กฎหมายไทยภายใต้ลมปากของพวกขี้ข้าขี้ครอก
คสช. นี่ดิ้นได้เสมอ ยิ่งถ้าเป็นอัยการศาลทหารนั่นไม่แค่ดิ้น แต่กลับปลิ้นปล้อนบิดพลิ้วแม้กระทั่งคำพิพากษาศาล
อย่างกรณีว่าที่
ส.ส.ถือหุ้นสื่อที่กำลังฮืออยู่ขณะนี้ เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือตัดกำลังพรรคการเมืองกลุ่มไม่ยอมให้
คสช.สืบทอดอำนาจ แต่แล้วเกิด ‘backfired’ กลายเป็นแรงสะท้อนถีบกลับเอากับพรรคที่สนับสนุน
คสช. และพรรครอส้มหล่น
ในเมื่อปรากฏว่าผู้สมัครและว่าที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์
ต่างเป็นเจ้าของกิจการและถือหุ้นบริษัทซึ่งแจ้งวัตถุประสงค์ทำธุรกิจเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนกันหลายราย
กลายเป็นคำถามที่กระอัก ว่าไฉนมีแต่ฝ่ายตรงข้าม คสช.เท่านั้นถูกจัดการ
รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของ
คสช. จำต้องตอบคำถามถึงความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอภาค ในคดีที่ผู้สมัคร
ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนคร ถูกศาลตัดสินว่ามีเจตนาจะประกอบการด้านสื่อ
แม้จะไม่ได้ทำจริง
ทำให้นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ถูกตัดสิทธิ์ในการเป็นผู้สมัคร
ฉะนั้นนายวิษณุจึงแถไปว่ากฎหมาย (รธน. มาตรา ๑๐๘) ใช้ถ้อยคำว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น
ใน ‘กิจการ’
ที่เป็นสื่อสารมวลชน” ซึ่งต่างกับการเป็นบริษัทหรือนิติบุคคล
แม้ตนเองเห็นเป็นเรื่องแปลกที่ศาลวินิจฉัยให้ผิด
เพราะ “เขาไปเขียนเติมวัตถุประสงค์ในตอนยื่นจดทะเบียนว่าประกอบกิจการสื่อมวลชน”
ลงรายละเอียดมากกว่าแบบกรอกมาตรฐาน จึงถือว่า “มีความตั้งใจที่จะทำการนั้น”
แต่ถ้าจะเอามาตรฐานการตัดสินเดียวกันนี้ไปใช้กับผู้ถูกร้องอื่น
(เช่น ในพรรคพลังประชารัฐ และ/หรือพรรค ภท. ปชป.) ละก็ “เรื่องนี้ตอบลำบาก...พูดอย่างนั้นไม่ได้”
เนื่องจากคดีที่ต่างจาก จ.กสลนคร “ยังไม่มีบรรทัดฐาน”
นี่เป็นการตะแบงตอบอย่างเลี่ยงบาลี ความพยายามปกป้องและอุ้มชูพวกพ้องเครือข่ายของ
คสช. ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมาทำให้นายวิษณุหมดแล้วซึ่งคุณค่าในทางนิติธรรม แม้นอาจเป็นความพึงพอใจส่วนตัวของเขาเองก็ช่าง
ทว่ายังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและศักดิ์ศรีของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายไทยย่อยยับ
มิพักทำให้กฎหมายในประเทศนี้ถูกเรียกขานด้วยการสะกดอักษรตัวท้ายตกหล่นอยู่บ่อยๆ เป็นประพฤติผิดของผู้บังคับใช้เองที่ก่อให้เกิดความเสื่อมทราม
หนักไปกว่านั้นพฤติกรรมของอัยการศาลทหาร สั่งไม่ฟ้องเอาดื้อๆ
คดีที่มีผู้เสียชีวิตในปฏิบัติการสลายการชุมนุมเมื่อ ๑๙ พฤษภา ๕๓ อันทำให้อาสาสมัครและพลเมืองบริสุทธิ์
๖ คน ตายด้วยกระสุนจากการยิงใส่ผู้คนในวัดปทุมวนาราม
ผลการไต่สวนคดีดังกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม
๒๕๕๖ ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าการตายของผู้เสียชีวิตทั้ง ๖ เกิดจากกระสุนขนาด .๒๒๓
ของทหารที่ได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปจ้องยิงลงมาจากสะพานเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ
ทหาร ๘ คนที่ประจำการวันนั้น ยอมรับกับศาลว่าได้ยิงเข้าไปในวัดจริงตามคำสั่งของ
ศอฉ. แล้วศาลก็ระบุแจ่มแจ้ง ว่าการตายของทั้งหกคน “เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร”
ผู้ตายทุกคนไม่มีรอยเขม่าดินปืนที่มือไม่ว่าข้างใด
แสดงว่าไม่มีการใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้
และที่ ศอฉ.
อ้างว่าตรวจยึดอาวุธปืนได้จากภายในวัดปทุมฯ ศาลไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ข้ออ้างของศูนย์อำนวยการภาวะฉุกเฉิน
ที่ขณะนั้นมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้กำกับบงการ
อ้างว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์สวมชุดดำปฏิบัติการตอบโต้กับทหารด้วยกำลังอาวุธ
ศาลก็ปฏิเสธ “ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว”
เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่แสดงให้เห็นว่าอัยการศาลทหารจงใจ ‘เพิกเฉยและละเมิด’ คำตัดสินของศาลอาญา ซึ่งเจาะจง “ให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการ
เพื่อดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐” ด้วย
คำร้องของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา
น.ส.กมนเกด อาสาสมัครพยาบาลผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วัดปทุมฯ ๑ ใน ๖ คน
ว่ารับไม่ได้กับการกระทำย่ำยีซ้ำซ้อนเช่นนี้ แม้นว่า “แน่นอนฆาตกรคงไม่ทำทุกอย่างให้ตัวเองติดคุก”
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าควรที่จะ
หรือจำยอมปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล “ศอฉ. ในปี ๕๓ นั้นหลายคนก็คือ คสช.ในปัจจุบันนี้
ไล่เรียงมาตั้งแต่นายกรัฐมนตรียัน ผบ.ทบ รวมถึงศาลทหารก็ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพที่เป็นคู่กรณี”
ความยุติธรรมหาใช่นามธรรมที่เลือกข้างได้
ตราบใดที่ยังไม่มีความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ความสมานฉันท์และสงบสุขยากที่จะเกิด