ความกล้าหาญทางจริยธรรม
ความกล้าหาญทางจริยธรรมที่สังคมของเราเรียกร้อง ผมเองไม่ทราบชัดว่า คือ อะไร แต่ขอเล่าเรื่องที่ผมคิดว่า นี่คือ ความกล้าหาญทางจริยธรรม
ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) เป็นชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ในช่วงพ.ศ. 2334 –2410 ตรงกับยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นนักเคมีและนักฟิสิกส์และเป็นผู้คิดค้นไดนาโม มีพื้นเพเดิมยากจน ทำงานเป็นเด็กเย็บปกและซ่อมหนังสือ แต่ใฝ่รู้ ชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะเรื่องของไฟฟ้า ต่อมาได้ทำงานกับ เซอร์ ฮัมฟรี เดวี ( Sir Humphry Davy) นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ อยู่หลายปี ทำหน้าที่ตั้งแต่ภารโรง จนถึงเลขานุการ ด้วยเป็นคนที่มีความสามารถ จึงมีผลงานบทความและรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ ทำให้มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ ประจำวิชาเคมีแห่งราชสมาคมอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2376 ฟาราเดย์เป็นตัวอย่างอันดีของมนุษย์ ในการสร้างความยิ่งใหญ่ทางวิชาการ จากฐานะต่ำต้อย ก้าวหน้าทีละขั้นอย่างมั่นคงด้วยความวิริยะอุตสาหะ
ครั้งหนึ่ง รัฐสภาอังกฤษได้ให้ เซอร์ ฮัมฟรี เดวี ผู้ดำเนินการสร้างตะเกียงนิรภัยสำหรับใช้ในเหมืองถ่านหิน เนื่องจากตะเกียงที่ใช้ในเหมืองเมื่อถูกแก็สจากถ่านหินทำให้เกิดระเบิดบ่อยครั้ง และในแต่ละครั้งที่เกิดระเบิดมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน เมื่อเซอร์ ฮัมฟรี เดวี ได้สร้างตะเกียงเสร็จได้เสนอรัฐสภาฯ ทางรัฐสภาฯจึงแต่งตั้งกรรมการพิจารณาความปลอดภัยของตะเกียง หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณา คือ ฟาราเดย์ เขามีความลำบากใจมาก เพราะพบว่าตะเกียงนิรภัยที่เซอร์ ฮัมฟรี เดวี สร้างนั้นไม่ปลอดภัยจริง มีบางจุดต้องแก้ไข แต่เซอร์ ฮัมฟรี เดวี เป็นผู้มีพระคุณเคยอุปถัมภ์เขามา ฟาราเดย์จึงต้องเลือกระหว่าง การรักษาหน้าของเซอร์ ฮัมฟรี หรือช่วยป้องกันไม่ให้กรรมกรเหมืองถ่านหินต้องเสี่ยงอันตราย ในที่สุด ฟาราเดย์เลือกข้างความจริง ทำให้ตะเกียงนิรภัยของเซอร์ ฮัมฟรี เดวี ต้องสะดุดและปรับปรุงแก้ไข เรื่องนี้ทำให้เซอร์ ฮัมฟรี เดวี โกรธมากชนิดแทบจะไม่เผาผีกับฟาราเดย์ การตัดสินใจของฟาราเดย์ ที่ยืนหยัดข้างความจริง ไม่ยอมให้ชีวิตกรรมกรเหมืองถ่านหินพบกับความเสี่ยง นี่คือ ความกล้าหาญทางจริยธรรมที่เราควรยกย่อง
บุญเสริม ชีวะอิสระกุล