...
ตอนนี้เรื่องที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของ คน กทม. ก็คือเรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและน่าจะเป็นปัญหาในระยะยาวที่เราต้องเผชิญไปอีกนาน
ผมคิดว่าปัญหาเรื่องฝุ่น มันสะท้อนปัญหาของระบบราชการไทยในสองเรื่องด้านหลักๆ
1. มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน พอมีหลายหน่วยงาน ทางแก้คือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
โดยแต่ละคณะจะมีประธานกรรมการเป็นข้าราชการระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ซึ่งทุกคนก็มีภาระหนักในหน้าที่ประจำอยู่แล้ว อีกทั้งไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขานั้น ทำให้การขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการชุดต่างๆช้า ไม่คล่องตัว
2. มีแผนจำนวนมาก แต่ขาดการนำไปปฎิบัติ ปัญหาสำคัญต่างๆผมเชื่อเรามีแผนรองรับไว้เกือบหมด แต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ (เขาถึงเรียกว่า วางแผน- ทำแผนแล้ววางไว้ หรือ แพลนนิ่ง Planning แพลนแล้วนิ่งๆ)
อย่างเรื่องกรณีฝุ่น PM2.5 เท่าที่ผมหาเจอ ทางกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 จำนวน 52 หน้า โดยมีทั้งแผนระยะสั้น กลาง ยาว แต่ไม่แน่ใจว่าในทางปฏิบัติได้ดำเนินการไปแค่ไหนแล้ว (ถ้ามาเล่าให้พวกเราฟังบ้างก็ดีนะครับ)
หนึ่งในข้อเสนอในแผนนี้ที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์และทำได้ทันที อย่างน้อยสำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้นคือ การกำหนดให้ปัญหาฝุ่นพิษเป็น สาธารณภัย และใช้กลไกของระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ภายใต้พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการเข้าควบคุมสถานการณ์อํานวยการ สั่งการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน ส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เมื่อเกิดภัยเรื่องฝุ่น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องเข้าไปช่วยดูแลประชาชน มีการแจ้งเหตุ เตือนภัย แจกหน้ากาก ให้ข้อมูล ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วย อย่างทันท่วงที
เป็นกำลังใจให้ภาครัฐในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นนะครับ ขออย่าทำแค่ วาง-แผน หรือ แพลน-นิ่ง พวกเราหยุดหายใจไม่ได้