ย้อนรอยในข้อกฎหมายสักเล็กน้อย
หลายคนยังข้องใจคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ
คือมันไม่ค่อยกระจ่างแจ้งนักว่าผิดยังไง
ครั้นจะปล่อยไปแบบไทยๆ เออน่ะ
ทั่นว่าอย่างนั้นก็ต้องตามนั้น มันไม่ได้ เดี๋ยวยุ่งตายห่ ใครอึดอัดฟึดฟัดขึ้นมาจะต้องติดคุกโดยใช่ที่
เพราะกฎห_มายที่ออกมาปกป้องตุลาการในยุค คสช.
นี่ห้ามวิพากษ์ศาลโดยใช้ถ้อยคำผรุสวาส โดยไม่ถูกต้องหลักวิชาการเสียด้วย
พอดีที่ ‘ประชาไท’
มีบทความเสนอความเห็นเรื่องการยุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็น “ข้อควรสังเกตทางกฎหมายบางประการ
ทั้งในส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและการทำหน้าที่ขององค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ”
เขียนโดย สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย
วึ่งอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วพบ “จุดที่น่าสงสัยในการตีความและการใช้หลักกฎหมายอยู่หลายประการ”
อันได้แก่
การที่ศาลตัดสินว่าผิดเพราะเป็นการกระทำอันเป็น
‘ปฏิปักษ์’ ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้นศาลตีความว่า
“ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น
เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า
หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน
บ่อนทำลายจนเกิดความชํารุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลงก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว”
ผู้เขียนเห็นว่า “การวินิจฉัยเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหา”
เนื่องจากถ้าไม่มีนิยามทางกฎหมายก็ต้องหันไปใช้นิยามตามธรรมดาของคนทั่วไป
แต่ศาลกลับ “ใช้ดุลยพินิจส่วนตนในการตีความขยายขอบเขตนิยามคำศัพท์...ให้กว้างไปมาก...ให้เข้าเงื่อนไขการยุบพรรคไทยรักษาชาติ”
ทั้งๆ ที่ในหลักกฎหมายที่สากลเรียกว่า ‘Rule
of Law’ ไทยใช้คำ ‘นิติธรรม’ รับรู้กันว่า “บทบัญญัติกฎหมายต้องตีความอย่างกว้างหากมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
และต้องตีความอย่างแคบหากมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงโทษหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพ”
เช่นนี้ทำให้เมื่อ “ไม่เข้าความหมายอย่างธรรมดาจริง
ๆ ของคำว่า ‘ปฏิปักษ์’
เสียแล้ว ก็จะไม่สามารถใช้มาตรา 92 วรรค 1 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เพื่อการยุบพรรคไทยรักษาชาติได้เลย”
ผู้เขียนชี้ให้เห็นด้วยว่าศาลรัฐธรรมเคย ‘เบี่ยงประเด็น ตะแบงมาร’ เยี่ยงนี้มาแล้วในการตัดสินถอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร
สุนทรเวช โดยอ้างพจนานุกรมเอาผิดฐานเป็น ‘ลูกจ้าง’ จัดรายการชิมอาหารทางโทรทัศน์
“ทั้ง ๆ ที่มีนิยามของคำว่าลูกจ้างชัดเจนเพียงพออยู่ในกฎหมายต่าง
ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ป.พ.พ. หรือกฎหมายแรงงาน ฯลฯ” แต่ศาลเลือกที่จะตีความแบบกว้างๆ
ให้ครอบคลุมความผิดได้ ไม่คำนึงหลักเกณฑ์ “ต้องตีความอย่างแคบ” ไว้ก่อน
อีกประเด็นในเรื่อง ‘เจตนา’ ที่ศาลอ้างว่ามาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง (๒)
เป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัย ไม่ขึ้นกับเจตนาหรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำจะตั้งใจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่
ศาลอ้างมาตรา ๓๒๖ ความผิดอาญากรณีหมิ่นประมาทบุคคล
ว่าศาลอาญาได้วางบรรทัดฐานไว้ว่าให้ดูตาม “อารมณ์
ความรู้สึก และความเข้าใจถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนโดยทั่วไป” แทน
ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าวินิจฉัยอย่างนี้เป็นปัญหา เพราะหลักใหญ่ในความผิดอาญาผู้กระทำต้องมี
‘เจตนา’
การอ้างมาตรา ๓๒๖ มาประกอบกับมาตรา ๙๒
วรรคหนึ่ง (๒) เป็นกฎหมายสองฉบับที่มีบทบัญญัติจำกัดเสรีภาพประชาชน “คนละระดับกัน”
ในเมื่อมาตรา ๓๒๖ มีเหตุให้ยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษได้ แต่ ม.๙๒ ไม่มี
ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าศาลสะเพร่าหรือสุกเอาเผากิน แต่ได้อารมณ์ความรู้สึกประมาณนั้น
นอกเหนือจากนั้น
การที่ศาลไม่อนุญาตให้สืบพยาน อ้างว่ามีเอกสารหลักฐานที่ กกต.ชงมาชัดเจนแล้ว
เป็นการบ่ง “บอกเป็นนัยว่า ผู้ถูกร้องกระทำความผิดจริง ซึ่งขัดต่อหลักการดำเนินคดีทางอาญาพื้นฐาน”
ที่ไม่ว่าที่ไหนในสากลโลกยึดมั่น “ให้สันนิษฐานไว้เสมอว่า
ผู้ต้องหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาตัดสินถึงที่สุดจากศาล”
เท่านั้นไม่พอ ‘คนชง’ กกต. ก็มะงุมมะงาหรา ทีแรก “ยืนยันชัดเจนว่าทูลกระหม่อมหญิงฯ
สามารถที่จะเป็น Candidate ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
และไม่ถือว่ามีความบกพร่องทางคุณสมบัติ”
แต่กลับคำกลับใจหลังจากมีพระบรมราชโองการออกมา (โดยที่พระบรมราชโองการมิได้มีสถานะเป็นกฎหมาย)
ความผิดจึงต้องตกแก่ กกต.เอง บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง
แทนที่จะใช้ “พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.2539
ตามมาตรา 4 วรรค 1 (2)”
เพื่อทำการตรวจสอบและยืนยันคุณสมบัติผู้เป็นแคนดิเดทให้แม่นมั่นเสียก่อน
ผู้เขียนสรุปว่า กกต.มัวหมองอย่างหนัก จน “เป็นที่น่ากังวลใจว่าในอนาคตต่อไป
องค์กรนี้จะสามารถเป็นผู้คุมกฎเกณฑ์การเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือ”
กระนั้นทางแก้ยังพอมี เพื่อที่ไม่ให้เกิดความเสียหายมหันต์
ต่อการที่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักรไปก่อนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
คะแนนเสียงที่พรรคไทยรักษาชาติได้รับได้กลายเป็น ‘บัตรเสีย’
ที่ตัดสิทธิผู้ออกเสียงไปโดยปริยายและใช่ที่
“ผมขอเสนอให้ กกต.
จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรขึ้นใหม่
ในพื้นที่ที่ได้มีการลงคะแนนเสียงไปแล้ว” ผู้เขียนร้องเรียน “เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน
และสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างชัดเจนและเที่ยงตรงที่สุด”
มิฉะนั้นการเลือกตั้ง ๒๔ กุมภา ๖๒
ที่จัดโดย คสช. โดยมีหัวหน้า คสช.เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีเองด้วยนี้ จะเป็นการปล้นคะแนนเสียงของประชาชนที่ต้องการเลือกพรรคไทยรักษาชาติอย่างควรแก่การประณามยิ่งนัก
ว่าเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา