จะ ‘ยุ่งแล้ว’ หรือ ‘งานเข้า’ จริงไหมอยู่ที่ความ ‘ด้านได้’ ของ คสช. มีมากเพียงใด กรณีพรรคพลังประชารัฐจัดงานเลี้ยงระดมทุน ค่าจองโต๊ะจีนชุดละ
๓ ล้านบาท กว่า ๒๐๐ โต๊ะ รองหัวหน้าพรรครับประกันได้เงินเหยียด ๖๕๐ ล้าน
เนื่องจากคำนวณราคาต่อหัวตกคนละ ๓ แสนบาท แต่ พรป. ปปช.
พ.ศ.๒๕๖๑ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับเงินเกิน ๓ พันบาท ถ้ารัฐมนตรีหรือข้าราชการจ่ายเงินเข้าร่วมนั่งโต๊ะ
จะต้องถูกตรวจสอบว่าจ่ายเองหรือใครจ่ายให้ ถ้าอ้างว่ามีผู้ออกค่าโต๊ะให้
ถือว่ามีความผิดตาม พรป.ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศราสอบถามนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
ว่าการจัดงานเลี้ยงเมื่อคืนวันที่ ๑๙ ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ “ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ
และข้าราชการมาร่วมงานระดมทุนโต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐหรือไม่”
รองหัวหน้าพรรคตอบว่า “ไม่สามารถบอกได้ว่ามีใครบ้าง”
สำนักข่าวฯ
จึงทำหน้าที่ตรวจสอบเองพบว่าในงานมีการแบ่งโซนตั้งโต๊ะเป็นสองส่วน
สำหรับนักการเมืองโด่งดังและนักธุรกิจใหญ่โต อยู่ในโซนวีไอพี มี ๙๙ โต๊ะ โดยป้ายหมายเลขโต๊ะบ่งบอกสังกัด
พวกพ้อง หรือผู้จอง
เช่น สีเนื้อเป็นของท่านเลขาฯ (สนธิรัตน์
สนธิจิรวงศ์) ๔ โต๊ะ ๑๒ ล้านบาท สีขี้ม้าของมาดามเดียร์ (วทันยา วงษ์โอภาสี) โต๊ะเดียว
๓ ล้านบาท เช่นเดียวกับสีฟ้าอ่อนของหัวหน้าพรรค (อุตตม สาวนายน) ส่วนสีเขียวทึบเป็นของพวกสื่อ
มี ๔ โต๊ะ ๑๒ ล้านบาท
นอกนั้นอีก ๑๐๑ โต๊ะเป็นพวก ‘ธรรมดา’ ได้แก่ อดีต ส.ส. สมาชิกพรรค และสื่อมวลชน ใช้ป้ายเลขโต๊ะสีขาว
แต่ที่ ‘ไม่ธรรมดา’ เป็นโต๊ะที่ระบุหน่วยงานราชการ
เช่น คลัง ๒๐ โต๊ะ ๖๐ ล้านบาท ททท ๓ โต๊ะ ๙ ล้านบาท กทม. ๑๐ โต๊ะ ๓๐ ล้านบาท
กับโต๊ะที่ป้ายหมายเลขสีฟ้าอ่อน “ระบุว่าพรรคการเมือง
๔ โต๊ะ ๑๒ ล้านบาท” ซึ่ง Thanapol Eawsakul
ตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์
และนายเอกนัฐ พร้อมพันธุ์ ไปร่วมงานระดมทุน ‘ประเทศไทยหนึ่งเดียว’
คราวนี้ด้วย
ธนาพลตีความว่าประชาธิปัตย์ต้องจ่ายเงินร่วมทุนอย่างน้อยๆ
๓ ล้านบาทสำหรับ ๑ โต๊ะ “นี่คือการแสดงการเป็นพรรคพันธมิตรของคณะรัฐประหาร”
แต่นักกิจกรรมหลายคนสนใจที่หน่วยงานภาครัฐ ๓
แห่งจองโต๊ะมูลค่ารวมกัน ๙๙ ล้านบาท มากกว่า
ศิลปินแห่งชาติ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ตั้งคำถามน่าคิดว่า “ใช้เงินภาษีของแผ่นดิน ผิด กม.เลือกตั้ง กกต.จะยุบพรรค ‘พลังประชารัฐ’ หรือไม่” และ “มาจับจ้องกันต่อไปว่า ปปช. และ กกต. จะ ‘ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่’ อย่างไร แบบไหน”
ทางด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา
เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายวีระ สมความคิด
เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น ต่างจัดหนัก นายวีระบอกว่า “หากบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าร่วมงานอ้างว่าซื้อบัตรเข้าร่วมงานเอง
ก็ต้องเอาใบเสร็จมาแสดง”
และ “อาจต้องถูกตรวจสอบว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ”
เพราะค่าร่วมงานคนละ ๓ แสน ร่ำรวยขนาดนั้นเชียวหรือ “ซวยแล้วครับ ที่สำคัญความผิดสำเร็จแล้ว
จะแก้ตัวกันอย่างไร” นายวีระสำทับ
ทางด้านศรีสุวรรณชี้ว่า “เข้าข่ายโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพ
หรือการรื่นเริงใดๆ” ขัดทั้ง พรป.พรรคการเมือง และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
มาตรา ๗๓ (๓) และ (๔) “กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของ
กกต.ที่จะต้องสอบสวนตาม ม.๒๒ วรรคสอง พ.ร.ป.กกต. ๒๕๖๐”
นายศรีสุวรรณยังพาดพิงถึงการจัดงานกาลาดินเนอร์ของนายสุเทพ
เทือกสุบรรณ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์
เช่นกันในคืนวันที่ ๑๘ ธันวา เลี้ยงโต๊ะจีนราคา ๑ ล้านบาทต่อโต๊ะ ๒๔๐ โต๊ะ ด้วย
“ภายในงานยังมีบรรดาพรรคการเมืองจากหลายพรรคเข้าร่วมงาน
อาทิ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ น.ต.สุธรรม ระหงส์ ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
(พปชร.) และ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่”
(https://www.khaosod.co.th/politics/news_1973133
พร้อมทั้ง https://www.khaosod.co.th/politics/news_1981822
และ https://www.matichon.co.th/social/news_1281114)
ทันควันและทันการ ปลัดกระทรวงการคลังแถลงโต้แย้งว่า “เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
และเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน” นายประสงค์ พูนธเนศ อ้างเหตุผลด้วยหลักการว่า “ตามหลักของการนำเงินงบประมาณรัฐมาใช้
จะไม่สามารถนำมาใช้ในการระดมทุน หรือสนับสนุนพรรคการเมืองได้”
มิหนำซ้ำ “หากเป็นข้าราชการแล้ว
ก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทางการเมืองได้ เพราะจะต้องวางตัวเป็นกลาง
ทำงานเพื่อประเทศ และประชาชนเป็นหลัก”
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ช่วยแก้ตัวให้อีกต่อว่าได้ไป “สอบถามหน่วยงานรัฐ
และรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง รวมทั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้งหมด
ก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่ได้รับคำสั่งให้ไปจองโต๊ะ
หรือให้เข้าไปร่วมงานดังกล่าวแต่อย่างใด”
น่าคิดตรงที่ ไทยโพสต์ได้ไปสอบถามใครบ้าง ให้รายชื่อและหลักฐานการสัมภาษณ์ได้ไหม
น่าคิดเข้าไปใหญ่ในส่วนที่ส่วนปลัดฯ คลังอ้างหลักการที่ใครๆ ก็รู้ อันเป็นเหตุให้นักกิจกรรมออกมาตรวจสอบกันไง
เพราะเขาสงสัยว่าจะมีการทุจริตประพฤติผิดหลักการนั่นต่างหาก