เสียดาย
‘ไอทู้บ’ คงไม่ฟังรัดถะมณโฑ ‘ไอแอ๊ด’ (I-Ad = Self
Advertising) “มันจะแบนสินค้าเราก็ ‘ช่างแม่ง’
(เพราะว่า) เวลานี้คุณสมคิด
คุณจุรินทร์ ได้ออกเดินสายหาคู่ค้ารายใหม่ๆ ในประเทศต่างๆ ที่มีคุณธรรม
เเละไม่เอาเปรียบข่มเหงรังแกเรา” แล้วละ
ก่อนอื่น ที่ว่า “เอาเปรียบข่มเหงรังแก”
นั่นนักร้องที่แต่งและอัดมาสเตอร์เพลง ‘เมดอินไทยแลนด์’ ตอนทัวร์อเมริกา ยืนยง โอภากุล น่าจะสำคัญผิดในข้อเท็จจริงไปนิดนะ
ในเมื่อไอ้ที่เป็นเรื่องเป็นราวคราวนี้ สหรัฐยกเลิก ‘จีเอสพี’
หมายความว่าเขาหยุด ‘แจก’ สิ่งที่แต่ก่อนนั้นผู้รับไม่เคยได้ต่างหาก
‘GSP’ คือคำย่อของ Generalized System of Preferences อันเป็นสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร
ที่สหรัฐให้กับประเทศคู่ค้าบางแห่ง เพื่อให้สามารถเปิดหรือขยายขอบข่ายทางการค้ากับประเทศคู่ค้านั้นอย่างเต็มที่
ไทยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากจีเอสพีเป็นอันดับสองในโลก
ต่อการส่งออกไปยังสหรัฐ อาหารสำเร็จ (รวมถึงอาหารทะเลสดแช่แข็ง) ส่วนประกอบเครื่องทำความเย็น
รถมอเตอร์ไซค์ และเลนส์สายตา เป็นต้น
ขณะที่สินค้าจากสหรัฐเข้าไทยมีมากมายหลายรายการ
ชนิดสิ่งละอันพันละน้อย ทว่าสหรัฐต้องการเพิ่มพูนระดับส่งออกสินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์
(สุกร) เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอ็ปเปิ้ล องุ่น เป็นหลัก เข้าไทย
ให้มากที่สุด
ข้อสำคัญอยู่ที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับไทยเรื่อยมา
ทว่าความสัมพันธ์ในอดีตก่อนยุค คสช.
มีลักษณะมหามิตรและความผูกพันด้านความมั่นคงภูมิภาคติดค้างมาจากยุคสงครามเวียตนามและสงครามเย็น
ครั้นเมื่อ คสช.ไปอี๋อ๋อกับจีนมาก (ไม่นับเรื่องจ้าวไทยไปรับอิสริยาภรณ์ในโอกาสครบ
๗๐ ปี สถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์จีน) นอกจาก ซื้อเรือดำน้ำ จ้างสร้างรถไฟเร็วสูง (พร้อมทอดกายเป็น
‘เส้นทางสายไหม’ ลงใต้ โดยให้สิทธิพิเศษเช่าที่
๙๙ ปี) เป็นอาทิ
ทั้งที่รัฐบาล ‘ตู่’ อุตส่าห์รับเชิญไปเยือนวอชิงตันเพื่อซื้อยานหุ้มเกราะสไตร๊เกอร์ไว้ใช้ในทัพบกกับหน่วยราชวัลลภ
ผูกพันหลายปีงบประมาณ ก็ยังไม่พอ สหรัฐตั้งแง่จะงดให้จีเอสพีต่อไทยมาหลายเดือนแล้ว
หลังจากที่ได้ระงับสิทธิพิเศษนี้ต่ออินเดียและตุรกี
บลูมเบิร์กรายงาน (ผ่านบางกอกโพสต์)
เมื่อกลางเดือนมิถุนายนว่า สำนักวิจัย ‘เมย์แบ๊งค์ กิมเอ็ง’
เตือนไทย (กับอินโดนีเซีย) ระวังจะโดนถอนสิทธิจีเอสพีบ้าง
ท่ามกลางความเร่าร้อนในเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังคุกรุ่นมากระทั่งบัดนี้
บลูมเบิร์กบอกว่าขณะนั้นเวียตนามเป็นประเทศที่ว่องไวในการแสดงให้สหรัฐเห็นว่า
มิได้เป็นลูกไล่จีนละนะ แสดงท่าระมัดระวังอย่างยิ่งในการติดต่อทางการค้าและการลงทุนกับจีน
ขณะที่ เจ้าสัวไทย ไม่เพียงผูกมัดทั้งการค้าและการลงทุนกับจีนอย่างแม่นมั่น
ยังทำการเชิดชูจีนออกนอกหน้าด้วย
การประกาศงดจีเอสพีสินค้าไทยเข้าสหรัฐโดยรัฐบาลทรั้มพ์
ให้มีผลในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓ ซึ่งจะกระทบการค้าไทยส่งออกสู่สหรัฐไม่น้อยกว่า
๓๙,๖๕๐ ล้านบาท (จากมูลค่าทั้งหมด ๑.๔๕๗ ล้านล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว) นั้น
ลึกๆ แล้วเป็นเพียงการดำเนินนโยบาย ‘Maga’
ลดความเสียเปรียบทางการค้ากับนานาประเทศของรัฐบาลทรั้มพ์
(ที่ทำกับอียู เม็กซิโก และแคนาดา เช่นกัน) เพียงแต่ปะเหมาะรัฐบาลไทยปัจจุบัน ‘ทำเก่ง’ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตร พาณิชย์
หรือสาธารณสุข ก็เลยโดนบ้าง
“ไม่ควรก้าวก่ายกัน
กฎหมายใครกฎหมายมัน” รมว.และ รมช.สาธารณสุขออกมาพูดอย่างแกร่งกล้า
หลังจากกระทรวงเกษตรสหรัฐมีหนังสือถึงนายกฯ ไทย ขอให้ทบทวนการออกกฎห้ามใช้สารเคมี
๓ ชนิดกับพืชไร่ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นสารที่สหรัฐใช้
จดหมายโดยปลัดกระทรวงเกษตรสหรัฐติงว่า
สารไกลเซ็ต “ไม่ได้มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ เมื่อมีการนำมาใช้อย่างมีการควบคุม”
ทั้งนี้โดยที่ผลการวิจัยในญี่ปุ่น อียู และออสเตรเลียสอดคล้องกับสหรัฐ
สหรัฐแจงให้ยับยั้งคำสั่ง เพื่อที่ไม่กระทบต่อผลิตผลข้าวสาลีและถั่วเหลืองที่ไทยนำเข้าจากอเมริกา
เพื่อใช้ผลิตขนมอบแห้งและบะหมี่สำเร็จรูป อันเป็นสินค้าส่งออกอันสำคัญของไทย
มีมูลค่าตลาดถึง ๔ หมื่นล้านบาท
นั่นเป็นการต่อรองทางการค้าระหว่างประเทศตามปกติ
ประเภทคุณได้อะไรเราเสียอะไร หรือได้อย่างเสียอย่าง หมูไปไก่มา ‘quid-pro-quo’
ที่รัฐมนตรีสาธารณสุขไทยอาจไม่เข้าใจ อ้างว่าผู้เชี่ยวชาญไทยตั้ง ๒๙
คนบอกแล้วเป็นพิษก็ต้องเป็นพิษ
“ตรงนี้เป็นคนละเรื่องกับการค้า ซึ่ง
สธ.เกี่ยวข้องกับสุขภาพชีวิตคน เรื่องการค้าไม่ใช่เรื่องที่
สธ.จะให้ความเห็นอะไรได้ หรือจะมาเปลี่ยนแปลงจุดยืนของ สธ.ได้” คำเด็ดของ อนุทิน
ชาญวีรกูล ที่ทำให้ทั้งกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์กำลังหัวปั่น จะแก้ลำสหรัฐอย่างไรอยู่นี่