พ้นวันสิทธิมนุษยชนสากล (๑๐ ธันวา) ได้เวลา คสช.งัดมาตรา ๔๔
ออก ‘คำสั่ง’ มาจัดระเบียบการเมืองรัวๆ นอกจากหลักใหญ่ ‘ปลดล็อค’ เห็นควรให้พรรคการเมือง “สามารถรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
เพื่อนำเสนอนโยบายที่ใช้ในการบริหารประเทศ”
แล้ว คสช.ยังเพิ่มหลักย่อยขนาดยักษ์ ‘ยกเลิก’
ประกาศ ปปช. ที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐ
ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
หลังจากที่มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยโวยวายและแห่ลาออกกันใหญ่ ทว่าคำสั่ง ๒๑/๒๕๖๑
อ้างเหตุเพียงว่าประกาศนั้น “ส่งผลให้การบริหารจัดการภายในหน่วยงานบางแห่งประสบปัญหา”
โดยให้ ปปช. ไปทำการวางระเบียบใหม่ คราวนี้ไม่เพียงพวกกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้เฮกันแล้ว
อาณิสงค์แผ่สร้านไปถึง “นิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับข้าราชการพลเรือน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพสำหรับข้าราชการทหาร
และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด
ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ
หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ”
ด้วย
การปลดล็อคและยกเลิกคำสั่งหัวหน้ารัฐประหาร “เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของบุคคล”
อาจทำให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐประหาร อย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง พรรค ทษช. และ สมบัติ
บุญงามอนงค์ พรรคเกียน ได้โล่งอกเสียที
แต่นักการเมืองรุ่นใหม่ อย่างปิยบุตร แสงกนกกุล
พรรคอนาคตใหม่ กลับเห็นว่า ‘too little, too late’ เป็นการ “ปลดล็อคที่ไม่ปลดล็อค”
อดีตอาจารย์สอนกฏหมายปกครองดีกรีสำนักฝรั่งเศส ตำหนิว่า
“ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย กลับยังคงถูกล็อกด้วย ‘โซ่ตรวน’ ในนามของ ‘คดีความ’ ต่อไป
เนื่องจากในคำสั่งใหมของ คสช.นี้นั้น มีการ “ยกเว้นไว้ว่าคดีใดที่ดำเนินอยู่ก็ให้ดำเนินคดีต่อไป”
เขาหมายถึงบรรดานักกิจกรรมจำนวนมากที่เคยประท้วงคณะรัฐประหาร เรียกร้องการเลือกตั้ง
ถูกทหาร คสช. เอาคดี ม.๑๑๖ ปักหลังกันไว้ระนาว
เขาอ้างในหลักวิชาการว่า “เมื่อกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดและโทษถูกยกเลิกไป
การดำเนินคดีต่างๆ ตามกฎหมายนั้นก็ต้องสิ้นสุดลงด้วย ซึ่งนักกฎหมาย คสช.ย่อมทราบดี”
ไม่ควรที่จะแสร้งทำเป็นตาบอดตาใส
ไม่รู้ไม่ชี้กับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
“การเขียนยกเว้นไว้เช่นนี้
สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติมองประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับ
คสช.เป็นฝ่ายตรงข้าม ต้องดำเนินคดีให้หลาบจำ” ดร.ปิยบุตร เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่
โพสต์เฟชบุ๊คจี้จุดสำคัญในวิธีการเอารัดเอาเปรียบของ คสช.
นอกจากการเอาเปรียบเล็กน้อย เช่นเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงตั้งแต่ยังไม่ปลดล็อค
เช่นกรณีที่พยานเอกคดี ๖ ศพวัดปทุมฯ ‘แหวน’ ณัฏฐธิดา
มีวังปลา ปูดเมื่อ ๙ ธันวาว่า ที่ขอนแก่นมีการตั้งเวทีปราศรัยหาเสียงให้แก่นายเจริญ
แซ่เต็ง ผู้สมัคร สส.พรรคพลังประชารัฐเขต ๑๐ ในงานมีการว่าจ้างวงหมอลำ
กับคณะดนตรีของ ต่าย อรทัย มาแสดงก่อนที่ผู้สมัครจะขึ้นปราศรัย
เล่ห์กลในการเอาเปรียบนักการเมืองอื่นๆ ของ คสช. อีกอย่างหนาก็คือ
ทั้งที่มีเสียงวิพากษ์ขรมว่า ผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน
หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์
รองหัวหน้าพรรค นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ล้วนดำรงตำแหน่งอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน
ควรที่จะลาออกเสียก่อนที่จะมีการปลดล็อคให้พรรคการเมืองหาเสียงได้
แต่ว่า “ผู้ใหญ่ใน พปชร.
ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยไม่ให้ ๔ รัฐมนตรีลาออก” เสียฉิบ อ้างอย่างตรงฉินว่า “เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ”
แต่กลับเป็นความได้เปรียบในฐานะรัฐบาลผู้จัดการเลือกตั้ง
เนื่องเพราะ “การเลือกตั้ง ๒๔ ก.พ. ๖๒ คสช. ไม่ใช่ ‘คนกลาง’ แต่เป็นคู่ขัดแย้ง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในการเมืองไทย” ดังนั้น
ดร.ปิยบุตรชักชวนให้ ช่วยกัน “ทำให้ประกาศคำสั่ง คสช.ที่อยุติธรรมเหล่านี้เป็นโมฆะ
คืนความเป็นธรรมให้แก่ ‘เหยื่อ’
ที่ถูกดำเนินคดีจากการต่อต้าน คสช.”
ด้วยการใช้การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ เป็นเดิมพันสำหรับการ
“ยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช.ให้จงได้”