ไม่แต่การเมืองนะที่ คสช.ชักจะเป๋
ด้านเศรษฐกิจที่กะเผลกมานานหลายปี ตอนนี้ทำท่าจะเดี้ยง ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลลองถ้าเก็บภาษีแว้ตได้น้อยลงแสดงว่าประชาชนเริ่มอดอยากกันแล้ว
ไม่กล้าจับจ่าย ไม่มีการออม แถมหนี้ท่วมหัว
ต่อกรณีที่มี รมช.คนหนึ่งเผลอเปิดเผยความนัยเรื่องการตั้ง
สว. ว่า “นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุม ครม.ว่าผู้ใดที่อยากเข้ามาทำหน้าที่
ส.ว.ก็สามารถแสดงความจำนงมาได้” ทั่นหัวหน้าใหญ่คณะครองเมืองบอกให้มองในทางสร้างสรรค์กันหน่อย
คนเหล่านั้นอยู่มานานรู้เรื่องงานกันดี
จะได้เอาไป “วางพื้นฐานประเทศในทุกๆ ด้าน” กันต่อ โห ถ้าวางพื้นฐานแบบ ๕ ปีที่ผ่านมาละก็
ประชาชนได้รับกรรมจากพิษเศรษฐกิจกันมาแล้ว ยังจะให้ไปเจอเวรต่ออีกเหรอ
ในประเทศไทยเศรษฐกิจมหภาคสำคัญน้อยกว่าจุลภาค
ช่วงก่อนทหารยึดอำนาจนั่นชาวบ้านอยู่กินอูฟู เป็นที่รับทราบในทางวิชาการแล้วว่าเพราะปัจจัยหลักเศรษฐกิจรากหญ้าเฟื่องฟุ้ง
ผู้คนพลุกพล่านเดินตามมอล นอนตามตึก กินตามตรอก ซื้อขายคึกคัก ค่าแว้ตก็เพิ่มพูน
พอ คสช.จัดระเบียบทางเท้า แทนที่คนจะตามแผงลอย
ซาเล้งเข้าไปในร้านรวง กลับหายหดหมดทั้งข้างถนนและบนมอล บ้างอ้างว่าเพราะไม่ถูกรสนิยมในการบริโภคแบบไทยๆ
หาใช่หรอก แต่เป็นเพราะถือโอกาสจำกัดวัตถุปัจจัยในการครองชีพกันเสียมากกว่า
วานนี้ (๗ พ.ค.) สรรพากรทนไม่ไหวยอมเผยไต๋ว่าตั้งแต่มีนาคมมานี่
‘บ่จี๊’ เริ่มมีเงินรายได้เข้าคลังลดลงแล้ว
โดยเฉพาะรายได้หลักจากภาษีจัดเก็บ ณ ที่จ่าย หรือ ‘แว้ต’
“ต่ำกว่าเป้าหมายมาก” แม้พยายามจะอ้างว่าเป้าหมายตั้งไว้สูง นั่นถูกต้องตามหลักการแล้วไง
ถ้าไม่ตั้งไว้สูงก็แสดงให้เห็นว่า ‘ไม่มีความเจริญ’
สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ที่ครบ ๖
เดือนเมื่อมีนาคม สรรพากรมุ่งมาตรจัดเก็บภาษีให้ได้ ๒ ล้านล้านบาท
แต่เอาเข้าจริงไม่เป็นตามนั้น เพราะสภาพเศรษฐกิจกะปรกกะเปรี้ยมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ โน่นแล้ว
พอปลายปี ๖๐ ต่อมาถึง ๖๑ ทีมประชารัฐอัดฉีดงบประมาณลดแลกแจกแถม
ถึงจะได้ตัวเลขจีดีพีแต่ความอิ่มหมีพีมันไปอยู่กับเจ้าสัว
กูรูเศรษฐกิจ คสช.ไม่สน เอามาใช้ประเมินการเติบโตของปี ๖๒ ไว้เกินจริง
บอกว่าส่งออกจะถึง ๘ เปอร์เซ็นต์ การเติบโตที่ ๔% ผลออกมาส่งออกแค่
๗ การขยายตัวได้ ๓.๘ อย่างเก่ง
อย่างไรก็ดี นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
อธิบดีกรมสรรพากรเลือกที่จะแถลงแจงแต่สิ่ง (ที่คิดว่า) ดีๆ เช่น ๓ เดือนแรกปี ๖๒ นี้ มีจำนวน ‘ผู้ยื่นเสียภาษี’ มากขึ้นถึง ๓ แสนราย จาก ๑๐.๙
ล้านเมื่อ ๒๕๖๑ มาเป็น ๑๑.๒ ล้านในปีนี้
ทำให้มีเงินเข้าคลังจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นอกเหนือจากแบบหัก ณ ที่จ่าย เพิ่มขึ้น คือจาก ๑.๗๔ หมื่นล้านเมื่อปี ๖๑ มาเป็น
๑.๗๖ หมื่นล้านในปีนี้ ว่าไปแล้วก็จิ๊บจ้อยอยู่นะ แม้นว่าได้ตัวเลขโดยรวมเทียบกับครึ่งปีงบประมาณแรกเมื่อปีที่แล้ว
มากขึ้น ๑๑๘ ล้านบาท
หากแต่ผลแห่งการที่รายได้ภีเริ่มตกต่ำในเดือนมีนาคม
ทั่นอธิบดียอมรับว่า “ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้อาจทำได้ต่ำกว่าคาดการ ๔%
และส่งออกที่ต่ำกว่าเป้าหมาย” ด้วย
ที่แถลงอย่างนี้เหมือนมีนัยจะบอกหัวหน้า คสช. ที่กำลังจะไปเป็นหัวหน้าประชารัฐ
ถ้าการเมืองหลังเลือกตั้งไม่เป๋
ว่า “ในช่วงที่เหลือก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้นไปอีก”
นั่นคือการขยายฐานภาษีเข้าไปสู่ธุรกิจออนไลน์ “ซึ่งปัจจุบันกฎหมายอีเพย์เมนต์มีผลบังคับใช้แล้ว”
สรรพากรสามารถเกาะติดธุรกรรมการโอนเงินเพื่อนำไปประเมินเก็บภาษีได้ถนัดยิ่งขึ้น
(https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_191817, https://www.posttoday.com/finance/news/588349
และ https://www.matichon.co.th/politics/news_1484799)
ใครที่ซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีการโอนเงิน
“ตั้งแต่ ๓ พันครั้งต่อปีหรือ ๔๐๐ ครั้ง/ปี แต่มีวงเงินรวมกันตั้งแต่ ๒ ล้านบาทขึ้นไป”
เตรียมน้ำร้อนน้ำชาไว้ต้อนรับขับสู้ เวลามีเจ้าหน้าที่สรรพากรไปเคาะประตูบ้านขอคุยด้วยก็แล้วกัน
ส่วนใครที่คิดไกล แอบกระหยิ่มใจว่าสมัยหน้าถ้ามีนายกฯ
เป็นหัวหน้าประชารัฐ น่าจะดีกว่าสมัยที่ผ่านมานายกฯ เป็นหัวหน้า คสช.
ละก็อาจจะชีช้ำกว่าเก่าก็ได้ เพราะคนในเครื่องแบบสีเขียวขี่รถฮัมวีที่เคยไปป้วนเปี้ยนหน้าบ้าน
หรือเคาะประตูขอคุยด้วยอย่างสุภาพฉันท์มิตรนั้น
จะเปลี่ยนเป็นชุดสีกากีถือสมุดบัญชีที่เต็มไปด้วยตัวเลขยุบยิบ
ซ้ำแน่เหมือนแช่แป้งว่าคนเหล่านี้ไม่เหมือน กกต. เขาพกเครื่องคิดเลขติดตัวกันทุกคน