยุงสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ ความหวังว่านโยบายแบบแจกเงินจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไม่ประสบความสําเร็จเท่าใดนัก

ดังนั้นเมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายมาจากประเทศจีน จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคของไทย และแน่นอนว่า ความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงต้องการงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อเข้ามาช่วยแบกรับสภาวะ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่ในขณะนี้เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจาก “วิกฤตเชื้อโรค”

ในความพยายามที่จะหางบประมาณเพิ่มเติมนั้น รัฐบาลได้เลือกทางออกที่เป็นความคุ้นเคยของรัฐบาลทหาร เพราะนับจากการรัฐประหารที่ผ่านมา รัฐบาลได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงวิธีการหารายได้เข้าประเทศด้วยการ “กู้เงิน” ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นไปในทิศทางเดิม คือการแสวงหาแหล่งเงินกู้จากภายนอก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การกู้เงินของประเทศไทยครั้งนี้ไม่มีปัญหา เพราะ “ฐานะการคลัง[ของประเทศ]แข็งแกร่ง” และรัฐบาลไม่เลือกวิธีที่จะนำเงินจากงบประมาณที่ผ่านสภาแล้วกลับมาใช้อีก เพราะ “ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำผ่านพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณ”

ท่าทีที่ชัดเจนคือ รัฐบาลจะไม่เข้าไปปรับย้ายงบประมาณปี 2563 ที่เพิ่งผ่านการรับรองจากรัฐสภาเป็นอันขาด ดังนั้นบทความนี้จะขอชวนให้มองต่างมุมว่า รัฐบาลควรปรับใช้งบประมาณบางส่วนในการแก้ปัญหาของประเทศ

ปิดประตูสภา

ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น รัฐบาลไม่มีท่าทีตอบรับข้อเสนอของฝ่ายค้านที่จะขอเปิดสภานอกสมัยการประชุม จึงเท่ากับส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ต้องการใช้กระบวนการทางรัฐสภาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤตเชื้อโรคในครั้งนี้

ดังนั้นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจจะถูกอธิบายว่าเป็นความจำเป็น และเป็นความเร่งด่วน เมื่อประเทศเผชิญกับปัญหาขนาดใหญ่ที่รุนแรงจึงต้องการรวมศูนย์การตัดสินใจของผู้นำรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว ดังจะเห็นถึงการยุติการใช้โครงสร้างการเมืองแบบปกติในการแก้ปัญหา และหันไปใช้กลไกของ “รัฐราชการ” โดยมีปลัดกระทรวงเข้ามารับบทบาทแทนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง (อาจจะเทียบได้กับโครงสร้างอำนาจรัฐในช่วงการรัฐประหาร ที่บทบาทของรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลง)

การยุติกลไกแบบปกติจึงมีนัยว่า รัฐบาลจะไม่ใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา อันทำให้โอกาสที่จึงเกิดการปรับลดงบประมาณที่ผ่านไปแล้ว ไม่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งอย่างไรเสียงบประมาณใหม่ก็อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลอยู่แล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลคือผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากงบประมาณปี 2563 ฉะนั้นรัฐบาลจึงไม่ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาปรับเปลี่ยนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการปรับดังกล่าวอาจจะกระทบต่อโครงการที่ผู้นำทหารผลักดันมาโดยตลอดนับจากความสําเร็จของการรัฐประหาร ซึ่งก็คือ โครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ

การไม่ยอมเปิดสภา อาจอธิบายในอีกด้านได้ว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการปรับเปลี่ยนงบประมาณ เพราะรัฐบาลย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า หากสภาเปิดในแบบวิสามัญแล้ว รัฐบาลจะต้องเผชิญกับเสียงเรียกร้องในสองเรื่องหลักอย่างแน่นอน ได้แก่

1) เรียกร้องให้รัฐบาลนำเงินจากงบกลางที่อยู่ในความควบคุมของนายกรัฐมนตรีออกมาใช้

2) เรียกร้องให้มีการปรับลดงบประมาณในโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะในกรณีของงบทหารที่อยู่ในส่วนของงบซื้ออาวุธ (งบผูกพันของเหล่าทัพต่างๆ ในโครงการจัดหายุทโธปกรณ์)

หนี้ทหาร

ดังที่ปรากฏในโครงสร้างงบประมาณของประเทศว่า กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมากเป็นอันดับ 4 มีจำนวน 233,353.43 ล้านบาท (2 แสน 3 หมื่น 3 พัน 3 ร้อย 53.43 ล้านบาท) ซึ่งในงบประมาณทั้งหมดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณซื้ออาวุธแบบผูกพัน ที่จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายในการซื้ออาวุธที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในงบผูกพันเช่นนี้ กระทรวงกลาโหมมีมากเป็นอันดับ 2 รองจากกระทรวงคมนาคม (ที่งบผูกพันส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการเส้นทางถนนสายต่างๆ) และยังมีงบประมาณของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในงบส่วนนี้เป็นจำนวน 6,774.78 ล้านบาท

งบผูกพันเช่นนี้ก็คือ “หนี้ทหาร” ที่รัฐบาลจะต้องเตรียมเงินสำรองเอาไว้สำหรับจ่ายค่าซื้ออาวุธในอนาคต ซึ่งงบที่ปรากฏเป็นหนี้ทหารจากงบประมาณปี 2563 ถึงปี 2566 และยังรวมถึงงบสำรองเพิ่มเติมอีกมีดังนี้

– ปี 2563 = 10,991.2 ล้านบาท
– ปี 2564 = 19,910.2 ล้านบาท
– ปี 2565 = 16,541.1 ล้านบาท
– ปี 2566 = 4,664.5 ล้านบาท
– งบผูกพันเพิ่มเติมปีต่อๆ ไป = 9,213.7 ล้านบาท
– งบสำรองเผื่อขาด = 3,062.9 ล้านบาท
– รวมทั้งหมด = 64,383.7 ล้านบาท

ตัวอย่างของงบประมาณที่ถูกเตรียมไว้เพื่อจ่ายค่าอาวุธในอนาคต เช่น งบซื้อเรือดำน้ำจากจีนเพิ่มเติมอีก 2 ลำ มีมูลค่า 22,500 ล้านบาท และเป็นงบสำรองอีก 1,125 ล้านบาท (โครงการที่ 284 ของกองทัพเรือ) [รายละเอียดของงบประมาณดูจากรายงานของสำนักข่าวอิศรา] และดังที่ทราบกันดีว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีข้อถกเถียงอย่างมากในสังคมไทย จนต้องถือเป็น “เรื่องอื้อฉาวด้านอาวุธ” (arms scandal) ของผู้นำทหารกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดหา และความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในกระบวนการเหล่านี้



ทบทวนใหม่!

งบทหารที่เป็นการสร้างหนี้ในอนาคตเช่นนี้ อาจต้องการการทบทวนใหม่ โครงการทางทหารที่ไม่มีความจำเป็นควรจะต้องยุติลง อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่า จะต้องยุติงบผูกพันทางทหารทั้งหมด แต่อย่างน้อย วันนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำเป็นเรื่องที่ควรจะต้องทบทวนอย่างมาก และในอีกด้านก็ควรที่จะต้องดึงเอางบที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนออกมาจากงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ตลอดรวมถึงการใช้งบกลางของรัฐบาล เพราะด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่และเงื่อนไขของสถานการณ์จะทำให้โอกาสการใช้งบของภาครัฐมีความจำกัดอย่างมากด้วย

การเปิดสภาวิสามัญเพื่อให้เกิดการทบทวนงบประมาณใหม่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงถึง “ความจริงใจ” ของรัฐบาลในการแก้ปัญหา และหากมีความจำเป็นมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความชอบธรรมในการกู้เงินจากภายนอก แต่มิใช่รัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้กระบวนการทบทวนการใช้งบประมาณเกิดขึ้นได้ และขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของการลดทอนบทบาทของรัฐสภาและพรรคการเมืองลง และอาศัยกลไก “รัฐราชการ” แก้ปัญหาแทน อีกทั้งการทำเช่นนี้อาจตีความได้ว่า เป็นการปิดกั้นไม่ให้งบซื้ออาวุธถูกกระทบ หรืออธิบายได้ง่ายๆ ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กองทัพไทยก็จะเดินหน้าซื้ออาวุธต่อไป

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้นำเหล่าทัพไม่จำเป็นต้องทำ “รายการเรียลิตี้โชว์” ด้วยการคืนเงินตอบแทนประจำตำแหน่งในวุฒิสภา เพื่อช่วยเหลือในการแก้ปัญหาไวรัสโควิดเลย เพราะไม่ได้มีมูลค่ามากมายอะไร … วันนี้ผู้นำทหารอาจจะไม่ตระหนักว่า กองทัพ “ไม่ได้ใจ” ประชาชน ภาพลักษณ์ของทหารมีแต่ลบมากขึ้น ตัวอย่างจากโคราชถึงสนามมวยลุมพินี มีความชัดเจนในเชิงภาพลบที่กำลังเกิดกับสถาบันทหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม หรือลัทธิพาณิชย์นิยมในกองทัพ

ดังนั้น ผู้นำทหารในวันนี้อาจจะต้องเลิกคิดทำงาน “พีอาร์” ที่ไม่มีสร้างผลบวก เพราะการทำเช่นนั้นอาจกลายเป็นเรื่องตลกให้สื่อเอามาหัวเราะเล่นลับหลัง เช่น ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ประสบความขาดแคลนในอุปกรณ์ต่างๆ ผู้นำเหล่าทัพกลับแต่ “ชุดป้องกันตัวเองสมบูรณ์แบบ” ออกมาเดินฉีดพ่นสารป้องกันเชื้อโรค ผู้นำเหล่าทัพต้องแสดงบทเป็น “ผู้นำทหาร” ไม่ใช่มีบทเป็นกำลังพลในระดับล่างที่ทำงานสนาม ต้องแยกบทบาทความเป็นผู้นำเหล่าทัพจากการเป็นผู้บังคับหน่วยขนาดเล็กทางยุทธวิธีให้ชัดเจน เป็นต้น

วันนี้ถ้ากองทัพอยากช่วยเหลือสังคมไทยจริงๆ ก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องหยุดซื้ออาวุธชั่วคราว … ด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันทหารครับ !